Yin-Yang-in Design_Banner 1

Yin-Yang In Design ดีไซน์สไตล์หยินหยาง

 

‘หยิน’ (สีดำ) เป็นตัวแทนของความมืด ความเย็นและความสงบนิ่ง ในขณะที่ ‘หยาง’ (สีขาว) เป็นตัวแทนของความสว่าง ความร้อนและการเคลื่อนไหว

 

 

‘หยิน-หยาง’ คือหลักแห่งความสมดุล ในดำมีขาว ในขาวมีดำ ถ้าไม่มีสีดำก็จะไม่มีสีขาว เช่นเดียวกันหากไม่มีสีขาวก็จะไม่มีสีดำ เพราะหากไม่เกิดการเปรียบเทียบเราก็จะไม่รู้ว่าสีขาวนั้นขาวแค่ไหน และสีดำนั้นดำอย่างไร ซึ่งที่กล่าวมานี้คือความขัดแย้งที่ขาดกันไม่ได้ เป็นความแน่นอนที่ไม่แน่นอน ตรงกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธที่ว่า ‘ทุกสิ่งคือความไม่เที่ยง’

 

‘หยิน-หยาง’ หากเปรียบเป็นคันชั่ง ข้างนึงเป็นหยางส่วนอีกข้างเป็นหยิน…จุดที่ดีที่สุดของคันชั่งคือจุดสมดุลตรงกลาง แต่จุดสมดุลตรงกลางนั้นมักจะอยู่ได้ไม่นานค่ะ เพราะเมื่อคนเราต้องการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้โดดเด่นเราก็มักจะสร้างสรรค์มันไปข้างใดข้างหนึ่งจนเป็นกระแสขึ้นมา แต่แน่นอนว่าหากเราเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากกว่าแล้ว เมื่อยกน้ำหนักที่วางเอาไว้ออก (เมื่อถึงจุดอิ่มตัว) คันชั่งก็จะแกว่งกลับไปอีกด้านโยกซ้ายขวาจนกว่าจะกลับเข้าสู่จุดสมดุลอีกครั้ง และการแกว่งนี้เมื่อเทียบเป็นการใช้ชีวิตก็จะค่อนข้างมีผลมากทีเดียว และการจะกลับสู่จุดสมดุลก็ต้องใช้เวลา

 

 

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็ได้ยินคำพูดที่เข้าใจยากแบบนี้มาอธิบายคำว่าหยินหยางอยู่เสมอ จนรู้สึกว่าเจ้าหยินหยางเนี่ยเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วหยินหยางมีอยู่รอบตัวเรา ทั้งในปรัชญา ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงงานออกแบบตกแต่งภายใน

 

ในด้านปรัชญา หยินหยางคือหลักสัจธรรมแห่งความสมดุล มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ คือแก่นของการใช้ชีวิต เช่น การกินอาหาร ที่จะมีการแบ่งหมวดหมู่อาหารออกเป็นหยินหยาง หรือมีฤทธิ์เย็นกับฤทธิ์ร้อน ยกตัวอย่างคือผักกับเนื้อ หากกินอย่างใดอย่างหนึ่งมากไปก็จะไม่เป็นผลดีกับร่างกาย

 

 

ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคงจะเป็นเรื่องของแฟชั่นค่ะ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาเทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วนั้นมักจะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกันเสมอ เช่น หลังจากยุคที่คนนิยมเสื้อผ้าที่มีลวดลายเยอะๆ เสื้อผ้าก็จะเน้นการออกแบบที่ใช้ผ้าสีพื้นเป็นหลัก หลังจากที่คนนิยมใส่กางเกงขาม้าที่บานออก…กางเกงที่ฮิตในยุคต่อมาก็คือกางเกงขาเดปป์ที่แนบเนื้อ หรือหลังจากที่คนนิยมใส่เสื้อผ้าฟูฟ่องหลายชั้นมากที่สุด ต่อมาก็จะเป็นยุคที่ทุกคนใส่อะไรเรียบง่ายมากที่สุดเช่นกันนั่นเองค่ะ

 

 

และในด้านงานออกแบบตกแต่งภายใน นั้นวันนี้เราจะหยิบเอาโปรเจคตัวอย่างมาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักและเห็นภาพกันค่ะ

 

Bareo New Head Office : Casa Amare โปรเจคออฟฟิศขนาด 1,400 ตารางเมตรที่ใช้หลักหยินและหยางมาใช้ในการออกแบบ Zoning ให้มีทั้งพื้นที่ส่วนทำงาน (หยาง) และ ส่วนพักผ่อน (หยิน) จัดเป็นสัดส่วนอย่างเหมาะสม ส่วนพักผ่อนจะกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ใกล้กับส่วนทำงานเพื่อให้พนักงานของเราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเปิดกว้าง

 

เพราะเราเชื่อว่าการทำงานนั้นไม่จำเป็นต้องนั่งติดกับโต๊ะทำงานเพียงอย่างเดียว ดังนั้นในส่วนพักผ่อนเราจึงดีไซน์ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถให้ทุกคนมาผ่อนคลาย คิดงานหรือรวมตัวแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ ในขณะเดียวกันเราก็ออกแบบบรรยากาศของส่วนทำงานไม่ให้เคร่งเครียดจนเกินไปแต่แฝงไว้ซึ่งความสนุกสนาน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกกระตือรือล้นและมีพลังในการทำงาน

 

ส่วนทำงาน Design Studio

 

ส่วนพักผ่อน Hall No.2

 

Stardustries : Scandinavian Office เป็นโปรเจคออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนที่เน้นการใช้สีธรรมชาติโทนร้อน (หยาง) คือ สีน้ำตาลอ่อนออกส้มและออกแดง เพราะต้นกำเนิดของสไตล์นี้มาจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นเมืองหนาว (หยิน) ทำให้การตกแต่งภายในสไตล์นี้ดูอบอุ่นมากเป็นพิเศษ แต่เมื่อสไตล์นี้เดินทางมาถึงประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน เพื่อไม่ให้บรรยากาศ ‘ร้อน’ มากเกินไปจึงใช้สีขาวและดำเข้ามาตัดให้สีในพื้นที่ดูเป็นกลางมากขึ้นและเหมาะแก่การทำงาน

 

อาจจะสงสัยกันว่าทำไมสีขาวและสีดำถึงเป็นสีกลางทั้งๆ ที่สีของสัญลักษณ์หยิน-หยางเป็นสีขาวดำ ไม่ใช่ว่าสีดำต้องเป็นสีโทนเย็น (หยิน) และสีขาวต้องเป็นสีโทนร้อน (หยาง) หรือ? …จริงๆ แล้วสีดำของหยินนั้นคือความมืด ส่วนสีขาวของหยางคือความสว่าง ดังนั้นสีขาวและดำในสัญลักษณ์จึงไม่ได้แสดงออกถึง ‘สี’ โดยตรงนั่นเองค่ะ

 

ส่วน Lobby ของโปรเจค Stardustries : Scandinavian Office

 

สิ่งที่น่าสนใจในการออกแบบตกแต่งภายในคือดีไซน์เนอร์สามารถดีไซน์ให้พื้นที่ดูเรียบหรูหรือให้ดูมีความเคลื่อนไหวก็ได้โดยการเพิ่มหรือลดองค์ประกอบเพียงหนึ่งหรือสองอย่างลงในงานออกแบบ สำหรับบ้านส่วนมากจะเน้นการออกแบบที่เรียบนิ่ง (หยิน) เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการพักผ่อน แต่หากมีหยินมากเกินไปก็อาจทำให้บ้านขาดชีวิตชีวา ดังนั้นในหลายๆ ครั้งดีไซน์เนอร์จึงมักจะเติมสิ่งที่ดูทำให้เกิดความเคลื่อนไหว (หยาง) ซ่อนลงไปในงานดีไซน์ด้วยนั่นเอง

 

Integrity Grandiose คือโปรเจคบ้านที่ที่เราอยากจะยกตัวอย่างห้องนอนมาให้ทุกท่านได้ชมกันค่ะ โทนหลักของตัวห้องจะเน้นใช้ผิวเรียบและใช้สีพื้น (หยิน) เป็นหลัก ทั้งหน้าบานไม้สีขาว ผนังทาสีทอง ชั้นวางของกระจกใสหรือพื้นไม้ขัด ทั้งนี้เพื่อรองรับลวดลาย (หยาง) ที่ภายในห้อง ทั้งลายฉลุบริเวณหน้าบานตู้เสื้อผ้ากับข้าง Partition หัวเตียงที่ฉลุอย่างสวยงาม และลวดลายที่เกิดจากการบุนวมของ Partition หัวเตียงและเก้าอี้ที่ปลายเตียงที่ดึงให้เตียงขนาดคิงไซส์ที่ปูด้วยผ้าปูที่นอนสีพื้นขึ้นมาให้โดดเด่นนั่นเองค่ะ

 

ส่วนห้องนอนของโปรเจค Integrity Grandiose

 

และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหยิน-หยางหรือหลักความสมดุลที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบ หากใครสนใจงานออกแบบอื่นๆ เพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปชมผลงานกันได้ที่ Portfolio ของเราหรือติดต่อเข้ามาได้ที่ 02 408-1341 และ 085 072-8998 เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือส่งฟีดแบ๊คเข้ามาคุยกันได้ที่ข้อความเพจ Design by Bareo ค่ะ

 

แล้วเจอกันในเดือนหน้า ขอให้ทุกคนมีความสุขไปตลอดปีนี้นะคะ

สวัสดีค่ะ 🙂