home head
head1

 

 

“Mood ของห้องสามารถสร้างอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นพร้อมความประทับใจ ที่เกิดขึ้นได้ปัจจัยหนึ่งนั้นได้มาจาก ‘แสงสว่าง’ เข้ามาเป็นตัวช่วยเพราะแสงสว่างนั้นอาจจะทำให้อาหารมื้อค่ำที่แสนธรรมดากลายเป็นมื้ออาหารสุดโรแมนติก ก็เป็นไปได้”

 

แสงสว่างกับการตกแต่ง

ไม่ว่าจะการตกแต่งแบบไหน สไตล์ใดล้วนคงต้องให้ความสำคัญกับการประดับประดาแสงไฟ แม้ว่าส่วนน้อยที่แสงไฟจะถูกใช้เวลากลางวัน แต่ก็ไม่สามารถที่จะละเลยได้เลย เพราะการเลือกใช้ดวงไฟก็เป็นการตกแต่งบ้านในแบบหนึ่งที่จะให้ความสวยงามในเวลากลางวัน และถูกลักษณะ รวมถึงความปลอดภัยในเวลากลางคืน เมื่อแสงไปต้องคู่กับการตกแต่งแล้ว การออกแบบให้ตรงตามใจผู้อยู่ควบคู่กับความสวยงามย่อมต้องเกิด ดังนั้นเรามาเรียนการตกแต่งด้วยแสงไฟ กันนะครับ

 

จริงๆแล้วระบบการให้แสงไฟนั้นมีด้วยกันสองระบบ อย่างแรกก็คือ ระบบให้แสงไฟหลัก ซึ่งเราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้มากนัก เพราะเป็นระบบไฟส่องสว่างที่เป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกบ้านอยู่แล้ว ทางด้านนี้นักออกแบบจะคำนวณดวงไฟและแสงสว่างจากกิจกรรมและฟังก์ชั่นของห้องนั้นๆเป็นหลัก แต่ระบบให้แสงไฟรอง จะประดับประดาเพื่อให้เกิดความสวยงาม สบายตา และสร้างอารมณ์ความรู้สึกของห้องนั้นเป็นไปในสิ่งที่เราต้องการ เช่น อยากให้ห้องนั้นอยู่แล้วเกิดความอบอุ่น หรืออยู่ห้องนั้นแล้วมีความกระตือรือร้นที่จะทำงาน เป็นต้น ซึ่งระบบให้แสงไฟรองจะแบ่งย่อยสำหรับการตกแต่งได้ออกเป็น 5 ประเภทครับ

 

1. แสงสว่างแบบส่องเน้น (Accent Lighting)                                     เป็นการให้แสงแบบส่องเน้นที่วัตถุใดวัตถุหนึ่งเพื่อให้เกิดความสนใจ โดยทั่วไปแสงประเภทนี้ได้มากจากแสงสปอต

 

 

2. แสงสว่างแบบเอฟเฟค (Effect Lighting)                                       แสงเพื่อสร้างบรรยากาศที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้ส่องเน้นวัตถุ เพื่อเรียกร้องความสนใจ เช่น โคมที่ติดตั้งที่เพดานเพื่อสร้างรูปของแสงที่กำแพง เป็นต้น

1

2

 

 

3. แสงสว่างตกแต่ง (Decorative Lighting)                                     เป็นแสงที่ได้จากโคมหรือหลอดไฟที่สวยงามเพื่อสร้างจุด สนใจในการตกแต่งภายใน

 

 

 

 

4. แสงสว่างงานสถาปัตย์ (Architectural Lighting)                           แต่บางทีก็เรียกว่า Structural Lighting เป็นการให้แสงสว่างเพื่อให้สัมพันธ์กับงานทางด้านสถาปัตยกรรม เช่น การให้แสงไฟจากหลืบ การให้แสงจากบังตา หรือ จากการให้แสงจากที่ซ่อนหลอด

 

 

3

4

 

 

5. แสงสว่างตามอารมณ์ (Mood Lighting) แสงสว่างประเภทนี้ไม่ใช่เทคนิคการให้แสงพิเศษแต่อย่างใด แต่อาศัยการใช้สวิตซ์หรือตัวหรี่ไฟเพื่อสร้างบรรยากาศของแสงให้ได้ระดับความส่องสว่างตามการใช้งานที่ต้องการ

 

5

 

ดังนั้นเราจึงสามารถแยกแยะได้เลยว่าแสงใดหลักแสงใดรอง หรืออยากจะเพิ่มเติมการตกแต่งแสงสว่างจากจุดไหนเพิ่ม อย่างการที่ติดตั้งแสงไฟที่โต๊ะทำงานตามมาตรฐานต้องใช้แสงสว่าง 400-500 ลักซ์ เมื่อได้ความส่องสว่างที่โต๊ะทำงาน แล้วบริเวณที่เหลืออาจจะเป็นการตกแต่งเพิ่มเติม เช่น การส่องสว่างผ้าม่านเพื่อให้เกิดวงแสงหรือรูปแบบของแสงหรือการส่องสว่างเน้นที่ต้นไม้ที่ถูกในกระถางภายในห้อง ซึ่งไม่จำเป็นให้ความส่องสว่างมากหรือไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนลักซ์ เท่ากับของการใช้งานบนโต๊ะทำงานครับ

 

**(( Lux เป็นหน่วยวัดความเข้มแสงหรือความสว่างต่อพื้นที ))**

 

 

ไฟซ่อน ไฟโชว์ สร้างการตกแต่งได้อารมณ์

 

ถ้าจะพูดถึงแสงไฟที่ถูกประดับโดยตั้งใจให้โชว์ หรือซ่อนหลอดไฟก็ต่างการตกแต่งต่างอารมณ์คนละโทน แต่ล้วน สร้างบรรยากาศรวมถึงอารมณ์ของผู้ใช้งานให้เป็นไปตามฟังก์ชั่น หรือวัตถุประสงค์ของห้องนั้นๆ ส่วนหนึ่งก็สามารถสร้างความสวยงามและประทับใจกับห้องนั้นได้ด้วย โดยแสงไฟโชว์ส่วนใหญ่จะได้มาจากทั้งโคมห้อยเพดาน โคมติดผนัง และโคมตั้งพื้น ประเภทนี้จะสามารถติดตั้งได้หลายจุด และออกแบบระบุตำแหน่งของดวงโคมนั้นได้เลย แต่ตัวโคมที่ตั้งใจจะติดตั้งฝังบนผนังก็ดี หรือบริเวณพื้นก็ดี จะต้องพูดคุยกับนั้นนักออกแบบก่อนการดำเนินงานก่อนสร้างเพื่อไม่ให้ผิด จากการตกแต่งที่ผู้อยู่ตั้งใจไว้ครับ เพราะเมื่อโครงสร้างเสร็จแล้วจะเป็นเรื่องยากที่จะทุบหรือรื้อเพื่อจะติดตั้งเพราะต้องอาศัยการเดินสายไฟตามพื้นและผนังอาคาร อาจจะทำให้เสียเวลาและเปลืองงบประมาณได้ ส่วนแสงไฟซ่อนหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไฟหลืบ เป็นการให้แสงสว่างนิ่มนวล แต่การให้แสงสว่างแบบนี้ ไม่ประหยัดพลังงานเพราะแสงที่เล็ดลอดออกมาค่อนข้างน้อย หลืบควรมีช่องเปิดที่ไม่เล็กจนเกินไป ซึ่งช่องเปิดควรมีขนาดความสัมพันธ์กับขนาดเบ้าเพื่อทำให้ เพดานที่เบ้าสว่างทั่วกันทั้งหมดแทนที่จะเป็นขอบเบ้าเท่านั้น

 

**(( ช่องเปิดโดยทั่วไปควรมีขนาดอย่างน้อย 1/10 ของขนาดเบ้า ))**

 

การออกแบบการให้แสงสว่างจากไฟหลืบนั้น เพดานของหลืบต้องมีสีขาวหรือสีอ่อนมาก แสงในหลืบจึงสามารถ สะท้อนแสงออกมาให้ความสว่างกับห้องได้ ถ้าเพดานเป็นสีทึบ หรือสีน้ำเงินหรือสีโทนมืด จะทำให้เห็นแสงสว่างน้อยลง และยังทำให้สิ้นเปลืองพลังงนอีกด้วย โดยแสงสว่างจากไฟหลืบก็ต้องคิดเป็นแสงสว่างเพื่อการตกแต่งเท่านั้น การให้แสง สว่างหลักจึงเป็นต้องมาจากแหล่งอื่นแทนที่จะมาจากหลืบ

 

 

การเลือกประเภทของหลอดไฟให้ตรงกับสถานที่

 

การตกแต่งให้ตรงกับฟังก์ชั่นของห้องนั้นๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องถูกหลัก และถูกวัตถุประสงค์ของห้องนั้น เพื่อเป็นการใช้งานที่ราบลื่น ดังนั้นจึงยกตัวอย่างง่ายๆที่ใช้บ่อยๆ มา 3 ห้องครับ

 

 

 

 

 

 

การให้แสงสว่างในห้องน้ำ


การให้แสงสว่างในห้องน้ำมีทั้งการให้แสงเพื่อการส่องหน้า และเพื่อกิจกรรมอย่างอื่นแต่ส่วนมากใช้แสงสว่างในเวลา สั้น การออกแบบจึงเริ่มจากบริเวณหน้ากะจกส่องหน้าควร มีแสงสว่างที่มากพอเพื่อไว้ใช้แต่งหน้า โกนหนวด เป็นต้น ไฟที่ใช้มีได้ทั้ง 2 อย่าง คือ ไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดคอมแพคท์วอร์มไวท์ ผลที่ได้ออกมาจะไม่ เหมือนกัน สำหรับคุณผู้หญิงแล้ว การแต่งหน้าเพื่อไป ทำงานในเวลากลางวันก็ควรใช้ไฟฟลูออเรสเซนต์แบบ คลูไวท์ (Cool White) หรือแบบเดไลท์ (Day Light) ถ้าต้องการแต่งหน้าเพื่อไปออกงานกลางคืนก็ควรใช้ หลอดอินแคนเดสเซนต์หรือคอมแพคท์วอร์มไวท์เพราะ งานที่ไป ส่วนใหญ่ เช่น งานเลี้ยงในโรงแรมมักจะใช้หลอด อินแคนเดสเซนต์ เป็นต้น

 

6

 

7

 

 

 

 

 

 

 

การให้แสงสว่างในห้องครัว

 

การให้แสงสว่างในห้องครัวควรให้แสงสว่างมากพอเพื่อ สามารถปรุงอาหารได้ หาของที่อยู่ภายในตู้ต่างๆได้ และมี ความส่องสว่างมากพอบริเวณล้างจาน และเพื่อเป็นการ ประหยัดพลังงานแล้ว ก็ควรแยกส่วนกันอย่างชัดเจน โดย ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์หรือหลอดคอมแพคท์ฟลูออเรส เซนต์กับห้องครัวส่วนประกอบอาหาร และการใช้หลอด วอร์มไวท์ในบริเวณห้องอุ่นอาหาร หรือในส่วน pantry เพราะมีพื้นที่ติดต่อในส่วนรับประทานอาหารที่มีความ สวยงามและทำให้อาหารดูน่ารับประทานอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

การให้แสงสว่างในห้องนอน

 

ควรให้แสงสว่างที่จำเป็นเท่านั้น โดยใช้เป็นจุดๆไป ตาม วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้นๆ อย่างตู้เก็บเสื้อผ้าควรมี แสงส่องเข้าไปซึ่งอาจติดไฟข้างในตู้ หรือติดตั้งไฟฝัง ด้านนอกเพื่อสาดมายังตู้เพื่อเก็บของและค้นหาของได้ สะดวก บริเวณด้านหน้าหรือด้านข้างโทรทัศน์ควรมี ไฟส่องไม่ให้แสงบิเวณรอบโทรทัศน์มืดเกินไป นอกจากนั้น อาจติดตั้งไปส่องลงที่หน้าประตูหรือตามทางเดินเพื่อ สามารถเดินเหินได้สะดวก หรือการอ่านหนังสือใน ห้องนอนหรืออาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ใช้สายตาก็มักใช้ แสงจากไฟตั้งโต๊ะ กรณีที่มีการติดตั้งรูปภาพภายในห้อง หรือที่หัวเตียงอาจใช้ไฟส่องเพิ่มถ้าต้องการเน้นภาพนั้น

 

8

 

Tips & Tricks
การคิดค่าไฟง่าย ด้วยตัวเอง

 

ก่อนที่เราจะทราบอัตราค่าไฟฟ้านั้น เราควรจะทราบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ ใช้ไฟฟ้าหรือกินไฟเท่าไรเสียก่อน โดยสังเกต คู่มือการใช้งาน หรือแถบป้ายที่ติดอยู่กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เขียนไว้าว่า“กำลังไฟฟ้า” โดยมีหน่วยเป็นวัตต์ (watt) ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีจำนวนวัตต์มาก ก็จะกินไฟมากตามไปด้วย

 

          สำหรับการคำนวณ อัตราค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ซึ่งมีผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมากแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

             1. ประเภทมีการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน
             2. ประเภทปริมาณการใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน  

 

 สำหรับการใช้ไฟฟ้า 1 หน่วยหรือ 1 ยูนิต คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาด 1,000 วัตต์ ที่ใช้งานใน 1 ชั่วโมง หรือใช้สูตร การคำนวณ ดังนี้

 

กำลังไฟฟ้า (วัตต์) ของเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้นๆ x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า / 1000 x จำนวนชั่วโมงที่ใช้งานใน 1 วัน = จำนวนหน่วยหรือยูนิต

 

ตัวอย่าง จากการที่บ้านได้ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 9 อย่าง ดังนั้นเรามาคำนวณกันครับ

 

1. มีหลอดไฟฟ้าขนาด 40 วัตต์ (รวมบัลลาสต์อีก 10 วัตต์ เป็น 50 วัตต์) จำนวน 10 ดวง เปิดใช้ประมาณวันละ 6 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้าวันละ       50x10÷1,000x6 = 3 หน่วย  หรือประมาณเดือนละ (30x3)=90 หน่วย

 

2. หม้อหุงข้าว ขนาด 600 วัตต์ จำนวน 1 ใบ เปิดใช้ประมาณวันละ 30 นาที จะใช้ไฟฟ้าวันละ 600x1÷1000x0.5=0.3 หน่วย หรือ           ประมาณเดือนละ (30x0.3)=9 หน่วย

 

3. ตู้เย็น ขนาด 125 วัตต์ จำนวน 1 ตู้ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง สมมุติคอมเพรสเซอร์ทำงาน 8 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้าวันละ 125x1÷1000x8=    1 หน่วย หรือประมาณเดือนละ (30x1)= 30 หน่วย

 

4. เครื่องปรับอากาศ ขนาด 2,000 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดวันละ 12 ชั่วโมง สมมุติคอมเพรสเซอร์ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้าวันละ     2,000x1÷1000x8= 16 หน่วย หรือประมาณดือนละ (30x16)= 480 หน่วย

 

5. เครื่องปรับอากาศ ขนาด 1,300 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดใช้งานวันละ 8 ชั่วโมง สมมุติคอมเรสเซอร์ทำงานวันละ 5 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้าวัน     ละ 1,300x1÷1,000x5= 6.5  หน่วย หรือประมาณวันละ (30x6.5) = 195 หน่วย

 

6. เตารีดไฟฟ้า ขนาด 800 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดวันละ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้าวันละ 800x1÷1000x1 = 0.8 หน่วย หรือประมาณ         เดือนละ (30x0.8)= 24 หน่วย

 

7. ทีวีสีขนาด 100 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดใช้งานวันละ 3 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้าวันละ 100x1 ÷x3 = 0.3 หรือประมาณเดือนละ                 (30x0.3) = 9 หน่วย

 

8. เครื่องทำน้ำอุ่น ขนาด 4,500 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดใช้งานวันละ 1 ชั่วโมงจะใช้ไฟฟ้าวันละ 4,500x1÷1000x1=4.5 หน่วยหรือประมาณเดือนละ (30x4.5) = 135 หน่วย

 

9. เตาไมโครเวฟ ขนาด 1,200 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดใช้งานวันละ 30 นาที จะใช้งานวันละ 1,200x1 ÷1000x0.5 =0.6 หน่วย หรือประมาณเดือนละ (30x0.6) = 18 หน่วย

 

ดังนั้นในแต่ละเดือนบ้านของท่านใช้ไฟฟ้าไปทั้งหมดประมาณ 990 หน่วย

จากนั้นท่านก็สามารถคำนวณค่าไฟฟ้าของท่านได้ตามอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งตรงกับประเภทที่ 2 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือนครับ

 

 

 

 Contact us / Join us

ออกแบบตกแต่งภายใน รับเหมาตกแต่งภายใน ตกแต่งภายใน ออกแบบภายใน Interior design Thailand

www.bareo-isyss.com เป็น web magazine ที่ update รายเดือนเพื่อผู้อ่าน ทัศนะและความคิดเห็นใดๆ ของผู้ประพันธ์ หรือผู้สนับสนุน
ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้ง หรือไม่แน่ชัดใน www.bareo-isyss.com มิได้มาจาก บริษัท บาริโอ จำกัด และบริษัทในเครือแต่อย่างใด
ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

Bareo-Isyss รับออกแบบตกแต่งภายใน รับเหมาตกแต่งภายใน ออกแบบภายใน ออกแบบตกแต่งภายใน Interior design Thailand