จากหัตถกรรม สู่สถาปัตยกรรม

      การสร้างสรรค์ผลงานไม่ได้เกิดจากไอเดียใหม่ ๆ เสมอไป เพราะศิลปินที่มีชื่อเสียงบางคนนั้น ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะเดิมที่มีอยู่แล้ว และนำมาพัฒนาความคิดของตัวเอง เช่นเดียวกันกับงานสถาปัตยกรรมบางแห่ง ที่ต่อยอดไอเดียมาจากศิลปะงานหัตถกรรม กลายเป็นการรังสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ผสานความงามได้อย่างร่วมสมัยและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

      ซึ่งในยุคปัจจุบันมีสถาปัตยกรรมจำนวนมากที่ได้หยิบแนวคิดนี้มาใช้ และกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของแต่ละประเทศ ที่นักท่องเที่ยวล้วนอยากมีโอกาสได้เยี่ยมชมความงาม และวันนี้ Karuntee ได้ยกสถาปัตยกรรมบางส่วนมาให้แฟน ๆ บาริโอได้ชมกันค่ะ

 

      1. Origami Tower, ประเทศฝรั่งเศส

 

Cr. Manuelle Gautrand

 

       ตึก Origami หรือสำนักงานใหญ่ของธนาคาร Barklays ขนาด 5,800 ตารางเมตร ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการออกแบบที่เริ่มต้นจากเทคนิคของการพับ “Origami” ผลงานการดีไซน์ของ Manuelle Gautrand Architecture ที่ได้นำมาใช้กับซุ้มอาคาร (Facade) โดยการออกแบบประกอบด้วยกระจกสองชั้น คือบริเวณด้านนอกสุดของอาคารมีการใช้วัสดุกระจกพิมพ์ลายหินอ่อนมาประกอบเข้าหากัน สร้างสรรค์ให้กลายเป็นงานแบบ Origami จีบพับไปพับมา จนกลายเป็น Pattern ที่สามารถป้องกันแดดส่องเข้ามาได้ ภายในตัวอาคารจึงมีอากาศที่ไม่ร้อนจนเกินไป และกระจกชั้นในที่หลบอยู่หลังเงาของกระจกชั้นแรก เพื่อรับแสงธรรมชาติบางส่วน และดึงบรรยากาศสวยงามเข้าสู่ภายในอาคาร เพราะวัตถุประสงค์หลักของสถาปนิกคือการออกแบบให้อาคารใช้ประโยชน์จากมุมมอง และการใช้แสงจากธรรมชาติให้มากที่สุด

 

Cr. Manuelle Gautrand

 

      2. Basque Health Department Headquarters, ประเทศสเปน

 

Cr. reskyt.com

 

       อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะการพับกระดาษโอริกามิ Basque Health Department Headquarters ณ เมืองบิลเบา ประเทศสเปน เป็นอาคารที่ครอบด้วยกระจกใสตัดเหลี่ยมที่ดูไม่มีแบบแผน แต่เป็นรูปทรงเหมือนกับกระดาษโอริกามิที่ถูกพับ ซึ่งนอกจากจะทำให้อาคารสวยสะดุดตาแล้ว ยังแยบยลด้วยการให้กระจกครอบอาคารจริง แถมยังใช้การหักมุมของกระจกเพื่อช่วยลดมลภาวะทางเสียงจากถนนด้านล่างได้เป็นอย่างดี

 

      3. MAIIAM Contemporary Art Museum, ประเทศไทย

 

Cr. detail.de

 

      พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม (MAIIAM Museum)  เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้นำแรงบันดาลใจมาจากศิลปะงานฝีมือแบบไทย ๆ นั่นก็คือกำแพงวัด มาดีไซน์เป็นผนังด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับขนานนามว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย” ที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ โดยในส่วนของผนังส่วนหน้าของพิพิธภัณฑ์ที่ทำจากงานปิดกระจกเงาชิ้นเล็ก ๆ จำนวนมาก ถูกตกแต่งตั้งแต่ผนังไปจนถึงยอดอาคาร ซึ่งทางผู้ออกแบบได้ดีไซน์ในส่วนของกระจกให้เป็นรอยหยัก เพื่อไม่ให้แสงสะท้อนมากเกินไป จนกลายเป็นอาคารที่มีภาพลักษณ์ทันสมัย หรูหรา และสะดุดตาต่อผู้พบเห็น โดยทางสถาปนิกผู้ออกแบบได้เล่าถึงคอนเซปต์ในการสร้างสรรค์อาคารนี้ไว้ว่า อยากให้มันมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์เก่า ๆ ของเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ใช่ด้วยการปูกระจกแบบโบราณ จึงใช้กระจกบาง ๆ ซึ่งนำมาตกแต่งตามงานหัตถกรรมในวัด ที่เรียกว่า “กระจกเกรียบ” แทน

      พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ซึ่งภายในถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชั้นล่างถูกจัดให้เป็นหอนิทรรศการหมุนเวียน ห้องฉายภาพยนตร์ (40 ที่นั่ง) และหอทางเดินสดุดีเจ้าจอมเอี่ยมและประวัติของตระกูลบุนนาค และชั้นบนเป็นพื้นที่นิทรรศการถาวรกว่า 1,300 ตารางเมตร และห้องนิทรรศการขนาดเล็กอีก 2 ห้อง พื้นที่ตรงกลางของพิพิธภัณฑ์สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ทั้งแบบในร่มและกลางแจ้ง สำหรับกิจกรรมอย่างงานเปิดนิทรรศการ การแสดงสด และงานกิจกรรมทางการศึกษา รวมทั้งกิจกรรมเชิงสังคมต่าง ๆ โดยจะมีร้านอาหารและร้านขายของของพิพิธภัณฑ์ด้วย ออกเป็นหลายโซนด้วยกัน

 

Cr. Daily Mail

 

      4. อาคารเฟอร์นิเจอร์, สาธารณรัฐเช็ก

 

Cr. WURKON

 

      อาคารโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ห่อหุ้มด้วยเก้าอี้พลาสติกถึง 900 ตัว ผลงานหัตถกรรมทำมือสร้างสรรค์เก้าอี้สู่การตกแต่งอาคารที่ทำให้ชาวโลกตะลึงนี้ อยู่ที่ขึ้น ณ เมืองเบอร์โน (Brno) ในสาธารณรัฐเช็ก โดยบริษัทเฟอร์นิเจอร์ MY DVA Group เป็นผู้ออกแบบขึ้นมา

      หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นเก้าอี้ ก็เพราะว่าอาคารแห่งนี้เป็นโชว์รูมขายเฟอร์นิเจอร์นั่นเองค่ะ เพื่อต้องการปรับภาพลักษณ์ภายนอกของอาคารโชว์รูมเก่าที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมแบน ๆ ให้สื่อสารความเป็นตัวตนมากขึ้น จึงได้ออกแบบโดยการนำเก้าอี้พลาสติกสีดำหลายร้อยตัวมาประดับตกแต่งผนังโดยรอบอาคาร ได้รูปลักษณ์ที่แปลกตาราวกับเป็นงานประติมากรรมหรืองานศิลปะจัดวางร่วมสมัย โดยต้องการให้เปลือกนอกดังกล่าวสร้างความรบกวนให้ตัวอาคารเดิมน้อยที่สุด ในส่วนของตัวเก้าอี้จะครอบคลุมพื้นที่ 550 ตารางเมตร เต็มพื้นที่ด้านหน้าและซ้ายขวาของตัวอาคาร โดยมีกล่องสี่เหลี่ยมกรุสีดำยื่นออกมาจากด้านหน้าของอาคารที่มีเก้าอี้เรียงกันเป็นแนวยาว ทำหน้าที่เป็นทางเข้าของอาคาร เก้าอี้แต่ละตัวถูกยึดกับโครงสร้างเหล็กที่ครอบอยู่ภายนอกอาคาร และสามารถถอดออกได้เพื่อนำมาทำความสะอาด

 

Cr. WURKON

 

      5. Sandworm, ประเทศฟินแลนด์

 

Cr. Stringio

 

      ที่นี่คือ “อุโมงค์ตะไคร้บก” จากฝีมือการก่อสร้างของ Marco Casagrande ที่เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมแห่งหนึ่งที่สวยงามไม่แพ้ตึกใหญ่ ๆ เลยค่ะ จุดเด่นของผลงานชิ้นนี้ คือ การนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ในการออกแบบ โดยเลือกตะไคร้บกนำมาถักทอกันจนกลายเป็นอุโมงค์ที่ทอดยาวตลอดแนวชายหาดถึง 45 เมตร บริเวณริมหาดเมืองเวนดู ประเทศเบลเยียม โดยที่แนวคิดของการสร้างอุโมงค์แห่งนี้ เพื่อผสมผสานระหว่างศิลปะการถักทอกับงานสถาปัตยกรรมเข้าไว้ด้วยกัน และเพื่อรองรับกิจกรรมสำหรับผู้คนที่มาพักผ่อนริมหาดนั่นเอง ดูสวยงาม แปลกใหม่ สบายตา และที่สำคัญยังสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ถ้าอยากให้อยู่นาน ๆ ก็ต้องขยันต่อเติมหรือสร้างขึ้นใหม่เสมอ ๆ ค่ะ

 

Cr. Iurban

 

      6. หมู่บ้านไม้ไผ่, ประเทศจีน

 

Cr. Bloglovin’

 

      ศิลปิน Ge Qiantao ร่วมมือกับ George Kunihiro สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียง จัดตั้งงาน International Bamboo Architecture Biennale ซึ่งได้นำไม้ไผ่มาใช้ในการออกแบบรูปแบบต่าง ๆ โดยโครงสร้างแต่ละอย่างที่ออกแบบและสร้างขึ้นล้วนเรียบง่าย แต่กลับโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ สำหรับใช้เป็นที่พักรับรองและเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานเซรามิก วัตถุประสงค์ของโครงการนั้นต้องการสะท้อนรากเหง้าวัฒนธรรมของจีน ที่ไม่เพียงจะลงตัวกับสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ แต่ยังกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย

      ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าแม้เวลาจะผ่านมานานขนาดไหน มนต์เสน่ห์จากงานหัตถกรรมก็ไม่เคยลดหายไปเลยจริง ๆ ค่ะ อย่างไรก็ตาม เมื่อนำไอเดียจากงานหัตถกรรมมาต่อยอดเป็นงานสถาปัตยกรรม ก็ยิ่งหลอมรวมความงามจากศิลปะในอดีต เข้ากับศิลปะสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี แถมยังสร้างความโดดเด่นในแบบที่ไม่เหมือนใครได้อีกด้วย