Writing2

     ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ดินสอและปากกายังคงเป็นสิ่งที่เราใช้ขีดเขียนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผ่านกาลเวลาและประวัติศาสตร์อันยาวนาน ท่ามกลางอุปกรณ์ขีดเขียนมากมาย ย่อมต้องมีปากกาวางอยู่เคียงข้างเราเสมอ อาจเพราะปากกาได้กลายเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ไปแล้ว

     ในยุคแรกของประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีการคิดค้นหรือประดิษฐ์ปากกา บรรพชนคนโบราณที่อยากบอกเรื่องราวให้รุ่นลูกหลานได้รู้ ก็ใช้การขีดเขียนบนกำแพงด้วยก้อนหิน  ไม้ หรือเปลือกหอย เแทนการใช้ปากกา  พวกเขาใช้ดินสีที่ได้จากสีต่างๆ ในธรรมชาติมาแทนหมึก เราจึงได้เห็นเรื่องราวที่เหล่าบรรพบุรุษอยากบอกเล่า ผ่านภาพเขียนสีในผนังถ้ำ ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในประวัติศาสตร์ยุคโบราณผ่านเครื่องมือที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างเรียบง่ายด้วยภูมิปัญญาที่เรียนรู้จากธรรมชาติรอบกาย  และแน่นอนว่าที่บียอนเกริ่นมาขนาดนี้ เพราะบทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “ปากกา” ที่เหมือนเป็นสิ่งสำคัญเติบโตเคียงคู่มากับชีวิตของเรา เพื่อให้เพื่อนๆได้รู้ถึงที่มาที่ไปของปากกากันครับ

     วิวัฒนาการของการเขียน

     การเขียนผนังถ้ำ

ถ้าเราสามารถย้อนเวลากลับไปได้ อาจจะได้เห็นความมานะพยายามของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือยุคหินเก่า เมื่อประมาณ 35,000 ปีก่อน กำลังวาดภาพท่ามกลางความมืดภายในถ้ำโดยอาศัยแสงสลัวๆ จากตะเกียงโบราณที่ใช้เชื้อเพลิงจากไขสัตว์ หรือไส้ตะเกียงที่ทำจากตะไคร่แห้งหรือวัสดุที่พอจะหาได้ในสมัยนั้น

     ภาพที่พบส่วนใหญ่เป็นรูปสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตและเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นในการล่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร เช่น วัว ม้า กวาง ปลา เป็นต้น  ในยุคอดีตมนุษย์อาจจะใช้นิ้วจุ่มดินหรือหินสี  ภาพบางภาพมีเพียงเส้นขอบซึ่งวาดด้วยสีเดียวแต่ก็มีหลายภาพระบายสีภายในเส้นขอบด้วย ตัวอย่างสำหรับสีที่ใช้วาดซึ่งนักโบราณคดีพบในถ้ำลาสโก(Lascaux) ที่ตั้งอยู่บริเวณหุบเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส มีถึง 12 เฉดสี จากเหลืองอ่อนจนถึงดำ  เนื้อสีเหล่านั้นประกอบด้วยผงแร่ธาตุต่างๆ ที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีดำ ได้จากออกไซด์ของแมงกานีส สีขาวได้จากดินขาว สีแดงและสีเหลืองได้จากออกไซด์ของเหล็กกับดินเหลืองและดินแดง เป็นต้น นอกจากนี้ บ้างก็ใช้ถ่านและหินเขี้ยวหนุมานในการผสมสีอีกด้วย  โดยทั้งหมดนี้อยู่ระหว่าง 30,000- 40,000 ปีก่อนคริสตกาลครับ

     การเขียนบนใบไม้ แผ่นไม้หรือแผ่นโลหะ

     ชาวอียิปต์เป็นชนชาติแรกที่คิดค้นการเขียนด้วยหมึก โดยในยุคแรกใช้แปรงหรือพู่กันเขียนหนังสือบนแผ่นกระดาษที่ทำจากต้นปาปิรุส (papyrus) เป็นการเริ่มต้นวิธีการเขียนด้วยการปล่อยหมึกหรือสีบนแผ่นรองเขียน เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือด้วยพู่กันของจีนและญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นแนวความคิดเบื้องต้นที่พัฒนาไปสู่การประดิษฐ์ปากกา

     ในยุคสมัยของชาวอียิปต์โบราณ ได้พัฒนาอุปกรณ์การเขียนคือปากกาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยปากกาที่ชาวอียิปต์คิดค้นขึ้นได้เป็นแบบแรกคือ ปากกาที่ทำด้วยลำต้นกก (Reed pen) หรืออาจใช้ลำต้นไผ่ก็ได้ โดยหากใช้ลำต้นกก ตัวลำต้นจะมีรูกลวงอยู่ด้านในต้นกกเหมือนหลอด หลังจากนั้นก็จะใช้มีดฝานต้นกกช่วงปลายด้านที่จะใช้เขียนในแนวเฉียงให้เกิดปลายปากกาเป็นด้านแหลม มีหลากหลายแบบ  ปากกาชนิดนี้จะไม่ใช้หมึก แต่จะเขียนลงบนแผ่นไม้ที่ถูกเคลือบผิวด้วยขี้ผึ้งไว้ ทำให้เกิดเป็นตัวอักษร และนำมาซึ่งการพัฒนาของ “เครื่องเขียน” จนมนุษย์ได้นำขนเป็ด ขนห่าน มาทำเป็น “ปากกา”  หรือที่เรียกกันในสมัยก่อนว่า “ปากไก่”  ครับ

     ศตวรรษที่ 5 หรือ  ค.ศ. 401 

     ” ปากไก่ ” หรือ ปากกาขนนก   คือ การนำวัสดุผิวเรียบมารองเขียนโดยจะใช้ขนนก หรือ ขนห่านมาทำเป็นปากกา เรียกอีกชื่อว่า ปากไก่ ลักษณะหัวจะต้องแหลมๆ ใช้คู่กับ หมึก และ แผ่นหนังรองเขียนที่ผลิตจากหนังสัตว์ ด้วยความที่ปากกาขนนกจะต้องแหลมตลอดเวลา จึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนใหม่อยู่บ่อยๆ   และไม่มีหมึกในตัวเอง ต้องจุ่มหมึกทุกครั้งที่ใช้เขียนครับ

     ศตวรรษที่ 15  ค.ศ. 1401 

     มนุษย์เริ่มประดิษฐ์ ” ปากกาโลหะ ” หรือ ปากกาคอแร้ง  มีลักษณะที่ปากเป็นโลหะและมีรอยผ่าตรงกลาง ทำให้เขียนได้นานยิ่งขึ้นกว่าเก่า โดยไม่ต้องจุ่มหมึกทุกครั้งที่เขียน ใช้คู่กับหมึกสีดำที่เรียกว่า India Ink หรือหมึกจีน ( ชาวจีนเป็นผู้คิดค้นหมึกสำหรับเขียนนี้ ก่อนแพร่หลายไปยังอินเดีย ในเวลาต่อมาชาวยุโรปได้รู้จักและนำเข้าหมึกสีดำสำหรับเขียนจากอินเดีย พวกเขาจึงเรียกหมึกที่แท้จริงแล้วชาวจีนเป็นผู้คิดค้นว่า “อินเดีย อิงค์” )  แต่ยุคนี้ก็ยังไม่มีใครที่สามารถผลิตปากกาที่มีหมึกในตัวเองได้

     ในปีคริสต์ศักราชที่ 1884

     ลูอิส เอ็ดสัน วอร์เตอแมน ( Lewis Edson Waterman ) ได้ริเริ่มการผลิตปากกาด้ามแรกของโลกที่มีหมึกด้านในได้สำเร็จ โดยให้ชื่อเรียกว่า ปากกาหมึกซึม (Fountian pen ) ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา  จึงถือว่า Lewis Edson Waterman  เป็นบิดาแห่งการประดิษฐ์ปากกาหมึกซึม มีการคิดค้นพัฒนาปากกาชนิดนี้ให้มีคุณภาพดีขึ้น สะดวกในการใช้งานและมีรูปทรงสวยงาม ในปัจจุบัน มีนักประดิษฐ์ปากกาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี อาทิเช่น  George Safford Parker, Walter A. Sheaffer เป็นต้น และได้ครอบครองความเป็นเจ้าแห่งเครื่องมือสำหรับการเขียนมาโดยตลอดเป็นเวลานานหลายสิบปี

     ในปีคริสต์ศักราชที่ 1900

     ” ปากกาลูกลื่น ”  ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์ของนักฟอกหนังชาวเมืองเวย์เมาท์ ประเทศสหรัฐฯ นาม “จอห์น เจ.ลาวด์”      ( John J. Loud )  โดยปากกาลูกลื่นในยุคของนายลาวด์  จะใช้ลูกโลหะกลมๆ เล็กๆ บรรจุไว้บริเวณปลายปากของปากกาหมึกซึม เพื่อควบคุมการไหลของหมึก ทั้งนี้ ปากกาลูกลื่นยุคแรกๆ เหมาะสำหรับใช้เขียนบนแผ่นหนัง หรือบนพื้นผิวที่ไม่เรียบเท่านั้น ส่วนการเขียนบนกระดาษแผ่นเรียบนั้น ปากกาลูกลื่นได้รับการพัฒนาให้เขียนได้ดีขึ้นในยุคต่อมา ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป

     ในปีคริสต์ศักราชที่ 1930

     นักหนังสือพิมพ์และศิลปินชาวฮังกาเรียน ชื่อ ลาสโล โยแชฟ บิโร ( Laszlo Josef Biro )  ได้ประดิษฐ์ปากกาลูกลื่นขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการนิตยสารฉบับหนึ่ง ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี บิโรได้เกิดแนวความคิดจากหมึกแห้ง ( Quick – drying ink ) ที่ช่างพิมพ์ในโรงพิมพ์นั้นใช้พิมพ์หนังสือ จึงคิดหาวิธีนำหมึกชนิดนี้มาบรรจุลงในปากกา โดยที่หมึกจะไม่ไหลและหยดออกมาจนเปื้อนกระดาษ ในที่สุดก็ประดิษฐ์ปากกาที่ใช้หมึกแห้งขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งก็คือ ” ปากกาลูกลื่น ” ( Ball – point pen ) สามารถใช้ขีดเขียนโดยไม่มีหมึกหยดและไหลเปรอะเปื้อนเหมือนปากกาหมึกซึมแบบเก่า

     ในปีคริสต์ศักราชที่ 1931

     บิโรได้นำเสนอปากกาชนิดนี้เป็นครั้งแรกที่งานออกร้านนานาชาติบูดาเปสต์ (Budapest International Fair) ในปี ค.ศ. 1931 และจดสิทธิบัตรที่กรุงปารีสในอีกเจ็ดปีต่อมา ต่อมาในปี ค.ศ. 1943 พี่น้องตระกูลบิโรได้ย้ายไปอยู่ที่อาร์เจนตินา และก่อตั้งบริษัท Biro Pens ขึ้น ปากกาของบิโรได้รับความสนใจจากกองทัพอากาศในสหราชอาณาจักร เพราะมันใช้เขียนได้ดีกว่าปากกาหมึกซึมที่เขียนไม่ติดเมื่ออยู่บนความกดอากาศสูง ต่อมาบริษัทของบิโรก็ถูกมาร์แซล บิก (Marcel Bich) เข้าซื้อกิจการ และกลายเป็นบริษัทเครื่องเขียน “บิค” (BIC)  ทำการผลิตปากกาลูกลื่นยี่ห้อ BIC ออกจำหน่ายไปทั่วโลก ในระหว่างปี ค.ศ. 1950 – 1980 สามารถจำหน่ายได้กว่า 10 ล้านด้ามต่อวัน อาจกล่าวได้ว่า บิค เป็นปากกาที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักปากกาลูกลื่น จนมีใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

     ปัจจุบัน

     ปากกามีหลากหลายรูปแบบให้เราสามารถเลือกใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์  แต่อีกสิ่งที่ทำให้ปากกามีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้ประกอบการต่างผลิตปากกาที่มีความพิเศษมากกว่าแค่การใช้งานทั่วไป ทำให้ปากกาแท่งเล็กๆ ที่เราเห็นนั้น มีมูลค่าสูงถึง 280 ล้านบาท เรียกได้ว่าแพงกว่าบ้านและรถหลายเท่าตัว   เพื่อนๆ คงอยากรู้กันแล้วใช่ไหมครับ ว่าทำไมเจ้าปากกาแท่งเล็กๆ ถึงมีราคาสูงขนาดนี้ วันนี้บียอนขอหยิบ 5 อันดับของปากกาที่มีดีไซน์สวยและราคาสูงลิ่ว มาให้เหล่าคนมีสไตล์ได้ติดตามกันครับ

อันดับ 1

Montegrappa Tibaldi : Fulgor Nocturnus ($8 million) 280 ล้านบาท

ที่สุดแห่งปากกาที่มีความสวยแบบน่าค้นหา โดย Tibaldi  เป็นผู้ออกแบบ  ประดับไปด้วยอัญมณีกว่า 1,000 เม็ด และอีกกว่า900 เม็ดเป็นเพชรสีดำที่มีคุณสมบัติทึบแสง  ลักษณะเป็นผลึกดำเป็นเงาแวววาว ไม่มีประกายวิ้งวับแบบเพชรทั่วๆไป และยากต่อการเจียระไน เนื่องจากเพชรมีความแข็งแกร่งมากกว่าเพชรชนิดอื่นๆ  ตัวปากกาถูกแซมด้วยทับทิม และได้ถูกประมูลไปในเซี่ยงไฮ้  ด้วยราคา 8 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 280 ล้านบาท ซึ่งมีเพียงด้ามเดียวในโลกเท่านั้น

อันดับ 2

Aurora Diamante ($1.47 million) 51ล้านบาท

“Aurora Diamante” ผลิตโดยบริษัท Aurora ผู้ผลิตปากกาหมึกซึมที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศอิตาลี ด้ามปากกาฝังเพชร De Beers กว่า 30 กะรัต ปลายปากกาทำจากทองคำ 18K  มีให้เลือกสองแบบ คือ แบบพลาตินั่มและทองคำขาว

 ตัวปากกาสามารถประดับสัญลักษณ์ของผู้เป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ เครื่องหมาย หรือลายเซ็น และจะผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเพียงปีละ 1 ด้ามเท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้ปากกาแท่งนี้มีราคาสูงเป็นอันดับ 2 ครับ

อันดับ 3

Heaven Gold ($995,510) 34 ล้านบาท

ปากกาทองคำสุดหรู ที่ก็บอกด้วยชื่ออยู่แล้ว เป็นทองคำแห่งสวรรค์ ถูกออกแบบโดย Anita Tan เป็นปากกาเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ ประดับด้วยอัญมณีสีชมพู กว่า 161 เม็ด ที่สำคัญประดับด้วยอัญมณีหายาก Tsavorite 43 กะรัต ที่เชื่อกันว่ามีอายุมากถึง 2 ล้านปี

อันดับที่ 4

Mont Blanc :  Mystery Masterpiece  – ($730,000)  25 ล้านบาท

ออกแบบโดย Van Cleef-Arpels ประดับด้วยเพชร 840 เม็ด กว่า 30 กะรัต โดยผ่านฝีมือช่างผู้มากประสบการณ์และใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือน  โดยความโดดเด่นของปากกาด้ามนี้คือ ตัวปากกาถูกประดับด้วยอัญมณี 3 ชนิด คือทับทิม มรกต และแซฟไฟร์

อันดับที่ 5

La Modernista Diamond – ($265,000)  9 ล้านบาท

เป็นปากกาที่ทำด้วยมือ  กระบวนการนี้ใช้เวลานานกว่าหกเดือน สำหรับการใส่ใจในรายละเอียดและสะท้อนถึงความรักที่แสนประณีต เพราะมีการบรรจงประดับเพชรลงในด้ามปากกากว่า 5,072 ชิ้น น้ำหนัก 30 กะรัต ตัวปากกาเป็นทองคำขาวที่เคลือบด้วยโรเดียม  ทำให้ปากกามีความสวยเงางามครับ

     แม้ในยุคดิจิตอลแบบทุกวันนี้ คนเราจะใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งานแทน มีปากกาบลูทูธขีดเขียนหน้าจอแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนได้สะดวกสบาย แต่เชื่อเถอะ ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องกลับมาจับปากกาอยู่ดี เพราะส่วนใหญ่แล้วเอกสารสำคัญต่างก็ต้องใช้ลายเซ็นของเรากำกับการอนุญาตอยู่ดี  ปากกาจึงยังมีความสำคัญเสมอ แม้บางคนอาจจะจับคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค หรือโทรศัพท์มากกว่าปากกา แต่ความสำคัญของมันก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป นักเรียน นักศึกษาต้องเรียนหนังสือจับปากกากันทุกวัน ใช้ในการขีดเขียนงานหรือจดงานตามที่อาจารย์สั่ง คนทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพยังคงต้องพกปากกาไว้ติดตัวเสมอ เพราะการเขียนนั้นช่วยให้เราจำได้มากกว่าการพิมพ์ ช่วยให้เกิดสมาธิและตกตะกอนทางความคิด ทั้งยังสามารถช่วยพัฒนาสมองได้ดีอีกด้วยครับ

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

pencil2pens.com

supermoney.com

 luxury-insider.com

pinterest.com

digi.library.tu.ac.th

pen-perfect.com