การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด!!

      จะดีสักแค่ไหนถ้า “ห้องสมุด” ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้ มีความสวยงาม วิจิตรตระการตา สามารถดึงดูดใจให้คนหันมาให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น ต้องขอบอกว่ามีหลายๆ ประเทศที่เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้เช่นกัน ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลย ถ้าหากคุณจะเคยเห็นภาพห้องสมุดในฝัน ที่สวยดั่งเทพนิยาย จนอยากจะเข้าไปขลุกตัวอยู่ทั้งวัน จะสวยงามสมกับที่ Karuntee พูดหรือเปล่า ต้องไปชมกันค่ะ

Admont Abbey Library, ออสเตรีย

Cr. http://braungardt.trialectics.com

      ห้องสมุด Admont Abbey (อัดโมนท์ แอบบีย์) เป็นห้องสมุดที่มีความเก่าแก่นับพันปี (สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1074) และสวยงามมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก จากการตกแต่งที่งดงามประณีต ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์บาโรก จนกลาย เป็นแปดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก “eighth wonder of the world” เลยทีเดียว ที่สำคัญห้องสมุด Admont Abbey ยังถือเป็นแหล่งรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพราะภายในได้บรรจุหลักฐานต้นฉบับทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 กว่า 1,400 ต้นฉบับ และภาพพิมพ์ที่ถูกสร้างขึ้นก่อน ค.ศ.1500 อีกกว่า 530 ชิ้น รวมไปถึงหนังสือทั่วไปอีกกว่า 200,000 เล่ม

      เมื่อมองไปรอบๆ จะถูกดึงดูดใจด้วยการตกแต่งภายในที่วิจิตร หรูหรา และสิ่งที่เป็นไฮไลท์สะกดทุกสายตาก็คือ เพดานที่งดงามและอ่อนช้อยด้วยศิลปะจากภาพวาดปูนเปียกที่ Bartolomeo Altomonte (บาร์โตโลมีโอ อัลโตมอนเต) จิตรกรวัย 80 ปี ต้องการสื่อและแสดงให้เห็นถึงลำดับพัฒนาการความรู้ของมนุษย์ในแต่ละขั้นไปจนถึงการเปิดเผยจากพระเจ้า (Divine Revelation) ซึ่งคอนเซ็ปต์หลักของการตกแต่งห้องสมุดแห่งนี้ ก็เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความคิดและการให้คุณค่ากับการรู้แจ้ง (Enlightenment) นั่นเองค่ะ

Mafra National Palace Library, โปรตุเกส

Cr. Taylor Moore

      ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในพระราชวังแห่งชาติมาฟรา Mafra National Palace (มาฟรา เนชันแนล พาเลท) ประเทศโปรตุเกส ออกแบบโดย Manuel Caetano de Sousa (มานูเอล กายตานู เดอ ซูซา) สถาปนิกชาวโปรตุเกสที่มีฝีมือในงานสถาปัตยกรรมบาโรก และโรโคโค โดยถูกสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 ตามคำสั่งของสมเด็จพระเจ้าโจอาวที่ 5

Cr. lesanges.tumblr.com

    สำหรับการตกแต่งจะเน้นสไตล์บาโรกที่ดูหรูหรา โอ่อ่า และโรโคโคซึ่งสังเกตได้จากชั้นวางหนังสือที่ถูกออกแบบโดยการใช้รูปทรงเส้นสายที่โค้งมน อ่อนหวาน รวมไปถึงไม้แกะสลักก็ทำชวนให้รู้สึกถึงความพริ้วไหวและเชื้อเชิญสายตาได้เป็นอย่างดี พื้นถูกปูด้วยกระเปื้องลายดอกกุหลายสีเทาและหินอ่อนสีขาว ทั้งยังมีห้องสมุดชื่อว่า “Rococo library” อยู่ที่ชั้นสองทางด้านหลังอีกด้วย ภายในห้องสมุดได้เก็บรวบรวมหนังสือไว้มากกว่า 35,000 เล่ม รวมถึงแผ่นหนังที่ใช้บันทึกเรื่องราวตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 จนถึงศตวรรษที่ 19 ค่ะ

Abbey Library of Saint Gall , สวิตเซอร์แลนด์

Cr. http://www.oktayaras.com

      Abbey Library of Saint Gall (แอบบีย์ ไลบารี่ ออฟ เซนต์ แกล) หรือเรียกแบบคนไทยง่ายๆ ว่า “ซงกัลเลน” เป็นห้องสมุดที่เก่าแก่และเป็นห้องสมุดของวัดทางศาสนาคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ที่เมือง St. Gall ทางตอนเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหาร Abbey of Saint Gall ห้องสมุดซงกัลเลนถูกสร้างขึ้นโดย Othmar (ออธมาร์ ) เพื่ออุทิศให้กับนักบวชชาวไอริส นามว่านักบุญ Gallus (กอลลัส) และออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ Peter Thumb (ปีเตอร์ ธัมม์) สร้าง ค.ศ. 1758-1767 โดดเด่นด้วยการตกแต่งสไตล์บาโรก รวมถึงปูนปั้นและภาพเขียนเฟรสโก้ที่ปรากฏอยู่บนเพดาน เรียกได้ว่าสวยงามและวิจิตรอลังการสุดๆ จนทางองค์การยูเนสโก้ ประกาศเป็นมรดกโลกเมื่อปีค.ศ. 1983 ที่สำคัญห้องสมุดแห่งนี้ยังมีหนังสือให้คุณเลือกอ่านประมาณ 170,000 เล่มเลยทีเดียว

The Library of El Escorial, สเปน

Cr. www.emaze.com

      ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ใน Royal Seat of San Lorenzo de El Escorial ( รอยัล ซีท ออฟ ซานโลเรนโซ เดอ เอล เอสโกเรียล) เมืองมาดริด ประเทศสเปน แต่เดิมเป็นบ้านพักเก่าแก่ของกษัตริย์แห่งสเปน Escorial เป็นอาคารขนาดใหญ่ ตัวอาคารถือเป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดของเรเนซองส์แบบสเปน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 1563 โดย El Escorial และเสร็จสิ้นลงในปี 1584 ต่อมาพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 ได้เป็นผู้ต่อเติมห้องสมุดแห่งนี้ การออกแบบภายในห้องนั้นเป็นโถงทางเดินยาว 54 เมตร สูง 10 เมตร พร้อมกับประดับประดาไปด้วยพื้นหินอ่อนและชั้นหนังสือที่ถูกแกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง รับกับเพดานโค้งมีภาพวาดปูนเปียกที่งดงามมากมาย แต่ละภาพจะแสดงให้เห็นถึงศาสตร์ 7 แขนง อันได้แก่ วาทศิลป์ การโต้วาที การดนตรี หลักภาษา คณิตศาสตร์ เรขาคณิต และ ดาราศาสตร์

Trinity College Library, ไอร์แลนด์

Cr. www.boredpanda.com

      ห้องสมุดที่นี่เปิดให้บริการสำหรับทั้งนักเรียน นักศึกษาจาก Trinity College และ University of Dublin รวมทั้งบุคคลทั่วไป Trinity College Library (ทรินิตี้ คอลเลจ ไลบารี่) เป็นห้องสมุดเก่าแก่ที่มีอายุถึง 300 ปี และยังเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดของไอร์แลนด์สร้างจากไม้โอ๊คในสมัยสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 (ระหว่างปี 1712 – 1732) มีชื่อเสียงมากในส่วนของห้องโถงยาว (The Long Room) ที่มีขนาดความยาวถึง 65 เมตร และมีชั้นหนังสือวางเรียง พร้อมด้วยรูปแกะสลักของนักปรัชญา นักเขียน รวมถึงผู้สนับสนุนการก่อตั้งห้องสมุดแห่งนี้ซึ่งมีทั้งหมดถึง 14 คนด้วยกัน อีกทั้งภายในห้องสมุดแห่งนี้ ยังบรรจุหนังสือตำราเก่าแก่กว่า 200,000 เล่ม และหนึ่งในนั้นก็มีหนังสือที่ชื่อ “The Book of Kells : Turning Darkness into Light” เป็นหนังสือคัมภีร์ภาษาละตินอันเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ จัดเป็นห้องสมุดที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์มนต์ขลังอีกแห่งนึงก็ว่าได้ค่ะ

The Clementinum, สาธารณรัฐเช็ก

Cr. www.nytimes.com

     The Klementinum (เดอะ เคลมเมนนัม) ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด Strahov Monastery (สทราฮอฟ โมนาสทรี) กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ก เป็นห้องสมุดอีกหนึ่งแห่ง ที่ได้การรับรองจากองค์กรยูเนสโก้ว่าสวยงามและอลังการมากๆ โดยห้องสมุดแห่งนี้มีอายุเก่าแก่กว่า 800 ปี ถูกตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโรก และประดับประดาด้วยจิตรกรรมบนฝาผนังที่ไล่ตั้งแต่พื้นไปจนถึงบนเพดาน ถือเป็นงานศิลปะที่สวยงามและประณีตจริง ๆ ค่ะ นอกจากนี้การจัดวางหนังสือยังมีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย บรรยากาศดี เงียบสงบเหมาะกับการอ่านหนังสือสุด ๆ ที่นี่มีหนังสือให้เลือกอ่านกว่า 200,000 เล่ม รวมหนังสือต้นฉบับ 3,000 เล่ม และหนังสือที่ตีพิมพ์ในยุคแรกๆ อีก 1,500 เล่ม ซึ่งทุกเล่มมีสภาพสมบูรณ์เพราะถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งที่นี่ยังได้มีการรวบรวมหนังสือวรรณกรรมเก่า ๆ ที่หายากไว้มากมาย โดยบางส่วนถูกมอบหมายให้ทาง Google สแกนไปเก็บเอาไว้เป็น Google Book ด้วย

John Rylands Library, อังกฤษ

Cr. http://www.library.manchester.ac.uk

      John Rylands Library (จอห์น ไรแลนดส์ ไลบารี่) ตั้งอยู่ในกรุงแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ห้องสมุดแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) ก่อตั้งในปี 1890 โดยนาง Enriqueta Rylands แต่ถูกตั้งชื่อตามสามีของเธอที่เสียชีวิตไปแล้วว่า John Rylands เพื่อเป็นอนุสรณ์

      John Rylands Library เป็นอาคารสไตล์วิคตอเรียนนีโอกอธิค สวยงามจนหลายคนบอกว่าดูราวกับวิหารหรือปราสาทมากกว่าห้องสมุดเสียอีก ภายในนั้นประกอบด้วยห้องโถงสำหรับอ่านหนังสือขนาดใหญ่ มีหนังสือมากมายหลายประเภทตั้งแต่ต้นฉบับที่เขียนด้วยมือจากยุคกลางและงานเขียนด้านศาสนา หนังสือตีพิมพ์หายาก หรือแม้แต่เอกสารและจดหมายส่วนตัวของบุคคลผู้มีชื่อเสียง เป็นต้น

     โอ้มายก๊อด…อยากจะยกห้องสมุดเหล่านั้นมาไว้ที่บ้านจริงๆ ค่ะ แต่ความเป็นไปได้แทบจะไม่มี 555 อย่างไรก็แล้วแต่ Karuntee คงต้องหาอ่านตามร้านหนังสือหรือห้องสมุดในเมืองไทยไปก่อน ไว้มีตังค์ ค่อยเพิ่มห้องสมุดไว้ในบ้านแล้วกันเนอะ 🙂