bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage
bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage
bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage
bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage bareo-isyss : ตกแต่งภายใน_storage

 

 

ตอนที่ 2: “วิถีแห่งการเก็บ”

         จากตอนที่แล้ว ผมได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวความคิดของการเก็บของให้ทุกท่านแล้ว สำหรับตอนนี้ ผมอยากจะนำเสนอรูปแบบของการเก็บของในแบบต่างแยกตามห้องนะครับ สำหรับท่านที่ยังไม่เคยอ่านตอนแรก หรือต้องการอ่านเพิ่มเติม ก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่นะครับ
         http://www.bareo-isyss.com/33/33_decor_storage.html

สำหรับวิธีการเก็บของจากตอนที่แล้ว เราสามารถแบ่งวิธีเก็บของออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

         1. ตู้แบบลอยตัว (Movable Furniture หรือ Loose Furniture)

         2. ตู้แบบติดตั้งกับที่ (Built-in Furniture)

         3. ห้องเก็บของ (Storage)

 


bareo-isyss : ตกแต่งภายใน  
 

 

 

          ในห้องต่างๆ เราก็มักจะมีที่เก็บของ 2-3 ชนิดปนกันอยู่ในนั้น ดังนั้น ผมจึงอยากจะขอนำเสนอรูปแบบการเก็บของที่น่าสนใจในห้องแบบต่างๆ กันนะครับ

          1. ห้องรับแขก หรือห้องนั่งเล่น (Living Space)

          ในปัจจุบัน ห้องทั้งสองชนิดนี้ มักจะรวมอยู่ด้วยกัน และน้อยครั้งที่จะแยกประโยชน์ใช้สอยกันอย่างเด็ดขาด ชนิดที่ว่าแยกห้องรับแขกเอาไว้ใช้เวลาแขกมาเท่านั้น และห้องนั่งเล่นให้ใช้เฉพาะคนในครอบครัว เพราะบ้านในปัจจุบันมักจะเลือกใช้ Plan แบบ Open Space คือมีโถงใหญ่รวมกันและมีการตั้งเฟอร์นิเจอร์แยกกันเป็นกลุ่มๆ โดยไม่แบ่งเป็นห้องและมีประตูปิด-เปิด ดังนั้น บ้านส่วนใหญ่จึงใช้ห้องรับแขกและห้องนั่งเล่นอยู่รวมกัน เวลามีแขกมาก็ใช้รับแขก แต่ถ้าไม่มีแขกมา ก็นั่งเล่นกันในครอบครัว ถ้ามีพื้นที่มากหน่อย ก็อาจจะมีส่วนนั่งเล่นพักผ่อนอีกส่วนหนึ่งอยู่ชั้นสองครับ


          สำหรับพื้นที่เก็บของในห้องนั่งเล่นนั้น เรามักจะผสานกันทั้งตู้แบบลอยตัว กับตู้แบบติดตั้งกับที่ เพราะห้องนั่งเล่นจะเป็นห้องรวมที่ใช้สังสันท์กันระหว่างคนในครอบครัว (Common Room หรือ Common Area) ดังนั้นจึงมีของใช้มากมายหลายประเภทอยู่ภายในห้องนั้น ตั้งแต่ ทีวี เครื่องเสียง นาฬิกา หนังสือ ของโชว์ ของสะสม ตลอดจนของใช้กระจุกกระจิกภายในบ้าน เราจึงมักจะจัดให้ห้องนั่งเล่นมีที่เก็บของที่แตกต่างไปตาม Function ที่เหมาะสม เช่น เราจะมีตู้เก็บหนังสือเพื่อรวบรวมหนังสือชนิดต่างๆ ให้เป็นระเบียบ, เราจะมีตู้เครื่องเสียงสำหรับจัดวางทีวี และเครื่องเสียง ตลอดจนแผ่น CD, DVD ต่างๆ พร้อมทั้งที่เก็บสายไฟและสายสัญญาณชนิดต่างๆ, บางครั้ง เราก็จะมีตู้โชว์สำหรับรวบรวมของสะสมชิ้นโปรดของเรา ไม่ว่าจะเป็นของที่ระลึกจากประเทศต่างๆ หรือคริสตัลแสนสวย แม้กระทั่งตุ๊กตาน่ารักๆ



 
  bareo-isyss : ตกแต่งภายใน  
 


          

สำหรับเคล็ดลับในการจัดเก็บในห้องรับแขกหรือนั่งเล่นให้น่าประทับใจ มีดังนี้ครับ

      • เริ่มจากการจัดชุดรับแขก ให้ดูเชื้อเชิญ ไม่ควรหันหลังให้กับแขกที่เข้ามาในห้องเพราะดูไม่ต้อนรับ แต่หากไม่สามารถจัดแบบอื่นได้จริงๆ ก็ลองหา Console จัดวางประติมากรรมสวยๆ มาบังไว้ที่หลังโซฟา เพื่อต้อนรับแขกแทน ก็ดูดีทีเดียว

      • Console ในห้องนั่งเล่น ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผนังที่ว่างๆ เพราะนอกจะเติมความสวยงามและสร้างบรรยากาศให้กับห้องแล้ว ยังสามารถใช้เก็บของใช้เล็กๆ น้อยๆ หรือใช้เป็น Station สำหรับ Charge โทรศัพท์มือถือ เวลากลับมาถึงบ้านได้เป็นอย่างดี


 
   
 

 

         

      • ผนังด้านตรงข้ามกับโซฟายาว จะเหมาะที่จะวาง TV และของโชว์ที่จะเป็นหน้าตา หรือ Concept ของห้องได้เป็นอย่างดี

      • ในกรณีที่วาง TV และชุด Home Theatre หรือเครื่องเล่นชนิดต่างๆ เราควรจัดวางพื้นที่เก็บแผ่น CD, DVD หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้ใกล้ๆ กัน โดยอาจจะให้มีตู้ลิ้นชัก หรือตู้บานเปิดอยู่ใต้ชุด Home Theater จะดูเป็นระเบียบ และใช้สอยได้ง่ายทีเดียว

      • ตู้ข้างโซฟา ก็เหมาะที่จะใช้เก็บของใช้กระจุกกระจิกในห้องนั่งเล่น

      • โต๊ะกลางหรือ Coffee Table สามารถจัดวาง Magazine เล่มล่าสุด หรือหนังสือเล่มโปรด ตลอดจนของประดับโต๊ะที่มีความสูงไม่มากนัก (ไม่ควรวางแจกันดอกไม้ทรงสูง เพราะจะเกะกะทั้งในเวลาสนทนาและเวลาดู TV)

       

       

 
 
 
 

 

 


           2. ห้องรับประทานอาหาร

          ห้องรับประทานอาหารเป็นห้องโปรดห้องหนึ่งที่ผมชอบออกแบบ เพราะเป็นห้องที่มีโต๊ะทานอาหารพร้อมเก้าอี้ครบชุดเป็นตัวเอก ทำให้ออกแบบห้องได้สวยและมีจุดเด่นที่ห้องอื่นในบ้านไม่มี หากได้รับการออกแบบดีๆ ห้องนี้จะสวยงามน่าใช้มาก แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน แนวความคิดแบบ Open Space ทำให้รวมเอาส่วนทานอาหารเข้ากับส่วนรับแขกหรือนั่งเล่น เพื่อให้กลายเป็นห้องใหญ่ ห้องทานอาหารจึงต้องลดบทเด่นลงไปพอสมควร

 

          แต่เมื่อมีเสีย ก็ต้องมีได้ เพราะการรวมห้องทานอาหารเข้ากับห้องอื่นๆ ทำให้ส่วนทานอาหารกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Common Area ดังนั้นคนในบ้านจึงเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และสามารถนำมาประยุกต์เป็นห้องประชุมภายในบ้านก็ได้ หรือใครที่ชอบทำการบนโต๊ะใหญ่ๆ ก็ใช้โต๊ะทานอาหารแทนโต๊ะทำงานก็ได้

 



 
   
 

 


          สำหรับการเก็บของในห้องทานอาหาร โดยปกติเรามักจะมีใช้ห้องนี้สำหรับอวดแขก ของที่จะใช้เก็บส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นของโชว์ เพราะจะทำให้บรรยากาศในการทานอาหารสวยงามและสนุกสนานมากขึ้น ของที่มักจะนำมาโชว์ในห้องทานอาหาร ส่วนใหญ่ก็มักจะเกี่ยวกับกิจกรรมในการทานอาหาร เช่น ชุดจาน ชาม หรือแก้วเจียระนัยใบสวย ตลอดจนเครื่องเงินชนิดต่างๆ ซึ่งตู้ที่ใช้จัดเก็บของโชว์เหล่านี้ มักจะเป็นตู้โชว์กระจกแบบลอยตัว แต่ถ้ามีของชิ้นใหญ่ ก็จะลงเอยกันที่ชั้นโชว์ติดตั้งกับที่แบบเต็มผนังกันไปเลย


           นอกจากนี้ บางบ้านอาจจะมีจัดเก็บชุดช้อนส้อมไว้ในห้องนี้ด้วยก็ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบใช้งาน ซึ่งตู้ที่ใช้เก็บนี้ ก็จะใช้ตู้ลิ้นชักขนาดเล็ก หรืออาจจะเป็นกล่องเก็บช้อนส้อมแล้วจัดวางบนโต๊ะอาหารหรือบนตู้ในห้องทานอาหาร ก็แล้วแต่สะดวกครับ

 

 

 
   
 

 


เคล็ดลับอื่นๆ สำหรับห้องทานอาหาร ก็มีดังนี้ครับ

      • ห้องทานอาหาร มักจะเป็นห้องที่มีกิจกรรมทานอาหารโดยเฉพาะ และมักจะใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแขกมาทานอาหารที่บ้าน การจัดเอาของโชว์ต่างๆ ไว้ในห้อง จะช่วยให้แขกประทับใจได้มาก

      • บางครั้ง ภาพประดับผนัง ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนหรือภาพถ่ายสวยๆ ก็ช่วยให้บรรยากาศในห้องดูดีขึ้นมาก และมักจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาได้เป็นอย่างดี

      • ไม่ควรนำขวดไวน์มาจัดโชว์ไว้ในห้องอาหาร โดยเฉพาะไวน์ราคาแพง หากเราไม่ตั้งใจจะให้แขกทานจริงๆ การปฎิเสธเมื่อแขกร้องขอ ดูจะเป็นการเสียมารยาทอย่างมาก

       

 
   
 

 


          
3. ห้องครัว

           ห้องครัว ถือได้ว่าเป็นห้องที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยมากที่สุด เพราะห้องอื่นๆ เรามักจะใช้สำหรับการพักผ่อน หรือการทำงานที่ค่อนข้างสบาย ยกเว้นแต่ห้องครัวที่ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานหนัก ยิ่งบ้านที่ทำอาหารเก่งๆ ห้องครัวยิ่งต้องได้รับการออกแบบอย่างสุดยอด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำครัวแก่พ่อบ้านหรือแม่บ้าน รวมทั้งทำให้การทำครัวเต็มไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย
สำหรับที่เก็บของในห้องครัวนั้น มีคุณ Mammos เขียนให้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว (สนใจดูได้ตาม Link นี้นะครับ http://www.bareo-isyss.com/34/34_kitchen_storage.html ) แต่ผมอยากจะสรุปส่วนที่สำคัญๆ ให้ฟังในแบบของผมอีกสักรอบนึงนะครับ


          
ห้องครัวที่ดี เราจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ประเภท คือ พื้นที่เก็บของ และพื้นที่ทำงาน โดยพื้นที่ทำงาน เรามักจะหมายถึงพื้นที่ส่วนที่เป็น Tabletop ที่เราจะใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมอาหาร ปิ้ง ย่าง ผัด ต้ม หรือกิจกรรมในการล้างต่างๆ ดังนั้น หากคุณเป็นคนที่ทำครัวหนัก หรือต้องทำอาหารรองรับคนในบ้านที่มีจำนวนมากๆ ก็ควรจะมีพื้นที่ในส่วนนี้มากๆ ด้วยเช่นกัน และต้องระวังไม่ให้พื้นที่สำหรับส่วนเปียก กับส่วนที่ใช้ไฟ อยู่ใกล้กัน มิฉะนั้นจะทำงานได้ไม่สะดวกครับ


           สำหรับพื้นที่เก็บของนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านเล็กหรือบ้านใหญ่ ก็ใช้พื้นที่ได้เยอะพอๆ กัน เพราะในปัจจุบัน เรามีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้มากมาย ยกตัวอย่างแค่เรื่องชงกาแฟอย่างเดียว เรายังมีอุปกรณ์ตั้งแต่จัดเก็บเมล็ดกาแฟ เครื่องบดเมล็ดกาแฟทั้งแบบมือหมุน และแบบไฟฟ้า จนไปถึงกาต้มกาแฟแบบ Ibrik ของเตอร์กิช ไปจนถึง Espresso Machine ที่ทำฟองนมได้เนียนฟู สำหรับ Cappuccino ถ้วยโปรด

 


 
   
 

 


           ดังนั้น เราจึงมักจะมึนงงอยู่เสมอเมื่อมีเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ใหม่ๆ เข้าไปในห้องครัว เพราะไม่รู้ว่าจะจัดเก็บไว้ตรงไหนดี จึงจะเหมาะสม ผมจึงอยากจะขอแนะนำเคล็ดลับส่วนตัวบางอย่างที่ผมมักจะใช้ในการออกแบบ เพื่อให้ทุกท่านนำไปประยุกต์ใช้นะครับ

      • พื้นที่ที่คนเราถนัดในการจัดเก็บและหยิบใช้งานมากที่สุด จะอยู่ที่ระยะตั้งแต่เอวจนถึงหัวไหล่ เพราะจะเป็นช่วงที่เราไม่ต้องยืดหรือก้มตัว ดังนั้นของที่ใช้บ่อยควรจะเก็บอยู่ในบริเวณนี้

      • เรามักจะแบ่งครัวออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนเก็บอาหาร ได้แก่ตู้เย็น ตู้เก็บอาหารแห้ง, ส่วนล้างและเตรียมอาหาร ได้แก่ ส่วน Sink และบริเวณเตรียมอาหารโดยรอบ และส่วนปรุงอาหาร ได้แก่ เตาแบบ Hob และเตาอบ Oven

      • ส่วนเก็บอาหาร มักจะเป็นส่วนแรกที่เราจะเริ่มใช้งานในครัว ไม่ว่าเราจะซื้อของกลับมา หรือตอนที่เราจะเริ่มเตรียมอาหาร ดังนั้น ส่วนนี้จึงควรจะอยู่ใกล้กับประตูทางเข้า

      • ของแห้งหรืออาหารแห้งที่มีที่เก็บแบบปิด-เปิดได้ ควรเก็บแยกไว้ในตู้เก็บของแห้งโดยเฉพาะ ไม่ควรเก็บปะปนกับของใช้ชนิดอื่น

       

 
   
 

 

      • ข้าวสาร, น้ำตาล เกลือ ควรเก็บในขวดสูญญากาศ เพื่อป้องกันมิให้อากาศจากภายนอกเข้าไปทำให้เสื่อมคุณภาพ รวมทั้งยังป้องกันมดหรือแมลงชนิดอื่นๆ ที่จะเข้าไปภายในได้อีกด้วย ที่สำคัญ ข้าวสารไม่ควรเก็บในถังใหญ่ๆ เพียงถังเดียว เพราะในปัจจุบัน เราจะหุงข้าวกันน้อยลง ถ้าซื้อคราวละมากๆ บางครั้งข้าวที่อยู่ก้นถังจะเสื่อมคุณภาพก่อนที่จะใช้ ดังนั้น ผมอยากจะให้ซื้อตามความจำเป็น ให้พอใช้หมดใน 1 เดือน และแบ่งเก็บในขวดสูญญากาศ จะได้ไม่หนักมาก เวลาต้องยกขึ้นลงทุกวัน

      •  Sink ควรวางอยู่ใกล้กับหน้าต่าง เพื่อให้แสงแดดส่องถึง เพราะจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ และดูสะอาด หากบ้านที่พื้นที่มากพอ อาจจะจัด Sink สำหรับล้างผักสดและผลไม้แยกจาก Sink ที่ใช้ล้างจานก็ได้

      • พื้นที่เก็บของใต้ Sink ควรทำความสะอาดง่ายและทนทาน เพราะอาจมีน้ำรั่วลงไปได้ในบางครั้ง นอกจากนี้ ควรมีที่เก็บ Stock น้ำยาชนิดต่างๆ ที่ใช้ทำความสะอาด โดยอาจจะทำเป็นกล่องตะแกรงพร้อมที่ล็อคกันเด็กเปิดได้

      • ส่วนเตรียมอาหารควรมีพื้นที่พอสมควร และมีที่เก็บของจำพวกมีด ช้อน ส้อมโดยเฉพาะ รวมทั้งควรมีที่เก็บเครื่องปรุงชนิดต่างๆ อีกด้วย

      • ของชิ้นเล็ก จำพวกช้อนส้อมหรือเครื่องใช้ขนาดเล็ก ควรจะเก็บในลิ้นชักแบบตื้นที่ติดอยู่ใต้เคาน์เตอร์ เพื่อให้หยิบใช้ได้ง่าย และทางที่ดี ควรมีช่องแบ่งเพื่อแยกประเภทของใช้ออกจากกันด้วยครับ

      • ควรมีที่เก็บมีดที่ปลอดภัยโดยเฉพาะ และต้องเก็บให้พ้นมือเด็กเล็ก ที่เก็บมีดแบบเสียบดูจะปลอดภัยกว่าที่เก็บมีดแบบแม่เหล็กที่นำเอามีดไปแปะไว้เฉยๆ

       

 
   
 



      • พื้นที่ใต้ Hob ที่ใช้ปรุงอาหาร เรามักจะติดตั้งเตาอบไว้ด้วย แต่หากไม่สะดวก หรือมีการใช้งานหนัก เราอาจจะแยก Oven ออกจากใต้ Hob ก็ได้

      • หม้อ, กะทะหรือเครื่องใช้ขนาดใหญ่ ควรเก็บไว้ที่ตู้บานเปิดใต้เคาน์เตอร์ เพื่อจะได้หยิบใช้ได้ง่าย และไม่ต้องกังวลว่าของเหล่านี้จะตกลงมาใส่ศรีษะหากเก็บไว้ที่ตู้ลอยด้านบน

      • สำหรับบ้านที่ใช้ถังแก็ส สามารถเลือกใช้ถังแก็สขนาดเล็กที่เก็บไว้ใต้ตู้ก็ได้ แต่ผมอยากจะแนะนำให้ใช้ถังแก็สขนาดใหญ่ จัดวางไว้นอกบ้าน (ควรอยู่ในร่ม) และต่อท่อแก็สชนิดสายอ่อนออกไปภายนอกจะปลอดภัยกว่า ในกรณีที่มีแก็สรั่ว

      • ตู้ลอยที่อยู่สูงมากๆ ควรจะใช้เก็บของที่สามารถวางได้อย่างมั่นคง เช่นเครื่องใช้ที่อยู่ในกล่อง และควรจะเป็นของที่นานๆ จะใช้สักครั้งหนึ่ง และถ้าเป็นไปได้ ควรมีบันไดที่มั่นคงเพื่อให้ปีนขึ้นไปหยิบใช้หรือจัดเก็บที่ตู้ลอยโดยเฉพาะ

      • หม้อหุงข้าว หรือกระติกน้ำร้อนสามารถจัดวางบน Tabletop ได้ แต่ถ้าอยากจะจัดเก็บให้เรียบร้อย ในเวลาที่ไม่ใช้งาน ก็ควรจะทำเป็นชั้นเลื่อนออกมาขณะที่ใช้งานและเก็บกลับเข้าไปในตู้ พร้อมมีหน้าบานปิด เพราะของใช้เหล่านี้จะมีไอน้ำออกมาด้านบน จึงควรนำออกมาจากตู้ในขณะที่ใช้งาน และจัดเก็บในตู้เมื่อไม่มีไอน้ำออกมาแล้ว


                
      เอาล่ะครับ สำหรับเดือนนี้ ผมก็ได้แนะนำพื้นที่เก็บของแบบต่างๆ สำหรับแต่ละห้องในบ้านได้พอสมควรแล้ว สำหรับเดือนหน้า ผมจะขอแนะนำพื้นที่เก็บของในห้องนอน ห้องน้ำ และพื้นที่เก็บของแบบพิเศษที่น่าสนใจนะครับ หวังว่าทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ สำหรับเดือนนี้ ผมคงต้องขอตัวไปก่อนนะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ...

       

 
 

 

 

-- X10 --

 

 

 

 
Home | About Bareo | News & Events | Art of Design | Decor Guide | The Gallery | Living Young | Talk to Editor | Links
 
บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 Tel. 66 2881 8536-7 Fax. 66 2881 8538
house servic, decoration design home architect architecture interior design designer homeplan residential furniture family decorat building build planning cost news information structure arch drawing apartment idea bangkok develop foreman เฟอร์นิเจอร์ การซ่อมแซมบ้าน วัสดุแต่งบ้าน ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องอาหาร ออกแบบ ตกแต่งภายใน ออกแบบตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ บ้านสวย มัณฑนากร สถาปัตย์ ตกแต่ง บารีโอ บาริโอ บริการ ปรึกษา รับสั่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ตามแบบ รับเหมาตกแต่ภายใน วรวุฒิ ธรรมกุลางกูร มยุรี ธรรมกุลางกูร