home
about bareo
news & event
art of design
decor guide
the gallery
living young
talk to editor
links
 
 

 

 

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2552 “ดีใจจัง วันนี้ ปะป๊า จะกลับมาแล้ว”
              เช้านี้ลูกชายคนเล็กส่งเสียงใสๆ ครั้งแรก นับตั้งแต่วันที่ ปะป๊า ไปทำงานต่างประเทศ เกือบครบสัปดาห์ “ขอไปรับ ปะป๊า ที่สุวรรณภูมิด้วยน่ะ มะม๊า รับรองจะไม่ซน” เสียงลูกชายคนโตอ้อนวอนขอไปด้วย ซึ่งแน่นอนลูกชายคนเล็กก็ต้องตามไปด้วยแน่ๆ พอไปถึงสุวรรณภูมิ ด้วยความที่ในใจก็กลัว หวัด 2009 อยู่ลึกๆ (ย้ำว่า ลึกจริงๆ ค่ะ) จึงตั้งใจแล้วว่า หากลูกๆ ร้องตามไปด้วย เราก็จะพากันไปนั่งที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ที่ไม่มีคนพลุกพล่านและแออัด และก็เป็นไปตามที่ตั้งใจ นั่งรอจนถึงเวลาที่เครื่องบิน landing ก็เดินออกไปรับ ปะป๊า รีบออกมา ขึ้นรถขับกลับบ้านอย่างปลอดภัย

ผ่านไป 3 วัน...

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2552
              ตื่นขึ้นมารู้สึกเมื่อยเนื้อ เมื่อยตัว อาจเป็นเพราะเราตื่นเช้ากว่าปกติ (ต้องขับรถไปชลบุรี)  ให้เหตุผลกับตัวเองว่า เมื่อคืนคงนอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอมั้ง  พอเวลาผ่านไปตอนสายของวันนั้น เรามีไข้....แต่ไม่สูง...ปวดหัว ตุ๊บ ตุ๊บ...ปะป๊า โทรมาบอกอีกว่า จะพาเจ้าตัวเล็กไปหาหมอ เพราะ มีไข้ต่ำๆ และ ไอ นิดหน่อย...และหมอก็บอกว่า ทอลซิลอักเสบ คอแดงแจ๋เลย...อะไรกันนี่...เป็นพร้อมกัน ช่างบังเอิญจริงๆ เลย ลูก...

 

              ทำงานอยู่จนเกือบทุ่มจึงเสร็จ ตอนนั้นร่างกายก็เริ่มล้า ไข้ขึ้นสูงแน่ๆ (คิดเอาเอง) ระหว่างขับรถกลับ เมื่อยขา มาก อ๋อ...ขับรถนานๆ เราคงเมื่อยมั้ง (คิดเองอีกแล้ว) ถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 3 ทุ่ม ไม่ไหวจริงๆ ขอหาหมอก่อนกลับบ้าน เผื่อเอายาไปกินและนอนพักอยู่ที่บ้าน กะว่าจะโดดงานเพื่อดูแลเจ้าตัวเล็กที่ไม่สบายพรุ่งนี้ดีกว่า พอถึงบ้านคืนนั้น เจ้าตัวเล็กนอนหลับปุ๋ยอยู่ได้ไม่นานก็ตื่นมาอาเจียนกลางดึกและไอเป็นระยะๆ...สงสัยจัง...ไวรัสลงกระเพาะหรือเปล่าถึงมีอาเจียนด้วย (โรคนี้คงได้ยินกันบ่อยสำหรับคนเป็นพ่อ-แม่)...ถ้าไม่ดีขึ้นพรุ่งนี้จะพาไปหาหมออีกดีกว่า...มะม๊า บอก ปะป๊า (จริงๆ แล้วบอกตัวเองด้วยเพราะว่าไอมากขึ้นเหมือนกัน)

 

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2552 “ไม่ไหวแล้ว มะม๊า ปวดท้อง”
              เช้านี้ลูกชาย อาเจียนมา 2-3 ครั้ง และยังไอมากขึ้นด้วย ไม่ทานอาหารเลยบอกแต่ว่า “มะม๊า กินข้าวไม่ลง” ทั้งๆ ที่ลูกเราเป็นเด็กชอบทานอย่างมาก ตัดสินใจพาไปหาหมอเป็นครั้งที่สอง และก็เป็นไปตามที่คาดไว้ไม่มีผิด หมอบอกว่าไวรัสลงกระเพาะ และที่ไอมากเพราะว่าหลอดลมเริ่มตีบ เดี๋ยวให้พ่นยาและฉีดยาแก้อักเสบเข็มหนึ่งก็กลับบ้านได้ ในขณะที่แม่ก็หนาวสั่น เพราะไข้กำลังขึ้น แต่ไม่เป็นไรทนได้ ให้ลูกหายก่อนค่อยว่ากันใหม่

 

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2552 “เปลี่ยนโรงพยาบาลดีกว่า”
              ไปพบแพทย์อีกครั้ง เราแจ้งอาการให้คุณหมอฟังโดยรายละเอียดทั้งของลูกและของแม่ คุณหมอบอกว่าเจ้าตัวเล็กต้องนอนโรงพยาบาล (คิดไว้อยู่แล้ว เพราะอาการเหนื่อยแบบนี้คงต้อง need oxygen แน่ๆ) และต้อง x-ray ดูปอดด้วย ที่สำคัญเราสองคนแม่-ลูกต้องตรวจเบื้องต้นว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของผู้ที่เป็นไข้หวัด 2009 หรือไม่ เจ้าหน้าที่ห้อง lab ของโรงพยาบาลตรวจแม่ด้วยการเอาเชื้อจากจมูก แต่ลูกชายเอาเชื้อจากในคอ ซึ่งกว่าจะป้ายจากคอได้ เจ้าตัวเล็กร้องและใช้ลิ้นต้านอยู่พักใหญ่ ปะป๊า ถามว่า “จะดีหรือ ทำไมไม่เอาที่จมูกเหมือนคุณแม่ครับ” เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตอบว่า “ที่ไหนก็เหมือนกัน ได้ทั้งนั้น” มองหน้ากันแบบมีคำถามอยู่ในใจทั้งปะป๊า-มะม๊า แต่ด้วยความที่เชื่อมั่นในโรงพยาบาล จึงยอมรับการตรวจ ปรากฏว่าผลตรวจ เราเป็น ไข้หวัด 2009 ลูกชาย ไม่เป็นแต่เป็นปอดบวม...

 

              สงสัย...ทำไม เราเป็น ได้อย่างไร...แล้ว ลูกทำไม ไม่เป็น เพราะลูกอาการหนักกว่าเรา...จริงเหรอ???...เราติดมาจากไหน???...มีแต่คำถาม ที่ไม่มีคำตอบ คุณหมอบอกอย่างเดียวว่า คุณแม่คงไม่ต้องทานยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องทานยา  และโดยส่วนใหญ่จากสถิติมากกว่า 90% ที่มักจะหายได้เอง

 

              ส่วนการรักษาและการปฏิบัติตัวก็เช่นเดียวกับไข้หวัดทั่วไป ต้อง Isolate ตัวเองออกมา เพราะจะทำให้ติดคนอื่นได้ ฟังแล้วเป็นไปไม่ได้เจ้าตัวเล็กต้องนอนโรงพยาบาล แล้วใครจะเฝ้า ถ้าเรากลับบ้านแล้วไปทำให้ติดคนที่บ้าน ที่สำคัญกว่านั้นลูกชายคนโตกับคุณพ่อยังแข็งแรงอยู่ เกิดติดเชื้อกันหมด จะทำยังไง ตัดสินใจบอกคุณหมอว่าขอนอนเฝ้าลูกที่โรงพยาบาลจะดีกว่า แม้ว่าตอนนี้ผลการตรวจของลูกคนเล็กจะไม่เป็นไข้หวัด 2009 ก็ตาม

 

              แต่ในใจเชื่อว่ามันต้องผิดพลาด จึง consult คุณลุงหมอที่ โรงพยาบาลรามาฯ ทันที คุณลุงหมอได้คุยกับคุณหมอเจ้าของไข้ทางโทรศัพท์โดยสรุปว่าให้ทำการเก็บผลเพาะเชื้อใหม่ โดยการเก็บเชื้อไปตรวจครั้งนี้จะเจ็บกว่า เพราะต้องป้ายจากจมูก จึงต้องจับยึดตัวเด็กให้ดีไม่เหมือนกับตอนป้ายคอตอนแรกที่ง่ายกว่าเยอะ ระยะเวลาที่เก็บเชื้อครั้งแรกกับครั้งสองห่างกัน 2 ชั่วโมง แต่ต้องรอผล 2-3 วัน แต่หวังให้เร็วกว่านั้นก็ดี คืนนั้นนอนอยู่โรงพยาบาลทั้งแม่และลูก ไข้ขึ้นสูงทั้งคู่ และลูกชายต้องให้ oxygen ทั้งคืน เพราะเหนื่อยหอบมาก

 

เช้า วันเสาร์ที่11 กรกฎาคม 2552 ยังไม่ดีขึ้น
              คุณหมอมาตรวจลูกชายและบอกว่า จาก film x-ray หมอให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและให้น้ำเกลือ cover ทุกอย่าง ยกเว้นยาต้านไวรัส (โอลเซลทามิเวียร์) ที่ยังไม่ให้เพราะถ้าไม่เป็น (ยังเชื่อผลตรวจครั้งแรกที่บอกว่าไม่เป็น) ให้ไปแล้วจะดื้อยา ลูกชายอาการไม่ดีขึ้น ไข้ขึ้นสูงมาก (ย้ำว่ามากจริงๆ) กินยา ไข้ก็ไม่ลง เช็ดตัวจนลูกร้องแสบตัวไปหมดแล้ว ไอตลอดเวลาจนเหนื่อย มองหน้ากัน ถามว่าจะทำยังไงดี ปะป๊า จนถึงช่วงบ่าย ลูกลองเอา oxygen ออก ก็กลับมาเหนื่อยหอบอีก คงไม่ได้การแล้ว ต้องทำอะไรสักอย่าง บอกปะป๊า ว่าต้องรบกวนคนอื่นแล้วหล่ะ

 

บ่ายวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2552 อาการแย่ลง
              ปะป๊า โทรหาอาจารย์หมอที่โรงพยาบาลอีกท่านหนึ่ง (ปะป๊า มีโอกาสได้ทำงานกับอาจารย์หมอที่โรงพยาบาลจึงนับว่าโชคดีของเจ้าตัวเล็ก) คุยเรื่องงาน และขอ consult เรื่องอาการลูกชาย ทันที...ขอบอกว่า หลังจากที่อาจารย์วางสาย...ไปก็จัดการทุกอย่างให้เราทันที....ไม่เกินชั่วโมง ท่านได้โทรกลับมา และบอกให้ย้ายไปโรงพยาบาลรามาฯ ทันที โดยไม่ต้องรอผลว่าจะเป็น H1N1 หรือไม่ ประเมินจากอาการแล้วว่า อาการน่าเป็นห่วงต้องรีบทำการรักษาทันที เป็นครั้งแรกที่ได้นั่ง Ambulance แต่คนที่ใช้บริการคือลูกของเรานอนให้ oxygen อยู่ จะตื่นเต้นหรือกลัว บอกไม่ถูก แต่ที่รู้ ลูกเราต้องหาย (เหมือนในโฆษณา...อะไรสักอย่าง)

 

คืนวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2552 ลูกเราต้องหาย
              พอถึง โรงพยาบาล รามาฯ ก็มีคุณหมอหลายท่านมาซักประวัติ จนเราตอบซ้ำไป ซ้ำมา อยู่พักใหญ่ คุณหมอหลายท่านรุมกันดูผล film x-ray พบว่าปอดเริ่มมีฝ้าแล้ว ดังนั้นคุณหมอจึงรีบทำการรักษาทันทีด้วยการให้ยาต้านไวรัส (โอลเซลทามิเวียร์) แม้ว่าผลจาก lab จะยังไม่ออกมาก็ตาม

              หลังจากนั้นมีอาจารย์หมอผู้หญิงท่านหนึ่งค่อนข้างอาวุโสหน่อย มาทราบภายหลังว่าท่านเป็นอาจารย์หมอที่ดูเรื่องของการติดเชื้อ H1N1 โดยเฉพาะ ท่านเดินมาหาเราสองคนแล้วค่อยๆ ชวนเราคุยซักถามอาการ แต่ไม่มากนัก ท่านถามว่า “ทำไมเพิ่งมา” คำถามนี้ขอบอกว่า โดนมาก ถ้าผลการตรวจของลูกออกมาว่าเป็นไข้หวัด 2009 ตั้งแต่แรก เราคงจะทำอะไรที่ดีกว่านี้แน่นอน

              ครั้งนี้เราต้องกลับบ้านโดยฝากชีวิตลูกชายไว้กับทีมหมอและพยาบาล เพราะโรงพยาบาลไม่อนุญาตให้นอนเฝ้าได้ แต่เราก็ใช้เวลาอยู่กับลูกให้นานที่สุดจนลูกหลับไป “พรุ่งนี้ตื่นขึ้นมา มะม๊า รับรองว่าจะเห็นหน้า มะม๊า คนแรกเลยลูก”

 

เช้าวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฏาคม 2552 วันใหม่ ชีวิตใหม่
              พบพยาบาลหน้าห้องรีบบอกว่า “น้องไข้เริ่มลงแล้ว นอนอมยิ้มอยู่บนเตียงคนเดียวเลยค่ะ” ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ลูกชายหน้าตาสดใสขึ้น ต่างจากที่ก่อนหน้านี้หลายวัน ปากแดงจนม่วง เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน อารมณ์หงุดหงิดและงอแงมาก คุณหมอเดินเข้ามาบอกว่า “น้องดีขึ้นมาก oxygen ที่ให้อยู่ก็เริ่มลดลง และจะลองเอาออกในที่สุด แต่น้องต้องทานข้าวให้ได้ หมอจึงจะเอาน้ำเกลือออกได้ครับ” ดีใจมาก เพราะเราลืมไปเลยว่าลูกไม่ทานอะไรมาหลายวันแล้ว ทั้งข้าวและนม เพราะพอทานได้คำสองคำก็บอกว่า แน่นและจุกที่ท้องใต้ลิ้นปรี่

              รีบบอกลูกชายว่าถ้าอยากกลับบ้านเราต้องช่วยกัน ช่วยพยายามทานข้าวให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และลูกชายก็ดีใจหาย พยายามทำให้แม่กับพ่อมีความหวังที่จะรับลูกกลับบ้านให้ได้เร็วที่สุด และคุณหมอมาแจ้งผลตรวจของลูกชายยืนยันมาว่าเป็น H1N1 (ไข้หวัด 2009) และจาก film มันได้ทำลายปอดไปบางส่วนแล้วตามที่แสดงอาการให้เห็น ยังมีอาการปอดแฟบอยู่เลยค่ะ

 

ลูกดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ทุกวัน จนผ่านไป 2 วัน

เช้าวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2552 เย้ เย้...ได้กลับบ้านแล้ว ครับ
              ลูกชายส่งเสียงดีไจ สดใส ร่าเริง เป็นพิเศษ เพราะคุณหมออนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว  แต่เนื่องจาก film x-ray ของลูกชายมีการติดเชื้อที่ปอด จึงทำให้ปอดแฟบบางส่วน ดังนั้นลูกต้องกลับไปฝึกออกกำลังปอดด้วยการใช้อุปกรณ์เฉพาะของคุณหมอ และทานยาควบคู่ไปด้วยจนครบกำหนดตามที่คุณหมอสั่ง

              หลังจากผ่านไปได้ประมาณ 2 วัน เรากลับมามีอาการไอแห้งๆ มากขึ้นเรื่อยๆ มีไข้ต่ำๆ จึงต้องกลับไปพบคุณหมอที่รักษาลูกชายจนหาย คุณหมอก็ไม่รอช้าอีกเช่นกัน รีบให้ทานยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) เหมือนที่ลูกชายทานทันที และกำชับว่าต้องทานยาจนหมดตามที่หมอสั่ง และอาการไอกับไข้ก็ดีขึ้นตามลำดับ

              จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราและคนในครอบครัวได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคไข้หวัด 2009 มากขึ้น และย้อนกลับไปคิดว่า นี่เรายังโชคดีที่ไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้น แต่อีกหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียไปแล้ว เค้าจะรู้สึกเช่นเดียวกับเราหรือไม่ ลองวิเคราะห์แบบคนที่เป็นพ่อ-แม่ ทั่วๆ ไป ก็มีคำถามและมีคำตอบได้คือ

      • วันที่เราไปพบคุณหมอเป็นครั้งที่สอง คุณหมอน่าจะสงสัยในอาการของโรค และให้ตรวจแบบหาเชื้อไข้หวัด 2009 หรือมีการ x-ray ตั้งแต่วันนั้น ลูกชายก็คงไม่ถึงขั้นรุนแรงขนาดนี

      • มาตรฐานของการตรวจหาเชื้อไข้หวัด 2009 อยู่ที่ไหน ทำไมโรงพยาบาลของรัฐกับเอกชนจึงต่างกัน แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่เชื่อว่าการตรวจที่คอจะได้ผลถูกต้องโดยเฉพาะกับเด็ก

      • ทำไมคุณหมอจึงไม่ให้ยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) กับลูกชายทั้งๆ ที่อาการโดยรวมบ่งบอกว่าเป็น ถึงแม้คุณหมอจะอ้างว่าถ้าไม่ได้เป็นและรับยาไปแล้วอาจจะมีผลทำให้ดื้อยาได้ ก็ฟังไม่ขึ้นเพราะอาการของลูกชายแย่ลง ไม่สามารถหายใจเองได้เพราะเหนื่อยหอบมากขนาดนี้ หรือว่ายาไม่มี หรือมีไม่พอ เพราะเท่าที่สอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ยาได้ไม่มีมาก่อนหน้านี้เป็นสัปดาห์
      • หลายฝ่ายออกมาให้ข้อมูล บางครั้งขัดแย้งกันจนประชาชนอย่างเราสับสน ไม่ให้ตื่นตระหนก หายเองได้ แต่สุดท้ายหากต้องสูญเสีย ใครจะรับผิดชอบ สิ่งที่เราเชื่ออีกอย่างคือว่า ถ้าเป็นก็ควรจะกินยาดีกว่าไม่กิน และย้ำว่าจะไม่ดื้อยาถ้าคุณกินตามที่คุณหมอสั่งจนครบกำหนด ที่สำคัญอย่าปล่อยให้มีไข้ติดต่อกันนานโดยเฉพาะกับเด็ก

      • หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่แออัด หรือมีผู้คนพลุกพล่าน เช่น สนามบิน ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง เป็นต้น เพราะมีโอกาสรับเชื้อได้เสมอ

      • หากติดเชื้อไข้หวัด 2009 ต้องดูแลผู้ป่วยให้ดี ถึงแม้ว่าจะปฎิบัติตนเหมือนกับไข้หวัดทั่วไปแต่มันสามารถเข้าสู่ปอดได้รวดเร็วและทำลายปอดโดยใช้เวลาไม่นาน อย่างเช่นลูกชายมีไข้ไม่ถึง 3 วันก็ทำให้ปอดติดเชื้อแล้ว

     

 

 
 

-- แม่แจ --

       


บริษัท บาริโอ จำกัด

50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700   Tel. 66 2881 8536-7   Fax. 66 2881 8538