bareo : worktop kitchen
 

 

เก็บอย่างไรให้ดูดี

          สวัสดีครับ ตอนนี้เป็นตอนที่ 3 ของซีรีส์ “เก็บของให้ถูกที่ ดูดีไปทั้งบ้าน” แล้วนะครับ โดยสองตอนแรก ผมจะพูดถึงประเภทของที่เก็บของแบบต่างๆ และเทคนิคในการเก็บของในห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร และห้องครัว และในตอนนี้ ผมอยากจะขอแนะนำเทคนิคการเก็บของในห้องน้ำและห้องนอนกันต่อดีกว่าครับ
สำหรับท่านที่ต้องการอ่านข้อมูลของ 2 ตอนแรกย้อนหลัง ให้ไปตาม Link นี้นะครับ
          ตอนที่ 1: ศาสตร์แห่งการเก็บ http://www.bareo-isyss.com/33/33_decor_storage.html
          และตอนที่ 2: วิถีแห่งการเก็บ http://www.bareo-isyss.com/35/35_decor_store2.html

 


 
   
 

 


          1. ห้องน้ำ

ห้องน้ำเป็นอีกห้องหนึ่งที่คนมักจะมองข้ามเรื่องการเก็บของไป ทั้งๆ ที่ห้องน้ำก็มีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้มากมาย อาจจะเป็นเพราะห้องน้ำเป็นห้องที่มีความชื้นสูง ทำให้เฟอร์นิเจอร์หรือของที่เก็บเกิดปัญหาขึ้นราได้ง่าย ดังนั้น ผมจึงอยากจะแนะนำเทคนิคในการเก็บของในห้องน้ำจากประสบการณ์ที่ผ่านมานะครับ

 

 
   

-- ของที่เก็บในห้องน้ำ เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือของใช้ประจำวัน (Daily Use) และของที่นานๆ ใช้ที หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในอนาคต (Live Stock)

--ตู้เก็บของในห้องน้ำ เช่นตู้ใต้เคาน์เตอร์ หรือตู้ซ่อนหลังกระจกเงา เหมาะสำหรับเก็บของประเภท Live Stock ที่ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้น เช่น Stock ของครีมหรือขวดน้ำยาชนิดต่างๆ เพราะภายในตู้มักจะมีความชื้นสูงกว่าภายนอก

-- ไม่ควรเก็บยาอันตรายไว้ในตู้ซ่อนหลังกระจก เพราะเด็กๆ อาจนำไปเล่นได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากจะเก็บ ควรเลือกเก็บเฉพาะยาสามัญทั่วไป ส่วนยาอันตรายควรเก็บไว้ในตู้ยาที่สามารถล็อคได้

-- ของใช้ประจำวัน จำพวกสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ตลอดจนโลชั่น หรือครีมโกนหนวดชนิดต่างๆ เราควรจัดให้อยู่ในที่ที่หยิบสะดวก เช่นบนเคาน์เตอร์ หรือวางบนขอบอ่างอาบน้ำ

 
 

-- ในปัจจุบัน ผ้าที่ใช้ในห้องน้ำ จะแบ่งออกเป็นผ้าเช็ด
ตัว ผ้าเช็ดมือ และผ้าเช็ดหน้าและผม ควรแยกตำแหน่ง
ที่แขวนให้ชัดเจน และสำหรับท่านที่นิยมเปลี่ยนผ้าบ่อยๆ
และมีปัญหาเรื่องที่เก็บผ้าเหล่านี้ ผมแนะนำให้ทำชั้นเก็บ
ในห้องน้ำเลย จะหยิบใช้หรือเปลี่ยนก็ง่าย

-- ท่านที่ต้องการเก็บเสื้อผ้า หรือเสื้อคลุมอาบน้ำไว้ใน
ห้องน้ำ ควรเก็บไว้ในชั้นโล่งที่ไม่มีหน้าบาน เพื่อป้องกัน
การขึ้นรา

-- ชั้น Stainless แบบต่างๆ จะมีประโยชน์มากในห้องน้ำ
และจะดูดีเกือบตลอดเวลาโดยต้องการการดูแลรักษา
เพียงเล็กน้อยแบบที่มีหลากหลายในห้างสรรพสินค้า
ทำให้เราสามารถเลือกซื้อชั้นที่เหมาะกับการใช้งานของ
เราได้ไม่ยากนัก

 
 


2. ห้องนอน

          โดยปกติ ห้องนอนมักจะเป็นห้องที่แสดงความเป็นตัวตนของเจ้าของห้องมากที่สุดเสมอ ห้องนอนของคนที่รักการอ่าน มักจะมีหนังสือกองอยู่ข้างเตียง ในขณะที่ห้องนอนของนักกีตาร์ ก็จะมีกีตาร์ตัวโปรดวางไว้ในมุมใดมุมหนึ่ง ส่วนห้องนอนของนักกีฬา ก็มักจะมีชั้นโชว์รางวัลต่างๆ ตลอดจนอุปกรณ์กีฬาชิ้นโปรดประดับอยู่ภายในห้อง

          สำหรับการเก็บของในห้องนอน จริงๆ แล้วสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือของที่ใช้ประจำวัน (Daily Use) และของเก็บไว้เพื่อโชว์ (Show Items) ส่วนของที่เป็น Live Stock หรือ Dead Stock มักจะไม่ปรากฎในห้องนอน ทั้งนี้ บ่อยครั้งที่ผมมักจะได้ยินว่าตู้เสื้อผ้าภายในห้องนอนไม่พอใช้ อย่างน้อยต้องมี 5 เมตร 10 เมตร จนในปัจจุบัน ผมได้ยินว่ามีลูกค้าสามี-ภรรยาที่ต้องการตู้เสื้อผ้าคนละ 10 เมตร!!!

          ดังนั้น จากประสบการณ์ของผม ผมจึงอยากจะให้ทุกท่านที่ต้องการตู้เสื้อผ้ายาวๆ ลองมาพิจารณาดูกันจริงจังก่อนที่จะลงมือสั่งผลิตตู้ ว่าจริงๆ แล้ว เราต้องการตู้เสื้อผ้าคนละเท่าไรกันแน่ เพราะตู้เสื้อผ้าแต่ละใบราคาไม่ใช่น้อยๆ นอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังเสียพื้นที่โดยไม่จำเป็นอีกด้วย ลองดูตามคำแนะนำนะครับ

 


 
 

 
 

 

-- ของโชว์ภายในห้องนอน สามารถจัดวางในตู้โชว์หรือชั้นโชว์ก็ได้ แต่หากไม่ได้หยิบออกมาดูบ่อยๆ ก็ควรทำหน้าบานกระจกปิดสักนิด เพื่อจะได้ไม่มีที่สะสมฝุ่น เพราะฝุ่นเหล่านี้จะเข้าสู่ปอดของเราในเวลานอนได้

-- ของใช้ประจำวันที่อยู่ในห้องนอนส่วนใหญ่ มักจะเป็นเสื้อผ้า ซึ่งโดยปกติเมื่อเราพ้นอายุ 25 ปีแล้ว ร่างกายจะหยุดการเติบโต แต่อาจจะมีความอ้วนหรือผอมเข้ามาแทน ทำให้เราต้องมีเสื้อผ้าใหม่อย่างน้อยทุกปี หรือทุก Collection สำหรับบางท่าน ทั้งนี้ เมื่อผ่านไปหลายปี เสื้อผ้าเหล่านี้ก็จะมีปริมาณมากขึ้น จนไม่สามารถเก็บในตู้ได้หมด จึงกลายเป็นที่มาของตู้เสื้อผ้ายาวๆ ซึ่งการแก้ปัญหานี้จริงๆ แล้ว ควรจะอยู่ที่การควบคุมสมดุลของเสื้อผ้าเข้าและออกเสียมากกว่า

-- เสื้อผ้าที่ตกรุ่น หรือใส่ไม่ได้แล้ว หากไม่บริจาคหรือขาย ก็ควรพับหรือม้วนก่อนที่จะเก็บลงในกล่อง เพราะการแขวนเสื้อเหล่านี้ นอกจากจะเปลืองพื้นที่โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังทำให้เสื้อผ้าเสียทรงที่ไหล่ตามไม้แขวนเสื้อเพราะแขวนไว้นานๆ อีก

 

 
 

 

-- การใช้ถุงสูญญากาศก็เป็นวิธีการจัดเก็บที่ดีมากอีกวิธีหนึ่ง เพราะช่วยประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า 30%

-- การออกแบบตู้เสื้อผ้าที่ดี ควรแบ่งตู้ออกเป็นส่วนๆ และควรแยกตาม Collection หรือแยกตามชนิดของเสื้อผ้า เพราะจะทำให้เลือกได้ง่าย และเป็นระเบียบ

--ตู้ลิ้นชัก เหมาะสำหรับการจัดเก็บถุงเท้า Neck-tie หรือ Underwear และการจัดเก็บแบบพับซ้อนจะทำให้เก็บได้มากกว่า แต่ก็จะเลือกได้ยากกว่าแบบม้วนแล้วตั้งขึ้น ซึ่งจะใช้งานได้สะดวกกว่า

--เสื้อยืดที่ใช้อยู่ สามารถพับเก็บและจัดวางในตู้ลิ้นชักที่ออกแบบไว้โดยเฉพาะ หรือตู้ลิ้นชักแบบ Chest of Drawers ได้ ส่วนเสื้อยืดตัวที่ไม่ใช้แล้ว ควรพับหรือม้วนเก็บใส่กล่อง

 
 

-- ราวแขวนกางเกง ชนิดที่ดึงเลื่อนออกมาได้ มีประโยชน์มากในการจัดเก็บ นอกจากจะทำให้ขากางเกงไม่มีรอยยับแล้ว ยังเลือกใช้ได้สะดวก

-- ตู้เก็บของด้านบนตู้เสื้อผ้าแบบ Built-in นอกจากจะดูสวยงามแล้ว ยังมีประโยชน์มาก เพราะสามารถใช้เก็บของชิ้นใหญ่ เช่น กระเป๋าเดินทาง หรือกล่องใส่เสื้อผ้า ตลอดจนชุดเครื่องนอนสำรองต่างๆ

-- ตู้วางทีวีในห้องนอน นอกจากจะใช้วางเครื่องเสียงและทีวีแล้ว ยังสามารถใช้จัดเก็บแผ่น CDและแผ่น DVD ได้อีก หากมีช่องเหลือยังใช้จัดเก็บของใช้ประเภท Live Stock ก็ได้

 

   
   

-- พื้นที่ใต้เตียง ก็มีประโยชน์อย่างมากในการจัดเก็บของประเภท Live Stock และ Dead Stock เช่น ชุดเครื่องนอนทั้งชุด หรือกล่องใส่เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น

-- พื้นที่หัวเตียง สามารถออกแบบให้เป็นชั้นโชว์ของได้ และยังเพิ่มเสน่ห์ให้กับห้องนอนได้อีกด้วย แต่ควรจะระวังและดูแลทำความสะอาดเรื่องฝุ่นเป็นพิเศษ

 
 

 


ที่เก็บของแบบพิเศษ

          สำหรับส่วนนี้ ถือเป็นของแถมนะครับ เพราะผมจะรวบรวมรูปแบบการเก็บของแบบต่างๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอให้ชมกันนะครับ

 

 

 
   

-- ใต้บันได จัดว่าเป็นที่เก็บของชั้นเยี่ยม สามารถออกแบบติดตั้งเป็นตู้เก็บของ หรือตู้เก็บรองเท้าได้เป็นอย่างดี

-- หากต้องการให้ห้องดูโปร่ง ก็สามารถใช้พื้นที่ใต้บันได ทำเป็นชั้นวางหนังสือได้เช่นกัน

-- แต่ละขั้นบันได หากออกแบบให้มีพื้นที่เก็บของในแต่ละขั้น ก็จะได้ที่วางหนังสือ หรือของกระจุกกระจิก

-- การใช้พื้นที่ใต้คานข้างบันได ทำเป็นที่เก็บไวน์ ก็เป็นไอเดียที่เยี่ยมเช่นกัน

--ในพื้นที่ห้องเก็บของที่มีความลึกไม่มากนัก หากกั้นเป็นห้อง ก็จะเก็บของได้ไม่มากนัก และหยิบใช้ได้ยาก การออกแบบเป็นตู้เลื่อนออกมา ก็จะทำให้ใช้เก็บของได้เต็มพื้นที่

-- สุดท้าย ในกรณีที่ห้องมีเพดานสูง การทำตู้เก็บของสูงขึ้นไปเต็มพื้นที่ ก็จะเพิ่มพื้นที่เก็บของได้มาก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องทำบันไดสำหรับปีนขึ้นไปด้วย

 
 

 
 


          เป็นยังไงบ้างละครับ สำหรับที่เก็บของแบบต่างๆ และแนวความคิดในการจัดเก็บเพื่อให้บ้านดูดี หากเราต้องการให้บ้านของเรายังคงเป็นสวรรค์ของเรา ที่ดูสบายตา อยู่แล้วสบายใจ ก็คงต้องเอาใจใส่เรื่องการจัดเก็บสัมภาระ ทั้งหลายไม่ให้กลายเป็น “สัมภารก” และคอยกำจัด “ส่วนเกิน” หรือของที่ไม่ใช้ออกไปซะบ้าง รับรองได้ว่า แขกไป ใครมา ก็ต้องชมว่าบ้านนี้ สวยสะอาดตา น่าอยู่ อย่างแน่นอนครับ

          สำหรับซีรีส์ “เก็บของให้ถูกที่ ดูดีไปทั้งบ้าน” ก็คงจะถึงตอนจบแล้วนะครับ สำหรับบทความต่อไป คงจะเป็นเรื่องของการจัดบ้านให้สวย ประทับใจ ซึ่งผมจะพยายามรวบรวมมานำเสนอในเร็วๆ นี้ครับ และสุดท้าย ก็ขอขอบคุณหนังสือ “Storage, get organized” ที่เอื้อเฟื้อภาพสวยๆ ประทับใจในบทความนี้นะครับ

 

 
 

ขอบคุณ : Terence conran storage ; get organized

 

       
 

ขอบคุณครับ
--X10--

       
           
           
           

 

 

 

 
Home | About Bareo | News & Events | Art of Design | Decor Guide | The Gallery | Living Young | Talk to Editor | Links
 
บริษัท บาริโอ จำกัด
50 ซอยบรมราชชนนี 4 ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 Tel. 66 2881 8536-7 Fax. 66 2881 8538
house servic, decoration design home architect architecture interior design designer homeplan residential furniture family decorat building build planning cost news information structure arch drawing apartment idea bangkok develop foreman bareo mareo bareo.tv เฟอร์นิเจอร์ การซ่อมแซมบ้าน วัสดุแต่งบ้าน ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องอาหาร ออกแบบ ตกแต่งภายใน ออกแบบตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ บ้านสวย มัณฑนากร สถาปัตย์ ตกแต่ง บารีโอ บาริโอ มาริโอ บริการ ปรึกษา รับสั่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ตามแบบ รับเหมาตกแต่ภายใน วรวุฒิ ธรรมกุลางกูร มยุรี ธรรมกุลางกูร บาริโอดอททีวี