บัวงาม

     ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  แหล่งอารยะธรรมต่างๆ จะอยู่ในพื้นที่ติดกับแหล่งน้ำแทบจะทุกที่  ไม่ว่าจะเป็น อารยธรรมอียิปต์ ที่อยู่ติดกับ แม่น้ำไนล์,  อารยธรรมจีน ที่อยู่ติดกับ ทะเลจีนใต้  แม่น้ำฮวงโห แยงซีเกียง เป็นต้น

     ประเทศไทย ก็มีที่ตั้งใกล้เคียงแม่น้ำหลายๆ สายเช่นกัน ดูได้จากหัวเมืองใหญ่ทั้งหลายในอดีตจนปัจจุบันก็จะมีเกาะตามสาขาต่างๆ ของแม่น้ำในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ คนไทยจึงมีความเกี่ยวข้องกับน้ำ หรือ สิ่งต่างๆ ที่อยู่กับน้ำ มาโดยตลอด บัว จึงเป็นพืชโบราณที่มีตามแหล่งนาทั่วไปอยู่หลากหลายสายพันธุ์  ก็ให้เกิดแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลต่อประเพณีการใช้ชีวิตประจําวัน   อาหาร และหยิบเอาความสวยงาม มาสร้างสรรค์เป็นศิลปะจนมาถึงปัจจุบันครับ

ลักษณะของบัวที่มีมาแต่ดั้งเดิมหรือบัวพื้นถิ่นที่มีลักษณ์เฉพาะต่างกันอย่างชัดเจน มีอยู่ 12 พันธุ์ ได้แก่

     กลุ่มบัวสาย(บัวกินสาย) หรือ อุบลชาติเขตร้อนบานกลางคืน มีลักษณะร่วมที่สําคัญ คือ บานกลางคืน ใบ แผ่ลอยเสมอผิวน้ำ ขอบใบหยักแหลมเป็นระเบียบเหมือนฟันเลื่อย ให้ดอกชูพ้นน้ํา ก้านค่อนข้างใหญ่ ทรงดอก-กลีบ ดอก เรียวยาว กลีบไม่ค่อยซ้อน เมื่อบานเต็มที่ดูเสมือนกลีบค่อนข้างกระจายออก จําแนกข้อแตกต่างได้ 4 พันธุ์

     กลุ่มบัวผันเผื่อน หรือ อุบลชาติเขตร้อนบานกลางวัน มีลักษณะร่วมที่สำคัญ  คือ บานช่วงสายหรือบาน กลางวัน ใบแผ ลอยเสมอผิวน้ำ ขอบใบหยักไม่เป็นระเบียบ ให้ดอกชูพ้นน้ำ ก้านไม่ใหญ่ ทรงดอก-กลีบดอก ป้อม กลีบไม่ค่อยซ้อน ยกเว้น จงกลนีที่กลีบซ้อนมาก จําแนกข้อแตกต่างได้ 4 พันธุ์

     กลุ่มบัวหลวง หรือ ปทุมชาติในภูมิภาคเอเชีย มีลักษณะรวมที่สำคัญ คือ บานช่วงเช้ามืด ราวตี 3-4 เมื่อสมบูรณ์ก้านส่งใบแผสูงเหนือผิวน้ำ ก้านมีเปลือกแข็ง มีตุ่มหนามเล็กๆ ขอบใบเรียบ ผิวหน้าใบไม่จับน้ำ  ดอกชูพ้นน้ำสูง  แบ่งตามความแตกต่างได้ 4 พันธุ์

 

การนำบัวไปใช้งานตกแต่งสถาปัตยกรรม

     บัวที่ใช้ในงานตกแต่งสถาปัตยกรรมไทยถูกพบว่ามีการนำไปใช้ในงานตกแต่งตามองค์ประกอบ สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเห็นได้จากในวัด ก็จะมีส่วนที่ได้แรงบันดาลใจการออกแบบมาจากดอกบัว  เริ่มจากส่วนชั้นล่างสุดของอาคารสถาปัตยกรรมไทย ดังนี้

ส่วนฐานอาคาร

     พบว่ามีการนำไปใช้ค่อนข้างมาก  โดยมีการใช้เส้นรูปทรงโค้งของดอกบัวมาใช้ มีชื่อเรียกองค์ประกอบตามลักษณะที่ช่างไทยสร้างสรรค์ ได้แก่ ฐานปัทม์หรือฐานบัว อาจตกแต่งเป็นปูนปั้นรูปทรง กลีบดอกบัวหรืออาศัยแค่เส้นรูปโค้งดอกบัวมาตกแต่ง แยกย่อยออกเป็นชั้นๆ ตามแนวนอน คือ ชั้นบัวคว่ำหรือ บัวถลา ชั้นบัวอกไก่ ชั้นบัวหงาย พบได้ทั่วไปในฐานของอาคารพระอุโบสถ และวิหาร เจดีย์ พระปรางค์ เป็นต้น

ฐานเสมา

     เป็นการกำหนดอาณาเขตที่ว่างของสถาปัตยกรรม เสมาที่ทำเป็นแผ่นคล้ายกลีบบัว  มีทั้งที่ทำจากแผ่นหินแกะสลักและงานปูนปั้น ใช้เป็นหลักเขตกำหนดเขตพุทธาวาสของสงฆ์แม้ไม่อยู่ติดกับตัวอาคารแต่ก็ถือว่าเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทย

เสาอาคาร

     มีการตกแต่งปลายเสาหรือบัวหัวเสาปั้นปูนประกอบเป็นรูปดอกบัวบนอาคาร พระอุโบสถและวิหาร ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาแล้วได้แก่บัวกลุ่มและบัวจงกล ช่างจะปั้นเป็นรูปทรงดอกบัวแบบบัวจงกลและ บัวสัตตบุตย์ ในธรรมชาติ แต่งเป็นกลีบซ้อนขึ้นไปที่ปลายเสาที่มีสัณฐานกลมมีส่วนคอหรือเอวคั้น แล้ว ทาสีชาดทับ

** สีชาดเป็นผงสีชนิดหนึ่งมีสีแดงในเมืองไทย ชาดได้นำมาใช้ในการทำยาไทย หรือผสมน้ำมันสำหรับประทับตราสิ่งของ **

ผนังภายนอก

      สถาปัตยกรรมไทยไม่มีนิยมทำบัวที่ผนังจนจนกระทั่งอิทธิพลการก่อสร้างแบบยุโรปที่เข้ามาใน สมัยรัชกาลที่ 4- 5 รวมทั้งอาคารที่ประยุกต์โดยช่างไทย จะมีการทำแผงกันเปื้อนที่ส่วนล่างของผนังที่ติดพื้นขอบแต่งร่องแบบโค้ง บัวเป็นเส้นเล็กๆ ก็เลยเรียกส่วนนี้ว่าบัวพื้น มีทั้งการปั้นปูนทาสีรวมไปถึงการใช้วัสดุอื่น ๆ เช่น หินอ่อน ปูนปั้น สำหรับงานตกแต่งบัวพื้นมาสู่ในสมัยปัจจุบัน นอกจากนี้ส่วนบนสุด ของผนังจรดเพดานจะมีการปิดรอยต่อของผนังกับเพดานด้วยเส้นคาดทำจากปูนปั้น หรือไม้ที่เรียกกันว่ามอบหรือไม้มอบ ซึ่งบัวเพดานของไทยนี้ มี อิทธิพลมาจากยุคเรเนซองส์และนีโอคลาสิคครับ

ส่วนกำแพง

     พบว่ามีการใช้ส่วนประกอบมาตกแต่งซึ่งอาจใช้เหมือนกับส่วนฐานอาคาร คือ บัวคว่ำ บัวหงาย บัวอกไก่ คาดด้วยชั้นเส้นลวด มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว โดยส่วนบนสุดหรือสันกำแพงอาจจะปั้นปูนเป็นผิว โค้งแหลมที่ลาดลงสองข้างก็เรียกว่าหลังเต่าหรือบัวหลังเต่า หรือแบบเรียบที่เรียกว่าบัวหลังเจียด ซึ่งกำแพงแบบนี้ยังพบเห็นได้ในสมัยปัจจุบันอย่าง เช่น ที่วัดสุทัศน์ฯ วัดเศวตฉัตรฯ ฝั่งธนบุรี เป็นต้นครับ

     ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่มีการสร้างสถาปัตยกรรมจากรูปทรงของดอกบัว ในต่างประเทศก็มีการนำความโดดเด่นของรูปทรงดอกบัวนี้ไปใช้ในการสร้างสรรค์ไอเดียการสร้างอาคารให้ได้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจ

 

วัด Lotus Temple หรือ  Bahai Temple  

     โดดเด่นด้วยรูปทรงดอกบัวที่ชนะรางวัลสถาปัตยกรรมและการออกแบบมาหลายรางวัลแล้ว นี่เป็นหนึ่งในวัดบาไฮเจ็ดแห่งของโลก วัดแห่งนี้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่ปี คศ. 1986

 

สถาปัตยกรรมภายนอกสุดอลังการ

     ผู้ออกแบบได้ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนกับดอกบัวที่บานออกเพียงครึ่งหนึ่ง กลีบดอกบัวสีขาวทำจากหินอ่อนสีขาว มีความสูง 40 เมตร ล้อมรอบด้วยสระน้ำใสสะอาด 9 สระ โดยผู้ออกแบบคือ สถาปนิก Fariborz Sahba ได้เลือกใช้รูปดอกบัวเนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความบริสุทธ์และอ่อนโยน แสดงถึงความรัก และความเป็นอมตะ ผลงานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางให้เป็นสุดยอดผลงานแห่งศตวรรษที่ 20 และในปี 2000 วัดแห่งนี้ก็ได้รับรางวัล GlobArt Academy ในฐานะที่สนับสนุนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และสถานะทางสังคม

The Lotus Building

 

     ตึกดอกบัวกลางน้ำ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ตึกดอกบัว” (The Lotus Building) เป็นผลงานสร้างสรรค์ของบริษัทสถาปัตยกรรมจากออสเตรเลีย ชื่อ Studio 505 ประกอบด้วยอาคารรูปดอกบัวกลางทะเลสาบเทียม จำนวน 3 อาคาร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร รูปทรงของตึกออกแบบให้มีกลีบบัวโอบหุ้มตัวอาคารไว้ กลีบบัวแสดงพัฒนาการของดอกบัวที่ค่อยๆ เบ่งบานเป็น 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่เป็นดอกตูมในอาคารที่ 1 ดอกเริ่มบานแย้มในอาคารที่ 2 และดอกบานเต็มที่ในอาคารที่ 3 โดยระหว่างอาคารมีทางเชื่อมต่อถึงกัน

     ตัวตึกที่เห็นลอยเด่นบนผืนน้ำเป็นเพียงส่วนบน ยังมีข้างล่างที่ลงไปใต้น้ำเป็นชั้นใต้ดิน 2 ชั้น โดยพื้นที่ในส่วนพ้นน้ำออกแบบให้เกิดประโยชน์ใช้สอยของหน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไป แบ่งออกเป็นที่ตั้งสำนักงานของสำนักผังเมือง โถงจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ห้องจัดเลี้ยง ร้านอาหาร แหล่งความบันเทิง ห้องประชุม และศูนย์การประชุม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของโครงการ ที่ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของประชาชน

     ไม่ใช่เพียงแต่ภายนอกที่เป็นรูปทรงของดอกบัว ภายในอาคารก็ยังคงคอนเซ็ปต์ของดอกบัวเอาไว้  อาทิ ห้องประชุมทรงโค้งและเพดานสูงแบบโดมที่มีลายเส้นเป็นกลีบบัว ใช้โทนสีน้ำตาลของไม้ที่พื้น ผนัง และเพดาน กับสีเงินของขอบเส้นโค้ง ดูจริงจัง อบอุ่น แต่สว่างโล่ง เหนือโต๊ะประชุมทรงกลมเป็นโคมไฟแขวนทรงโดนัทที่ดูทันสมัยครับ

     ถึงแม้ว่าหลายๆ ความคิด ถ้าพูดถึง ดอกบัว ดูจะเป็นอะไรโบราณ ไม่ทันสมัย แต่สำหรับบียอนแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ตกตะกอนและหลอมรวมมาหลายศตวรรษ  ก่อให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ สร้างแรงบัลดาลใจให้กับผู้คน ให้ถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะ ก็ถือว่าเป็นเรื่องราว ดี ที่เรายังได้ดอกบัว หลากหลายมิติกันจนถึงปัจจุบันครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก

พจนานุกรมศิลป์ / น. ณ ปากน้ำ. 2530

futuristarchitecture.com

archdaily.com