Cr. www.opm.go.th

 

      วินาทีแห่งประวัติศาสตร์ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง นับจากวันที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 เป็นต้นมา เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ว่า

     “ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตาม พระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับ เพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง

      เมื่อสิ้นพระราชดำรัส ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญแห่งการเริ่มต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ในแผ่นดินสยาม โดยในหลวงพระองค์ใหม่ ได้มีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร’

      สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระราชสมภพในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 และเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

     ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559  ที่ผ่านมา  (ทั้งนี้ ในทางนิตินัยถือว่าได้ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559)

 

      ด้วยเหตุนี้ Karuntee จึงขอนำเรื่องราวดีๆ และมุมมองแสนประทับใจ รวมทั้งพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 10 มาฝากกันค่ะ

 

ด้านการบิน

 

Cr. www.photoontour.com

 

Cr. www.photoontour.com

 

      หลายคนคงคุ้นตา “เจ้าฟ้าชาย” ผู้มีพระวรกายสูง ที่มักเสด็จพระราชดำเนินกับในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อยามมีพระราชกรณียกิจต่างๆ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติภารกิจมากมายนับไม่ถ้วน แต่อีกหนึ่งบทบาทที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ คือ การเป็นนักบิน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทรงโปรดปรานอย่างมากของพระองค์ท่านจวบจนถึงวันนี้

      สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักบินเครื่องบินขับไล่ ไอพ่น” พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี โดยในขณะที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารนั้น พระองค์ทรงสนพระทัยด้านอากาศยานและการบินมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

      เมื่อปี พ.ศ.2519 พระองค์ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรด้านการบินเพิ่มเติมมากมายหลายหลักสูต ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป หลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตี และแบบโจมตีติดอาวุธ พระองค์ทรงฝึกฝนอย่างหนักจนสามารถขับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ประเภทต่างๆได้อย่างชำนาญ และทรงต่อยอดพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการบินให้เพิ่มพูนมากขึ้น โดยทรงฝึกฝนเครื่องบินปีกตรึง (เครื่องบินที่สามารถทำการบินด้วยความเร็วสูงสำหรับจุดหมายระยะไกล) แบบต่างๆ ไปจนถึงเครื่องบินขับไล่ด้วย ทั้งนี้พระองค์ยังมีพระราชวินิจฉัยว่า วิทยาการทางการบินของเครื่องบินพาณิชย์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงได้ทรงฝึกบินในฐานะนักบินพาพาณิชย์เพิ่มเติม จนได้รับใบอนุญาตของนักบินพาณิชย์ตรี และใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก จากกรมการขนส่งทางอากาศ รวมถึงทรงได้รับใบอนุญาตครูฝึกภาคอากาศ และผู้ตรวจสอบนักบินสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ในเวลาต่อมา

      ทั้งนี้พระองค์ยังมีโอกาสได้ฝึกบินกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี “กัปตันอัษฎาวุธ วัฒนางกูร” ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรมนักบิน และ “กัปตันอภิรัตน์ อาทิตย์เที่ยง” หัวหน้าครูการบินเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737-400 เป็นผู้ถวายการฝึกให้ โดยเครื่องบินรุ่นนี้พระองค์ทรงให้ความสนพระทัยเพราะเล็งเห็นว่าเป็นเครื่องบินพระราชพาหนะที่ถวายการบินแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

      ซึ่งนอกจากพระองค์จะทรงสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วแล้ว ผู้ฝึกสอนยังกล่าวอีกว่า “พระองค์ทรงมีวินัยในการฝึกบินอย่างดีเยี่ยม เมื่อไม่เข้าใจจะทรงปรึกษาครูการบิน และนำไปปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด เช่น กรณีของสภาพอากาศ หากพิจารณาถึงการขึ้นลงของเครื่องบินขับไล่แล้ว อาจจะไม่เหมาะสมมากนัก แต่สำหรับเครื่องบินโดยสาร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำการบินขึ้นลงได้ จะทรงทำการบินเข้าสู่สนามบินนั้นทันที”

      ด้วยพระปรีชาสามารถนี้พระองค์ยังทรงนำไปใช้ประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวไทยอีกด้วย เห็นได้จากกรณีเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อเดือน ธ.ค. ปี พ.ศ. 2547 ทันทีที่ทรงทราบข่าว พระองค์ก็ทรงขับเครื่องบินโบอิ้ง 737- 400 เสด็จฯไปยังสถานที่เกิดเหตุโดยเร็ว เนื่องจากทรงเป็นห่วงเป็นใยผู้ประสบภัยพิบัติเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นน้ำพระทัยอันน่าปลื้มปีติ รวมไปถึงเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้บริษัทการบินไทย จัด “เที่ยวบินพิเศษมหากุศล” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในชื่อเที่ยวบินว่า “สายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยพระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินที่ 1 ทำการบินเองนำผู้โดยสารวีไอพีจำนวน 80 คน ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินให้โครงการนี้คนละ 1 ล้านบาท เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสู่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และกลับจากท่าอากาศยานเชียงใหม่สู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

ด้านกีฬา

 

Cr. www.bestrdnews.com

 

      สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเล่นกีฬา มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียนจิตรลดา โดยได้รับการฝึกสอนฟุตบอลจากพระอาจารย์ พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดโอลิมปิกเมลเบิร์น (ค.ศ.1956) เมื่อครั้งยังทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ณ ประเทศออสเตรเลีย ได้ทรงศึกษาหลักสูตรด้านการทหารเป็นระยะเวลา 4 ปี ที่โรงเรียนคิงส์สกูล นครซิดนีย์ และวิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา พระองค์ทรงเล่นในตำแหน่งกองหน้า และเปลี่ยนมาเล่นกองหลัง หรือ “เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ”  โดยพระองค์มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมโรงเรียนนายร้อยดันทรูนชนะเลิศฟุตบอลระดับอุดมศึกษาของประเทศออสเตรเลียอีกด้วย

     หลังจากที่สำเร็จการศึกษาและกลับมาประเทศไทย พระองค์ก็ยังไม่ทอดทิ้งกีฬาฟุตบอล โดยทรงเล่น ฟุตบอลกับข้าราชบริพาร ทหาร ตำรวจ และประชาชน ในระหว่าง เสด็จฯบ่อยครั้ง จนมีบันทึกในราชกิจจานุเบกษาครั้งเฉลิมพระเกียรติว่า เจ้าฟ้าดาราลูกหนัง

      นอกจากนี้พระองค์ยังถือเป็นผู้นำในการจัดโครงการ “Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2558 และ “Bike For Dad  ปั่นเพื่อพ่อ” ในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย

 

ด้านการทหาร

 

Cr. www.bestrdnews.com

 

      ครั้นเมื่อยังดำรงเป็นสมเด็จฯ พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในช่วงวัยเยาว์พระองค์ทรงมีอุปนิสัยที่รักในระเบียบวินัย ทั้งยังสนพระทัยเรื่องราวของกองทัพเสมอ

      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงเสด็จจากประเทศอังกฤษ เพื่อไปทรงศึกษาต่อวิชาการทหารที่โรงเรียนเตรียมทหารคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จนถึงปีพ.ศ. 2514 และในปีต่อมาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยทรงเข้าศึกษาต่อในวิชาการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ และทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อพุทธศักราช 2519

      ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อปี 2520 ถึง 2521 พระองค์ยังทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรประจำชุดที่ 56  และปี 2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

      สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีความวิริยะอุตสาหะในการฝึกฝนและเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านการทหารอยู่เสมอ เมื่อสำเร็จการศึกษาด้านการทหารที่ประเทศออสเตรเลีย พระองค์ยังทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานทางการทหารจากประเทศออสเตรเลียต่อ โดยใช้ทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูงหลักสูตรส่งทางอากาศ รวมไปถึงหลักสูตรการบินอื่นๆ โดยพระองค์เคยให้คำปฏิญาณไว้ว่า “ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิตและจะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่

 

ด้านการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมประเพณี

 

Cr. www.photoontour.com

 

Cr. www.photoontour.com

 

      สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระองค์ทรงแสดงให้ประชาชนชาวไทยได้เห็นและมั่นใจ ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงตั้งมั่นและทรงใช้อำนาจอธิปไตยไปตามครรลองคลองธรรม และตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

      ที่สำคัญพระองค์ยังทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกที่ดีของศาสนาพุทธ ได้ทรงเคยผนวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา และยังทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระราชบิดาในขณะก่อนขึ้นครองราชย์นานัปการ และในปัจจุบันยังทรงสืบต่อพระราชภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศาสนาในทุกศาสนาโดยไม่แบ่งแยกและทรงมีเมตตาต่อศาสนิกทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน

      นับเป็นบุญอันท่วมท้นของคนไทย ที่ได้อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่าน และเนื่องในวันที่ 28 กรกฎาคม นี้เป็นวันคล้ายพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 10 Karantee ขอใช้บทความนี้ เพื่อเป็นตัวแทนของพี่น้องชาวไทย ถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง และทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เพื่อเป็นมิ่งขวัญให้แก่ประชาชนชาวไทยตราบนานเท่านาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ,

บริษัท บาริโอ จำกัด