ZEN GARDEN

Zen Garden Idea

 

ความสงบและสันโดษ เปี่ยมไปด้วยจินตนาการหรือการสมมุติ กลายเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นของ Zen Garden ความเรียบง่ายและแฝงทัศนคติในการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นที่ก่อร่างสร้างตัวเกิดเป็นความงดงามเฉพาะตัว ซึ่งมีรูปแบบที่ค่อนข้างต่างจากสวนทั่วๆไป แต่ความต่างที่เป็นเอกลักษณ์นี้เองทำให้หลายๆคนหลงรัก Zen Garden

ซึ่งอยากตกแต่ง Zen Garden เป็นของตัวเองบ้างก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยล่ะค่ะ เพราะด้วยรูปแบบที่ชัดเจนของ Zen Garden ที่ทำให้เราสามารถนำมาจัดตามหรือดัดแปลงสวนที่บ้านให้มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นแบบ Zen Garden  ได้ง่าย ๆ

 

cr. https://www.overseasattractions.com

ทำความรู้จักกับ Zen Garden

สวนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากสวนจีน พร้อมๆกับการเผยแพร่เข้ามาของศาสนาพุทธในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 โดยที่เกิดจากมีพระภิกษุญี่ปุ่น 2 รูป จาริกไปศึกษาในดินแดนจีน และกลับมาตั้งลัทธิใหม่ 2 ลัทธิ คือ Shingon และ Tendi ซึ่งเป็นศาสนาพุทธแบบมหายาน ลัทธิทั้งสองนี้เน้นทางปฏิบัติ โดยให้ผู้ปฏิบัติธรรม หาที่วิเวกเข้าสู่ความเงียบของธรรมชาติ และทำสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา การจัดสวนในญี่ปุ่นจึงมีจุดเริ่มต้นจากวัดนั่นเอง

และในช่วงศตวรรษที่ 17 – 19 การเข้ามาของลัทธิ Zen ในญี่ปุ่นทำให้เกิดสวน อีกประเภทที่เรียกว่า Dry Garden (karesansui) มีลักษณะเป็นสวนแบบ Minimalism ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อให้เอื้อต่อการทำสมาธิ สวน Zen จึงเป็นสวนที่มีองค์ประกอบน้อยมากแสดงให้เห็นแก่นแท้ของธรรมชาติ สวนมีลักษณะเป็นลานกรวดที่มีต้นไม้น้อยที่สุดเพื่อให้เห็นผิวสัมผัสของหินแนวคิดในการออกแบบจึงเป็นการหยิบส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นต่างๆออกไป หากเปรียบเทียบกับสวนแบบจีน สวนจีนจะมีลักษณะเป็นตัวแทน ( Representation) สิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ อาทิ แทนภูเขา แทนน้ำตก ฯลฯ แต่ สวนญี่ปุ่น เป็นสวนที่มีลักษณะแบบชี้แนะ (Suggestion) ให้คิดว่านี่คือภูเขาผู้ชมต้องใช้ความคิดและจินตนาการคือรับรู้ถึงลักษณะการจัดสวนได้

วิธีการจัด

องค์ประกอบของสวนแบบเซนนั้นจะมีไม่มาก ออกแบบเพื่อให้เอื้อต่อการทำสมาธิเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ส่วนของหิน ส่วนของพืช และส่วนของน้ำ ซึ่งโครงสร้างในการจัดสวนหินสไตล์ญี่ปุ่นที่นำมาปรับใช้กับบ้านพักอาศัย โดยส่วนใหญ่จะนิยมจัดอยู่ในส่วนหน้าและส่วนหลังของบ้าน เพราะเป็นพื้นที่ที่แลดูโปร่ง โล่ง สบาย และการออกแบบจะเริ่มจากการปรับพื้น และเลือกพรรณไม้ รวมทั้งวัสดุตกแต่งที่เป็นพระเอกของสวนสไตล์นี้ ก็คือหินนั่นเอง

 

 

cr.Studio H Landscape Architecture

ส่วนของหิน

หลักๆที่จะทำให้สวนของเรามีกลิ่นอายสไตล์ Zen Garden ก็คือหินหลากหลายรูปทรงและหลายขนาด โดยเน้นหินตามสภาพธรรมชาติดั่งเดิม พร้อมกับหินกรวดที่โรยอยู่บริเวณกว้าง มีการวาดลวดลายลักษณะคลื่นเป็นเชิงสัญลักษณ์ของแม่น้ำ ทะเลหรือมหาสมุทร ในสมัยก่อนใช้การฝึกวาดกรวดเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่งของนิกายเซนอีกด้วย แต่ตัดมาที่ปัจจุบันก็จะลดน้อยลงเพราะยุคสมัยและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป อาจทำขึ้นมาเพื่อเพราะแค่ความสวยงาม

 

cr. https://en.wikipedia.org/

 

ตัวอย่างตามภาพจะเห็นได้ว่าการจัดสวนลักษณะแบบนี้จะเป็นไปในลักษณะที่ยืดหยุ่น สามารถจัดตามความเหมาะสมของพื้นที่ จึงทำให้การเลือกใช้หิน มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปได้ตามพื้นที่ที่เราต้องการจะจัดสรร ทั้งในเรื่องของขนาดและลักษณะ ซึ่งเราอาจจะเสริมความลงตัวด้วยการเลือกใช้โทนสีที่ใกล้เคียงกันก็จะทำในสวนของเราสมดุลได้มากขึ้น

 

cr.Studio H Landscape Architecture

 

และการจัดวางในรูปแบบนี้ ความเป็นมาของ Zen garden ก็มีความหมายที่แฝงอยู่คือ สิ่งที่เห็นถูกเปรียบเสมือนเป็นภูเขาและแม่น้ำ ซึ่งธรรมเนียมการออกแบบนั้นต้องวางหินเป็นตัวแทนภูเขาด้วยจำนวนคี่ พร้อมกับปูพื้นด้วยกรวดและทรายเสมือนกับผืนน้ำ ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอบอุ่น เย็นสบาย เหมือนกับพักผ่อนอยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความสดชื่นของธรรมชาติ

 

Studio H Landscape Architecture

ส่วนของพืช

อีกหนึ่งส่วนเติมเต็มที่สำคัญก็คือ ต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวต่างๆ การเลือกพรรณไม้มาตกแต่งจะเป็นตัวช่วยก่อให้เกิดสีสันและเรื่องราวที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ Zen Garden ยังเป็นสวนที่มีการจัดที่ยืดหยุ่นสามารถดัดแปลง เคลื่อนย้ายหรือต่อเติมมุมต่างๆได้ตลอดเวลา

 

พืชที่นิยมในการใช้จัดสวนแบบ Zen Garden

พรรณไม้ที่นิยมนำมาใช้ในการตกแต่งนั้น ประกอบไปด้วย มอส เป็นตัวแทนของความเงียบสงบ แต่การจัดสวนแบบZen ในยุคสมัยที่อาศัยความสะดวกของผู้จัด เราอาจจะเลือกใช้ปลูกเป็นหญ้าแทนก็ได้ค่ะ นอกจากนี้ยังประยุกต์กับต้นไม้ที่หาในประเทศไทยได้ง่ายๆ เช่น กุหลาบหิน กล้วยไม้  บัว สน เป็นต้น ซึ่งพรรณไม้ที่หลากหลายจะคอยสร้างสีสันให้สวนของเราเกิดความเคลื่อนไหวและน่าสนใจในทุกฤดูกาล

 

cr.Studio H Landscape Architecture

ส่วนของน้ำ

ในอดีตสวนสไตล์Zen จะไม่มีธาตุน้ำ แต่ปัจจุบันการตกแต่งลำธารหรือน้ำตกด้วยงานดีไซน์เข้ามาสร้างความสมบูรณ์ให้กับสวน Zen ยุคใหม่มากยิ่งขึ้น ทำให้ภาพรวมของสวนเกิดความสมบูรณ์แบบควรค่าแก่การพักผ่อนอย่างแท้จริง

 

Zen Garden Idea

แน่นอนว่าการจัดสวนสไตล์ Zen ยุคใหม่ๆอาจจะไม่ได้เป็นไปตามหลักการตามต้นฉบับ เพราะยุคสมัยที่ต่างไป ทำให้เราสามารถยืดหยุ่นดึงเอาเพียงจุดเด่นๆมาเลือกใช้ จึงทำให้มีไอเดียที่จะมาช่วยปรับเปลี่ยนสวนที่บ้านของเราให้มีกลิ่นอายแบบ Zen Gardenให้ได้ลองไปประยุกต์กับสวนที่บ้านของตัวเองกันดูนะคะ

 

http://seotoolbox.co

 

ในบางโอกาสเราก็เลือกใช้ทรายแทนกรวดขนาดเล็กก็สามารถทำได้เช่นกัน พร้อมกับเลือกเล่นสนุกกับการจัดเรียงของหินให้กลายเป็นเสน่ห์ที่ไม่เหมือนสวนที่ไหนเลยล่ะค่ะ

 

 

ขนาดที่แตกต่างของหินช่วยเพิ่มมิติให้กับมุมมองได้มากขึ้น  บางท่านอาจจะจัดเป็นสวนสำหรับนั่งเล่นก็สามารถเพิ่มที่นั่งไม้เข้ามา เกิดเป็นกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นรับกับสวนแบบ Zen ได้เป็นอย่างดี

 

cr. http://www.home-designing.com

 

การจัดสวนแบบ Zen สามารถเกิดขึ้นได้ตามมุมต่างๆของบ้านรวมไปถึงพื้นที่ภายในบ้าน การกำหนดขอบเขตให้กับสวนด้วยการใช้กระจกใสเป็นเสมือนรั้วเพื่อสามารถมองเห็นสวนสวยที่อยู่ภายในได้ และยังเป็นตัวช่วยในการทำให้ทรายไม่เลอะภายในตัวบ้าน

 

 

 

หรือจะเป็นมุมใต้บันไดที่สามารถซ่อนกลิ่นอายความเป็นสวนสไตล์ Zen ได้ด้วยการโรยหินกรวดและเลือกใช้แผ่นไม้วางเรียงเป็นลักษณะของทางเดิน เพียงเท่านี้ก็ได้พื้นที่ใต้บันไดเก๋ๆไม่ซ้ำใครแล้วค่ะ

 

การดูแลรักษา

ความสวยงามที่จะอยู่อย่างยั่งยืนต้องเกิดจากการดูแลเอาใจใส่หมั่นตัดแต่งกิ่งไม้ให้ดูสวยงามเหมาะสม และคอยดูแลความสะอาดพร้อมๆกับการต่อเติมและปรับเปลี่ยนสวนให้เกิดความเคลื่อนไหวที่งดงามอยู่เสมอ

 

cr. https://i.pinimg.com

 

และนี่ก็เป็นหนึ่งในสไตล์ที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับจนนำไปสู่การไหลเททางวัฒนธรรมไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วยและเชื่อว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยให้กับผู้ที่สนใจอยากจะจัดสวนแบบ Zen garden อย่างแน่นอนค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.homify.co.th/

https://th.wikipedia.org

 https://baanstyle.com

http://www.home-designing.com

Studio H Landscape Architecture