editor talk
 
   
   
   
   
   
   
   
   
  links  
     
 
 

 

เรื่องเก่ามาเล่าใหม่: เฟอร์นิเจอร์จีนมีที่มาแต่ปางใด


          สวัสดีค่ะ พอดีเดือนนี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับงานในสไตล์ Chinese Modern ออกมา รำเพยเลยมาขออาสาพาทุกท่านไปแวะเยี่ยมชมเส้นทางของงานเฟอร์นิเจอร์จีนแบบย่อๆ ดูบ้าง ว่ามีความงดงามขนาดไหน และมีประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร

 

          เรามาเริ่มกันตั้งแต่ในสมัยโบราณ จีนจัดว่าเป็นหนึ่งในอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดของโลก และยังเป็นอารยธรรมที่ยังมีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือชิ้นงานของจีนจัดว่าเป็นทั้งงานฝีมือและงานศิลปะที่ทั่วโลกให้การยอมรับในหลายแขนง ตั้งแต่เครื่องปั้นดินเผา เช่น White & Blue หรือเครื่องปั้นที่มีสีแปลกตาต่างๆ, ภาพเขียนแบบจีนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว, เครื่องหยกแกะสลักแบบวิจิตร และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ด้วยค่ะ

 

 

         อันที่จริงแล้ว เฟอร์นิเจอร์ของจีน ในสมัยก่อนจัดว่าเป็นชิ้นงานถูกเก็บสะสมน้อยมาก และมีมูลค่าน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับงานฝีมือในแขนงอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นของเก่าที่มีผู้ใช้งานมาแล้ว และจะนำไปใช้ในประเทศหรือทวีปอื่นๆ ก็ไม่ค่อยจะเหมาะสม รวมทั้งมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบาก ทำให้งานเฟอร์นิเจอร์จีน ไม่ค่อยจะพบเห็นในต่างประเทศมากนัก

 

         ในปัจจุบัน เฟอร์นิเจอร์จีนที่เป็นของเก่าของสะสม กลับมามีมูลค่าสูงมาก เนื่องจากชิ้นงานที่สวยมากๆ จะพบเห็นได้ลำบากแล้ว โดยเฉพาะงานเฟอร์นิเจอร์ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงบางชิ้นอาจมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์เสียอีก

 

          ซึ่งเมื่อสินค้ามีราคาที่สูงขึ้น และมีความต้องการจากทั่วโลกมากมาย จึงเกิดโรงงานที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์เลียนแบบของเก่าขึ้นตามเมืองต่างๆ ในจีน แม้ว่าจะเป็นของเลียนแบบ และเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ก็ยังคงปรัชญาของงานฝีมือแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น สัดส่วนเฉพาะ การเข้าไม้ การเลือกใช้ไม้แต่ละส่วน รวมถึงรูปทรงและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์

 

          แรกเริ่มเดิมที ในหลายพันปีก่อน ชาวจีนก็คล้ายกับชาวไทย ที่คนทั่วๆ ไปจะนั่งและนอนกับพื้น กับเสื่อสาน เพื่อให้พ้นจากพื้นที่เย็นจัดในฤดูหนาว ที่มีฐานะดีหน่อย ก็จะมีการยกพื้นด้วยไม้หรือไม้ไผ่ ปูทับด้วยเสื่อกกและมีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้แบบดั้งเดิมที่ไม่ซับซ้อนนัก จนสิ้นสุดราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-906) และเริ่มต้นที่ราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 960-1127) ที่ชนชั้นสูงจะเริ่มมีการใช้โต๊ะและเก้าอี้ และค่อยๆ แพร่หลายออกไป จนกลายเป็นของสามัญที่คนธรรมดาเริ่มจะมีกันได้ในปลายราชวงศ์นี้เองค่ะ

 

          ชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ของจีนที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบัน เป็นเตียงไม้ย้อมด้วยแลคเกอร์สีดำ โดยขุดพบในปี 1957 จากสุสานในเมืองซินหยาง มณฑลเฮอหนาน โดยประเมินกันว่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 475 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว

 

 

          นักโบราณคดี ชี้ว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้น่าจะเป็นของเจ้าผู้ครองแคว้นฉู่ ซึ่งไม่ได้ใช้เป็นแค่เตียงนอนในตอนกลางคืนเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นเสมือนบังลังค์ของเจ้าผู้ครองแคว้นอีกด้วยค่ะ

 

          จากนั้นเป็นต้นมา ที่การออกแบบและเทคนิคในการผลิตได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีหลักฐานอีกว่าได้มีการออกแบบตกแต่งภายในเกิดขึ้นในยุคนี้ด้วยค่ะ ซึ่งหลักฐานที่ว่าคือภาพเขียนต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ไทเป (Taipei Museum) ที่แสดงให้เห็นว่ามีการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ค่อนข้างหลากหลาย เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปในยุคของราชวงศ์ซ่ง หรือซ้องนี่เอง


          และต่อมาในราชวงศ์หมิง สไตล์ของงานเฟอร์นิเจอร์ในยุคนี้ก็ได้พัฒนาขึ้นอีก เนื่องจากมีการก่อสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่ปักกิ่ง (ค.ศ. 1402-23) ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ ซึ่งเน้นในเรื่องของเส้นสายที่เรียบง่าย และรูปทรงที่สง่างาม แทนที่ชิ้นงานในยุคก่อนที่ค่อนข้างเทอะทะ และเน้นหนักทางด้านการแกะสลักและการเคลือบสีแลคเกอร์

 

          หากจะนับยุครุ่งเรืองของงานเฟอร์นิเจอร์จีน คงจะหนีไม่พ้นช่วงของรัชสมัยของจักรพรรดิเจียชิ่ง ของราชวงศ์หมิงไปจนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิคังซีในราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1522-1662) ที่งานศิลปะในทุกแขนงเช่น ภาพเขียน ภาพลายมือ เครื่องเคลือบ และของใช้ราคาแพงต่างๆ ได้พัฒนาถึงขีดสุด และยังรวมทั้งชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย

 

 

 

          งานเฟอร์นิเจอร์ในช่วงนี้ ถือเป็นต้นแบบและตัวแทนของเฟอร์นิเจอร์จีนที่รุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน มีการออกแบบให้ใช้วัสดุต่างๆ อย่างคุ้มค่า แต่ยังคงประโยชน์ใช้สอยที่ครบถ้วน รวมทั้งมีเส้นสายที่เรียบง่าย สวยงาม ซึ่งความรู้เหล่านี้ ได้ถูกบันทึกเก็บไว้ในหนังสือโบราณเล่มหนึ่ง ที่ชื่อว่า “Lu Ban Jing” (ลู่ปังจิ่ง) ซึ่งรวบรวมรูปแบบและลักษณะของเฟอร์นิเจอร์แบบต่างๆ ที่ใช้ในพระราชวัง อย่างไรก็ดี มีผู้กล่าวไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่คู่มือการทำเฟอร์นิเจอร์ แต่เปรียบเสมือน Bible ที่ชี้นำจิตวิญญาณของรูปแบบเฟอร์นิเจอร์จีนที่ดีต่างหาก

 

          อย่างไรก็ตาม หนังสือ Lu Ban Jing ยังครอบคลุมถึงหลักต่างๆ ในการสร้างบ้าน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของช่างไม้จีนในสมัยก่อน แม้ว่า หนึ่งในสามของเนื้อหาในหนังสือจะกล่าวถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และเทคนิคต่างๆ ในการเข้ามุม การดัดไม้ สำหรับใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งหลักต่างๆ เหล่านี้ ได้กลายเป็นตำราให้ช่างฝีมือของจีนได้ศึกษา และส่งทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

 

 

         ปัจจุบัน หากเราจะมองหาเฟอร์นิเจอร์จีนเก่าแบบแท้ๆ คงจะหาได้ยากมากแล้ว ​ซึ่งเฟอร์นิเจอร์จีนในปัจจุบันมักจะทำขึ้นจาก Softwood และมาจากเมือง Ningbo (ใกล้ๆ กับเซี่ยงไฮ้) หรือจากมณฑลซานซี เพราะเป็นมณฑลที่ได้รับความเสียหายจากสงครามน้อยมาก และในยุคปฎิวัติวัฒนธรรมของจีน เมืองในแถบนี้ ก็ยังถูกจัดให้เป็นแนวเขตของเหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศจีน ทำให้เมืองเหล่านี้ ยังมีแบบหรือชิ้นงานเก่าๆ หลงเหลืออยู่บ้าง ในขณะที่เฟอร์นิเจอร์เก่าตามเมืองต่างๆ มักจะเสียหายเพราะภัยสงคราม หรือถูกนำไปใช้ทำฟืนเป็นส่วนใหญ่

 

          คิดๆ แล้วก็น่าเสียดายนะคะ ที่อารยธรรมที่รุ่งเรืองของจีน แทบจะถูกทำลายไปเนื่องจากไฟสงคราม และสงครามกลางเมืองที่แก่งแย่งชิงอำนาจกันอย่างบ้าคลั่ง และสุดท้าย ทุกคนก็ต้องกลับไปเท่าเทียมกันในยุคปฎิวัติวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ชาติที่ยิ่งใหญ่อย่างจีน ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานหลายสิบปี กว่าจะมาถึงปัจจุบันได้

 

          รำเพยก็ได้แต่หวังว่า บ้านเมืองของเราคงไม่ต้องรอให้ถึงวันนั้น แล้วค่อยมาบ่นเสียดายวัฒนธรรมและความเจริญต่างๆ ที่เราเคยมี ก็ขอให้ฝ่ายต่างๆ หันหน้าเข้าหากัน และมาช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองของเราให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปดีกว่านะคะ 

 

รำเพย รำพัน

 

ขอขอบคุณสาระดีดีจากหนังสือ Chinese Furniture: A Guide to Collecting Antiques
by Karen Mazurkewich
จัดพิมพ์โดย Tuttle Publishing
www.tuttlepublishing.com

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538