home
about bareo
news & event
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
back issue
 
 

 

 

            “กริ๊ง กริ๊ง....” เสียงเตือนปลุกจากโทรศัพท์มือถือดังขึ้น บอกเวลา 6 โมงเช้าแล้ว ห้องของเรา ผลัดกันเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตา ออกมาเจอกันกับคนอื่นๆ (คนที่ตื่นทัน) ที่หน้าห้อง เสียงกลองดัง ตุ้ม ตุ้ม ตุ้ม จากวัดเชียงม่วน หรือวัดจุมค้องตรงข้ามกับโรงแรมก็ดังขึ้น พวกเราต่างเร่งออกไปหาจุดที่เราจะตั้งหลักเพื่อร่วมตักบาตรข้าวเหนียว กับพระสงฆ์ 285 รูป (เยอะมากค่ะ) เป็นกิจกรรมที่พลาดไม่ได้เมื่อมาถึงหลวงพระบาง จะมีพระเดินออกมาบิณฑบาต ตามถนนต่างๆ แต่ถ้าจุดที่มีพระจำนวนมากที่สุดคือบริเวณแยกบ้านเจ็กค่ะ จะพระจะเดินมาจากฝั่งถนนสะกรินทร์ตรงมาถึงแยกบ้านเจ็กจะเลี้ยวขวาเข้าถนนสีสะหว่างวงษ์วัฒนา

 
            ตามธรรมเนียมของชาวหลวงพระบางจะปั้นข้าวเหนียวใส่ในบาตรของพระที่มาเดินบิณฑบาต ส่วนกับข้าวชาวบ้านจะตามไปถวายอีกทีที่วัดช่วงสายค่ะ เวลาตักบาตรข้าวเหนียว ผู้บ่าวจะยืนใส่บาตร ในขณะที่ ผู้สาวจะนุ่งซิ่นและนั่งกับพื้นใส่ค่ะ ถ้าเป็นชาวพื้นเมืองจะปั้นข้าวเหนียวร้อนๆ ได้อย่างรวดเร็วมาก ก่อนมา Hana ก็เตรียมตัวมาคิดว่าน่าจะใส่ทัน แต่พอเอาเข้าจริงปั้นใส่ไม่ทันค่ะ พอดีมีช่วงหนึ่งที่พระขาดช่วง Hana อาศัยช่วงนี้ปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนๆ รอไว้ก่อนเลย คราวนี้สบายมากค่ะ ใส่ทัน

 

 


 
   
 


 

            หลังจากข้าวเหนียวของ Hana ที่อยู่กระติ๊บเล็กๆ หมดไป ก็มีเวลาเดินเก็บภาพคนอื่นๆ แล้วก็ได้เจอ Highlight ของเช้านี้ คือคุณป้าชาวลาว คุณป้าปั้นข้าวเหนียวใส่ได้อย่างเร็วมากค่ะ เพราะทั้งจก (คงต้องใช้คำนี้เหมาะมากกว่าปั้น) และหยิบห่อขนมเทียนใส่พร้อมๆ กันยังทันเลยค่ะ เล่นเอาสาวๆ อาย คุณป้าเตรียมของมาใส่บาตรได้อลังการมากค่ะ ใส่บาตรพระสงฆ์ 268 รูปแล้วยังมีพอเหลือแจกจ่ายให้กับคนอื่นๆ ชิมอีกด้วยค่ะ จากที่คุยจึงทราบว่าวันนี้เป็นวันเกิดเลยเตรียมของมากหน่อย เราเลยร่วม อวยพรวันเกิดคุณป้าด้วยค่ะ (วันนี้วันที่ 29 ธันวาคมค่ะ)

 

            จากนั้นเดินกลับไปอาบน้ำ ที่โรงแรม เพราะนัดรถไว้ 9 โมงเช้า อาหารเช้าแรกของหลวงพระบาง คือ เฦอ เราเดินเข้าซอยไปกินเฝอตามคำแนะนำจากหนุ่มน้อยที่เคาน์เตอร์โรงแรมแนะนำมาค่ะ รสชาติเฝอก็งั้นๆ แต่หมูหวานที่เป็นกับแกล้มแยกต่างหากนี่สิเรียกได้ว่าโดนมากๆ หากมีข้าวสวยร้อนๆ สักจานก็โอเลยค่ะ ที่ร้านนี้ทำให้เรารู้ว่าที่นี่มี 2 ราคา(แอบฟังคนลาวคุยกัน) คือ ราคานักท่องเที่ยว 10,000 กีบ ส่วนคนลาว 6,000 กีบ แหมฟังแล้วดูอินเตอร์เชียวค่ะ ไม่อยากจ่ายแพงเลยค่ะ แต่ก็เข้าใจ เหมือนบ้านเรางัยคะ ที่เก็บฝรั่งแพงกว่าคนไทย

 

 

 
   
 

 

 

           โปรแกรมวันนี้เราเริ่มที่ พระราชวังหลวงพระบาง หรือพิพิธภัณฑ์วังเจ้ามหาชีวิต จากทางเข้าด้านหน้าทางซ้ายมือจะป็น “อนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์” ผู้ที่เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวลาว ส่วนทางด้านขวามือ เป็น "หอพระบาง" และมองตรงไปผ่านต้นตาลคู่สองข้างทางนั่นคือ พระราชวังหลวงพระบาง ค่ะ

 

            หอพระบาง เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ หมายจะใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองหลวงพระบาง เป็นอาคารแบบล้านช้าง ที่มีความอ่อนช้อยงดงามมาก และหากนำพระบางมาประดิษฐานที่นี่น่าจะดี สมเกียรติยศมากกว่าอยู่ในห้องลูกกรงกันขโมยอย่างที่ประดิษฐานอยู่เวลานี้ส่วนอาคารของพระราชวังเป็นอาคารยกพื้นสูงชั้นเดียว เป็นสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสมีหน้าบันเป็นรูปช้างสามเศียร สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1904 เมื่อขื้นไปบนอาคารเราต้องเก็บกระเป๋าทุกอย่างที่ห้องงทางญิฝั่งซ้าย ตรงนี้ทำให้ hana ยืนลังอลอยู่นานว่าจะเข้าดีหรือเปล่า เค้าให้เก็บทุกอย่างรวมทั้งกล้องด้วย (โหดเชียว) เพราะคิดว่าถ้าออกมาแล้วกล้องหายละก็ โห..ไม่อยากจะนึก (ในที่สุดก็ฝาก ก็เห็นใครๆ ก็ต้องฝากนิ)

 

            ห้องทางด้านซ้ายสุดเป็นพระบางสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองชาวหลวงพระบางค่ะ จะนำออกห้องนี้มาให้ชาวบ้านทรงน้ำเพียงปีละ 3 วันในช่วงงานบุญสงกรานต์เท่านั้นค่ะ ด้านในเป็นห้องพิธีต่างๆ ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นท้องพระโรงที่จัดแสดงราชบัลลังก์ไม้แกะสลักหุ้มทองตกแต่งด้วยกระจกหลากสีบนพื้นทอง กระจกเหล่านี้นำมาจากญี่ปุ่นค่ะ นำมาติดเป็นเรื่องราวต่างๆ ห้องด้านหลังเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต และมเหสี อีฝั่งเป็นที่รับรองแขกและเป็นห้องแสดงของขวัญจากประเทศต่างๆ ค่ะ

 

 

 
   
 

 

 

            ออกจากพระราชวัง คนขับรถและไกด์ พาเราไปบ้านผานม เป็นหมู่บ้านไทลือ เดิมเป็นหมู่บ้านของผู้อพยพที่ถูกกวาดต้อนมาหลังสงคราม ผู้หญิงมีความชำนาญในการตำแผ่น(ทอผ้า) จึงเป็นผู้ทอผ้าถวายแก่เจ้ามหาชีวิตตามคำสั่ง ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านธรรมดา แต่ยังมีการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าอยู่ ปัจจุบันจึงกลายมาเป็นศูนย์คล้ายๆ Otop บ้านเรามีงานจำพวกงานทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม และเครื่องเงินเป็นหลัก เป็นจุดที่ชาวบ้านแต่ละครอบเรือนนำสินค้าของตัวเองมาขาย ทางด้านหลังของศูนย์มีกี่กระตุกวางเรียงรายกว่าสิบตัวด้วยกัน มีคุณป้าคนหนึ่งนั่งทำกระดาษสาอยู่คนเดียว เราเลยได้ดูวิธีการทำกระดาษสาแบบครัวเรือนค่ะ พวกเราเดินเข้า เดินออกวน 2 รอบรู้สึกว่ายังไม่โดน ได้ผ้าทอกันนิดๆ หน่อยๆ เพราะราคาผ้าฝ้ายที่นี่จะถูกกว่าที่ตลาดมืด ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านทำเครื่องเงิน หลังจาก hana เดินวนไป 1 รอบก็รีบออกเพราะราคาแพงมาก มีกำไรข้อมืออันเล็กๆ ที่คราวก่อนมาซื้อไปไม่น่าจะเกิน 200 บาท ครั้งนี้ตั้งใจว่าจะมาซื้อแบบนี้อีกเพราะชอบมาก วันนี้ที่นี่ขายวงละ 750 บาท ได้ยินแล้วตะลึงค่ะ ด้วยความที่อยากได้เลยรีบเดินออก กลัวได้ค่ะ..

 

 

 
   
 

 

 

            วนกลับเข้าเมืองแวะวัดวิชุนนาราช เป็นที่ตั้งของ พระเจดีย์พระปทุม หรือ พระธาตุดอกบัวใหญ่  หรือคนลาวเรียกว่า พระธาตุหมากโม ด้วนเนื่องจากรูปทรงที่ต่างไปจากพระธาตุอื่นๆ คือ มีลักษณะคล้ายแตงโมตัดครึ่งคว่ำอยู่ค่ะ บนยอดมีรัศมีเปลวไฟคล้ายยอดพระพุทธรูปแบบสุโขทัย มีประตูด้านข้างสามารถเดินออกไปเป็นวัดอารามที่อยู่ติดกันได้ค่ะ ภาษาลาวจะเรียกว่า วัดอาฮาม ที่วัดอารามนี้มี หอเสื้อเมือง หรือ หอเทวดา สำหรับเก็บรักษารูปสัญลักษณ์ของปู่เยอย่าเยอ  

 

            กลางวันนี้กินข้าวร้านอาหารตามสั่งลองสั่งผัดซีอิ้ว รสชาติเหมือนกินตามร้านบ้านเรา จานละ 15,000 กีบ ก็ประมาณ 60 กว่าบาท แหม..ราคาพอๆ กับ back canyon เชียวนะนี่

 

 

 
   
 

 

 

            จากนั้นไปวัดเชียงทอง วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่โขง เป็นวัดใหญ่และสวยงามที่สุดในหลวงพระบางก็ว่าได้ค่ะ ภายในวัดมี พระพุทธสีมา (สิม หรือพระอุโบสก) เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างแท้ๆ ลักษณะที่โดดเด่นคือ มีโครงสร้างต่ำ หลังคามุงกระเบืองดินเผาซ้อนกันถึง 3 ชั้น ยาวลงมาเกือบจรดฐานของพระอุโบสก ตรงกลางบนสันหลังคามีเครื่องยอดสีทองอร่ามสูงขึ้นมาคนลาวเรียกว่า “ช่อฟ้า” ส่วนช่อฟ้าในบ้านเรา คนลาวเค้าเรียกันว่า “โหง่” มีรูปลักษณ์คล้ายเศียรพญานาค ผนังด้านนอกทางขวาเป็นเศียรช้างประดับกระจกมีช่องทางระบายน้ำจากรางรดสรง ในงานบุญสงกรานต์ประชาชนจะมาสรงน้ำพระ จากนั้นน้ำจะไหลผ่านทางท่อที่ฝั่งไว้และออกทางเศียรช้างนี้ ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

 

 

 
   
 

 

 

            วิหารน้อย หรือที่เรียกกันว่า หอไหว้น้อย เป็นหอไหว้เก่ามีหลังคาแบบใบโพธิ์ตัดครึ่งตามรูปแบบของศิลปะลาวดังเดิม มี “โหง่” ลักษณะพญานาคชูคอเหมือนกับพระพุทธสีมา ในวิหารน้อยประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติทำจากทองคำ ที่เจ้ามหาชีวิตราชอาณาจักรถวายแก่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ค่ะ

 

 

 
   
 

 

 

            โรงเมี้ยนโกศ(โรงเก็บโกศ) ภายในมีราชรถมีพระโกศ 3 องค์ด้วยกันองค์ใหญ่กตรงกลางเป็นของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ องค์เล็กด้านหลังเป็นของพระราชมารดา และองค์เล็กด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา พระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ เมื่อ ค.ศ. 1959 โรงเมี้ยนโกศ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1962 ผนังส่วนด้านหน้าสามารถถอดออกได้ทั้งหมด เพื่อนำราชรถออกมาได้ ที่สวยงามมากๆ คงเป็นผนังของโรงเมี้ยนโกศที่เป็นรูปแกะสลักเรื่องรามายนะ เช่น รูปนางสีดาลุยไฟ ออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์ แกะสลักโดยมีพ่อเฒ่าเพียตันเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการแกะสลัก เดิมเป็นงานลงรักปิดทอง แต่ด้วยเหตุที่มีการบูรณะแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงทาสีทองทับไปทั้งหมดค่ะ

 

            ออกจากวัดเชียงทองทั้งไกด์และคนขับสามัคคีกันบอกพวกเราว่าจะแวะส่งพวกเราที่โรงแรม เพื่อเก็บของ และเดินไปขึ้นพระธาตุเอง พวกเราก็งง อ้าว..แล้วไม่ไปส่งหรอ.. เค้าบอกว่าเดินไปเองได้ใกล้ๆ รถเข้าไปส่งไม่ได้ เพราะเค้าจะปิดถนน พวกเราเลยเอ๋อไปตามๆ กัน โอเค กลับโรงแรมก็ได้ เอาของเก็บจากนั้นก็นั่งจิบกาแฟที่ สภาโต๊ะเขียว (ที่โรงแรมบริการชา-กาแฟ ฟรี ตลอดวันค่ะ) เมาท์ไกด์และคนขับแบบเมามันมาก และแล้ววันนี้ก็ไม่ได้ขึ้นพระธาตุอีกแล้ว...

 

 
   
     
 

 

 

            จบโปรแกรมของวันนี้ด้วยตลาดมืดอีครั้งค่ะ วันนี้ Hana ได้กำไรเงิน ที่น่าจะเป็นเงินเหรียญของกะเหรี่ยงมาถึง 4 วง ค่ะ แหม.. ก็ใจมันรักนิเลย เตรียมตัวและเตรียงตังไว้ตั้งแต่ก่อนมาแล้วว่าจะต้องจ่ายค่าเครื่องเงินอยู่แล้ว พลาดจากเมื่อกลางวันมาแล้วเลยคิดว่าซื้อที่นี่แหละเอาไว้ใส่เล่นๆ เพราะแบบเค้าน่ารักดีค่ะ แล้วแปลกด้วยค่ะ เดินกันจนตลาดวายค่ะกลับถึงที่พักประมาณ 5 ทุ่ม น้องรูมเซอร์วิสก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลยค่ะ list รายการที่จะให้เราไปพรุ้งนี้ไว้ถึง 7-8 รายการ แต่คาดว่าน่าจะเก็บไม่หมด ก่อนแยกย้ายกันนัดพรุ้งนี้ 6 โมงเช้านะ ไปตักบาตร ใครที่เมื่อเช้าตื่นไม่ทันพรุ่งนี้แก้ตัวค่ะ

 

            เช้านี้ตื่นเช้ากันถ้วนหน้า วันนี้ Hana ไม่ได้ตักบาตรอีก แต่เดินเก็บบรรยากาศเอาค่ะ วันนี้ได้คำตอบที่สงสัยมาตั้งแต่เมื่อวานว่า มีทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ถือกล่องและตะกร้าเก่าๆ ยืนตามจุดต่างๆ ที่มีพระเดินผ่าน ครั้งแรกที่เห็น Hana คืดว่าพระท่านเลือกทิ้งอาหารบางอย่างที่ไม่ต้องการ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ค่ะ พระท่านรับบาตรมาแล้วเมื่อเดินออกมาพบเด็กๆ เหล่านี้ ท่านจะเลือกหยิบอาหารทั้งข้าว ผลไม้ นม โยนใส่กล่องตรงหน้าเด็กที่นั่งพนมมืออยู่ เรียกได้ว่าเป็นการทำทานอีกต่อหนึ่งค่ะ อันนี้รู้จากเด็กหญิงน่าจะสัก 4-5 ขวบเท่านั้น ชื่อ นางน้อย นางน้อยเล่าว่าจะมาที่นี่ทุกเช้าพร้อมกับแม่ เมื่อขออาหารได้นางน้อยและแม่ก็จะนำอาหารเหล่านี้ไปแบ่งให้กับคนอื่นๆ ในบ้านได้กินและใช้กันค่ะ เรียกได้ว่าเป็นสังคมอุปถัมภ์ เพราะต่างพึ่งพาอาศัยกันและกันเป็นวงจรค่ะ

 

 

 
   
 

 

 

            จากนั้นไปเดินตลาดเช้าที่ตลาดมีของสดขายมากมาย แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองเค้าค่ะ มีสัตว์แปลกๆ ขายด้วยมีทั้งค้างคาว หนู กระรอก กระแต งู ตัวตุ่น แบบตัวเป็นๆ มาขาย ให้ชาวบ้านเค้าเอาไปทำอาหารค่ะ เดินชมตลาดกันไปจนสุดทาง ออกอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อจะได้กินกาแฟที่ร้านประชานิยม เป็นร้านแนะนำตาม web site ต่างๆ ค่ะว่าให้มากิน ก็ให้ผิดหวังค่ะ เพราะคนเยอะมากเราเลยตัดใจไม่กินละกันกลับไปกินกาแฟที่ สภาโต๊ะเขียว แทนละกัน(เซฟเวลา) เพราะวันนี้เรามีโปรแกรมแน่นเอี๊ยดค่ะ

 

            9 โมงตรงล้อหมุนค่ะ ที่แรกของวันคือ วัดมโนรมย์ เป็นวัดที่สร้างโดยพระเจ้าสามแสนไท ราชโอรสของพระเจ้าฟ้างุ้ม ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ ที่คาดว่าน่าจะสร้างในช่วงปี ค.ศ. 1378-1379 แต่โดนพวกฮ่อมาปล้นและทำลายไป พระพุทธสีมาหลังใหม่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1972 เดิมบริเวณแถบนี้เป็นที่พักอาศัยของควาญช้างในพระราชวัง และเป็นที่ขบวนช้างมาทำพิธี “ช้างเรียนเกย”  ด้านข้างของวัด (ที่เกย คือที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จก้าวขึ้นลงเวลาทรงช้าง) ครั้งแรกที่มาถึงวัดมโนรมย์ไม่น่าเชื่อว่าสร้างมากว่า 30 ปีแล้วเพราะดูเหมือนใหม่มาก และสวยมากค่ะ

 

 

 
   
 

 

 

            ถัดมาเป็นวัดโพนเผ่า วันนี้น้องที่แนะนำเค้าบอกว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ลักษณะโบสถ์จะเป็นเหลี่ยมๆ แปลกตาไปจากวัดอื่นๆ และสามารถมองเห็นวิวเมืองหลวงพระบางได้กวางๆ ค่ะ สวยดี ภายในโบสถ์เป็นชั้นๆ มีถึง 3 ชั้นค่ะ แต่ Hana ไม่ค่อยชอบภาพเขียนภายในเพราะลักษณะเหมือนโหดๆ ออกจากวัดโพนเผ่ากลับไปที่บ้านผานมอีกครั้งหนึ่ง เพราะมาดามเบตงอยากได้ผ้าไหมทอไปฝากพระมารดาด้วยค่ะ เราเลยจัดให้ค้า..

 

 

 
   
 

 

 

            จากนั้นไปหมู่บ้านสร้างฆ้อง(ช่างฆ้อง) เป็นหมู่บ้านที่ทอผ้า ทำหระดาษสา ผ้าทอและกระดาษสาของที่นี่ดูสวยกว่าที่หบ้านผานม แต่ราคาก็สูงตาม หมู่บ้านนี้รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตก เห็นได้จากมีชาวต่างชาติขี่มอเตอร์ไซต์ และจักรยานมาแวะชมกัน (หาคนไทยไม่เจอเลยค่ะ)  อาจเป็นเพราะอยู่นอกเส้นทางและอยู่นอกโปรแกรมท่องเที่ยวของคนไทยที่นิยมมากันค่ะ มีร้านหนึ่งที่ถูกใจมากๆ เป็นร้านของศูนย์ศิลปอะไรประมาณนี้แหละค่ะ ข้างในมีทั้งส่วนที่เป็นส่วนทอผ้า ส่วนนี้มีทั้งการเพาะเลี้ยงไหม การสาวไหม ไปจนถึงการทอผ้าเป็นผืน ส่วนที่ทำกระดาษสา พื้นที่ขายของแยกเผ้นส่วนทั้งของกระดาษสา ผ้าทอ และงาน Handmade อื่นๆ ค่ะอาคารนี้พนักงานบอกว่าส่วนที่เป็นไม้เป็นบ้านเก่าที่แยกชิ้นส่วนและนำมาประกอบขึ้นใหม่ ให้คงสบาพเดิม แต่โครงสร้างหลักที่เป็นปูนนี้ทำขึ้นใหม่เพื่อให้บ้านแข็งแรงขึ้น ลักษณะบ้านอื่นๆ คล้ายๆ กัน (เค้าว่ากันว่า ที่นี่เป็นตลาดส่งกระดาษสาแหล่งใหญ่สู่เชียงใหม่ค่ะ)

 

            ออกจากหมู่บ้านสร้างฆ้อง แวะกินข้าวเปียกร้านอร่อยอยู่เลยวัดมโนรมย์ไปหน่อย ร้านนี้ยกนิ้วให้ค่ะอร่อยที่สุดตั้งแต่กินมา ข้าวเปียกเส้นจะเหมือนกับเส้นก๋วยจั๊บญวนบ้านเรา ส่วยเฝอคือก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กที่กินที่ไรไม่เคยนิ่ม hana เลยชอบที่จะกินข้าวเปียกมากว่า เวลาเสริฟที่ร้านจะเสิร์ฟพร้อมกับผัก 1 กระจาด ต่อข้าวเปียก 1 ชาม กินผักกันแบบเมามันมาก อันนี้ชอบมากค่ะ

 

 

 
   
 

 

 

            เติมพลังแล้วไปต่อที่น้ำตกกวางสี ผ่านทางเข้าไปหน่อยทำคล้ายๆ กับสวนสัตว์ เห็นมีหมีอยู่ 4-5 ตัว มีกวางอยู่นิดหน่อย ส่วนสัตว์อื่นๆ นี่ไม่เห้นเหมือนกัน เอ..หรือไม่ได้สนใจ เดินไปตามทางขึ้นไปเรื่อยๆ จะพบน้ำตกกวางสีค่ะ เป็นน้ำตกขนาดกลางมีความกว้างประมาณ 70 เมตร เป็นชั้นๆ ลักษณะคล้ายน้ำตกแม่ขมิ้นบ้านเราแต่ดูแล้วสวยคนละแบบกับแม่ขมิ้นบ้านเรา เพราะน้ำตกกวางสีน้ำจะไม่ใส แต่เป็นสีเขียวขุ่น ไม่เหมือนในบ้านเรา มีละอองจากน้ำตกให้ถ่ายภาพออกมาแล้วมันวิ้งๆๆ ค่ะ ในแต่ละชั้นจะเป็นแอ่งน้ำมีฝรั่งโดดน้ำเล่นกันสนุกสนาน พวกเราขอเดินชมและผ่านค่ะ ระหว่างทางเดินลงเจอเพื่อนของเพื่อน(คนไทย) บ่นใหญ่เลยว่าดีแล้วที่กรุ๊ปเราไม่ไปถ้ำติ่ง เพราะไม่มีอะไรเลย นั่งเรือไปตั้งไกล ในถ้ำมีพระพุทธรูปน้อยใหญ่วางเรียงเป็นชั้นๆ ถ้ำติ่งเป็นรายการที่เราตัดออกจากโปรแกรมตั้งแต่แรกเพราะคิดว่าไม่ค่อยน่าสนใจ รถก็ไปไม่ถึง แล้วถ้านั่งเรือเราก็จะเสียเวลาไปครึ่งวัน จึงลงความเห็นกันว่าตัดออก เพราะมีที่ที่อยากไปมากกว่า

 

 

 
   
 

 

 

            ขากลับเร่งทำเวลานิ๊ดหนึ่ง เพราะอยากไปตลาดจีนและตลาดโพธิ์ศรี ตลาดจีนเป็นตลาดที่ขายของที่นำเข้าจากจีน มาดามเบตงอยากซื้อมือถือมาก i-Phone จีนราคา 3,000 กว่าบาทเองค่ะ แต่พวกเราคัดค้านเพราะหากเครื่องมีปัญหา พวกเราคงไม่ว่างพามาเปลี่ยนค้า.. ส่วนตลาดโพธิ์ศรีเป็นตลาดสดเหมือนตลาดสดบ้านเราแต่เป็นตลาดสดขนาดใหญ่ เดินโฉบไป 1 รอบ มาดามเบตงกรี๊ดค่ะ เพราะเจอผักน้ำในฝัน มาดามเหมาซื้อมาถุงเบ้อเร้อ จะเอาไปฝากคุณแม่ค่ะ แวะเถลไถลมากไม่ได้ ต้องรีบกลับ เพราะวันนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะไปดูพระอาทิตย์ตกบนพระธาตุภูสีค่ะ และก็เหมือนเดิมรถไปส่งให้เก็บของที่โรงแรม แล้วก็ให้เดินไปพระธาตุภูสีเอง (ไม่เข้าใจจริงๆ แค่นี้ไปส่งไม่ได้หรอ..)

 

            เดินขึ้นพระธาตุแบบเหนื่อยหอบมาก จากอากาศเย็นๆ ยังร้อนเลยค่ะ ถอดทั้งเสื้อกันหนาวและผ้าพันคอออกแทบไม่ทันเลยค่ะ ยิ่งขึ้นไปถึงยอดแล้วตกใจค่ะ มีคนขึ้นมารอชมพระอาทิตย์ตกดินเยอะมากค่ะ นั่งรอกันเหมือนนั่งบนอัศจรรย์เชียวค่ะ มีเป็นชั้นๆ พวกเราเร่งหามุมส่วนตัวที่พอจะแทรกได้ เพราะพระอาทิตย์กำลังจะตกแล้วค่ะ คนที่มารอชมในวันทำให้เราเริ่มรู้ว่าว่ามีนักท่องเที่ยวมากันมากจริงๆ เพราะในแต่ละที่ที่ผ่านมาจะพบนักท่องเที่ยวกระย๋อมกระแย่มค่ะ

 

 

 
   
 

 

 

            ภูสี คือภูเขาที่สวยงามแห่งหนึ่งสูงประมาณ 150 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง ทางขึ้นอยู่ตรงกันข้ามกับพระราชวังที่เรามากันเมื่อวาน ภูสี ชื่อเดิม คือ ภูสรวง แต่เปลี่ยนตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฎค่ะ ส่วนพระธาตุจอมสี มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมยาวต่างจากประธาตุอื่นๆ ตัวพระธาตุเป็นสีทองอร่ามย่อมมุมมีเศวตฉัตรทองสำริด 7 ชั้น 4 อัน การขึ้นพระธาตุภูสีต้องเดินขึ้นบันได จำนวน 328 ขั้นค่ะ บริเวณโดยรอบของภูสีมีวัดถ้ำภูสี วัดป่าแค วัดป่ารวกด้วยค่ะ (แต่ไม่ได้ไปค่ะ)

 

            ที่นี่เป็นจุดชมวิวที่เรียกได้ว่าสวยที่สุดของหลวงพระบางค่ะ เพราะอยู่ใจกลางเมืองแล้วยังสามารถมองเห็นเมืองได้โดยรอบ เวลาที่สวยที่สุดคือ ยามเย็น มาชมพระอาทิตย์ตกดิน ถือได้ว่าเป็น Highlight ค่ะ มีคำกล่าวว่า “ไปย่าม(เยี่ยม) นครหลวงพระบาง ถ้าบ่ได้เบิงภูสี หรือว่าขึ้นไปไหว้พระธาตุจอมสี ก็เท่ากับว่าบ่ได้เห็นนครหลวงพระบางอย่างแท้จริง”  แหม.. เราก็เกือบๆ จะมาไม่ถึงหลวงพระบางแล้วนะนี่ ได้ขึ้นพระธาตุเอาวันสุดท้ายที่อยู่เหมือนกัน

 

            ลงมาได้ก็ขอเติมพลังกันหน่อย เพราะเหนื่อยมาก ขอสั่งลาด้วยร้านสุดาภรณ์อีกครั้งค่ะ เมนูเดิมแป๊ะ ก็แหม..มันอร่อยจนต้องกลับมากินอีกครั้งก่อนกลับนี่นา จากนั้นเหมือนเดิมค่ะ ทัวร์ตลาดมืดจนตลาดวายค่ะ เรียกได้ว่ามาตั้งแต่ช่วยเค้าตั้งร้านจนช่วยเค้าเก็บร้าน ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามีอะไร แต่ต้องเดินทุกคืนค่ะ

 

 
 

สบายดี..

 

 
  -- Hana --        
           
           
           
           
           

 


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538