artisan-writer-cover

ช่างสิบหมู่ : ช่างเขียน

 

Cr : writer.dek-d.com

 

ในอดีตช่างสิบหมู่มีหน้าที่สนองพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ในการต่อเติม หรือปลูกสร้างพระราชวงหรือวัดหลวงส่วนพระองค์ โดยช่างสิบหมู่กลุ่มแรกที่ต้องเข้าถวายงานแด่พระมหากษัตริย์ก็คือ “ช่างเขียน” ช่างเขียนจะถวายงานกับพระมหากษัตริย์โดยการเขียนโครงสร้าง ร่างรูปแบบของสิ่งที่จะปลูกสร้างตามรับสั่งจากพระมหากษัตริย์ จากนั้นนำมาสื่อสารกับช่างสิบหมูในหมวดหมวดอื่นๆให้เข้าใจตามคำตรัสของพระมหากษัตริย์  เหตุนี้จึงทำให้ช่างเขียนเป็นหัวใจของช่างสิบหมู่

 

ในปัจจุบันงานก่อสร้างพระราชวัง หรือวัดหลวงไม่ได้มีมากมายนัก แต่ช่างเขียนยังคงมีบทบาทสำคัญ ในการถ่ายทอดเทคนิคและขั้นตอนการเขียนให้กับคนรุ่นหลัง และคอยรักษา บูรณะ ปรับปรุง ภาพวาดและภาพเขียน ที่ลวดลายเริ่มจางหายตามกาลเวลา นำมาวาดใหม่หรือแก้ไข และ ธำรงรักษาผลงานเหล่านั้นให้อยู่สืบต่อไป

 

Cr. FB : ChangSipMuatPattayaFloangMarket

 

ลักษณะของงานช่างเขียน

ลักษณะโดยทั่วไปของงานเขียนมีสองรูปแบบด้วยกัน คือ การเขียนแบบในการร่างหรือว่างแปลนการก่อสร้าง และงานจิตกรรม การวาดลวดลายต่าง ๆ โดยงานของช่างเขียนทั้งสองอย่างนี้สามารถออกแบ่งได้เป็นสองทางได้แก่ ทางพุทธศิลป์ กับทางศิลปกรรมไทย

 

Cr : supachai3833.blogspot.com

 

ทางพุทธศิลป์ จัดได้ว่าเป็นงานเขียนประเภทเขียนแบบ การออกแบบและการกำหนดโครงร่าง ก่อนทำการก่อสร้าง แสดงถึงหลักวิชาการการเขียนแบบแผนก่อสร้างเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยมีถาวรวัตถุกฎเกณฑ์ มาตรฐานที่เป็นระเบียบ 8 ประการ คือ

1.มาตราส่วน
2.ผังสถานที่
3.ผังพื้น
4.รูปตั้งด้านขื่อ
5.รูปตั้ง ด้านแป
6.รูปโครงผ่าตัด
7.สัญญาณและรายการ
8.ขยายแบบเท่าจริง และ ตรวจการก่อสร้าง

 

Cr : huexonline.com

 

งานศิลปกรรมไทย เป็นการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาจากจิตนาการ โดยมีพื้นฐานมาจากธรรมชาติของสิ่งแวดล้อม ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ศาสนา ขนบธรรมเนียม เป็นงานที่มีความละเอียดและประณีต จึงต้องใช้ความชำนาญและละเอียดรอบคอบในการจำองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ก่อนลงมือปฏิบัติ

 

ขั้นตอนการฝึกฝนการเป็นช่างเขียนทางศิลปกรรมไทย

กว่าจะมาเป็นช่างเขียนหนึ่งในช่างสิบหมู่ที่มีความสำคัญและถือเป็นหัวใจหลักของงานต่างๆไม่ใช่เรื่องง่าย  ช่างเขียนต้องผ่านการฝึกฝนการเขียนลวดลายและจดจำลายละเอียดต่างๆของศิลปะไทย โดยมีขั้นตอนหลักๆดังนี้

1. ลาย การฝึกเขียนที่เรียกว่า “การกระทบเส้น” คือ การแตะดินสอลงบนกระดาษ ให้ขีดเส้นประยาวๆ ต่อเนื่องกันไปทั้งเส้นโครง เส้นตรง เส้นก้นหอย เมื่อการฝึกหัดเขียน การกระทบเส้นเป็นไปได้อย่างชำนาญและรวดเร็วจึงจะได้ฝึกการเขียนเส้นหนัก ที่เรียกว่า “คดให้วงตรงให้ได้เส้น” และเมื่อ สามารถฝึกการกระทบเส้นและการคดให้วงตรงเส้นได้อย่างชำนาญการแล้ว ช่างเขียนจึงสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เรียกว่า “ลายไทย” ได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง

2. ภาพไทย งานเขียนภาพไทยของช่างเขียน ที่ช่างเขียนทุกคนจะต้องเรียนรู้และจดจำองค์ประกอบของภายไทยต่างๆ จดเกิดความชำนาญ และความเข้าใจ ในการนำไปใช้วาดเป็นประกอบในชิ้นงานต่างๆ โดยมีตามลำดับขั้นตอนการเรียนรูปและจำจดที่เรียกกันว่า “กระหนก นารี กระบี่ คชะ” ที่สืบทอดกันมา แต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้

 

Cr. FB : ChangSipMuatPattayaFloangMarket

 

หมวดกระหนก การฝึกเขียนเริ่มจากการวาดกระหนก ซึ่งเป็นลายที่มีแบบฉบับอยู่แล้ว โดยเริ่มฝึกเขียนส่วนประกอบต่างๆ ของลายกระหนกก่อน การเขียนส่วนใหญ่มักจะให้ความรู้สึกอ่อนไหว คล้ายเปลวไฟ และมีการเขียนบาก หรือเรียกอีกอย่างว่า การบากลาย เพื่อลดจังหวะของเส้นให้ดูงดงาม ทุกลายกระหนกล้วนต้องฝึกให้เกิดความชำนาญจนชินมือ สามารถเขียนได้ทุกทิศทางไม่ว่ากระหนกจะหันไปทางทิศใดก็ตาม

 

Cr : https://bit.ly/2OXkPdq

 

หมวดนารี  การฝึกเขียนภาพนารีหรือภาพผู้หญิงนั่น ไม่ได้เจาะจงลักษณะเฉพาะของผู้หญิงอย่างเดียว แต่หมายถึง ภาพมนุษย์ ภาพเทวดา ภาพนางฟ้า ภาพตัวพระและตัวนางอีกด้วย เมื่อเขียนภาพนางชำนาญแล้วจึงเป็นภาพของไพร่พลและชาวบ้าน ซึ่งเรียกว่า ภาพกาก หรือภาพบุคคลที่ไม่ได้มีความสำคัญมากต่อภาพรวมของภาพนั่นเอง

 

Cr : https://sites.google.com/site/annsirilak23

 

หมวดกระบี่ กระบี่แปลว่าอาวุธชนิดหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่งแปลว่าลิง แต่การวาดภาพในหมวดนี้ไม่ได้วาดเพียงแค่ลิงเท่านั้น แต่หมายถึงทุกสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น อสูรและยักษ์  การวาดชนิดนี้ต้องเริ่มจากการวาดมนุษย์ครึ่งลิงก่อน หากวาดมนุษย์ครึ่งลิงได้ชำนาญ ลำดับต่อไปคือ “การจดจำ” การแต่งกายของลิงและยักษ์ ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

 

Cr : reurnthai.com

 

หมวดคชะ คชะแปลว่า “ช้าง” เหตุผลที่ต้องแยกช้างเป็นอีกหนึ่งหมวดของการวาดนั้นเพราะว่า ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ยังเป็นสัตว์คู่บารของพระมหากษัตริย์ที่คนไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด ในการเขียนภาพขบวนแห่ หรือยกทัพออกศึกจะมีช้างเข้ามาเกี่ยวข้องในเหตุการณ์สำคัญเสมอ นอกจากนี้ช้างเป็นสัตว์ที่เขียนยากมีลายละเอียดและลักษณะเฉพาะตัว  หากช่างเขียนใดสามารถเขียนช้างได้ถูกต้อง แม่นยำ และสวยงามดีแล้ว ย่อมสามารถเขียนสัตว์อื่นๆได้อย่างแน่นอน

 

Cr : www.matichon.co.th

 

โดยในหมวดของสัตว์นั้นจะถูกแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภท คือ

1. สัตว์ที่มีอยู่บนโลก คือ สัตว์ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป
2. สัตว์หิมพานต์ มีรูปร่างแปลกประหลาด จะมีการผสมผสานกัน เช่น ลิงกับคน ส่วนล่างเป็นอีกอย่างนึง ส่วนบนเป็นอีกอย่างนึง ช่างเขียนจึงต้องจดจำให้ได้เพื่อนำมาประกอบเป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดลงในงานเขียนต่อไป

 

Cr : www.finearts.go.th

 

หน้าที่ในปัจจุบัน

หน้าที่ในปัจจุบันของช่างเขียนจะเป็นเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานวิธีการเขียนงานในรูปแบบต่างๆให้คงอยู่ และประยุกต์ให้เข้ายุคเข้าสมัยเสมอ แต่ยังคงความเป็นไทยเดิมไว้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ในด้านงานศิลปกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงนิทรรศการทางศิลปะ และการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าใจการเขียนงานศิลปกรรมไทย ทำงานร่วมกับกรมศิลปกรเพื่อทำนุบำรุง และรักษาศิลปกรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป

 

ผลงาน : จิตรกรรมฝาผนังตามแนวพระราชดำริรัชกาลที่ ๙

Cr : www.finearts.go.th

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวพระราชดำริ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม ราชประเพณี พระพุทธศาสนาโดยให้ยึดความสำคัญของพุทธรัตนสถานเป็นหัวใจของการกำหนดภาพ ทรงแก้ไขทุกภาพร่างทุกภาพอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อรักษาแบบแผนเอกลักษณ์จิตรกรรมฝาผนังของไทยอันสืบทอดมาแต่โบราณผสมผสาน กับลักษณะความสมจริงตามประวัติศาสตร์ของแต่ละสมัย ซึ่งไม่เคยปรากฏในภาพจิตรกรรมไทยประเพณีมาก่อน จึงเป็นการสร้างรูปแบบภาพเขียนที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๙

 

Cr : www.finearts.go.th

 

Cr : www.finearts.go.th

จะเห็นได้ว่าจากอดีตถึงปัจจุบัน “ช่างเขียน”  ยังคงมีบทบาทหน้าที่ในงานศิลปกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเขียนโครงสร้าง การร่างงานตัวอย่างให้กับช่างหมู่อื่น และยังคงรักษาศิลปกรรมไทยให้คงอยู่ถึงปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ผลงานที่ทิ้งไว้ แต่ยังรวมถึงขั้นตอนการเขียนที่ถ่ายทอดกันมาอย่างครบถ้วน ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ และพัฒนารูปแบบการเขียนภาพลักษณะใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาให้ทันยุคทันสมัย ช่างเขียนจึงเป็นหัวใจสำคัญในช่างสิบหมู่ทีทำให้งานศิลปกรรมไทยยังคงอยู่ไม่เสื่อมหายไปและยังอนุรักษ์ทุกอย่างไว้อย่างสมบูรณ์

 

หากท่านใดสนใจการฝึกอบรมเบื้องต้นของช่างเขียน ติดต่อที่
ศูนย์การเรียนรู้ช่างสิบหมู่ วิทยาลัยในวัง – ตลาดน้ำ ๔ ภาค พัทยา
https://www.facebook.com/ChangSipMuatPattayaFloangMarket/

 

 

 

อ้างอิง

หนังสือ ช่างสิบหมู่ กรมศิลปกร
www.finearts.go.th
www.reurnthai.com
sites.google.com/site/annsirilak23
bit.ly/2OXkPdq
www.facebook.com/ChangSipMuatPattayaFloangMarket
huexonline.com
supachai3833.blogspot.com
www.facebook.com/ChangSipMuatPattayaFloangMarket
writer.dek-d.com