Thai-Luxury-หรูหราแบบชาววัง

Thai Luxury หรูหราแบบชาววัง

 

เอกลักษณ์ความเป็นไทย ทำให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ได้สัมผัสต่างหลงรักในวิถีของความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน งานแกะสลัก เครื่องหอมสมุนไพรต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งบทความนี้ เราจะพาแฟนๆ บาริโอไปสัมผัสกับความเลอค่าของอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารชาววัง งานแกะสลัก และเครื่องหอมไทย ที่ดังไกลไปถึงต่างแดนกัน…

 

หากกล่าวถึง “อาหารชาววัง” นั้น แต่เดิมถือกำเนิดจากในรั้วในวัง ถูกประดิษฐ์คิดค้นให้ถูกจริตของเจ้านาย หรือ ชนชั้นสูง ซึ่งต้องประกอบไปด้วย ความสดใหม่ของวัตถุดิบในการประกอบอาหาร มีกรรมวิธีในการทำซับซ้อน ประณีต ต้องใช้เวลาและกำลังผู้คนในการทำจำนวนมาก มีลักษณะความแปลกแตกต่าง ความวิจิตรบรรจง รวมถึงมีรสชาติที่นุ่มนวลไม่เผ็ดมาก มีความกลมกล่อมเป็นหลัก ถูกต้อง ตามหลัก 3 ประการ คือ รูปสวย กลิ่มหอมชวนกิน และ รสชาติล้ำเลิศ

            มีการจัดเตรียม แกะสลักผัก ผลไม้ที่สวยงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ตามฉบับชาววัง

 

อาหารชาววังแตกต่างจากอาหารชาวบ้านคือ การจัดอาหารเป็นชุด หรือ สำรับอาหาร ต้องจัดเตรียมให้ครบรส หลากหลาย และครบ 5 หมู่ เช่นในหนึ่งสำรับ จะประกอบด้วย ข้าว แกง ผัด น้ำพริก และ ของหวาน

ย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตำหนักที่มีชื่อเสียงเลื่องลือที่สุดในบรรดาชาววังทั้งหมดในเรื่องตำรับอาหาร ได้แก่ ตำหนักใน พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอรรคชายาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงขนาดทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น มีหน้าที่ประดิษฐ์คิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ เลี้ยงรับรองแขกบ้านแขกเมือง ที่สำคัญคือ ดูแลพระกระยาหารค่ำถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 5 เนื่องจากตำหนักพระวิมาดาเธอฯ (วังสวนสุนันทา ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) เป็นศูนย์กลางของตำหนักฝ่ายใน เพราะเป็นตำหนักที่มีเจ้านายพระยศสูงประทับอยู่ ดังนั้นตำหนักแห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมของเจ้านายฝ่ายใน เวลาที่มีกิจกรรมเสด็จเยี่ยมเยียนตำหนักต่างๆ ก็มักจะมารวมกันอยู่ที่ตำหนักนี้นั่นเอง

 

Cr. หนังสือชีวิตในวัง แต่งโดย มล. เนื่อง นิลรัตน์

 

เนื่องด้วย พระวิมาดาเธอฯ เป็นผู้มีความเสียสละ อดทน เด็ดเดี่ยว มีพระสติปัญญาฉลาดล้ำ ในการมีพระปฏิภาณไหวพริบแก้ไขสถานการณ์ได้ดี และทรงไม่หยุดนิ่งในการปรับปรุงสูตรพระกระยาหารเพื่อถวายพระราชสวามี ให้ทรงพระสำราญในรสชาติที่ล้ำเลิศ

 

ตำรับอาหารจากตำหนักวังสวนสุนันทาเป็นที่เลื่องลือและสืบทอดมาจนปัจจุบันได้แก่

 

Cr. nlovecooking.com

 

น้ำพริกลงเรือ เกิดจากการนำน้ำพริกกะปิ ปลาดุกฟู หมูหวาน ไข่เค็ม ที่มีเหลืออยู่ในห้องเครื่อง นำมาประกอบรวมกันเพิ่มเติมด้วยผักสด นำไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขณะครั้งเสด็จประพาสต้น (ทางเรือ) จึงเป็นที่มาของชื่อ “น้ำพริกลงเรือ” นั่นเอง

 

Cr.  amarintv.com

 

แกงรัญจวน ประกอบไปด้วย เนื้อวัว ต้มกับน้ำพริกกะปิ ด้วยไฟอ่อนๆให้เนื้อวัวเปื่อยนุ่ม จนได้กลิ่นหอมอบอวนชวนรับประทาน

 

Cr. food travel.com

 

หมี่กรอบ ของว่างที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ทำจากหมี่ขาวทอดให้กรอบ คลุกกับเครื่องทอด อาทิ กุ้งแห้ง เต้าหู้ หอมเจียว และน้ำปรุงรสประกอบด้วย น้ำตาลเคี่ยวกับเต้าเจี้ยวโขลกละเอียด น้ำปลา ส้มซ่า มะนาว ให้ได้รสหวานนำเปรี้ยวโด่งเค็มตาม

ด้วยความที่อาหารชาววังมีกรรมวิธียุ่งยากและวิจิตรตระการตา จึงทำให้ชาวบ้านร้านตลาดต้องการลิ้มลอง ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 ตำหนักต่างๆได้ปิดตัวลง ทำให้เจ้านายหรือข้าหลวงที่มีฝีมือ ได้นำวิชาที่ได้รับจากในวังมาประกอบอาชีพ เปิดเป็นร้านอาหาร ทำให้คนทั่วไปได้มีโอกาสลิ้มรสอาหารอย่างเจ้านาย จนทำให้อาหารชาววังกลายเป็นอาหารหรูอย่างไทย แสดงถึงวัฒนธรรมการกินและฐานะของผู้นั้นไปโดยปริยาย

 

หากต้องการลิ้มรสชาติตำรับอาหารสูตรพระวิมาดาเธอฯ ขอแนะนำ ห้องอาหารแก้วเจ้าจอม โรงแรมวังสวนสุนันทา ทุกวัน 10.30 – 22.00 น. โทร.0 2243 0474 ต่อ 0 และ 0 2160 1419

 

เขียน/เรียบเรียง : jeedwonder

 

 

 

งานแกะสลักผักผลไม้

 

Cr. Little Ball

 

เรามักจะเคยคุ้นตากับการตกแต่งจานอาหารหรือแม้แต่ภาชนะใส่อาหารที่ทำมาจากงานแกะสลักผักและผลไม้ต่างๆ มาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งถือเป็นศิลปะและเอกลักษณ์ที่ดีงามอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทย การแกะสลักถือเป็นงานวิชาการขั้นสูงของผู้หญิงที่อยู่ภายในวัง ที่จะต้องฝึกฝนและเรียนรู้ให้เชี่ยวชาญ ยิ่งพิถีพิถันชำนาญการ ก็จะยิ่งได้รับการยกย่องมากค่ะ

 

ในสมัยสุโขทัย มีหนังสือชื่อ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” บทประพันธ์ของ นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้กล่าวถึงงานแกะสลักไว้ โดยอ้างถึงพิธีลอยโคม ที่มีการตกแต่งโคมลอยและสลักตกแต่ง มีการประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และนำผลไม้มาแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น หงส์และนก ซึ่งถูกตกแต่งและจัดระเบียบไว้อย่างสวยงาม จึงสันนิษฐานได้ว่ามีการแกะสลักเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

Cr. i.pinimg.com

 

งานแกะสลักถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งต้องอาศัยความสามารถเฉพะาตัว ความปราณีต สมาธิและพิถีพิถัน เพื่อให้ผลงานออกมาสวยงาม งานแกะสลักและผลไม้แต่ละชิ้นล้วนสื่อความหมายและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เป็นเอกลัษณ์ของชนชาติไทยที่ไม่อาจมีชาติไหนทัดเทียมได้ ความงดงามและอ่อนช้อยของงานแกะสลัก ถือเป็นศิลปกรรมจำพวกประติมากรรม โดยการนำผักผลไม้เนื้ออ่อนมาประดิษฐ์ประดอยสร้างสรรค์เป็นรูปร่างต่างๆ เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากผักผลไม้เดิมๆ ไปอย่างชิ้นเชิงและคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียวค่ะ ทั้งหมดล้วนเกิดจากการนำอุปกรณ์ของมีคมแหลม มาตัด เกลา ปาด แกะ คว้าน จนเกิดศิลปะและลวดลายงดงามอ่อนช้อย หรือที่เราเรียกว่าการแกะสลักขึ้นนั่นเองค่ะ

 

ในปัจจุบันถ้าพบเจองานแกะสลักที่ไหน จะรู้สึกได้ถึงบรรยากาศความหรูหรา สูงส่ง และความเป็นผู้ดีเก่าแบบชาววังทันทีเลยค่ะ จะเห็นได้ว่าตามโรงแรมดังๆ เมื่อมีงานจัดเลี้ยงหรืองานตอนรับต่างๆ ในห้องอาหารหรือภัตตราคาร งานแกะสลักที่นำมาตกแต่งอาหารจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างบรรยากาศภายในงานให้ดู Luxury สไตล์ไทย ถูกใจทั้งคนต่างชาติและคนไทยเป็นที่สุดค่ะ

 

เครื่องหอม

 

Cr. httpsthebeautygypsy com

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมากขึ้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง รวมไปถึงการมาของน้ำหอม “ฝาหรั่ง” จนทำให้คนไทยหันมาสนใจคิดค้นที่จะทำน้ำหอมแบบไทยขึ้นบ้าง จนเกิดเป็น “น้ำปรุง” ให้กลิ่นหอมซึมลึก หอมมาก.. ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “หอมติดกระดาน” ที่ไม่ว่าสาวไทยจะไปนั่งบนพื้นที่ไหน ก็จะมีกลิ่นหอมติดอยู่ทุกที่ไป ในยุคนั้นพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งเป็นหัวหน้าห้องเครื่อง เคยจัดการแข่งขันปรุงเครื่องหอมน้ำอบภายในวังของแต่ละตำหนักขึ้น และนำมาใช้กันเอง กลิ่นหอมของแต่ละตำหนักจึงแตกต่างกันไป แล้วแต่กลวิธีในการทำค่ะ

 

จุดเด่นของ “เครื่องหอม” ไทย นอกจากกลิ่นหอมติดทน ติดนานแล้ว ยังทำให้สดชื่นและสบายตัวด้วย  อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในงานพิธีต่างๆ ได้ด้วย เช่น งานปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น

 

ความหมายที่แท้จริงของเครื่องหอม คือ “สิ่งที่นํามาประกอบกันแล้วมีกลิ่นหอมรับรู้ได้ด้วยการดม” เครื่องหอมของไทยนั้นมีหลากหลายชนิด ตามความเป็นไทย โดยการใช้วัสดุเครื่องหอมสมุนไพรซึ่งหาได้ภายในประเทศ การทําเครื่องหอมที่มีสูตรคล้าย ๆ กันแต่การปรุงแต่งให้มีคุณภาพขึ้นอยู่กับวิธีการและประสบการณ์ของผู้ปรุง การปรุงเครื่องหอมในสมัยก่อนจะมีกลิ่นหอมเย็นตามธรรมชาติ เนื่องจากได้มาจากกลิ่นหอมดอกไม้เนื้อไม้ยางไม้และชะมด โดยวิธีอบร่ำหลาย ๆ ครั้ง จนทําให้เกิดกลิ่นหอม เมื่อปรุงแล้วนํามาใช้ดมใช้ทา ใช้อบเป็นเครื่องหอมบํารุงผิวเป็นอย่างดี บางชนิดสามารถใชรักษาแก้อาการคันและเกิดผดผดผื่นได้อีกด้วย

 

ซึ่งการทำเครื่องหอมไทยมีด้วยกันหลายแบบ เช่น การอบ คือ การปรุงกลิ่นด้วยควันหรือปรุงกลิ่นด้วยดอกไม้หอม การร่ำ การอบกลิ่นหอมซับซ้อนหลายอย่าง โดยใช้ภาชนะเผาไฟแล้วใส่เครื่องหอม ให้เกิดควันหอม และ การปรุง การรวมของหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เช่น นำไปปรุงกับน้ำอบหรือเครื่องหอมอื่น โดยเครื่องหอมสูตรชาววังที่หอมติดทนนาน ประกอบไปด้วย  น้ำอบ น้ำปรุง แป้งร่ำ บุหงารำไป และแป้งพวง

 

Cr. tarunaoils.org

 

น้ำอบ

น้ำอบถือเป็นหนึ่งในเครื่องหอม ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั้งในอดีตและปัจจุบัน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น อาบน้ำ ทาตัว หรือแม้แต่แก้ผดผื่นคัน ให้ความรู้สึกหอมเย็นสบายตัว นอกจากนี้ยังนำไปผสมน้ำเพื่อทำการสรงน้ำพระได้อีกด้วย น้ำอบเกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ได้คิดค้นนำรากไม้และกลิ่นของดอกไม้ชนิดต่างๆ และเครื่องกำยาน ชะมดเช็ด พิมเสนนำมาผสมกันจนเกิดกลิ่นหอมขึ้น โดยในสมัยก่อนนิยมนำมาผสมน้ำให้กับพระราชวงศ์ภายในวังได้อาบกัน ก่อนที่ขยับขยายกระจายความนิยมไปยังชนชั้นอื่นๆ ในเวลาต่อมา

 

ปัจจุบันตามโรงแรม รีสอร์ทและสปาต่างๆ ก็มีการนำน้ำอบมาผสมน้ำให้ลูกค้าได้อาบชำระร่างกาย สร้างความสดชื่นและประทับใจได้ไม่รู้ลืม

 

Cr. abeautifulmess.com

 

นํ้าปรุง

น้ำปรุง คือ น้ำหอมแบบโบราณของไทยที่ใช้ดอกไม้หลากหลายชนิดมาผสมกันกับสมุนไพรไทย อาทิ พิมเสน ผิวมะกรูด ใบเตย ซึ่งรวมจนได้ความหอมพร้อมทั้งช่วยบำรุงรักษาสุขภาพ นอกจากใช้ในการทาตัวแล้ว ยังนำไปใช้ในการอบผ้าฝ้ายใหม่ให้มีความคงทน และช่วยป้องกันแมลงได้ด้วย

 

Cr. kratai200

 

แป้งร่ำ

แป้งร่ำมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับดินสอพอง ซึ่งเกิดจากนำแป้งหิน (แป้งนวล) มาผสมกับน้ำอบหรือน้ำปรุง และทำการร่ำหรือการอบแบบโบราณด้วยวัสดุที่มีกลิ่นหอม แล้วใส่น้ำมันชะมดตาม เพื่อให้กลิ่นคงอยู่นาน โดยหญิงสาวสมัยนิยมนำแป้งร่ำผสมกับน้ำอบมาทาหน้าและทาตัวให้มีกลิ่นหอมติดตัวอยู่เสมอ

 

Cr. mashable.com

 

บุหงารำไป

เครื่องหองชนิดต่อมา คือ บุหงารำไป ซึ่งแต่เดิมเป็นการนำกลีบดอกไม้ต่างๆ เช่น มะลิ พิกุล และ กระดังงา มาตากให้แห้งแล้วทำการร่ำด้วยเทียน จากนั้นจึงผสมด้วยน้ำปรุงและพิมเสน แล้วนำไปห่อด้วยผ้าโปร่งหรือเครื่องจักรสาน โดยดอกไม้ที่โดนห่อจะส่งกลิ่นหอมออกมา คนในสมัยก่อนจึงนิยมนำไปใส่ในหีบหรือตู้เสื้อผ้า ให้ผ้าหอมอ่อนๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งบุหงารำไปจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ บุหงาสด ซึ่งเกิดจากการนำดอกไม้สด ใบไม้ และสมุนไพรมาคลุกเคล้ากัน จนได้กลิ่นหอม และบุหงาแห้ง ก็คือ การนำดอกไม้สด ใบไม้และสมุนไพรหอมต่างๆ ทำให้แห้ง ลัวนไปคลุกกับหัวน้ำมันหอม จนได้กลิ่นที่ชอบ จากนั้นจึงนำไปใส่บรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้

 

แป้งพวง

Cr. www.inst4gram.com

 

ก่อนที่จะมาเป็น “แป้งพวง” ต้องผ่านการนำร่ำด้วยแป้งหินอบควันเทียน กำยาน คลุกเคล้ากับดอกไม้หอมชนิดต่างๆ บวกกับน้ำอบไทย จนได้แป้งข้นกลิ่นหอมอวล ผสมด้วยน้ำเม็ดแมงลัก นำมาใส่กรวยใบตองหยอดเป็นเม็ดเล็กๆ บนเส้นด้าย ที่วางบนใบตองหรือผ้าขาวบาง ปล่อยให้แห้ง จากนั้นจึงทำการยกเส้นด้ายมาทำการอบร่ำหลายๆ รอบ เมื่อได้เส้นดายหอมลายๆ เส้น จึงนำมาเข้าช่อจัดให้เป็นพวงสวยงาม ใช้ในการบูชาพระ หรือเป็นของชำร่วย หรือหญิงไทยสมัยก่อนนำมาทัดหู เสียบผม เพิ่มความสวยงามได้ด้วยค่ะ

 

เห็นไหมคะว่าความเป็นไทยไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปนานขนาดไหน ความเป็นไทยก็ยังคงงดงามและคลาสสิกข้ามกาลเวลาเสมอ เราเป็นคนไทยก็ต้องช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่ดีงามแบบนี้ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นกันด้วยค่ะ ของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ ค่ะ

 

 

ขอคุณขคุณภาพ /ข้อมูล :

หนังสือชีวิตในวัง แต่งโดย มล. เนื่อง นิลรัตน์
www.amarintv.com
nlovecooking.com
www.food travel.com
xaharchawwangkanokwan.blog
bbt.ac.th
www.baanlaesuan.com
meenpatchapan.blogspot.com