ในปัจจุบันมนุษย์เริ่มตระหนักได้ถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของปริมาณขยะสะสมที่นับวันก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เนื่องจากวัสดุที่มีสภาพเป็นขยะนั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าชีวิตของมนุษย์ แนวคิดเรื่องการแปรรูปขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จึงกลายเป็นแนวทางในการแก้ปัญหามลภาวะของโลกมาโดยตลอด

      หลายคนอาจจำได้ขึ้นใจเกี่ยวกับเรื่อง การลดการใช้ (Reduce) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) จากสโลแกนติดปากสามคำนี้   แต่มีอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจเพิ่มเข้ามา คือ Upcycling  ที่หมายถึงการสร้างมูลค่าให้กับเศษวัสดุ  อาจจะใกล้เคียงกับการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ หรือ Reuse หรือการ Recycle ที่เป็นการนำของใช้ อย่างพวกพลาสติก กระดาษ มาแปลงสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างออกไป และทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีคุณค่าและมูลค่าต่ำลง แต่ Upcycling เป็นการสร้างความต้องการให้แก่วัสดุที่มีมูลค่าต่ำ ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นและดูน่าสนใจ

      บทความนี้บียอนขอเสนอเรื่องของการนำเศษวัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะมาจากธรรมชาติ หรือจากแหล่งอุตสาหกรรม นำกลับมาสร้างเป็นชิ้นงานใหม่ ๆ ที่มีความแปลกใหม่และน่าสนใจ  จะเป็นอย่างไรไปเริ่มกันเลยครับ….

      1. เก้าอี้จากใบไม้แห้ง beleaf chair

      ผลงานแนวธรรมชาตินิยมของ Simon Kern นักออกแบบชาวสโลวาเกีย ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ โดยนำส่วนประกอบของใบไม้แห้ง, ไบโอ-เรซินจากน้ำมันพืชที่ไม่ใช้แล้วและทรายมายึดติดด้วยกาวหลอมและนำใส่แม่พิมพ์ อีกทั้งยังเลือกใช้โครงสร้างเหล็กที่เป็นรูปเปลือกหอยเพราะต้องการทำให้เฟอร์นิเจอร์แข็งแรง

      แรงบันดาลใจในการสร้างของชิ้นนี้ เกิดจากการที่แต่ละปีในฤดูใบไม้ร่วง ต้นไม้จะทิ้งไม้ใบที่เหี่ยวเฉาลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งจริงอยู่ที่เราสามารถนำใบไม้มาใช้เป็นปุ๋ยได้  แต่การนำมาดัดแปลงเป็นเก้าอี้ นอกจากจะได้มาใช้งานแล้ว สุดท้ายเจ้าเก้าอี้ตัวนี้ก็สามารถกลับไปเป็นปุ๋ยได้เช่นเดิม เพราะมันก็จะค่อยๆ ย่อยสลายไปตามธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งงานสร้างสรรค์ที่ทำให้ใบไม้แห้งธรรมดาที่คนไม่ใส่ใจ กลับมามีมูลค่าได้ครับ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

 

      2. อิฐบล็อกกระดาษที่นั่งได้

 

 

      จากกระดาษหนังสือพิมพ์สู่อิฐบล็อกกระดาษ เป็นผลงานสุดสร้างสรรค์ของ Woojai Lee ชาวเกาหลี ที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ ที่ต้องการทำให้หนังสือพิมพ์ที่เขาอ่านอยู่ทุกวันมีประโยชน์มากกว่าการเป็นเพียงแค่กระดาษธรรมดา เพราะหนังสือพิมพ์พวกนี้ถูกผลิตขึ้นมาอย่างกว้างขวาง และถูกทิ้งเป็นเศษขยะโดยไม่เกิดมูลค่าใด ๆ เขาจึงอยากสร้างสรรค์ให้หนังสือพิมพ์พวกนี้กลับมาใช้งานและเพิ่มคุณค่าให้พวกมันด้วยการทำเป็นเฟอร์นิเจอร์  โดยการนำกระดาษมาติดกับกาวและกดทับไปในแบบที่หล่อเตรียมเอาไว้ ซึ่งความพิเศษก็คือคุณจะรู้สึกนุ่มสบายเมื่อได้สัมผัสตั้งแต่ครั้งแรก สามารถใช้เป็นโต๊ะนั่งเล่นบนดาดฟ้า หรือสร้างเป็นมุมดื่มกาแฟ แถมยังสามารถนำมาตัด ต่อ เติมให้ติดกันเป็นเก้าอี้ยาวได้ด้วยครับ

 

      3. กระเบื้องถ่านหรือ CHAR CO- Tile

 

      นวัตกรรมล่าสุดอย่างกระเบื้องถ่าน ผลสร้างสรรค์ของคนไทยผลงานของ นภดล สังวาลเพ็ชร ที่น้อยคนนักจะคิดว่านอกจากคุณสมบัติของถ่านที่สามารถปรับคุณภาพน้ำและดูดซับความชื้นและกลิ่นคาวต่าง ๆ ได้แล้ว ก็สามารถสร้างเป็นผลงานศิลปะได้อีกเช่นกัน

     กระเบื้องถ่าน หรือ CHAR CO- Tile นั้นถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน เช่น แจกัน โคมไฟ ที่รองแก้ว และการเป็นวัสดุสำหรับตกแต่งอาคาร อย่างการเป็นกระเบื้องตกแต่งผนัง โดย CHAR CO- Tile แต่ละแผ่นจะมีลวดลายที่แตกต่างกัน ซึ่งนับเป็นอีกจุดเด่นนอกเหนือไปจากการช่วยดูดกลิ่นอับและซับความชื้นได้ดี และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการหยิบเอาภูมิปัญญาของคนไทยโบราณอย่างการยาชันเรือที่เป็นการนำชันมาอุดรอยรั่วของเรือมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการทนแดด ทนฝน ซึ่งจะช่วยให้ข้อจำกัดที่เคยมีของถ่าน ไม่ว่าจะเป็นรอยดำที่มักเปื้อนมือหรือเสื้อผ้าขณะใช้งาน รวมถึงความเปราะของเนื้อถ่านนั้นหมดไป  นับเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีตามธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดีเลยละครับ

      4. Pinatex

      แผ่นหนังที่ทำจากเส้นใยสัปปะรด เป็นวัสดุทางเลือกที่ Carmen Hijosa ดีไซเนอร์และที่ปรึกษาอุตสาหกรรมเครื่องหนังชาวสแปนิชเป็นผู้คิดค้น และให้ชื่อว่า Piñatex เพราะ Piña เป็นภาษาสแปนิชที่แปลว่าสัปปะรด

       Carmen อยู่ในอุตสาหกรรมหนังมานาน และมองเห็นผลกระทบจากการผลิตหนัง จึงคิดหาวัสดุทดแทนใหม่ที่มีความแข็งแรงยืดหยุ่นโดยไม่ต้องทอหรือสานขึ้นมา จึงมาลงตัวที่พืชที่มีเส้นใยยาวและแข็งแรงอย่างสัปปะรด โดยใช้เฉพาะใบที่ตัดทิ้งหลังจากการเก็บเกี่ยวผลแล้ว เป็นอันได้ใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

      นอกจาก Piñatex ยังปลอดจากส่วนผสมของสัตว์ 100% แต่คุณสมบัติสามารถจำลองความรู้สึกเหมือนหนังสัตว์ได้เกือบทั้งหมด  คุณสมบัติที่ดีอีกอย่างคือ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ทิ้งสารพิษตกค้างด้วยครับ

 

      5. เฟอร์นิเจอร์พลาสติกจากผงไนล่อน

 

      Fabio Hendry และ Seongil Choi นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย London’s Royal College of Art ได้พัฒนาวิธีเปลี่ยนผงไนล่อนที่เหลือมาจากเครื่องพิมพ์สามมิติ ไปเป็นเฟอร์นิเจอร์และของใช้ต่างๆ

      ราว 44% ของผงไนล่อนที่ใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ  จะหลงเหลือกลายเป็นขยะสูญเปล่าและทำให้โลกสกปรก Fabio Hendry และ  Seongil Choi นั้น มีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนเจ้าขยะเหลือใช้นี้ ให้กลับมาเป็นของมีประโยชน์และสร้างมูลค่าได้อีกครั้ง  โดยการใช้โครงลวดนิเกิล-โครเมียม เป็นแกนกลาง จากนั้นวางลงในเบ้าแล้วเทผงไนล่อนที่เหลือใช้รวมกับวัสดุช่วยเสริมความแข็งแรง เช่น ทรายที่เป็นเม็ดละเอียดให้ท่วมโครงลวด เมื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าไปในโครงลวด ราว ๆ 20 นาที โครงลวดจะร้อนและหลอมละลายผงไนล่อน ให้ไหลเข้ามาห่อหุ้ม ทำให้สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานให้มีรูปร่างที่หลากหลาย   ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดวางหรือดัดโครงลวดนิเกิล-โครเมียมไว้เป็นแบบไหน

 

      Seongil Choi อธิบายว่าเทคนิคนี้ไม่ต้องใช้แม่พิมพ์ ไม่มีเครื่องยนต์กลไกมาเกี่ยวข้อง เป็นเทคนิคง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน และใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยมากในการหลอมวัสดุขึ้นมาหนึ่งชิ้น แต่สร้างประโยชน์ในการลดขยะให้โลกไปได้มากเลยครับ

 

      6. Zero Stool

 

 

      ดีไซน์สตูดิโอของ  kacama design lab จากฮ่องกง ผุดไอเดียจากการไปแวะเวียนที่ร้านเศษเหล็ก พวกเขาพบว่าวัสดุประเภทหนึ่งที่ถูกโยนทิ้ง ในปริมาณมหาศาล  ก็คือ “ปลอกพลาสติกหุ้มสายไฟ”  เพราะเมื่อมันถูกปลดออกจากสายไฟทองแดงด้านในแล้ว ทุกวันมันก็จะถูกทิ้งลงถังขยะทันที

      kacama design lab จึงเริ่มศึกษาลงลึกถึงแนวคิดการดีไซน์ที่ทำให้ขยะกลับมามีมูลค่าได้อีกครั้ง โดยสร้างสรรค์ม้านั่งทรงสูง  “Zero Stool”  ที่ผลิตขึ้นจาก ปลอกพลาสติกหุ้มสายไฟเหลือทิ้ง  Zero Stool ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนวัสดุเหลือใช้ 3 ส่วนหลักๆ คือ

      – หน้ากากพัดลมเก่า : นำมาทำเป็นโครงเหล็กรองรับที่นั่ง

      – เศษสายไฟเหลือทิ้ง : นำมาร้อยสานเข้าด้วยกันบนโครงหน้ากากพัดลม เพื่อทำเป็นส่วนเบาะนั่ง หลากสี

      – เศษไม้จากลังที่เหลือจากการขนส่งสินค้า : นำมาทำเป็นส่วนของขาเก้าอี้ให้ความแข็งแรง

ซึ่งทั้งหมดได้ถูกนำมารวบรวมและสร้างเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ ที่ทั้งสวยแปลกตา แถมยังรักษ์โลกอีกด้วยครับ

7. Pretty Plastic Plant

 

 

       Pretty Plastic Plant  โครงการพัฒนาวัสดุสำหรับงานออกแบบและสถาปัตยกรรมจากขยะพลาสติกที่มี Bureau SLA สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมและ Overtreders W กลุ่มดีไซเนอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบพื้นที่จากอัมสเตอร์ดัมเป็นแกนนำหลัก โดยมีเป้าหมายคือการเปลี่ยนจากขยะพลาสติกไปเป็นสิ่งที่มีมูลค่า สวยงาม มีเอกลักษณ์ และใช้ประโยชน์ได้ จากการรวบรวมขยะจากในครัวเรือน มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลด้วยการล้าง หลอม และแปรรูปจนเกิดวัสดุตัวใหม่ขึ้น ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากความสวยงามแล้ว ยังจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการเป็นวัสดุมุงหลังคาและ facade หน้าอาคารอีกด้วย  เป็นอีกหนึ่งแง่มุมของเศษขยะ ที่ถ้าเราเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เราก็จะทำให้มันเป็นวัสดุมีศักยภาพได้อย่างถูกที่ถูกเวลา สร้างมูลค่า และก่อเกิดประโยชน์ได้อีกยาวไกลครับ

      การเปลี่ยนแปลงเศษวัสดุที่เป็นขยะเหล่านี้  นอกจากเป็นการลดปริมาณขยะสะสมแล้ว  ยังเป็นการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงคุณค่าจากสิ่งของเหลือใช้ โดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลงให้เกิดมูลค่า ดีกว่าการถมทิ้งหรือฝังกลบ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะย่อยสลายได้หมดเมื่อไร ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้โลกเรามีขยะลดน้อยลง และน่าอยู่มากยิ่งขึ้นครับ

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

wow-design.co

creativecitizen.com

creativemove.com

tcdc.or.th

homecrux.com

pinterest.com