editor talk
home
about bareo
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
 
 
 
 

 

          “ กาเหว่าเอย ไข่ให้แม่กาฟัก แม่กาหลงรัก คิดว่าลูกในอุทร คาบข้าวมาเผื่อ คาบเหยื่อมาป้อน ปีกหางเจ้ายังอ่อน สอนร่อนสอนบิน แม่กาพาไปกิน ที่ปากน้ำแม่คงคา “ คุ้นๆกับประโยคนี้กันบ้างไหมครับ ใช่ครับเป็นบทเพลงกล่อมเด็ก และเป็นท่อนที่ผมจำได้ขึ้นใจ เพราะมันมักจะแว่วๆ เข้ามายามผมจะคล้อยหลับ เชื่อว่าหลายๆท่านคงจะเคยได้ยิน และอีกหลายท่านใช้ร้องขับกล่อม ในขณะที่ไกวเปล เพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้หลับอย่างเป็นสุข สาเหตุที่ยกเพลงกล่อมเด็กขึ้นมาในเดือนสิงหาคมนี้ หลายท่านคงทราบอยู่แล้วว่าเดือนนี้มีวันที่สำคัญยิ่งต่อลูกๆทุกคน นั่นก็คือ วันแม่แห่งชาติ เป็นวันที่เราระลึกถึงพระคุณของแม่ และนำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบเท้าท่านอย่างไม่เคอะเขิน ดังนั้นเดือนนี้ผมขอพักแนะนำเพลงร่วมสมัยไว้ก่อน แล้วจะพาย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง กับบทเพลงกล่อมเด็ก ที่แม่เคยร้องให้เราฟัง
          เพลงกล่อมเด็ก เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ และค่านิยมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ สันนิษฐานว่าเพลงกล่อมเด็กนั้น เกิดจากการเล่านิทานให้เด็กฟังก่อนนอน ดังนั้นเพลงกล่อมเด็กบางเพลงจึงมีลักษณะเนื้อร้องที่เป็นเรื่องเป็นราว เช่น จันทรโครพ ไชยเชษฐ์ พระรถเสน เป็นต้น และสาเหตุที่ต้องกล่อมเด็ก ก็เพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน หลับง่าย และเกิดความอบอุ่นใจ
           ลักษณะของเพลงกล่อมเด็ก จะเป็นกลอนชาวบ้านไม่มีแบบแผนแน่นอน เพียงแต่มีสัมผัสคล้องจองกันบ้าง ถ้อยคำที่ใช้ในบางครั้งอาจไม่มีความหมาย เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรัก ความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูก ทั้งยังมีการสั่งสอนและเสียดสีสังคม
ประเภทของเนื้อเพลงกล่อมเด็ก

           • แสดงความรักความห่วงใย
           • กล่าวถึงสิ่งแวดล้อม
           • เล่าเป็นนิทานและวรรณคดี
           • เป็นการเล่าประสบการณ์
           • ล้อเลียนและเสียดสีสังคม
           • ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็ก
           • เป็นคติ คำสอน
          ในประเทศไทยเรานั้นมีเพลงกล่อมเด็กอยู่ทั่วทุกภาค เนื้อร้องและทำนองจะต่างกันไป มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ภาคเหนือ เรียก "เพลงอื่อลูก" ภาคอีสาน เรียก “เพลงนอนสาหล่า“นอนสาเด้อหล่า“ หรือ ควมก่อมลูก” ภาคกลาง เรียก "เพลงกล่อมเด็ก" "เพลงกล่อมลูก" ส่วนภาคใต้ เรียก “เพลงชาน้อง” หรือ “เพลงช้าน้อง หรือ เพลงเรือ-ร้องเรือ” เรามาดูเพลงกล่อมเด็กของแต่ละภาคกันดีกว่าครับ
           เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือ

          เพลงกล่อมเด็กของภาคเหนือสมัยก่อน พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย มักจะใช้ขับกล่อมสอนลูกหลาน ในขณะอุ้มเด็กนั่งชิงช้าแกว่ง ไกวช้าๆ จนเด็กง่วงนอน จึงอุ้มไปวางบนที่นอนหรือในเปลแล้วแห่กล่อมต่อจนเด็กหลับสนิท คำกล่อมเด็กนี้จึงเรียกว่า "สิกจุ้งจาโหน" ตามเสียงที่ใช้ขึ้นต้นเพลง

          ลักษณะเด่นของเพลงกล่อมเด็กภาคเหนือนอกจากจะขึ้นต้นด้วยคำ ว่า สิกจุ้งจาโหน แล้วยังมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "อื่อจา" เป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกเพลงกล่อมเด็กนี้ว่า เพลงอื่อลูก ทำนองและลีลาอื่อลูกจะเป็นไปช้าๆ ด้วยน้ำเสียงทุ้มเย็น ตามถ้อยคำที่สรรมาเพื่อสั่งสอนพรรณาถึงความรัก ความห่วงใยลูกน้อย จนถึงคำปลอบ คำขู่ ขณะยังไม่ยอมหลับ ถ้อยคำต่างๆ ในเพลงกล่อมเด็กภาคเหนือสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมต่างๆ ของคนในภาคเหนือในอดีตจนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
อื่อ อื่อ จา จา หลับสองต๋า
แม่ไปนานอกบ้าน ไปเก็บบ่าส้าน
ใส่ซ้ามาแขวน ไปเก็บบ่าแหน
ใส่ซ้ามาต้อน น้องอย่าไห่อ้อน
แม่ไปไฮ่บ่มา อื่อน้องหลับสองต๋า
นอนจ๋าตี่ตี๋ ตี่ตี๋ติดกัน
หลับเมื่อวัน น้องอย่าไปอ้อน
อื่อ อื่อ อ้อน หื้อหลับเสียเตอะนาย
----------------------------------------------------------------

อื่อ...........จา.......จา........
นกกางเขนบินไปบินมา
กาสองตัววกตามพ่อกา
ถือด้ามพร้าหลอกล่อ
นกพิราบจับกาแลยุ้งข้าว


 
           เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน

          เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน จะมีทำนองลีลาเรียบง่ายช้าๆ และมีกลุ่มเสียงซ้ำๆ กันทั้งเพลงเช่นเดียวกับภาคเหนือ การใช้ถ้อยคำมีเสียงสัมผัสคล้ายกลอนสุภาพทั่วไป และเป็นคำพื้นบ้านที่มีความหมายในเชิงสั่งสอนลูกหลานด้วยความรักความผูกพัน ซึ่งมักจะประกอบด้วย 4 ส่วนเสมอ คือ ส่วนที่เป็นการปลอบโยนการขู่และการขอโดยมุ่งให้เด็กหลับเร็วๆ นอกจากนี้ก็จะเป็นคำที่แสดงสภาพสังคมด้านต่างๆ เช่น ความเป็นอยู่ บรรยากาศในหมู่บ้าน ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น คุณค่าของเพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน จึงมีพร้อมทั้งทางด้านจิตใจและด้านการศึกษาของชาติ
นอนสาเด้อ...หล่า แม่สิก่อม (นอนเสียเถอะแม่จะกล่อม)
ผัดว่าอย่างสิ้นเด่อหล่า (ถ้าว่าอย่างนั้นแหละ)
อะซะไห่ ก๋างคำย่านผีพาย (อย่าร้องไห้กลางคืนกลัวผีพราย)
ยามงายผ่านผีเป้า (อย่าร้องไห้ยามเช้ากลัวผีกระสือ)
เจ้าบ่มีพ่อเลี้ยงกิ๋นแล้วให้เล่นนอนว่าสันเด๋ (เจ้าลูกไม่มีพ่อช่วยเลี้ยง กินแล้วนอน สะว่าอย่างนั้นแหละ)

----------------------------------------------------------------

นอนสะหล่าหลับตาแม่สิกล่อม
นอนตื่นแล้วจั่งค่อยกินนม โอ่....
แม่ไปไห่หมกไข่ไก่มาหา
แม่ไปนาหมกไข่ปลามาป้อน
แม่เลี้ยงม้อนแล่นเข้าป่าสวนหมอน.....


 
           เพลงกล่อมเด็กภาคกลาง

          เพลงกล่อมเด็กภาคกลางเป็นที่รู้จักแพร่หลายและมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน มากกว่าเพลงกล่อมเด็กภาคอื่น ซึ่งสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้า การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ โดยไม่มีชื่อเฉพาะสำหรับเรียกเพลงกล่อมเด็กภาคกลาง เนื่องจากขึ้นต้นบทร้องด้วยคำหลากหลายชนิดตามแต่เนื้อหาของเพลง

          ลักษณะทำนองและลีลาของเพลงกล่อมเด็กภาคกลางจะเป็นการขับกล่อมอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ กลุ่มเสียงก็จะซ้ำๆ เช่นกัน แต่จะเน้นการใช้เสียงทุ้มเย็น และยึดคำแต่ละคำให้เชื่อมกลืนกันไปอย่างไพเราะ อ่อนหวาน ไม่ให้มีเสียงสะดุด ทั้งนี้เพื่อมุ่งให้เด็กฟังจนหลับสนิทในที่สุด
นกเขาขัน
นกเขาเอย ขันแต่เช้าไปจนเย็น
ขันไปให้ดังแม่จะฟังเสียงเล่น เนื้อเย็นเจ้าคนเดียวเอย

กาเหว่า
กาเหว่าเอย ไข่ให้แม่กาฟัก
แม่กาหลงรัก คิดว่าลูกในอุทร
คาบข้าวมาเผื่อ คาบเหยื่อมาป้อน
ปีกหางเจ้ายังอ่อน สอนร่อนสอนบิน
แม่กาพาไปกิน ที่ปากน้ำแม่คงคา
ตีนเหยียบสาหร่าย ปากก็ไซ้หาปลา
กินกุ้งกินกั้ง กินหอยกระพังแมงดา
กินแล้วบินมา จับต้นหว้าโพธิทอง
นายพรานเห็นเข้า เยี่ยมเยี่ยมมองมอง
ยกปืนขึ้นส่อง หมายจ้องแม่กาดำ
ตัวหนึ่งว่าจะต้ม ตัวหนึ่งว่าจะยำ
แม่กาตาดำ แสนระกำใจเอย


 
           เพลงกล่อมเด็กภาคใต้

          ในบรรดาภาษาถิ่น ภาษาใต้เป็นภาษาถิ่นที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักมากที่สุดเพราะมีสำเนียงที่เป็น เอกลักษณ์ชัดเจนที่สุด เช่นเดียวกับเพลงกล่อมลูกภาคใต้ที่มีทำนองและลีลาเด่นเป็นของตนเอง เพลงกล่อมลูกภาคใต้ มีชื่อเรียก 4 อย่าง คือ เพลงร้องเรือ เพลงชาน้อง หรือเพลงช้าน้อง เพลงเสภา และเพลงน้องนอน

          ลักษณะเด่นของทำนองกล่อมลูกภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงประเภทใดคือมักจะขึ้นต้นเพลงด้วยคำว่า "ฮา เอ้อ" หรือมีคำว่า "เหอ" แทรกอยู่เสมอในวรรคแรกของบทเพลง แล้วจึงขับกล่อมไปช้าๆ เหมือนภาคอื่นๆ เพลงกล่อมเด็กภาคใต้มีจุดประสงค์และโอกาสการใช้กว้างขวาง จำนวนเพลงจึงมีมากถึง 4,300 เพลง นับว่ามากกว่าทุกภาคในประเทศ
เพลงนกแอน (นกนางแอ่น)
“...ฮาเหอ นกแอนเหอ บินสูงบินแสน
ทำรังเกาะเสเกาะห้า ตีแม่มันเสียให้ตาย
เอารังไปขาย เป็นสินค้า
ทำรังเกาะเสเกาะห้า สินค้านางนก..เหอ แอน"

เพลงไปคร (ไปนครศรีธรรมราช)
"...อ้า เห้อ เหอ ไปคอน
ไปแลพระนอนและพระนั่ง
พระพิงเสาดั้งหลังคามุงเบื้อง
เข้าไปในห้องไปแลพระทองเขาทรงเครื่อง
หลังคามุงเบื้อง ทรงเครื่องดอกไม้..."


 
          ทุกวันนี้เพลงกล่อมเด็ก ได้ค่อยๆเลือนหายไปจากสังคมของคนไทย เพราะคุณแม่สมัยนี้นิยมที่จะเปิด เพลงคลาสสิคกล่อมให้ลูกน้อยนอน อีกสาเหตุหนึ่งคือ คุณแม่อาจจะจำเนื้อร้องไม่ได้ หรือเกรงว่าจะเป็นการเชยที่จะร้องกล่อมให้ลูกฟัง ผมว่าวัฒนธรรมการร้องเพลงกล่อมลูกนี้จะหายไปในที่สุด

          ถ้าเกิดว่าคุณแม่ที่มีลูกอ่อนได้อ่านบทความนี้ ลองใช้เพลงกล่อมเด็กกล่อมลูกน้อยดูบ้างก็ได้ครับ เผื่อว่าสายใยระหว่างแม่ลูกจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะเสียงของคุณแม่ได้เข้าไปขับกล่อมให้ลูกน้อยได้ฟังยามหลับ และผมก็ขอลาด้วยเพลงบทนี้ นะครับ
“นอนไปเถิดแม่จะกล่อม นวลละม่อมแม่จะไกว ทองคำแม่อย่าร่ำไห้ สายสุดใจเจ้าแม่เอย ”
สามารถดูฟังเพลงกล่อมเด็กทั้ง 4 ภาคได้ที่นี่นะครับ (http://flash.manager.co.th/rhyme/song.swf)
ขอแถมกับอีกบทเพลงหนึ่งที่ไม่พูดถึงในวันแม่ไม่ได้นั่นคือ เพลงค่าน้ำนม ผมมีคลิบน่ารักๆชวนให้น้ำตาซึม มาให้ลองชมกันดูครับ


 
 
     
 

 

   สวัสดีครับ

-- projecton --

 

 

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538