editor talk
home
about bareo
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
 
 
 
 

 

          สวัสดียามเช้าครับ เช้านี้ลุงพรรณ จะมาแนะนำไม้ประดับเศรษฐกิจตัวใหม่ให้รู้จักกันนะครับ ถ้าบอกชื่อ หลายๆคนคงรู้จักกันดีแน่ๆ เพราะเป็นต้นไม้แปลกๆที่กินแมลง แค่นี้ก็พอจะเดาได้นะครับ คือ หม้อข้าวหม้อแกงลิง นั่นเอง แต่หลายคนคงมีคำถามว่าเค้าเอามาเป็น ไม้ประดับกันด้วยหรือ? ... คำถามนี้ลุงพรรณคงตอบได้ไม่ดีเท่านักวิชาการหรอกครับ แต่เท่าที่เดินดูตลาดค้าไม้ประดับ เจ้าหม้อข้าวหม้อแกงลิง และพืชตระกูลกินแมลงนี่ กำลังมาแรงเลยที่เดียว แถมยังมีการจัดงานสัมมนา เรื่อง “หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชกินแมลงจากป่าสู่ไม้ประดับเศรษฐกิจไทย” จัดโดย โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและจัดการความรู้ทางพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ แต่น่าเสียดายที่จัดไป เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี่เอง ถ้าใครสนใจข้อมูลลองเข้าไปดู ที่นี่ได้ครับ
          ตอนนี้มาว่าถึงเจ้าหม้อข้าวหม้อแกงลิง กันดีกว่า หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes) หรือ Monkey Cup ( ที่มาของชื่อนี้คือ ลิงมักจะมาดื่มน้ำฝนจากหม้อของพืชชนิดนี้) หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นสกุลของพืชกินสัตว์ในวงศ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง ซึ่งประกอบไปด้วย 120 กว่าชนิด และลูกผสมอีกมากมาย ส่วนมากนั้นเป็นพืชที่ขึ้นตามที่ลุ่มเขตร้อนชื้น แต่ในระยะหลังหม้อข้าวหม้อแกงลิง ชนิดใหม่ๆมักพบตามภูเขาซึ่งมีอากาศร้อน ตอนกลางวันและหนาวเย็นตอนกลางคืน ในประเทศไทยพบว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก และภาคใต้ หม้อข้าวหม้อแกงลิง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
          1. Lowland คือ กลุ่มที่กำเนิดในระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลลงมา หรือมีอุณหภูมิตอนกลางวัน ตั้งแต่ 80-95 F หรือ 27-35 C และกลางคืน ตั้งแต่ 70-80 F หรือ 21-27ํ C

          2. Highland คือ กลุ่มที่กำเนิดในระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป หรือมีอุณหภูมิตอนกลางวัน ตั้งแต่ 70-85 F หรือ 21-29 C และกลางคืน ตั้งแต่ 50-65 F หรือ 12-18 C


 
          หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นไม้เลื้อย มีระบบรากที่ตื้น-สั้น สูงได้หลายเมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตรหรืออาจหนากว่านั้นในบางชนิด จากลำต้นไปยังก้านใบที่มีลักษณะคล้ายใบ เหมือนกับสกุลส้ม ยาวสุดสายดิ่งซึ่งบางสายพันธุ์ใช้เป็นมือจับยึดเกี่ยว แล้วจบลงที่หม้อที่เป็นใบแท้แปรสภาพมา หม้อเริ่มแรกจะมีขนาดเล็กและค่อยๆโตขึ้นอย่างช้าๆจนเป็นกับดักทรงกลมหรือรูปหลอด
          หม้อ(Pitcher) ของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง คือ เครื่องมือหรือกับดักที่ใช้หลอกล่อ เหยื่อที่เป็นสัตว์ หรือแมลง สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ให้เดินเข้าหากับดัก โดยอาศัยกลิ่นเลียนแบบของเหยื่อ ที่อาจเป็น น้ำหวาน กลิ่นแมลงตัวเมีย หรือสีสันที่สะดุดตาบวกกับกลิ่นที่เหย้ายวนเร้าใจ ที่จะเป็น เครื่องดึงดูดเหล่าสัตว์หรือแมลงทั้งเหล่ามาสู่กับดักมรณะนี้

           ด้านในและใต้ส่วนที่งุ้มโค้งของปากหม้อ (peristome หรือ lip) เป็นส่วนที่สร้างน้ำหวาน เมื่อเหยื่อหลงเข้ามาตอมน้ำหวานบริเวณปากหม้อที่ถูกเคลือบด้วยสารที่มี ลักษณะมันลื่น ประกอบกับผิวเป็นคลื่นตามแนวลงภายในหม้อ เหยื่อจึงมีโอกาสลื่นพลัดตกลงไป ในหม้อ ได้อย่างง่ายดาย และภายในหม้อจะมีน้ำย่อยอยู่
           หม้อของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงมี 2 ลักษณะคือ

           1. หม้อล่าง (Lower Pitcher) หรือเขียนย่อๆ ว่า L/P มีลักษณณะ

                1. มีสีสันจัดสดใส
                2. ก้านใบ /สายดิ่ง หรือสายหม้อ (Tendril) อยู่ฝั่งเดียว กับปีก (Wing)
                3. ปีก (Wing) มีลักษณะกว้างใหญ่

           2. หม้อบน (Upper Pictcher) หรือเขียนย่อๆ ว่า U/P มีลักษณณะ

                1. มีสีสันซีดจาง หรือน้อยลง
                2. ก้านใบ /สายดิ่ง หรือสายหม้อ (Tendril) อยู่คนละฝั่ง กับปีก (Wing)
                3. ปีก (Wing) มีลักษณะลดสั้นลง หรือหายไป


 
          ตอนนี้ก็รู้จักข้อมูลของเจ้าหม้อข้าวหม้อแกงลิง กันคร่าวๆแล้วนะครับ ถ้าใครอยากรู้ข้อมูลเชิงลึก สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ครับ ทีนี้มาดูวิธีการขยายพันธุ์ กันนะครับ

          1. การปักชำ ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ง่ายและ Basic ที่สุดแล้วครับ เลือกกิ่งที่ไม่แก่เกินไป กรีดโคนยาวสัก 1 นิ้ว เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่การเกิดราก จากนั้นก็นำไปปักไว้ในเครื่องปลูกปกติ นำไปวางไว้ให้โดนแดดบ้างก็ได้ครับ แต่ให้โดนช่วงสั้นๆ ในระหว่างนั้นก็รดน้ำตามปกติ ประมาณ 2-3 เดือน ก็จะแตกใบออกรากกันแล้วครับ

          2. การเพาะเมล็ด ให้โรยบนสแฟกนัมมอสส์ที่ เปียกชื้นหรือบนวัสดุปลูกอื่นๆที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เช่นขุยมะพร้าว, พีทมอสส์ ฯลฯ หลังฝักแตกออกให้รีบเพาะเมล็ดเพราะอัตรางอกจะลดลงเรื่อยๆเมื่อเก็บไว้นาน เข้า ส่วนผสม 50:50 ที่ใช้ในการปลูกกล้วยไม้เช่นมอสส์กับเพอร์ไลต์ เป็นส่วนผสมที่เหมาะที่สุดในการเพาะเมล็ด เมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการงอกเป็นต้นอ่อน และหลังจากนั้น 2 ปีหรือมากกว่านั้นจึงจะให้ดอก

          3.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในปัจจุบันเป็นการเพาะเลี้ยงในเชิงการค้าซึ่งได้ช่วยลดจำนวนต้นไม้ที่ถูก เก็บออกจากป่ามาขายได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ดี พืชหายากจำนวนมากยังถูกเก็บออกมาขาย เป็นเพราะราคาที่แพงของมันนั่นเอง
เทคนิคการปลูกเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้งามนั้นอาศัยปัจจัยต่างๆ ไม่กี่ข้อ ดังต่อไปนี้
          เครื่องปลูก หม้อ ข้าวหม้อแกงลิง เป็นต้นไม้ที่ชอบเครื่องปลูกที่มีลักษณะโปร่งๆ สามารถถ่ายเทอากาศได้สะดวก มีความชื้นสูง และไม่แฉะ ซึ่งปกติจะใช้กาบมะพร้าวสับขนาดเล็ก นอกจากกาบมะพร้าวสับแล้ว เราอาจใช้ขุยมะพร้าว, ทรายหยาบ, ใบก้ามปู, หินภูเขาไฟ หรือหินพัมมิส (Pumice) , เวอร์มิคูไลท์ (Vermiculite) , เพอร์ไลท์ (Perlite), สแฟกนั่มมอส (Sphagnum Moss) และพีทมอส (Peat Moss) เป็นส่วนประกอบของเครื่องปลูกได้ โดยใช้ผสมกับกาบมะพร้าวสับ ในอัตราส่วนประมาณ 3:1 คือกาบมะพร้าวสับประมาณ 3 ส่วน และส่วนประกอบอื่นๆ ประมาณ 1 ส่วน
          กระถาง กระถางที่เหมาะสมกับการปลุกเลี้ยงหม้อ ข้าวหม้อแกงลิง ควรจะใช้กระถางพลาสติก และไม่ควรใช้กระถางดินเผาในการปลูกเลี้ยง เพราะ หม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นต้นไม้ที่ไม่ค่อยชอบ แร่ธาตุ และเกลือแร่บางชนิด ที่ปลดปล่อยจากดินที่ใช้ในการปั้นกระถาง เมื่อเราใช้ไปนานๆ
          น้ำ การให้น้ำหม้อข้าวหม้อแกงลิง แนะนำให้ใช้น้ำประปาจะดีที่สุด และรดน้ำวันละครั้งเดียว ตอนช่วงเช้า รดให้น้ำทะลุผ่านออกก้นกระถางก็เพียงพอแล้ว และหากจำเป็นต้องรดช่วงเย็น พยายามให้น้ำที่เกาะอยู่ตามต้นแห้งก่อนจะค่ำ เพราะหากน้ำขัง หรือเกาะตามใบจะทำให้เป็นเชื้อราได้ง่าย
          แสง แสงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงเจริญเติบโต และออกหม้อ หม้อข้าวหม้อแกงลิงควรได้รับแสงอย่างน้อยครึ่งวัน จะเป็นช่วงเช้าหรือบ่ายก็ได้ แต่การเจริญเติบโตอาจช้ากว่าต้นที่ได้รับแสงเต็มวัน หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็น ต้นไม้ที่ชอบแสงมากๆ แต่จะไม่ชอบแดดกลางแจ้งโดยตรง โดยบริเวณที่เหมาะสมในการปลูกเลี้ยง คือ 1. ใต้ซาแรน (Slan) ควรใช้ซาแรนที่มีความเข้มประมาณ 50-60% จะดีที่สุด หากความเข้มมากกว่านี้จะร่มเกินไปสำหรับหม้อข้าวหม้อแกงลิง 2. ใต้ระแนงไม้ 3. ระเบียงหน้าต่าง ชานบ้าน ศาลาในสวน
          ความชื้น ความ ชื้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงออกหม้อ หากความชื้นไม่เพียงพอปลายใบที่พัฒนาออกมาเป็นหม้อจะฝ่อ หรือแห้งไป ไม่เจริญเติบโตต่อ สถานที่ที่มีความชื้นเหมาะสมในการปลูกเลี้ยง 1. สวนในบ้าน ส่วนใหญ่แล้วสวนที่อยู่บริเวณบ้าน จะมีความชื้นที่เพียงพอให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงออกหม้ออยู่แล้ว 2. ดาดฟ้าตึก ระเบียงคอนโด หรืออพาร์ทเม้นต์ ความชื้นจะต่ำกว่าในบริเวณสวน แต่สามารถปลูกเลี้ยงให้ออกหม้อได้ แต่อาจมีขนาดเล็กกว่า และหากความชื้นสูงมากเกินไปจะทำหม้อข้าวหม้อแกงลิงอ่อนแอต่อโรค และทำให้เป็นเชื้อราได้ง่าย
          ปุ๋ย และอาหารเสริม เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจำเป็นสำหรับหม้อข้าว หม้อแกงลิง เนื่องจากมีหม้อที่คอยล่อแมลงมาเป็นสารอาหารอยู่แล้ว แต่หากใส่จะทำให้เจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น โดยใช้ปุ๋ยละลายช้าสูตรเสมอ 14-14-14, 16-16-16 หรือสูตรเร่งดอกก็ได้ ใส่ประมาณ 5-15 เม็ด ต่อกระถาง ปริมาณขึ้นอยู่ขนาดของกระถาง ปุ๋ยละลายช้าใส่ 1 ครั้ง อยู่ได้นาน 3-6 เดือนขึ้นอยู่กับสูตรและยี่ห้อของปุ๋ยละลายช้า ดังนั้นใน 1 ปีจะใส่ปุ๋ยแค่ 2-4 ครั้งเท่านั้น


 
          เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ปลูกไม่ยากใช่ไหมครับ ถ้าใครอยากจะปลูกลองปลูกประดับบ้านเล่นๆก็ได้นะครับแถมยังช่วยจับแมลงอีกด้วย แต่ถ้าใครคิดอยากจะทำเป็นธุรกิจล่ะก็คงต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันเยอะๆนะครับ แต่ลุงพรรณคิดว่าเป็นไม้ประดับที่น่าจะมาแรงในอนาคตเลยทีเดียว
          ขอขอบคุณข้อมูลจาก

          http://th.wikipedia.org/wiki/หม้อข้าวหม้อแกงลิง

          http://www.tropicpitchers.com

          ชุมชนคนรักพืชกินแมลง

 
     
 

 

   สวัสดีครับ

-- ลุงพรรณ --

 

 

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538