Minimalist-s

สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยุคสมัยคำว่า ‘น้อยแต่มาก’ ถูกใช้บ่อยเสียจนหลายคนเริ่มจะรู้สึกเบื่อหน่าย       จนเทรนด์ของมินิมอลิสม์กำลังจะเงียบหายไปอีกครั้งหนึ่ง   แต่ก่อนที่ทุกคนจะเบื่อหน่ายไปมากกว่านี้ ในความเป็นจริง มินิมอลิสม์ยังมีประวัติศาสตร์และเรื่องราวน่ารู้อีกมากที่ชวนให้เราย้อนกลับไปทำความเข้าใจ และเสพงานสถาปัตยกรรมสวยๆที่สร้าง  แรงบันดาลใจให้กับหลายๆคนที่สนใจ  และได้ทำความรู้จักกับมันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 ก่อนจะมาสู่ ‘มินิมอลลิสม์’

มินิมอลลิสม์ ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากงานจิตรกรรมนามธรรมแบบเรขาคณิต (Geometric Abstraction) ของกลุ่มเบาเฮาส์ และศิลปินในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ De Stijl อย่าง  Piet Mondrian  ที่ลดทอนรูปแบบจนเหลือแต่รูปทรงเรขาคณิต เส้นสาย และสีสันพื้นฐานอันเรียบง่าย หรือผลงานศิลปะนามธรรมในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Suprematism ที่นำโดยจิตรกรชาวรัสเซีย คาซิมีร์ มาเลวิช  ซึ่งหมายถึง  ศิลปะนามธรรมที่แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่สูงสุดของความรู้สึกและความคิดเชิงนามธรรม มากกว่าจะนำเสนอเรื่องราวหรือรูปภาพ โดยให้ความสนใจกับรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐานและใช้สีสันที่เรียบง่าย ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาในแนวทางนี้คือภาพ Black Square (1915) หรือ สี่เหลี่ยมสีดำ ซึ่งเป็นภาพวาดสี่เหลี่ยมสีดำบนพื้นขาว ที่แสดงความรู้สึกอันบริสุทธิ์ผ่านความเรียบง่ายของรูปทรงและสีสัน

Black Square (1915)

และกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ รัสเซียนคอนสตรัคติวิสม์ (Russian Constructivism) ที่ใช้รูปทรงเรขาคณิต การผลิตแบบแยกชิ้นส่วน และการใช้วัสดุแบบอุตสาหกรรมในการสร้างผลงานศิลปะ หรือผลงานของประติมากรชาวโรมาเนีย คอนสแตนติน บรังคูซี (Constantin Brâncuși) ที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตและแพทเทิร์นซ้ำๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผลงานประติมากรรม Endless Column (1935)

Constantin Brâncuși

รวมถึงผลงานจิตรกรรมของศิลปินแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชันนิสม์อย่าง แฟรงค์ สเตลลา (Frank Stella) ในช่วงปลายยุค ’50s ที่มีรูปแบบที่ต่อต้านความเป็นแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ อย่าง Black Paintings (1958-60) เขาเชื่อว่าสุนทรียะในงานศิลปะคือการนำเสนอรูปแบบและคุณค่าของความงามอันบริสุทธิ์  โดยไม่เสแสร้ง  ด้วยการใช้ความเรียบง่าย  ความมีระเบียบ  และทางสอดประสานกลมกลืนทางทัศนธาตุ เพื่อให้ผู้คนมองเห็นและตอบสนองต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเขาอย่างตรงไปตรงมา  อย่างศิลปะชิ้นนี้ เป็นจิตรกรรมแถบสีที่ไม่ได้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมตายตัว ทำให้ศิลปะของเขาเป็นมากกว่าภาพที่แขวนเครื่องประดับอยู่บนผนัง

พวกเขาเสาะหาหนทางในการทำลายขนบความคิดเดิมๆ ของศิลปะ ด้วยการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างงานจิตรกรรมและประติมากรรม และปฏิเสธความเชื่อที่ว่า ศิลปินมีสิทธิพิเศษในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวครับ

‘มินิมอลลิสม์’ กับงานศิลปะของคนสำคัญ

 Dan Flavin

แดน ฟลาวิน (Dan Flavin)  ศิลปินชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางที่ทำจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์  เขาเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ในการมองเห็นของผู้ชม และหลีกหนีจากขนบทางศิลปะแบบเดิมๆ ด้วยการนำหลอดไฟเหล่านั้นมาประกอบเป็นโครงสร้างรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ อย่างรูปทรงตาราง เส้นตรง และวางเรียงซ้ำๆ ต่อเนื่องกัน    การเลือกใช้แสงและสีที่เปล่งออกมาจากหลอดไฟก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ  แสงสีสวยๆพวกนี้ช่วยสร้างสุนทรียะทางศิลปะรูปแบบใหม่ เหมือนเป็นการสร้างพลังจากสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ให้เกิดขึ้น

Carl Andre ,

คาร์ล อังเดร (Carl Andre) ศิลปินชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมหน้าตาธรรมดา ที่วางเรียงเป็นตารางหรือแถวตรงอันเรียบง่าย   ผลงานของเขาเป็นการท้าทายกรอบคิดและคุณค่าทางสุนทรียะแบบเดิมๆ ด้วยการเอางานศิลปะลงจากผนัง และวางมันลงบนพื้นหรือทางเดิน เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของผู้ชมว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร

Richard Serra’s     

Richard Serra เกิดเมื่อปี ค.ศ.1934เป็นประติมากรที่นิยมสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมแบบ minimalist มีขนาดใหญ่ยากจะหาใครเปรียบ และถูกสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆและคอลเลคส่วนตัวของนักสะสมศิลปะทั่วโลก

The Matter of Time” ได้รับการบันทึกให้เป็นปฎิมากรรมทีมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจัดแสดงขึ้น ณ. พิพิธภัณฑ์ Guggenheim Museum เมืองบิลบาโอ ประเทศสเปน ประติมากรรมที่ใหญ่ที่สุดชิ้นนี้ มีความยาว 430 ฟุต เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลหนึ่งสนามครึ่ง

โดยแบ่งออกเป็น 8 ชิ้น มี 7 ชิ้นที่ต่อเติมออกจากของเดิมที่ชื่อว่า Snake  ซึ่งเซอร่าเคยสร้างไว้เมื่อปี 1997  Richard Serra กล่าวว่า การสร้างสรรค์งานชิ้นนี้  คือประสบการณ์และการเดินผ่าน ระหว่างเดินชมคุณจะเกิดความคิดและจินตนาการ เช่น คุณกำลังรอคอยด้วยความหวังว่าคุณจะพบอะไรต่อไป และเมื่อมองไป คุณก็จะพบภาพสะท้อนถึงสิ่งที่คุณเห็น นั่นก็คือตัวคุณนั่นเอง มันจะเป็นเช่นนี้ไปจนสุดปลายทาง และคาดว่าอีกสิบปีข้างหน้า เหล็กเหล่านี้จะรวมตัวเข้ากับออกซิเจน เปลี่ยนสีจากเทาเป็นส้มและสุดท้ายกลายเป็นสีเหลืองอำพัน

Donald Judd

โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) ศิลปินชาวอเมริกัน มีผลงานชิ้นเด่น อย่าง Untitled (1969) เป็นการนำเสนอศิลปะวัตถุรูปทรงธรรมดาสามัญอย่างกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ มาจัดแสดงในรูปแบบที่แตกต่างจากขนบทางศิลปะแบบเดิมๆ ด้วยการแขวนกล่องรูปทรงซ้ำๆ กันบนผนังเรียงกันในแนวดิ่ง จัดด์ เรียกผลงานประติมากรรมของเขาเหล่านี้ว่า ‘โครงสร้างขั้นพื้นฐาน’ (Primary structures) กล่องสี่เหลี่ยมที่ดูเย็นชา ดาษดื่น สามัญ และดูเหมือนจะถูกผลิตจากโรงงานเหล่านี้ ถูกแขวนบนผนังแบบเดียวกับงานจิตรกรรม แต่มันก็มีความเป็นสามมิติยื่นออกมาเหมือนงานประติมากรรม

โดนัลด์ จัดด์ นอกจากจะเป็นศิลปินคนสำคัญของกลุ่มมินิมอลลิสม์แล้ว เขายังเป็นหนึ่งในนักเขียนคนสำคัญที่สร้างทฤษฏีทางสุนทรียะเกี่ยวกับงานศิลปะมินิมอลลิสม์ขึ้นมาด้วย

‘มินิมอลลิสม์’ กับ 3 สถาปัตยกรรม

Apple Piazza Liberty

Apple Piazza Liberty  ตั้งอยู่บนถนน Corso Vittorio Emanuele ซึ่งเป็นหนึ่งในถนนคนเดินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในมิลาน โดดเด่นด้วยน้ำพุแก้วอยู่ตรงทางเข้าร้านและเป็นฉากหลังของอัฒจันทร์กลางแจ้งขนาดใหญ่  การออกแบบผนวกรวมสองสิ่งอันเป็นรากฐานสำคัญของลานสาธารณะอิตาลี่ ได้แก่ น้ำและหิน เพิ่มเติมด้วยกระจกที่สร้างสรรค์ประสบการณ์การสัมผัสที่หลากหลาย   ด้านในออกแบบตามสไตล์ Apple store หลายแห่ง มีความเรียบง่าย เป็นพื้นที่เปิดโล่งไม่มีอะไรปิดกั้น  และเลือกใช้สีโทนอ่อน ทำให้เกิดความเบาสบายในการเลือกชมสินค้าครับ

Apple Garosugil

Apple Garosugil ตั้งอยู่ใจกลางย่านคังนัม ทางตอนใต้ของแม่น้ำฮาน  ด้านหน้าของร้านเป็นกระจกใสขนาด 25 ฟุต ที่จะดึงดูดผู้คนให้เข้าไปชมด้านใน พื้นที่ร้านตกแต่งแบบเรียบง่าย เปิดโล่ง ประดับด้วยต้นไม้ภายในร้าน ซึ่งถ้ามองเผินๆอาจเหมือนว่าต้นไม้ที่เรียงรายอยู่บนท้องถนนต่อเนื่องไปจนถึงในร้าน โดยไม่มีเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกครับ

Agri Chapel

ฝีมือการออกแบบของสำนักงานสถาปัตยกรรม Yu Momoeda พวกเขาได้ออกแบบดัดแปลงโบสถ์ที่มีประวัติยาวนาน ชื่อว่า Agri Chapel โดยเริ่มจากสถาปัตยกรรมสไตล์โกธิค ที่สร้างจากไม้ แต่ในศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีการบูรณะใหม่ ให้มีรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งใช้วัสดุหลัก อย่าง เหล็กและกระจก จนปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนรูปแบบครั้งที่ 3 บนพื้นที่ประมาณ 125 ตารางเมตร

เมื่อมองจากภายนอก โบสถ์จะดูคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม ซึ่งถูกตัดผ่านด้วยหน้าต่างติดบานกระจกขนาดใหญ่ ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน เพื่อสามารถมองเห็นและสัมผัสได้กับทัศนียภาพโดยรอบ  การตกแต่งภายใน คือแท่งไม้ที่ประกอบเป็นรูปทรงคล้ายต้นไม้หลายต้น เกิดเป็นป่ามินิมอลแบบเรียบง่ายภายในโบสถ์ครับ

ปัจจุบัน สถาปัตยกรรมแนวมินิมอลลิสม์ไม่ได้ถูกพบเห็นแค่ในอาคารขนาดใหญ่ พิพิธภัณฑ์ หรือแกลเลอรีศิลปะเท่านั้น หากแต่สอดแทรกอยู่ในที่พักอาศัยของคนทั่วไปที่หยิบเอาความเรียบง่ายเข้ามาใช้กับการตกแต่ง และเชื่อเถอะว่า ไม่ว่าโลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปสักแค่ไหน มินิมอลลิสม์ก็ยังคงอยู่กับเราโดยไม่เปลี่ยนแปลง

ขอบคุณข้อมูลจาก

dezeen.com

themomentum.co

adaybulletin.com

dsignsomething.com

pinterest.com