Bareo-Isyss รับออกแบบตกแต่งภายใน ออกแบบภายใน ตกแต่งภายใน Interior design Thailand

left fungi head fungi right fungi

   

 

 

         

     

     ไม่ว่าบ้านไหนๆ ก็น่าจะมีปัญหาน่ากลุ้มอย่างปัญหา “เชื้อราบุกห้องน้ำ” สินะคะ!!
     ...ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าหงุดหงิดใจและน่าปวดหัวในเวลาเดียวกันเลยล่ะค่ะ เพราะเวลาเข้าห้องน้ำทีแล้วมองไปเห็นเชื้อรา...แหม ทำไมมันต้องมาขึ้นตรงนั้น ตรงนี้ให้ห้องน้ำสวยๆ ของเรามีจุดด่างพร้อยด้วยนะ ( -___-!!)
     แต่เชื้อราก็ใช่ว่าจะเป็นศัตรูที่มาอย่างไม่เลือกที่ เลือกเวลาหรอกนะคะ
     การมาของเชื้อราสาเหตุหลักเลยก็คือ “ความชื้น” นั้นเองค่ะ และในห้องน้ำนั้นก็เป็นสถานที่ที่ชื้นที่สุดในบ้าน ดังนั้น หมายความว่าการที่เห็นเชื้อราขึ้นในห้องน้ำนั้นแปลว่าห้องน้ำของเราชักจะชื้นเกินไปซะแล้วล่ะค่ะ :(
     ว้า แย่จัง...แต่เรื่องแบบนี้ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้...
     ยิ่งเดือนพฤษภาคม ไม่ใกล้ไม่ไกลช่วงหน้าฝนแบบนี้ เราจะมานำเสนอวิธี วิธีป้องกันและกำจัดเชื้อราในห้องน้ำ ให้หายไปจากห้องน้ำของคุณค่ะ :)

 

 

     ก่อนอื่นเลย...เชื้อรามีสาเหตุมาจากความชื้น เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันเชื้อราที่ เร็ว ง่ายและตรงประเด็นที่สุด คือการทำให้ห้องน้ำของเรา ไม่ชื้น นั่นเองค่ะ!!
     เดี๋ยวค่ะ เดี๋ยวๆๆ!!...แหม หลายคนคงชักจะหงุดหงิดกับคำแนะนำที่ตรงเกินไปของเราซะแล้ว แหะๆ (- w - ;; )
     แต่ว่านั่นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดจริงๆ ค่ะ ศัตรูตัวฉกาจของเชื้อราก็คือ ที่แห้งๆ และแสงแดด ดังนั้นถ้าหากห้องน้ำของเรามีการระบายอากาศไม่ให้อับชื้นและแสงแดดเข้าถึงอยู่เสมอ ก็จะเป็นการป้องกันเชื้อราตัวร้ายได้อย่างดีที่สุดเลยค่ะ

 

 

     เริ่มแรก...ต้องเช็คดูก่อนค่ะว่าห้องน้ำ...
     1. เรามีหน้าต่างที่ให้แสงแดดส่องเข้ามาได้รึเปล่า?
     ถ้ามี...หลังอาบน้ำเสร็จแล้วแนะนำให้เปิดทิ้งไว้ให้แสงส่องเข้ามาค่ะ เพราะแสงแดดจากธรรมชาติเนี่ยล่ะ นอกจากจะฆ่าเชื้อโรคแล้วยังเป็นตัวช่วยกำจัดเชื้อราที่ดีที่สุดอีกด้วยค่ะ :)
     แต่ถ้าไม่มีหน้าต่างหรือช่องที่จะให้แสงแดดผ่านเข้ามาแล้วล่ะก็ต้องหนักหน่อยล่ะค่ะ...เพราะหลังจากใช้ห้องน้ำเสร็จแล้วควรจะเช็ดให้แห้งหรือเหลือแค่เปียกหมาดๆ ทุกครั้งเพื่อลดอัตราการเกิดเชื้อราค่ะ
     2. แล้วพัดลมระบายอากาศล่ะ? มีรึเปล่านะ?
     พัดลมระบายอากาศเองก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยห้องไม่อับหรือชื้นจนเกินไป ส่วนใครที่มีหน้าต่างในห้องน้ำจะเปิดหน้าต่างแทนเพื่อระบายอากาศก็ได้ค่ะ แต่สำหรับใครที่ห้องน้ำไม่มีทั้งพัดลมระบายอากาศและหน้าต่างแล้วล่ะก็...อีกทางเลือกหนึ่งคือหลังจากอาบน้ำเสร็จแล้วให้เปิด ประตู ค้างเอาไว้เพื่อช่วยระบายอากาศและความชื้นค่ะ
     แต่ถ้ามีทั้งหน้าต่าง ทั้งพัดลมระบายอากาศ ทั้งประตู...แบบนี้เชื้อราคงไม่มากวนใจไปอีกนานเลยค่ะ >w<

 

     อะ อ้าว...แต่ว่า...ถ้ามันสายไปซะแล้วกับการป้องกัน...เจ้าเชื้อรามันขึ้นมาแล้วล่ะ!!
     แหม...ถ้าเป็นแบบนี้ก็คงเหลือแต่วิธี กำจัด ลูกเดียวแล้วสินะคะ -3-
     แต่ว่าวิธีจะกำจัดเชื้อราเนี่ย พอต่างบริเวณมันก็จะมีวิธีกำจัดที่แตกต่างกันออกไป และถ้ากำจัดผิดวิธีเจ้าเชื้อราก็จะไม่หายไป...ดังนั้นเราจะมาแนะนำวิธีกำจัดเชื้อราให้เห็นผลกันค่ะ!

 

 

     ขัด ขัด ขัด กำจัดเชื้อรา
     ถ้าคุณคิดว่าการ “ขัด” ให้เชื้อราออกไปเป็นวิธีการกำจัดเชื้อราถือว่าถะ ถะ ถะ ถู ถู...
     ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวค่ะ!! อะแฮ่ม...เพราะหากคุณขัดจนเจ้าสีดำๆ มันหลุดออกไปเฉยๆ หมายความว่าคุณกำจัดมันได้ชั่วคราวค่ะ...แต่เดี๋ยวมันก็กลับมาอีก

 

     วิธีที่ถูกต้องวิธีที่ 1 (สำหรับพื้นและผนัง)
     ก่อนจะถึงกรรมวิธีการขัด...ให้ใช้ น้ำยาสเปรย์ขัดพื้นและผนัง ฉีดใส่เจ้าเชื้อราตัวร้ายให้ครอบคลุมทุกอาณาบริเวณ อย่าได้ใจอ่อนเป็นอันขาด ( - -+)
     แล้วหลังจากทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที ค่อยมาขัดออก เพื่อเป็นการฆ่าเจ้าเชื้อราตัวร้ายแบบถอนรากถอนโคนค่ะ :)
     ตัวอย่างยี่ห้อน้ำยาสเปรย์ขัดพื้นและผนังก็เช่น Beger [รหัส M-001] หรือ Mr.Muscle ฝาฉีดขวดสีส้ม เป็นต้น

 

fungi1

 

 

     ต่อมา...
     วิธีที่ถูกต้องวิธีที่ 2 (สำหรับม่านพลาสติก)
     บ้านไหนที่ใช้ม่านพลาสติกคงจะรู้เลยสินะคะว่าเจ้าม่านตัวเนี๊ยะ...ตัวปัญหาตัวจริงเสียงจริงอะไรจริง ถ้าเจ้าเชื้อราจะขึ้นนะโอ๊ย! เจ้าม่านเนี่ยล่ะเฟิร์สช้อยส์ที่เชื้อราไม่เคยคิดจะพลาด :(
     เพราะงั้นเราก็จะมีวิธีกำจัดเชื้อรา Only สำหรับเจ้าม่านพลาสติกมาฝากกันเช่นกันค่ะ!
     วิธีนี้ต้องใช้แปรงสีฟันชุบ ผงซักฟอก เพื่อขัดออกค่ะ หรือว่าจะปลดม่านลงมาแล้วใช้ น้ำยาล้างห้องน้ำวิกซอล หรือน้ำยาล้างห้องน้ำ Duck (เป็ด) เทราดน้ำยาลงไปแช่ทิ้งบริเวณที่มีเชื้อราไว้ประมาณ 3 นาทีก่อนจะใช้น้ำล้างออกแล้วนำไปตากให้แห้งค่ะ :)

 

 

คำเตือน :: น้ำยาอันตราย ใครเลือกวิธีกำจัดเชื้อราโดยการใช้แช่น้ำยาต้องระวังนะคะ!!

 

fungi2

 

 

 

     และสุดท้าย...สำหรับการขัด :)
     วิธีที่ถูกต้องวิธีที่ 3 (สำหรับยาแนวกระเบื้องบนพื้นและผนัง)
     ยาแนวกระเบื้อง...อืม...ไอ้เจ้าเนี่ยล่ะ ตอนย้านบ้านมาใหม่ๆ ก็ขาวจั๊วะสะอาดใสอย่างกับฟันที่ใช้ยาสีฟันตราOO แปรง (//อุ๊ย นอกเรื่องละ แฮะๆ...) แต่พออยู่ๆ ไปเท่านั้นล่ะ...!!
     ดำได้ดำดี (ด้วยคราบฝุ่นและเชื้อรา...) เหมือนคนตากแดดแล้วไม่ทาครีมเลยทีเดียวเชียวนะ ( -___-++)

 

     ด้วยความคับแค้นใจอันนี้ (เอ๊ะ?) เราก็เลยมีวิธีมาทำความสะอาดเจ้ายาแนวกระเบื้องด้วยเช่นกันค่ะ!
     วิธีงั้นง่ายแสนง่าย ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ก็ซิมเปิ๊ลซิมเปิ้ล เพราะเราจะใช้ น้ำส้มสายชูชนิดเข้มข้น ค่ะ
     เทน้ำส้มสายชูลงไปราดใส่เจ้าเชื้อราแล้วค่อยๆ ขัดออก ขัดไปเรื่อยๆ ค่ะไม่ต้องรีบร้อนเพราะมั่นใจว่าขัดออกหมดแน่ค่ะ (แต่จะเสร็จเมื่อไหร่อันนี้ตอบไม่ได้นะคะ เวลาที่ใช้แปรผันตามความเยอะของเจ้ายาแนวเลยค่ะว่ามีเท่าไหร่!//ใครใช้กระเบื้องแผ่นใหญ่ ยาแนวน้อยก็โชคดีไปค่ะ ฮา...)
     พอขัดออกหมดแล้วหลังจากนั้นก็ใช้น้ำสะอาดล้างออกเพื่อดูผลงานกันได้เลยค่ะ :)

 

 

fungi3

 

 

 

     ขูดๆ ไสๆ ห่างไกลเชื้อรา (สำหรับซิลิโคนยาแนวกระจก)
     สำหรับซิลิโคนยาแนวกระจกนั้นจะไม่สามารถใช้น้ำยากำจัดเชื้อรา น้ำยาล้างห้องน้ำหรือว่าน้ำส้มสายชูที่มีฤทธิ์เป็นกรดได้ค่ะ เพราะว่าอาจทำให้ตัวซิลิโคนละลายหรือกร่อนได้...
     ดังนั้นสำหรับซิลิโคนตัวนี้ แนะนำให้ใช้ ช้อน มาขูดคราบออกค่ะ แหะๆ...อาจจะเหนื่อยไปสักหน่อย แต่เพื่อซิลิโคนยากระจกที่สวยงาม เราต้องทำได้ค่าาา (TwT)o
     ...และหลังจากค่อยๆ ขูดออกจนหมดแล้ว ก็ล้างซิลิโคนอีกทีด้วยน้ำเปล่า เท่านี้ซิลิโคนยากระจกของเราก็ไร้เชื้อราแล้วค่ะ :)

 

fungi4

 

     หลังกำจัดเชื้อรา อย่าลืมทำ After Protect ด้วยนะคะ :)
     After Protect (...ขอขนานนาม...) คือวิธีป้องกันเชื้อราอีกทีหลังจากกำจัดเชื้อราไปแล้วค่ะ คือถ้าไม่ลำบากมากไป จะทำเอาไว้มันก็ดีกว่าเนอะ ;D
     1. ผนังของเรา...ทาสีที่มีคุณสมบัติกันความชื้นเอาไว้ดีมั๊ยน้า...เพราะถ้าเป็นไปได้ สีทาผนังที่ใช้ภายในห้องน้ำหรือพื้นที่ที่มีความชื้นมากๆ ควรใช้เป็นสีที่มีคุณสมบัติกันความชื้นเพื่อไม่ให้เจ้าเชื้อราตัวร้ายแทรกซึมเข้าไปตั้งรถรากได้โดยง่ายค่ะ
     ส่วนตัวอย่างสีก็เช่น สี Beger [รหัส B-1900], สี TOA Extra Shield หรือว่าสี Xenshield Aquaseal ค่ะ

 

fungi5

 

 

     2. ม่านพลาสติก ใช้เสร็จแล้วอย่ารวบเข้าหากัน ให้คลี่ออกเพื่อผึ่งไว้ก่อนค่ะ หรือว่าถ้าจะให้ดีเปลี่ยนม่านพลาสติกของเราเป็น ‘ม่านพลาสติกชนิดน้ำไม่เกาะติด หรือ ม่านพลาสติกแบบมีสารป้องกันเชื้อรา’ ดีกว่าแน่นอนค่ะ :)
     และสุดท้าย...ท้ายที่สุด
     3. ถ้าเป็นไปได้ควรจะเช็ดห้องน้ำให้แห้งหลังจากใช้งานเสร็จค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อเป็นการช่วยลดความชื้นที่มีอยู่ในห้องน้ำเร็วขึ้น อีกทั้งยังเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอีกด้วยค่ะ (...ไม่ใช่ละ ฮา...)

 

 

     แล้วก็ส่งท้ายนี้ ขอย้ำเน้นๆ เลยนะคะว่าการดูแลห้องน้ำของเราให้สะอาดปราศจากเชื้อราและสิ่งสกปรกถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งใกล้จะหน้าฝนแบบนี้ อากาศชื้นยิ่งทำให้ห้องน้ำชื้น แห้งยากเข้าไปใหญ่
     ดังนั้นจึงอยากฝากไว้ให้ทุกคนดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองทั้งให้ออกห่างจากเชื้อรา และโรคภัยต่างๆ ที่จะมาพร้อมกับหน้าฝนนะคะ :)

 


สวัสดีค่ะ :)


 

Bareo-Isyss รับออกแบบตกแต่งภายใน รับเหมาตกแต่งภายใน ออกแบบภายใน ออกแบบตกแต่งภายใน Interior design Thailand