CHA-NO-YU | Art of Tea Ceremony | วิถีแห่งชา

‘ศิลปะ’ ไม่ใช่เพียงภาพจิตรกรรม ประติมากรรมหรือภาพถ่ายเพียงเท่านั้น แต่คำว่า ‘ศิลปะ’ ยังรวมไปถึงกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้เกิดสุนทรียภาพและความประทับใจ สามารถเข้าถึงอารมณ์ของผู้ที่ได้สัมผัสกับศิลปะนั้นๆ ได้ ปัจจุบันบนโลกของเรามีศิลปะมากมายหลายแขนง และหนึ่งในศิลปะที่เราจะมานำเสนอกันในวันนี้ก็คือ ‘พิธีชงชา’ ศิลปะของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง

พิธีชงชาของญี่ปุ่น หรือ ชะโนยุ (茶の湯) เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เก่าแก่และขึ้นชื่อของชาวญี่ปุ่น หลายครั้งที่ได้ไปญี่ปุ่นก็จะเห็นร้านขนมใหญ่ๆ หรือสถานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นจัดกิจกรรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูพิธีชงชาอยู่บ่อยๆ

ในประเทศญี่ปุ่นเองก็ส่งออกวัฒนธรรมนี้ผ่านทางหนังซีรีย์ การ์ตูนอนิเมชั่นและหนังสือการ์ตูนอยู่บ่อยๆ ให้ทั้งตัวคนญี่ปุ่นเองและชาวต่างชาติได้รู้จักกับวัฒนธรรมนี้ ที่ไม่ใช่เพียงศิลปะแห่งความสุนทรี แต่แฝงไปด้วยปรัชญาคำสอนทางพุทธศาสนา นิกาย ZEN ในเรื่องของ ‘การทำสมาธิสงบจิตใจ’ อีกด้วย

ในพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่น ไม่ใช่ว่าสามารถนั่งทำเองที่ไหนก็ได้นะคะ เพราะว่าการจะประกอบกันเป็นพิธีชงชานี้ ประกอบด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง คือ
เครื่องแต่งกาย

(Photo Credit : http://npo-stbs.com)

เครื่องแต่งกายสำหรับผู้เข้าร่วมพิธีชงชาไม่จำเป็นต้องเป็นชุดกิโมโนหรือยูกาตะเพียงอย่างเดียว ข้อกำหนดสำหรับการเข้าร่วมนี้มีเพียงให้ใส่ชุดที่เรียบร้อยภูมิฐานเพื่อเป็นการเคารพสถานที่และพิธีชงชา งดการใส่เครื่องประดับที่อาจทำให้อุปกรณ์ชงชาเกิดความเสียหาย เช่น แหวน กำไล นาฬิกา และงดการใส่น้ำหอมเพราะจะไปรบกวนกลิ่นหอมของชาค่ะ

เกร็ดความรู้ : กิโมโนและยูกาตะเป็นชื่อเรียกของประเภทชุดค่ะ ไม่ได้แยกตามเพศของผู้สวมใส่ว่ากิโมโนใส่ได้แค่ผู้หญิง ยูกาตะใส่ได้แค่ผู้ชาย กิโมโนจะเป็นชื่อเรียกของชุดผ้าไหมที่มักจะใส่ในงานพิธีสำคัญๆ ชุดจะมีหลายชั้นกว่าและลวดลายที่ทอลงบนชุดก็จะสวยงามกว่า ในขณะที่ยูกาตะเป็นเหมือนชุดลำลองทำจากผ้าฝ้าย สีจะเรียบง่ายกว่าและสามารถใส่ได้ในหลายโอกาสมากกว่ากิโมโนค่ะ

สวน

 

(Photo Credit : https://www.pinterest.com/pin/103723597650854290/?lp=true)

 

อาจจะสงสัยกันว่าสวนเกี่ยวอะไรกับการชงชา ถ้าไม่มีสวนแล้วจะชงชาไม่ได้หรอ? คำตอบคือยังสามารถมีพิธีชงชาได้อยู่ค่ะ เพียงแต่การให้ผู้เข้าร่วมพิธีชงชาเดินผ่านสวนก่อนจะเข้ามาในห้องชงชานั้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกสงบและตัดขาดจากความวุ่นวายของภายนอก แต่สวนที่ว่านี้ก็เน้นเป็นสวนที่เน้นการใช้หินตกแต่ง การปลูกต้นไม้ให้ดูโปร่งแต่ร่มรื่นและงดการปลูกดอกไม้มีกลิ่นเพื่อไม่ให้กลิ่นเข้ามากวนกับกลิ่นชานั่นเอง

เกร็ดความรู้ : ดอกไม้ที่นิยมปลูกในสวนญี่ปุ่น ไม่มีกลิ่นและมีสีสันให้ชื่นชมนั้นคือ ‘ดอกไฮเดรนเยีย’ โดย ดอกไฮเดรนเยียนั้นจะมีสีชมพู ม่วงหรือฟ้านั้นขึ้นอยู่กับดินที่ปลูก ซึ่งการเปลี่ยนสีนี่เองทำให้ดอกไฮเดรนเยียถูกขนานนามว่าเป็นดอกไม้มหัศจรรย์ที่สามารถตกแต่งสวนให้มีสีสัน ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไปค่ะ

ห้องชงชา

 

(Photo Credit : https://www.japan-guide.com/e/e2007.html)

 

หัวใจหลักของห้องชงชาคือการใช้ห้องที่ปูด้วยเสื่อทาทามิและตกแต่งแบบญี่ปุ่น เพื่อสื่อถึงวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่น เหตุที่ต้องเป็นเสื่อทาทามิเนื่องจากในสมัยก่อนนั้นผู้ที่สามารถปูห้องด้วยเสื่อนี้ได้ต้องเป็นคนมีฐานะ และพิธีชงชานั้นก็จะเป็นที่นิยมกันในเพียงหมู่คนมีฐานะที่มีเวลามาชงชาอย่างละเอียดอ่อนเท่านั้น แม้ว่าปัจจุบันเสื่อทาทามิจะแพร่หลายกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนจับต้องได้แล้ว แต่ในพิธีชงชาที่ยึดมั่นถือแบบมาแต่โบราณก็ยังนิยมที่จะใช้ห้องที่ถูกตามแบบแผนเดิมอยู่

เกร็ดความรู้ : เสื่อทาทามิทำจากวัสดุธรรมชาติ สีของมันสามารถเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลาโดยมีปัจจัยที่จะทำให้สีเปลี่ยนเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับแสงแดด แต่เมื่อเสื่อทาทามิเริ่มเก่าก็จะสามารถพลิกกลับด้านเพื่อใช้งานได้ เสื่อทาทามินั้นเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากจนกลายเป็นหน่วยวัดของญี่ปุ่น เช่น ห้องขนาดสามเสื่อ หกเสื่อ สิบเสื่อ และขนาดของห้องชงชาก็คือสี่เสื่อครึ่งนั่นเอง

 

(ขนาดของเสื่อทาทามิ และการเรียงเสื่อทาทามิสำหรับห้องชงชาสี่เสื่อครึ่ง)

ชา

 

(Photo Credit : https://www.coherentnews.com/matcha-market-driver-trends-applications-business-strategy-forecast-2026/)

 

อุปกรณ์ชงชาที่สำคัญจะประกอบไปด้วย ไม้คนชา (Chasen), ไม้ตักชา (Chasaku), ถ้ำชา (Natsume, Chaire) และ ผงชา (Matcha) ซึ่งผงชาที่ใช้ในพิธีชงชานั้นจะมีอยู่สองประเภทค่ะ คือ Koicha หรือชาข้น กับ Usucha หรือชาบาง ซึ่งทั้งวิธีการชงและการเก็บรักษาของชาทั้งสองประเภทก็จะแตกต่างกัน

Koicha นั้นเป็นชาใบแก่ ทำให้รสชาติของชาขมและหอมกว่า การชงจะเน้นการชงแบบใช้น้ำน้อย คนแบบไม่ให้เกิดฟอง ทำให้ตัวชาที่ได้ออกมามีสีเขียวเข้มข้นและเนื้อเนียน การดื่มชาชนิดนี้ต้องดื่มคู่กับขนมที่หวานจัด (Omogashi) ส่วนการเก็บรักษาต้องเก็บในถ้ำชา Chaire ที่ทำจากเซรามิกแบบเดียวกับชาจีนเลยค่ะ

ส่วน Usucha นั้นเป็นผงที่ทำจากใบชาอ่อน รสชาติของชาชนิดนี้จะอ่อนกว่าและดื่มง่ายกว่า เหมาะสำหรับชาวต่างชาติที่เพิ่งเคยเข้าร่วมพิธีชงชา การชงจะชงด้วยปริมาณน้ำที่มากกว่า คนชาให้ละลายกับน้ำร้อน คนไปเรื่อยๆ จนชาขึ้นฟองละเอียด การดื่มชาบางจะดื่มคู่กับขนมที่หวานน้อยกว่าอย่าง Higashi และจะเก็บรักษาผงชาไว้ในถ้ำชา Natsume ที่ทำจากไม้

เกร็ดความรู้ : การกินขนมที่คู่กับชาเองนั้นก็มีขั้นตอนเช่นกัน สำหรับชาทั้งสองประเภท เมื่อถ้วยชามาถึงและจะกินขนมหวานจะต้องคำนับคนที่นั่งอยู่ถัดไปแล้วพูดว่า O-Saki ni หรือ “ขออนุญาตทานก่อน” สำหรับการดื่ม Usucha นั้นแขกทุกคนจะมีขนมคนละจาน ให้หยิบจานขนมขึ้นมาด้วยมือทั้งสองข้างเพื่อแสดงถึงความขอบคุณ ส่วนการดื่ม Koicha ตัวขนมจะอยู่ใน Fuchidaka หรือถาดวางขนมที่เป็นชั้นๆ แขกจะต้องยกถาดทั้งหมดขึ้นมาเพื่อแสดงความขอบคุณ หมุนถาดวางทั้งหมดยกเว้นชั้นล่างสุด (ชั้นล่างสุดจะเป็นของแขกคนนั้นๆ และ การหมุนชั้นถาดนั้น ทำเพื่อให้ทุกคนได้ชื่นชมความงามของลวดลายที่อยู่บนถาด) หยิบไม้ตัดขนม (Kuromoji) เก็บไว้กับตัวหนึ่งอันแล้วจึงจะส่งถาดชั้นที่เหลือให้กับแขกคนข้างๆ

ถ้วยชา

 

(Photo Credit : https://www.pinterest.com)

 

ถ้วยชานอกจากจะเป็นพาชนะสำหรับใส่ชาแล้วสำหรับพิธีชงชา ถ้วยชายังเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงฐานะและสุนทรียภาพของเจ้าของถ้วยชา ในพิธีชงชาที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมอาจใช้เพียงถ้วยชาที่เรียบง่ายเพื่อป้องกันความเสียหาย แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบพิธีชงชาเป็นการส่วนตัวนั้น มักจะสะสมถ้วยชาที่มีสีสันและลวดลายต่างๆ กันไป ซึ่งแต่ละลวดลายก็จะมีเพียงใบเดียวในโลกเท่านั้นเพราะเป็นศิลปะที่ทำด้วยมือ ทั้งสีสัน ลวดลาย Texture และรูปทรงก็จะต่างกันออกไปทุกใบ ส่วนเรื่องราคาเองก็มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว

เกร็ดความรู้ : Chawan หรือถ้วยมัทฉะ เรียกอีกอย่างว่า Raku Ware หรือเครื่องปั้นดินเผาแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ขนาดของถ้วยนั้นจะไม่มีกำหนดตายตัวเป็นมาตราฐานตั้งแต่แรก แต่ใช้กำหนดว่าขนาดของถ้วยต้องสามารถถือได้อยู่ในสองมือพอดี ซึ่งแน่นอนว่าสองมือของช่างปั้นแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ทำให้ขนาดของถ้วยชานั้นแตกต่างกันออกไปแม้จะปั้นจากคนคนเดียวกันนั่นเอง

พิธีชงชาแบบญี่ปุ่นยังมีกฏเกณฑ์และเรื่องน่าสนใจอีกมากมาย เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่นๆ ของญี่ปุ่นที่หากทุกท่านสนใจอ่านเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ในบทความของเดือนนี้ค่ะ ขอแอบกระซิบว่า culture อื่นๆ ของญี่ปุ่นเองก็น่าสนุกไม่น้อยเลยทีเดียว แต่สำหรับเรื่องราวของวิถีแห่งชาในวันนี้คงจะต้องจบลงไปก่อน

 

เข้าเดือนตุลาคมแล้วใกล้จะปลายปี อย่าลืมหาเวลาพักผ่อนดื่มชากันบ้างนะคะ : )
แล้วพบกันใหม่ในเดือนหน้า สวัสดีค่ะ