HAIKU

ไฮกุกับธรรมชาติอันสุนทรีย์

ไฮกุ (haiku) หรือบางครั้งเรียกว่า บทกวีไฮกุ หรือ โคลงไฮกุ เป็นบทกวีที่มีความเรียบง่าย เป็นคำประพันธ์โบราณชนิดหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมาประมาณ 400 ปี ส่วนใหญ่กลอนไฮกุ มักเขียนขึ้นจากความประทับใจที่มีต่อธรรมชาติและมนุษย์ มีเพียง 3 วรรค แม้จะเป็นคำประพันธ์ที่ไม่มีสัมผัสสระหรือพยัญชนะ แต่สิ่งที่พิเศษนอกจากวรรคสุดท้ายที่ผู้เขียนต้องหักมุมจบแล้ว การเลือกใช้คำง่ายๆ สื่อความหมายตรงๆ ก็เป็นอีกประเด็นของความโดดเด่นไฮกุ

 

Cr : http://www2.yamanashi-ken.ac.jp

ความเป็นมาของบทประพันธ์ไฮกุ

ไฮกุเดิมทีเป็นหนึ่งในบทประพันธ์ที่นิยมใช้ภายในสำนักที่ถอดแบบมาจากบทร้อยกรอง  เร็งงะ  เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 9 ถึง 12  เร็งงะเป็นบทประพันธ์ที่ใช้สำหรับการให้ความรู้ด้านศาสนาและศึกษาวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนภายในสำนักโดยเฉพาะ และลักษณะการเขียนของเร็งงะจะยาวเกี่ยวเนื่องกัน     ในช่วงศตวรรษที่  16 คนญี่ปุ่นส่วนมากเริ่มสนใจงานประพันธ์ที่เป็นบทร้อยกรองมากขึ้น  หลังจากนั้นไม่นานงานประพันธ์ประเภท  ไฮไค  เริ่มเข้ามาแทนที่และได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วภายในสํานักรวมถึงประชาชนทั่วไป

ไฮไคเป็นบทประพันธ์หนึ่งที่มีลักษณะการเขียนต่อเนื่อง  รูปแบบงานประพันธ์ไฮไคคือไม่มีข้อจํากัดของเนื้อหา สามารถสร้างสรรค์คําได้อย่างอิสระ นําเสนอแนวคิดได้ตามจินตนาการของผู้ประพันธ์ งานประพันธ์ในช่วงนี้เริ่มมีความหลากหลายของเนื้อหาเพิ่มขึ้น  โดยทั่วไปงานประพันธ์ประเภทไฮไค  ประเด็นเนื้อหากล่าวถึงความเป็นอยู่ของสังคมโดยจะแทรกอารมณ์ของความตลกขบขัน  ถ้อยคำเย้ยหยัน  คำประชดประชัน  ส่อเสียด  ทั้งหมดนี้กลายเป็นลักษณะเด่นเฉพาะที่เกิดขึ้นในงานประพันธ์ไฮไค

ในศตวรรษที่ 17 นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นเริ่มมีการปรับเปลี่ยนบทประพันธ์ให้สั้น มีความกระชับมากขึ้นเหลือเพียง  แค่ 3 วรรคแรก ซึ่งจะเรียกว่า ฮกกุ เป็นบทเกริ่นนำของงานประพันธ์และเป็นที่รู้จักกันในสมัยนั้น ผู้ริเริ่มงานประพันธ์ประเภทนี้คือ  มัตสึโอะ  บะโช  (1644-1694)  โยสะ บุซน  (1718-1783)  และ โคะบะยะชิ อิสสะ (1763-1827) ทั้งสามคนถือได้ ว่าเป็นผู้ผลักดันงานประพันธ์ประเภทไฮกุ ขึ้นมาจนกระทั่งเป็นที่รู้จักกันในสังคม ครั้นพอมาถึงในช่วงหนึ่ง งานประพันธ์ประเภทฮกกุเกิดความอิ่มตัวในหมู่สังคมศตวรรษที่  19     มะสะโอะกะ  ชิกิ  (1867-1902)  ได้เขียนงานประพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะภายในตัวและได้เรียกบทประพันธ์ชนิดนี้ว่า ไฮกุ

งานประพันธ์ประเภทไฮกุเป็นงานประพันธ์ที่สั้นมากแม้ว่าข้อความจะปรากฏเพียงในสามบรรทัดแต่ในขณะเดียวกันข้อความที่ประพันธ์นั้นสื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจน  เปรียบเทียบงานประพันธ์ก่อนหน้านี้มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิง จากผู้ผลักดันงานประเภทไฮกุทั้งสามคนที่กล่าวมาก่อนหน้านี้เกิดในยุค  เอโดะ  (1600-1868)  พวกเขาได้สร้างงานเขียนขึ้นมามากมายเป็นมรดกที่มีอยู่ตราบจนถึงทุกวันนี้   ช่วงชีวิตทั้งสามคนใช้เวลาในการฝึกประพันธ์ไฮกุอย่างละเอียดอ่อนและประณีตจนกระทั่งได้รับสมญานามปราชญ์ในวงการไฮกุในเวลา

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่นักประพันธ์ขาดไม่ได้นั่นคือศาสตร์แห่งการเรียนรู้  การใช้ชีวิตในสังคม  ยิ่งแสวงหาความรู้มากเท่าไหร่ผลงานที่ออกมามีความสำคัญมากเท่านั้น   งานประพันธ์ไฮกุเสมือนเรื่องราวที่เกิดขึ้นสะท้อนกลับมายังปัจจุบันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผู้เขียนโดยตรงจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น  นักกวีทั้งสามคนได้ค้นพบอะไรมากมายในชีวิตและใช้ประสบการณ์ดังกล่าวประพันธ์ผลงานอันล้ำค่าให้กับประเทศญี่ปุ่น ไฮกุได้แพร่หลายสู่สังคมยุคนั้นและมีกระแสตอบรับที่ดี ส่วนหนึ่งมาจากบทประพันธ์ของไฮกุที่สั้น ไม่เหมือนกับรูปแบบเก่า ไฮกุใช้คำที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ทำให้ผู้ประพันธ์และผู้อ่านรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่อยู่รอบตัว

ในศตวรรษที่ 19 มาซาโอกะ ชิกิ ได้นำแนวคิดสำหรับการเขียนไฮกุ เรียกว่า ฉะเซ หมายถึง บทกลอนธรรมชาติ ใจความหลักเกี่ยวกับแนวคิดนี้คือ การเขียนเชื่อมโยงกันระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ จากนั้นการประพันธ์ไฮกุเหลือเพียงสามบรรทัดเท่านั้น  แต่ทว่าความสั้นกะทัดรัดนี่เองที่ทำให้ไฮกุเต็มไปด้วยความงดงามภายในตัว  มีการใช้ขยายเป็นวงกว้าง

องค์ประกอบหลักที่สำคัญในการประพันธ์ไฮกุมี 3 อย่างด้วยกัน คือ

1. หนึ่งบทมี 17 พยางค์ มีทั้งหมด 3 วรรค แต่ละวรรคแบ่งออกเป็น 5-7-5

2. บทประพันธ์นำเสนอผ่าน คิโกะ การใช้สัญลักษณ์ของฤดูกาล ในการประพันธ์ผู้แต่งจะแฝงนัยยะสื่อภายในตัว

3. การประพันธ์ใช้ลักษณะ คิเระจิ เปรียบเทียบสองสิ่งที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน ส่วนนี้จะปรากฏอยู่ในตอนท้ายของบทเป็นการสรุปประเด็นที่เกิดขึ้นและผลที่ตามมา

 

หลักการเขียนกลอนไฮกุ

1. ควรกล่าวถึงสิ่งใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาขณะใดขณะหนึ่ง ไม่ควรกล่าวถึงช่วงเวลายาวนาน
2. ต้องเอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แล้วนำมาแต่งเป็น ไฮกุ เลือกใช้คำที่กระชับได้ใจความ ไม่ใช้คำเยิ่นเย้อ หรือคำขยายความ
3.ไฮกุ ไม่ใช่การพูดถึงเหตุผล หรือปรัชญาทางความคิด แต่เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมาตามธรรมชาติ ดังนั้นต้องพยายามหลีกเลี่ยงถ้อยคำเปรียบเทียบหรือคำอุปมาอุปไมย
4.บรรทัดสุดท้ายของกลอนไฮกุ มักใส่ความแปลกลงในบทกลอน โดยมักจะมีถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกนึกคิดชั่วขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือจินตนาการของผู้ประพันธ์ก็ตาม

กวีไฮกุ

นักประพันธ์ที่ได้ประพันธ์ผลงานจนเป็นที่รู้กันมากเช่น มัตสึโอะ บะโช (1644-1694) เป็นนักประพันธ์ที่รู้จักกันอย่าง ดีในนามผู้บุกเบิกและเป็นผู้อุทิศให้กับงานวรรณคดีญี่ปุ่น  บะโชเสมือนเป็นผู้เปลี่ยนโฉมบทประพันธ์จากฮกกุเป็นไฮกุ  เขาเป็นหนึ่งในสี่ของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงงานบทประพันธ์ไฮกุ ตัวอย่างงานประพันธ์ของบะโช เช่น

 

Hara-naka ya

Mono nimo Tsukazu

Naku hibari

ท่ามกลางท้องทุ่งหญ้า

นกสกายลาร์ดร้องเพลง

เป็นอิสระและหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง

 

(Yuzuru Miura, 2001)

อธิบายความหมายได้ว่าสิ่งที่มนุษย์ใฝ่ฝันมากที่สุดในช่วงชีวิตคือการได้ทำในสิ่งที่ตนเองปรารถนา  บทประพันธ์นี้ให้ความรู้สึกยินดี  และความสงบสุข เปรียบได้ว่าคนเราสามารถทำตามที่ใจต้องการถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ค่อยดีนัก ดั่งนกสกายลาร์ดหรือนกจาบฝนเวลาบินมักจะส่งเสียงเป็นเพลงที่ไพเราะจากบนฟากฟ้า  บ่งบอกว่าชีวิตของคนที่ไร้ห่วงโซ่ได้มาซึ่งความเป็นตัวของตัวเอง

Suna-hama ni

Ashi-ato nagaki

Haru hi kana

วันในฤดูใบไม้ผลิ

รอยเท้าย่ำเป็นทางยาว

บนหาดทราย

 

(Yuzuru Miura, 2001)

สื่อให้เห็นถึงบริบทของสังคมในช่วงๆ  หนึ่งบทประพันธ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความเศร้าและสูญเสีย อีกทั้งยังเป็นความหวังที่ต่างคนต่างรอคอยว่า ความสุขจะปรากฏขึ้นโดยความหมายที่แฝงไว้ในบทนี้น่าจะเป็น อิสรภาพ

 

นักประพันธ์ท่านต่อมาที่สร้างชื่อเสียงให้กับวงการไฮกุ โยสะ บูซน (1716-1784) เป็นนักจิตรกรที่ชอบวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ  ผลงานของบูซน ในไฮกุส่วนใหญ่มักจะเล่าลงในรายละเอียดพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ เช่น

 

Haru no umi

Hinemosu

Notari notari kana

ทะเลฤดูใบไม้ผลิ

คลื่นเป็นระลอกระลอก

สลับกันไปทั้งวัน

(Yuzuru Miura, 2001)

งานประพันธ์ชิ้นนี้ทำให้เรานึกถึงวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ต้องเจออะไรอีกมากมาย  โดยไม่มีการเล่นคำอุปมาอุปไมยในบท  แต่จะระบุไปเลยว่า  ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น

 

 

Yagate shinu

Keshiki wa miezu

Semi no koe

จักจั่นกรีดเสียง

ไม่มีวี่แววเลยว่า

มันต้องตายในไม่ช้า

 

(Barnhill, 2007)

บทกลอนจะบอกให้เห็นพฤติกรรมมนุษย์อย่างชัดเจนว่า บางครั้งอาจจะนิ่งสงบบางครั้งอาจจะสับสน มีขึ้นมีลง ขึ้นอยู่กับอารมณ์และสภาพแวดล้อมรอบตัว เห็นได้ชัดว่าบทกลอนไฮกุมีความสัมพันธ์โดยตรงกับธรรมชาติ

แม้ว่าบทประพันธ์จะสั้นกระทัดรัด ในเนื้อหาแฝงไปด้วยเรื่องราวความเป็นจริง มีความหมายที่ลึกซึ้งและสามารถตีความหมายได้ประเด็นโดยตรง   ไฮกุสามารถโน้มน้าวและสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้อ่านและผู้เขียนได้เป็นอย่างดี ส่วนนี้เองที่ ทำให้บทร้อยกรองญี่ปุ่นตรึงตราแก่คนในประเทศและเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก J

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

– tci-thaijo.org   – วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์สาชามนุษย์ศาสตร์และสังคมศึกษา
– th.japantravel.com
– pinterest.com