vVSZIeFM9q-1ZFFQA4a1_strk4

        เพราะศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่เพียงในกระดาษ หรือผืนผ้าใบ ไอเดียใหม่ๆ จากศิลปินจึงเกิดขึ้นมากมายไม่หยุดหย่อน วันนี้เราขอเสนอบทความเกี่ยวกับการใช้เทคนิค ความเชี่ยวชาญในการเนรมิตภาพลงบนพื้นผิวเรียบและสถาปัตยกรรมต่างๆ ให้กลายเป็น “ภาพ 3 มิติ หรือ ภาพลวงตา” ที่ให้ความรู้สึกที่เหมือนจริง และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่ดูแล้วรับรองว่าต้องสร้างสีสันและความประหลาดใจให้ทุกคนได้อย่างแน่นอนครับ

 

 

      โดยส่วนมากการสร้างภาพลวงตาในงานศิลปะจะถูกเรียกว่าเป็นศิลปะแนว Op Art (อ็อพ อาร์ต) หรือ ศิลปะลวงตา เป็นชื่อที่ย่อมาจากคำว่า อ็อพติเคิล อาร์ต (Optical Art) บางทีก็มีการเรียกว่า เรทินัล อาร์ต (Retinal Art) ซึ่งหมายถึงศิลปะที่เกี่ยวกับสายตาและการมองนั่นเอง

      ศิลปะ Op Art เริ่มเข้ามามีอิทธิพลตั้งแต่ค.ศ. 1960 เป็นวิธีการสร้างสรรค์งานที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความลวงตากับพื้นผิวของภาพ และระหว่างความเข้าใจกับการมองเห็น  จะเด่นมากในการสร้างภาพนามธรรมที่เน้นรูปทรงเรขาคณิต ที่มีขอบและเส้นรอบนอกที่คมชัด ทิศทางของรูปทรงและเส้นรอบนอกมักจะหักเห ยักเยื้อง ลวงให้ตาของเราเห็นว่ามันกำลังเคลื่อนไหวอยู่ จุดสำคัญที่สุดของภาพแบบนี้คือ เป็นภาพที่มีผลต่อการมอง ทำให้เกิดการลวงตา

 

ผลงาน “A Ciel Ouvert” โดย Felice Varini

 

 

       ผลงานล่าสุดของ Felice Varini ศิลปินชาวสวิตเซอร์แลนด์ผู้บุกเบิกการสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับภาพลวงตามากว่า 30 ปี “A Ciel Ouvert” คือชื่อผลงานล่าสุดบนอาคาร La Cité Radieuse ที่ตั้งอยู่ในเมือง Marseille ประเทศฝรั่งเศส โดยผลงานชิ้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณ Open Sky บนตึก จุดมุ่งหมายคือการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวอาคารกับผู้คนที่ให้ออกมาแตกต่างกันยามที่เดินผ่านนั่นเอง

 

 

ผลงาน “Unlimited” โดย Peter Kogler

      Peter Kogler ศิลปิน วัย 30 ปี ชาวออสเตรีย ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างศิลปะภาพลวงตาโดยใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวนหาเส้นต่างๆ เพื่อสร้างภาพลวงตา และเปลี่ยนให้ศิลปะกลายมาเป็นภาพเสมือนที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงมันได้ ไอเดียผลงานนี้เป็นการนำเอาศิลปะภาพลวงตามาจัดตกแต่งในห้องว่างเปล่า ให้กลายเป็นเหมือนอีกหนึ่งมิติ โดยผลงานทั้งหมดถูกพิมพ์ขึ้นและปิดลงบนผนังกำแพง และเพดานทั้งหมดของแกลอรี่ ผลงานนี้ ถูกจัดแสดงอยู่ใน ING Art Center กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ใครที่ได้เข้าชมรับรองว่าได้มึนงงเหมือนได้อยู่อีกมิติกันอย่างแน่นอนครับ

 

 

 

ผลงาน “Shadows of Figures Walking on School Walls” โดย Anders Gjennestad

 

 

      ภาพวาดเด็กวิ่งเล่นที่ลงสีเงาเพื่อสร้างภาพลวงตาเสมือนหนึ่งเด็กกำลังวิ่งเล่นบนผนังตึกต้านแรงโน้มถ่วงเป็นผลงานของ Anders Gjennestad  ศิลปินแนวสตรีทอาร์ตชาวนอร์เวย์ ที่วาดขึ้นบนกำแพงของโรงเรียนประถมโดยใช้เทคนิคการวาดรูปซ้อนกันหลายๆ ชั้นทำให้ภาพเกิดมิติและดูลวงตาโดยส่วนสำคัญอยู่ที่เงา สร้างความสมจริงเหมือนมีขึ้นวิ่งอยู่บนตึกชนิดที่คนดูอาจแยกไม่ออกว่าเป็นของจริงหรือถูกสร้างขึ้นครับ

 

       นอกจากผลงานของศิลปินที่วาดภาพแนว Op Art ลงไปบนสถาปัตยกรรมที่ชวนให้ผู้ชมงงงวยแล้ว ยิ่งกว่านั้นบางคนยังดัดแปลงตึกหรือสิ่งก่อสร้างจริงๆ ให้เป็นภาพลวงตาแทนการวาดอย่างเดิม เหนือกว่าจินตนาการ และงาน Op Art แบบธรรมดา เรียกได้ว่าล้ำหน้าขึ้นไปอีกขั้นจริงๆ ครับ

 

ผลงาน “Krzywy Domek” โดย Szotyńscy & Zaleski

 

 

       ตึกรูปร่างแปลกตาที่เห็นนี้ เป็นศูนย์การค้าชื่อว่า Krzywy Domek หรือ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Crooked เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2004 ที่เมือง Sopot ในประเทศโปแลนด์ มีพื้นที่ทั้งหมด 4,000 ตารางเมตร ออกแบบโดย Szotyńscy และ Zaleski ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดในตำนานเทพนิยายผสมผสานกับผลงานศิลปะของ Jan Marcin Szancer และ Per Dahlberg โดยมีรูปร่างบิดเบี้ยว เหมือนอาคารที่กำลังจะละลาย ด้วยรูปร่างที่แปลกประหลาด ทำให้อาคารหลังนี้ก็ได้รับความนิยมจนกลายเป็นเป็นสถานที่ที่ใครได้ไปเมืองนี้ ก็ต้องแวะไปถ่ายรูปกับเจ้าอาคารรูปทรงบิดเบี้ยวเป็นที่ระลึก ทำให้อาคารนี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเมืองครับ

 

ผลงาน “Take My Lightning But Don’t Steal My Thunder” โดย Alex Chinneck

 

 

      เป็นผลงานศิลปะที่นำเอานวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมและจิตรกรรมมาสร้างสรรค์ผลงานอย่างลงตัว สิ่งปลูกสร้างที่ดูเหมือนภาพลวงตาของอาคารเก่าที่ปรักหักพัง และลอยคว้างอยู่กลางอากาศนี้ เป็นผลงานศิลปะที่ชื่อว่า Take My Lightning But Don’t Steal My Thunder ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดย Alex Chinneck นักออกแบบชาวอังกฤษ เป็นผลงานที่มีความกว้าง 12 เมตร และ สูงถึง 10 เมตรที่สร้างให้ดูเหมือนว่าลอยอยู่ในอากาศ

      แต่แท้จริงแล้ว Alex Chinneck เจ้าของผลงานได้เผยว่า หากมองไปทางด้านข้างจะเห็นร้านรถเข็นสีเขียวจอดอยู่ ซึ่งรถเข็นนี้เองที่มีหน้าที่รองรับน้ำหนักทั้งหมดของอาคารส่วนที่ลอยอยู่ และโครงสร้างด้านบนที่เหมือนปูนนั่นความจริงไม่ใช่ปูน แต่ได้เอาวัสดุพิเศษ (Polystyrene) มาตัดและขึ้นรูป จากนั้นก็ลงสีให้เหมือนกับอิฐ จึงทำให้มีน้ำหนักเบากว่าอิฐหรือปูนของจริงมาก จากนั้น07’เอาแผ่น Polystyrene ที่ลงสีแล้วนำแต่ละส่วนมาประกอบกัน ซึ่งผลงานนี้ก็เรียกเสียงฮือฮาให้กับคนที่เดินผ่านไปมาได้ไม่น้อยเลยครับ

 

ผลงาน “Inversion Tunnel House” โดย Dan Havel n’ Dean Ruck

 

 

      ศิลปะลวงตานี้สร้างขึ้นโดยสองศิลปิน Dan Havel และ Dean Ruck ที่เปลี่ยนบ้านธรรมดาให้กลายเป็นงานศิลปะตั้งโชว์โดยใช้กระดานไม้มาสร้างเป็นช่องเข้าไปในตัวบ้าน ที่มลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยช่องนี้จะแคบลงเรื่อยๆ จนถึงทางออกที่หลังบ้านก็เหลือเป็นเพียงช่องเล็กๆ ให้คลานออกมาได้เท่านั้น แค่ดูก็ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังมองหลุมดำอยู่ครับ

      การถ่ายทอดผลงานทางศิลปะ อย่างมีจินตนาการและสร้างสรรค์ ก็ยังมีให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะศิลปะที่ฉีกจากกรอบเดิมๆ ที่มักจะสร้างสีสันให้กับศิลปะของโลกยุคใหม่อยู่เสมอ  กระบวนการในการถ่ายทอดที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป เป็นการแปลความหมายทางศิลปะ ที่แตกต่างกันไปแต่ละมุมมอง ของแต่ละบุคคล ซึ่งไร้ขอบเขตทางจินตนาการนั้นเองครับ

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

deemagz.com

portfolios.net

pinterest.com

favforward.com

mymodernmet.com