editor talk
 
   
   
   
   
   
   
   
   
  links  
     
 
 

 


“ลำไส้แปรปรวน”โรคชวนรำคาญ

หลังจากที่กุ๊กกู๋เจ็บป่วยด้วยโรครุมเร้า รุมเร้าที่ว่านี่น่ารำคาญซะด้วย เคยบ่นกับตัวเองว่าทำไมเป็นอยู่ได้บ่อยๆ ไม่หายขาดซักที นั่นคือ ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด เป็นๆ หายๆ สลับกันไป บางครั้งท้องเสียมากไป ร่างกายก็สูญเสียน้ำทำให้ไข้ขึ้นอีก ต้องลาหยุดเสียการเสียงานกันไป ไม่ไหวแล้วเราไปหาหมอดีกว่า ไปถึงก็บอกอาการที่เราเป็นให้คุณหมอฟังอย่างละเอียด บอกเสร็จคุณหมอพูดมาเสียงดังเลยว่า แน่แล้ววววละ โรคลำไส้แปรปรวน  คุณหมอยังบอกต่ออีกว่า โรคนี้ยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน และยังไม่มียาอะไรที่รักษาให้หายขาดได้ ...กรี๊ดดด!!! ไม่หายขาดด้วย แล้วมันจะอันตรายมั้ยนี่ แล้วโรคนี้มันเป็นยังไง กุ๊กกู๋เองก็เพิ่งจะได้ยินก็วันนี้ละคะ คิดว่าหลายๆ คนคงยังไม่รู้จักโรคนี้เช่นกัน วันนี้กุ๊กกู๋เลยถือวิสาสะมาบอกชาวบาริโอให้ทั่วกันเลยค่ะว่าโรคนี้เป็นยังไง

 

จากการสอบถามคุณหมอสุดหล่อ นพ.คมสัน  อังคณานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร แห่งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ได้ความว่า โรคลำไส้แปรปรวนที่กุ๊กกู๋ว่านี้ มันมีชื่อหรูๆ ว่า Irritable Bowel Syndrome หรือที่คุณหมอเรียกกันสั้นๆ ว่า โรค IBS หรือโรคประสาทลำไส้ คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่า โรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนตัวของลำไส้ โดยที่ไม่พบความผิดปกติหรือพยาธิสภาพของอวัยวะในช่องท้อง แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เพียงแต่สร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็น เพราะมีอาการเป็นๆ หายๆ แถมแต่ละคนก็จะมีอาการหนักเบา แตกต่างกันตามระยะเวลาที่เป็น ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตซะมากกว่า

 

ตอนแรกจิตตกไปว่า กุ๊กกู๋เป็นแบบนี้คนเดียวรึเปล่า เพราะคนรอบข้างไม่เห็นมีใครเป็น แต่คุณหมอบอกว่าโรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคที่พบบ่อยมากค่ะ ประมาณกันว่า 20 % ของคนปกติน่าจะเคยมีอาการ และเป็นมากในผู้หญิง หลายคนคงเคยเป็นอาการปวดท้อง ท้องอืดเหมือนอาหารไม่ย่อยเวลาเครียด หรือเวลาประจำเดือนมา (เฮ้ออ เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบากจริงๆ เลยค๊า ><) เอาเป็นว่ากุ๊กกู๋จะสรุปให้เข้าใจกันง่ายๆ ตามนี้ค่ะเลยว่า

 

สาเหตุของลำไส้แปรปรวน

ไม่ทราบแน่ชัด และไม่สามารถหาสาเหตุเดี่ยว ๆ ได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่สนับสนุนให้เกิดอาการขึ้น พบว่า คนที่เป็นโรคนี้ ลำไส้ใหญ่จะมีความไวกว่าปกติต่อสารต่าง ๆ และความเครียด (เวลาเครียด ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงที่อื่น เช่น ชีพจร หัวใจ ลำไส้ก็เช่นกัน) บางท่านเชื่อว่า กลไกการป้องกันและฆ่าแบคทีเรียในลำไส้ ก็มีส่วน สรุปทฤษฎีได้ดังนี้

  1. เกิดการเกร็งของลำไส้ใหญ่ หยุดเคลื่อนไหว และบีบตัวเป็นพัก ๆ

  2. ในคนที่ท้องเสีย เชื่อว่าเกิดเพราะมีการเคลื่อนของกากอาหารที่มีน้ำเร็วเกินกว่าที่ลำไส้ใหญ่จะดูดน้ำกลับทัน ในขณะที่บางคน กลับกัน คือมีการเคลื่อนของกากอาหารช้าไป เกิดเป็นท้องผูกเนื่องจากมีการดูดน้ำกลับมากไป

  3. ลำไส้ตอบสนองมากไปกว่าคนปกติ

 

อะไรทำให้โรคนี้เป็นมากขึ้น

  1. อาหารมื้อใหญ่ ๆ บางคนกินเยอะเกินไป หรือคนที่กินอาหารเร็วไปไม่เคี้ยวอาหารให้ละเอียด

  2. อาหารที่มีก๊าซมาก เช่น ถั่ว น้ำอัดลม กะหล่ำปี ดอกกำหล่ำ บรอคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต มันฝรั่ง เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีใยอาหาร และแป้งมากทำให้ลำไส้เล็กดูดไม่หมด อาหารเหลือไปยังลำไส้ใหญ่เกิดการหมักทำให้เกิดก๊าซ

  3. อาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรืออาหารที่หนักไปที่รสใดรสหนึ่งมากเกินไป จะทำให้ลำไส้ของเราทำงานหนักขึ้นหรือปรับสมดุลไม่ทัน

  4. ความเครียด เพราะเมื่อเกิดความเครียดจะทำให้ระบบทุกส่วนในร่างการรวนเร ไม่เว้นระบบขับถ่าย ลำไส้ของเราจะหยุดบีบตัวชั่วคราว ทำให้เบื่ออาหารพร้อมกับถ่ายไม่ออก

  5. ฮอร์โมนเวลาเป็นประจำเดือน

การปฎิบัติตัว

  1. รับประทานอาหารช้าๆ ไม่ควรรับประทานอาหารมากหรืออิ่มจนเกินไป

  2. หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน โดยเฉพาะมื้อเย็นและมื้อค่ำ เนื่องจากไขมันจะไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

  3. เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร ให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา

  4. หลีกเลี่ยงการดื่มนมโยเกิต ในผู้ป่วยโรค IBS ชนิดท้องเสีย

  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการของโรค เช่น กาแฟ อาหารรสจัด  เผ็ดจัด  แยม ช็อกโกแลต ผลไม้เปรี้ยวบางชนิด  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม

  6. ผ่อนคลายความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรืออาจพบจิตแพทย์ในบางรายที่มีปัญหาทางจิตมาก

 

การรักษา 

ยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการหลายระบบรวมกัน ยาที่ใช้มีวัตุประสงค์เพื่อทำให้อาการดีขึ้นเท่านั้น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยและแนะนำการปฎิบัติตัวเพื่อให้อาการของโรคนี้ดีขึ้น โรคนี้ไม่พบว่า เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง   แม้จะมีอาการเป็นๆ หายๆ มานาน แต่ต้องระวังในผู้ป่วยสูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย มีอาการท้องผูกมากขึ้นหรือมีอาการท้องเสียเกิดขึ้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

 

ดูจากข้อมูลที่คุณหมอให้มาแล้ว กุ๊กกู๋ว่าตัวเองต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างเลยทีเดียวค่ะ คราวนี้ก็ไม่ต้องสงสัยแล้วว่า เราเป็นอะไรกันแน่...นอกจากนี้แล้ว คุณหมอยังแนะนำให้กุ๊กกู๋ลองรับประทาน “ขิง” ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่ช่วยแก้อาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้บิด แถมยังช่วยเจริญอาหารด้วย สงสัยกุ๊กกู๋ต้องลองซะแล้วววว...



กุ๊กกู๋ต้องขอขอบคุณ นพ.คมสัน  อังคณานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร แห่งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ที่ให้ข้อมูลดีๆ มาให้กุ๊กกู๋ได้เผยแพร่เป็นความรู้ให้ชาวบาริโอได้ตระหนักในความสำคัญของโรคนี้ และมีแนวทางในการดูแล ป้องกันตัวเองไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะคะ

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.herbalone.net

--- กุ๊กๆ กู๋ ---

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538