editor talk
 
   
   
   
   
   
   
   
   
  links  
 

Home Automation

อีกไม่นานนับจากนี้ไป ระหว่างที่คุณนั่งรถกลับบ้าน คุณจะสามารถดึงเอา iPad ออกมา เปิดโปรแกรม Connect ไปที่ Server ของบ้าน แล้วสั่งเปิดเครื่องปรับอากาศในห้องรับแขกและห้องทานอาหาร ปิดม่านไฟฟ้า และเปิดไฟสำหรับ Dinner ผ่านระบบการสื่อสารแบบ 3G ได้โดยสะดวกและรวดเร็ว

ใช่แล้วครับ...ด้วยระบบ Home Automation ทำให้เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้ในปัจจุบัน ซึ่งจะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ได้ยากเย็นหรือมีราคาแพงจนเกินกำลังของเราอีกต่อไป และระบบนี้เอง ที่บรรดา Interior Designer ของเราลงมติให้ เป็นเอกฉันท์ให้นำมาเสนอในฉบับนี้ครับ

เจ้าระบบ Home Automation นี้ จัดว่าเป็นระบบที่เกิดขึ้นหลายสิบปีแล้ว หากคุณเคยสังเกตุ ระบบไฟฟ้าในห้องพักโรงแรมระดับ 4-5 ดาว จะมีแผงควบคุมที่ติดตั้งบริเวณโต๊ะหัวเตียงในห้องนอน เพื่อใช้ควบคุมไฟทั้งห้อง ตั้งแต่ ไฟตรงบริเวณทางเข้า ไฟหน้าห้องน้ำ ไปจนถึงไฟในส่วนของเตียงนอน และไฟอ่านหนังสือก่อนนอน ซึ่งจะมีทั้งปุ่มปิด ปุ่มเปิด หรือหรี่ไฟได้ตามต้องการ ซึ่งระบบนี้เองครับ คือจุดเริ่มต้นของระบบ Home Automation ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ระบบ Home Automation ในปัจจุบันจะมีการพัฒนาจากระบบที่กล่าวไว้ข้างต้นมากพอสมควรครับ โดยระบบดั้งเดิมนั้น จะเป็นการเดินสายไฟแบบเดียวกับการเดินสายไฟในบ้าน แต่มีการใช้สวิชท์สองทางเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เราสามารถเปิดจากหน้าห้อง และมีปิดไฟที่หัวเตียงได้ ซึ่งการที่เราจะเข้าใจระบบ Home Automation ในปัจจุบันนั้น เราจะต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจพื้นฐานของการเดินระบบไฟฟ้าแบบดั้งเดิมเสียก่อนครับ
เริ่มต้นจากระบบไฟแบบดั้งเดิมของเรานั้น จะเป็นการเดินสายไฟจากตู้ Main Circuit Unit หรือ MCU (ที่เรามักจะเรียกกันว่า Load Center) แยกเป็นวงจรย่อย ไปเข้าที่ดวงโคมหรือชุดดวงโคมต่างๆ ซึ่งจะมีสวิชท์ไฟอยู่ก่อนดวงโคมอีกที เพื่อใช้ตัดหรือต่อไฟ (ปิดสวิชท์ หรือเปิดสวิชท์) และหากเราเปลี่ยนไปใช้ Dimmer หรือสวิชท์หรี่ไฟ เราก็จะสามารถหรี่ไฟให้มืดหรือสว่างได้ตามต้องการครับ ซึ่งเจ้าระบบนี้เอง ที่เป็นระบบพื้นฐานที่ใช้กันมากตลอดตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบันครับ

อย่างไรก็ดี เจ้าระบบ Home Automation จะแตกต่างจากระบบดั้งเดิมออกไป โดยเริ่มต้นตรงที่ การเดินสายไฟจากตู้ MCU เราจะต้องแยกวงจรเพื่อไปเข้าที่ตู้ Control ของระบบก่อน ซึ่งตู้นี้จะเล็กหรือใหญ่ แตกต่างกันออกไปตามขนาดของระบบ และชนิดของอุปกรณ์ที่เลือกใช้ (ตรงนี้จะเล่าให้ฟังทีหลังนะครับ) และจากตู้ Control นี้ เราจะเดินสายไฟ (สายไฟปกติ) ไปเข้าที่ดวงโคมเลย โดยไม่ผ่านสวิชท์ควบคุมใดๆ ครับ
อ้าว! แล้วทีนี้ เจ้าสวิชท์จะมาควบคุมระบบต่างๆ ได้อย่างไรล่ะ...หลายๆ ท่านคงสงสัยขึ้นมาบ้างแล้วสินะครับ

หลังจากนั้น เราถึงจะมาติดตั้งสวิชท์ไฟกันครับ แต่เจ้าสวิชท์นี้จะไม่ใช่สวิชท์ไฟธรรมดาเหมือนอย่างที่เราใช้กันทั่วๆ ไป แต่จะเป็นสวิชท์ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณคำสั่งตามที่ได้โปรแกรมไว้ กลับเข้าไปที่ตู้ Control อีกที โดยเราจะต้องเดินสายที่คล้ายๆ กับสายโทรศัพท์หรือสาย LAN แต่มีขนาดใหญ่กว่า ที่เรียกว่า สายแบบ Twisted Pair จากตู้ Control ออกมาที่ตำแหน่งติดตั้งสวิชท์ต่างๆ ตามกำหนด
ซึ่งเมื่อมีการกดปุ่มบนสวิชท์ ก็จะเป็นการสั่งงานระบบผ่านสาย Twisted Pair ไปเข้าที่ตู้ Control เพื่อบอกกับระบบว่า เราต้องการให้ระบบทำอะไรบ้าง จากนั้น ตู้ Control ก็จะจัดการปิดหรือเปิดหรือหรี่ไฟตามตำแหน่งที่เราต้องการครับ

คงไม่งงใช่มั้ยครับ...คือตอนแรก ผมเองก็งงกับการเดินระบบอยู่พอสมควร แต่พอนั่งศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ถึงจะเข้าใจมากขึ้น เอาเป็นว่า ด้วยระบบแบบดั้งเดิม สวิชท์จะทำหน้าที่ตัดหรือต่อไฟ ก่อนไปถึงดวงโคมต่างๆ ซึ่งสวิชท์แต่ละชุด ก็จะควบคุมวงจรแต่ละวงจร เป็นอันจบ เรียกว่าติดตั้งเข้ากับระบบไหน สวิชท์นั้นก็จะควบคุมระบบนั้น ได้แค่นั้นเองครับ
ในขณะที่เจ้าระบบ Home Automation แสนฉลาดนี้ เราจะใช้สวิชท์เพื่อหน้าที่ส่งคำสั่งไปที่ระบบเท่านั้น จากนั้น ระบบถึงจะไปจัดการควบคุมวงจรแต่ละวงจร ตามที่ได้รับโปรแกรมไว้ล่วงหน้าอีกทีนึง

ดังนั้น หากในอนาคต เราเกิดอยากจะเปลี่ยนหน้าที่การควบคุมของสวิชท์จากวงจรชุดหนึ่ง ไปยังวงจรอีกชุดหนึ่ง เช่น ต้องการเปลี่ยนให้ปุ่มบนสวิชท์นี้ แทนที่จะคุมไฟตรงโถงทางเข้า ให้ไปคุมวงจรไฟในห้องรับแขกแทน ก็สามารถทำได้ครับ (บาง Brand อาจจะต้องใช้ช่างเทคนิคมาช่วยโปรแกรม แต่บาง Brand ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ที่แผงควบคุม หรือแม้แต่บน iPad เองเลยครับ)

เอาล่ะครับ ถึงตรงนี้ หลายๆ ท่านอาจจะรู้สึกว่า แค่เปลี่ยนหน้าที่ได้ ไม่เห็นจะวิเศษตรงไหนเลย...ใช่เลยครับ นั่นไม่ใช่ข้อดี ที่ทำให้บรรดา Designer ของเรารู้สึกตื่นเต้นแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ทำให้พวกเราประทับใจมากๆ คงต้องเป็น ความชาญฉลาดของระบบ ที่ทำให้เราสามารถเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า ให้ระบบไฟแสงสว่างภายในบ้าน เปลี่ยนอารมณ์ได้หลากหลาย และตอบสนองต่อการใช้งานได้ตามจุดประสงค์ ทั้งๆ ที่ใช้ดวงโคมชุดเดียวกันครับ ทั้งหมดนี้เกิดจากเจ้าสวิชท์ไฟ ที่ไม่ใช่แค่ปิดเปิด แต่เป็นตัวส่งสัญญาณ ดังนั้น เราสามารถแยกปุ่มต่างๆ บนสวิชท์ให้ส่งสัญญาณควบคุมแสงจากวงจรหลายชุด ให้ทำงานพร้อมกัน และแบ่งความสว่างตามที่เราต้องการได้อย่างแม่นยำ จนเกิดเป็นอารมณ์ของแสงได้ตามต้องการครับ เช่น ในส่วนโถงรับแขก เราอาจจะอยากให้จัดแสงสำหรับการใช้งานกลางวัน โดยผสมกับแสงธรรมชาติจากหน้าต่างด้วย หรือแสงสำหรับการใช้งานกลางคืน ที่ทุกคนในบ้านมาอยู่พร้อมหน้ากัน หรือเปลี่ยนเป็นแสงไฟเฉพาะตำแหน่งสำหรับใช้จิบน้ำชาและนั่งอ่านหนังสือบน Armchair มุมโปรด และในช่วงที่มีการจัดงาน Party เราก็ปรับแสงเพื่อรองรับแขกที่จะมาได้อย่างเหมาะสมครับ

หรือแม้แต่ในห้องนอนของเราเอง เราก็สามารถเลือกแสงไฟให้เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวก เช่นต้องการนั่งดูโทรทัศน์ หรือจะใช้อ่านหนังสือตรงหัวเตียง ตลอดจนเลือกให้แสงเฉพาะมุมทำงานหรือมุมแต่งตัวก็ได้ตามต้องการ ทั้งนี้แสงในแต่ละกิจกรรม เราก็สามารถแยกกำหนดได้อีกว่า ต้องการให้ดวงโคมชุดนี้ ส่องแสงเพียงแค่ 30 หรือ 50% ในขณะที่โคมหลัก เราก็สามารถกำหนดให้แสง 100% เต็ม ซึ่งจะทำให้เกิดมิติของแสงขึ้นภายในห้องได้ตามต้องการเลยครับ

และสิ่งที่ประทับใจพวกเราเหล่า Designer ประการต่อมา ก็คงเป็นเรื่องของจำนวนสวิชท์ที่จะลดลงจากเดิม โดยเฉพาะในบ้านขนาดใหญ่ หรือบ้านที่มีการเดินวงจรไฟหลายระบบ มักจะมีปัญหาเดินเข้าห้องแล้วมองเห็นสวิชท์ไฟจำนวนมาก แปะติดเต็มฝาผนังไปหมด แถมที่สำคัญ เวลาจะใช้งาน ต้องมายืนคิดว่าจะกดปุ่มไหนดี เพราะมันเยอะจนลายตาไปหมดเลยครับ
สำหรับ ระบบ Home Automation แล้ว เราสามารถเลือกใช้สวิชท์ที่ควบคุมได้ตั้งแต่ 2,4 และ 6 คำสั่งในหน้ากากเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ดูไม่รกตาแล้ว ยังทำให้เราควบคุมไฟแบบที่ต้องการได้ด้วยการสัมผัสเพียงครั้งเดียวครับ
นั่นแปลว่า เจ้าของบ้านแต่ละท่านไม่จำเป็นต้องนั่งท่องจำว่าสวิชท์ไหนใช้ควบคุมอะไรอีกต่อไป ซึ่งหากมีสวิชท์เป็นจำนวนมาก ก็คงต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าที่จะคุ้นเคย ในขณะที่ระบบ Home Automation จะให้คุณจำเพียงแค่ว่า ปุ่มนี้จะให้อารมณ์แสงและเหมาะกับการใช้งานแบบไหน ซึ่งแต่ละปุ่มจะสั่งงานชุดไฟต่างๆ ได้มากตามต้องการเลยครับ

ใช่แล้วครับ...สำหรับความประทับใจในข้อนี้ คือการที่เราไม่ต้องมองเห็นสวิชท์ไฟจำนวนมากที่ติดกันเป็นแผงอีกต่อไป แต่เราจะได้เห็นสวิชท์หน้าตาฉลาดๆ เพียงตัวเดียวเท่านั้นครับ (ซึ่งข้อนี้ ทาง Designer ชอบมาก เพราะในบ้านหลังใหญ่ มักจะมีปัญหาเรื่องแผงสวิชท์ไฟที่ดูรก และบางครั้งช่างก็ติดเบี้ยวอีก ทำให้งาน Design เสียอารมณ์ไปมากพอสมควรครับ)

และสุดท้าย ก็คงหนีไม่พ้น หน้าตาของสวิชท์ควบคุมเหล่านี้ จะดูสวยกว่า และฉลาดกว่าสวิชท์แบบดั้งเดิมเยอะเลย ที่สำคัญ ยังมีสวิชท์ชนิดพิเศษต่างๆ ให้เลือก เช่น เป็นแผง Control ที่มีหน้าจอบอกวิธีใช้งาน หรือเป็น Motion Sensor ที่จะเปิดไฟให้เมื่อมีความเคลื่อนไหว ตลอดจน Function การตั้งเวลา ที่ใช้ควบคุมระบบไฟฟ้านอกบ้าน ไฟรั้ว หรือระบบรดน้ำต้นไม้ หรือแม้กระทั่งเครื่องปรับอากาศ หรือม่านไฟฟ้า ดังที่เกริ่นนำไว้ข้างต้น ไปจนถึงการกำหนด ให้อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือดวงโคมต่างๆ ติดนานกี่นาทีก่อนที่จะดับลง เพื่อเป็นการประหยัดไฟเมื่อไม่มีผู้ใช้งานแล้วครับ... ว้าว...มีของเล่นให้เลือกเยอะขนาดนี้ คงไม่ต้องบอกว่า Designer จะสนุก กับการออกแบบมากแค่ไหน และที่สำคัญ ลูกค้าแต่ละท่านก็จะสามารถเลือกกำหนดการสร้างอารมณ์แสงได้ตามจินตนาการ ของตนเองครับ

เกือบลืมไป อีกข้อนึงที่จัดว่าเป็นข้อดีที่ควรจะพูดถึง คือระบบนี้สามารถปรับเพิ่ม Module ต่างๆ ได้ค่อนข้างง่าย หรือเปลี่ยนแปลงเจ้าตัวสวิชท์จากปุ่มควบคุม ไปเป็น Motion Sensor หรือปรับเป็นแผงควบคุมได้ในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการที่อาจจะเปลี่ยนไปครับ

สาธยายมาก็นานพอสมควร ดูเหมือนจะบอกเล่ากันแต่ข้อดีให้ฟังนะครับ คราวนี้ เรามาพูดกันในข้อเสียของระบบกันบ้างดีกว่า เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจถึงข้อจำกัดของระบบด้วยครับ...
ข้อเสียข้อแรกที่เราพบ ก็คือเรื่องของการเดินสายไฟ ที่แตกต่างจากระบบดั้งเดิมมาก ดังนั้น หากลูกค้าท่านใดที่เดินระบบสายไฟในบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว และต้องการเปลี่ยนไป ใช้ระบบ Home Automation นี้ ก็คงจะต้องรื้อบ้านทำใหม่กันเกือบหมดเลยครับ ตั้งแต่การเดินสาย การฝังท่อ การสกัดผนัง นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ขึ้นสูงกว่าบ้านที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างมากพอสมควรครับ

ข้อเสียที่สอง ก็คือแม้ว่าระบบจะมีความยืดหยุ่นสูง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในแต่ละวงจร นั่นคือ หากเราเดินวงจรไฟฟ้าไปแล้ว การควบคุม หรือการออกคำสั่ง จะต้องทำทั้งวงจร ไม่สามารถแยกดวงโคมในแต่ละวงจรได้ เช่น ถ้าเราเดิน Downlight ในห้องรับแขกจำนวน 4 ดวงเข้าเป็นวงจรเดียวกัน หากเราต้องการหรี่ไฟให้เหลือ 75% ก็ต้องทำทั้งวงจร หรือทั้ง 4 ดวงเลยครับ ตรงนี้ อาจจะมีบางท่านสับสน เพราะตอนแรก ผมบอกว่าเราสามารถควบคุมการทำงานแยกกันได้ยังไงล่ะ
ใช่เลยครับ เราสามารถควบคุมการทำงานของแต่ละวงจรได้อิสระ ภายใต้การกดปุ่มเพียงครั้งเดียว ที่จะสามารถสั่งงานให้วงจรต่างๆ ทำงานตามที่กำหนดครับ แต่เราไม่สามารถแยกออกคำสั่งให้กับดวงโคมใดดวงโคมหนึ่งในวงจรใดๆ ทำงานแตกต่างจากพวกพ้องได้ครับ ดังนั้น หากเราต้องการอารมณ์ของแสงที่แตกต่างกัน เราจึงจำเป็นต้องแบ่งการเดินสายไฟในห้องออกเป็นหลายวงจร เพื่อที่เราจะสามารถสั่งให้แต่ละวงจรทำงานแตกต่างออกไปได้ตามต้องการครับ ซึ่งสิ่งที่ตามมาจากการแยกหลายๆ วงจร ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องค่าใช้จ่าย ที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยครับ

ข้อเสียต่อมา ก็คือการปรับเปลี่ยนอารมณ์แสงหรือ Function ต่างๆ ภายหลังจากที่ได้ใช้งานไประยะหนึ่ง เราก็ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราคิดไว้ตอนต้น อาจจะไม่เหมาะกับตัวเราสักเท่าไร (อันเป็นเรื่องปกติของทุกคนครับ) นั่นทำให้เราอาจจะอยากปรับแต่งคำสั่งต่างๆ ให้เหมาะกับเรามากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้ แม้ว่าเราจะสามารถทำได้ แต่ก็มีข้อจำกัดพอสมควร โดยเริ่มต้นจาก การปรับระบบสำหรับบางยี่ห้อ อาจจะต้องใช้ Technician จากบริษัทโดยตรง ซึ่งหมายถึง เราคงต้องรอพอสมควร โดยเฉพาะช่างที่ทำงานบริษัท ก็มักจะหยุดเสาร์อาทิตย์ ซึ่งก็มักจะเป็นวันที่เราอยากปรับเปลี่ยนพอดี
หรือบางยี่ห้อ ก็มีแผงควบคุม ให้เราสามารถจัดการได้เอง แต่นั่นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงพอสมควร รวมทั้งเราต้องมาเรียนรู้วิธีการโปรแกรมด้วยตัวเองด้วย (โชคดีที่ปัจจุบัน แผงควบคุมเหล่านี้ ใช้งานได้ง่ายขึ้นมาก และมีคำแนะนำประกอบอยู่เป็นระยะๆ)
แต่ที่เป็นทางออกสำหรับเรา ก็คงไม่พ้นระบบที่เชื่อมต่อกับ Internet (มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสำหรับ Module นี้ แต่ก็ยังถูกกว่าแผงควบคุม) ทำให้เราสามารถเรียกดู การตั้งโปรแกรมต่างๆ ได้ผ่านทาง iPad หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ เช่น iPhone หรือ Tablet อื่นๆ ครับ และการตั้งโปรแกรมผ่านทางเจ้า iPad นี้ก็ดูเหมือนจะทำได้ง่ายกว่า และมีสีสันที่ดึงดูดตากว่าด้วยครับ...

และสุดท้าย คงหนีไม่พ้นเรื่องของงานออกแบบ ที่ต้องการ Interior Designer ที่ค่อนข้างรู้เรื่องระบบ Home Automation เช่นนี้ บวกกับความรู้ด้านการออกแบบ Lighting หรือ Lighting Design มากพอสมควร จึงจะออกแบบได้ดี มิฉะนั้นแล้ว ลูกค้าก็คงจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในงานระบบ โดยที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพครับ

เอาล่ะครับ...Home Automation ฉบับย่อๆ ก็คงมากล่าวทักทาย และยั่วกิเลสทุกท่านไว้พอสมควรแล้ว (อย่าว่าแต่ลูกค้าเลย ขนาด Office เรายังเรียกร้องให้ติดตั้งไว้เล่นเองด้วยเลย) หลายท่านอาจจะอยากรู้ว่าเจ้าระบบนี้ จะมีค่าตัวอยู่ประมาณสักเท่าไร และใครควรจะเป็นคนดูแลรับผิดชอบออกแบบระบบนี้ให้
ซึ่งโดยคร่าวๆ แล้ว งานระบบ Home Automation สำหรับห้องชุดบนคอนโดมิเนียม ขนาด 1 ห้องนอน (แยกห้องนอนจากห้องอเนกประสงค์) ก็จะอยู่ที่ราวๆ ห้าถึงหกหมื่นบาท ไปจนถึงบ้านหลังใหญ่ๆ ที่ต้องการระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่ประตูทางเข้า ไปจนถึงห้องนอนทุกห้อง ที่จะอาจจะสูงถึงหลักล้านบาทก็ได้ครับ (ขึ้นอยู่กับลูกเล่นที่ต้องการ และยังไม่รวมโคมไฟ) ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผู้ที่รับผิดชอบออกแบบงานระบบ Home Automation ที่รู้เรื่อง Lighting Design ในเมืองไทยด้วย น่าจะมีน้อยคนมากครับ โดยมากจะต้องทำงานร่วมกันระหว่างผู้ออกแบบระบบ และ Lighting Designer ครับ

โดยท่านที่สนใจหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ Home Automation นี้ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่บริษัท บาริโอ จำกัดของเราได้นะครับ ที่ 02 881 8536 ครับ...



BY...
-- Isyss --


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538