พื้นที่แห่งการแบ่งปัน

     เมื่อก่อนถ้าจะนัดกลุ่มเพื่อนไปทำงานหาข้อมูลกัน สถานที่แรกที่นึกถึงกันคงจะเป็นห้องสมุด

     แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆทำให้คนเราสะดวกสบายในการหาข้อมูลหรือพูดคุยกันผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ดังนั้นปัจจุบันการทำงานของคนเราจึงไม่ได้ต้องการสถานที่ที่มีข้อมูลอัดแน่นมากมายแต่เป็นสถานที่ที่สามารถใช้เวลานั่งลงเพื่อทำงานได้ตลอดทั้งวันต่างหาก

     Co-working Space เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยในปัจจุบัน สถานที่ประเภทนี้เป็นที่สำหรับใช้พื้นที่ร่วมกันไม่ว่าจะทำกิจกรรมลักษณะไหน จะนั่งชิลหรือนั่งทำงาน มาคนเดียวหรือว่ามาเป็นกลุ่ม ซึ่ง Co-working Space กลายเป็นที่นิยมสำหรับคนในยุคปัจจุบันที่เน้นการทำงานฟรีแลนซ์หรืองานประเภทที่ไม่ต้องนั่งประจำอยู่ในออฟฟิศ สามารถเปลี่ยนร้านเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศได้ตลอดเวลา เรียกได้อีกอย่างว่าเป็น Sharing Space ที่คนมาใช้พื้นที่ร่วมกันโดยอิสระนั่นเองค่ะ

     ในต่างประเทศพื้นที่ Co-working Space กลายเป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่เพื่อไปทำงานหรือติดต่องานกับเพื่อนร่วมงานที่อาจจะอยู่ไกลคนละประเทศหรือแม้แต่คนละซีกโลกคนละเวลา

     เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีธุรกิจ Co-working Space เปิดขึ้นมากมายเลยค่ะโดยกลุ่มลูกค้าจะเน้นเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเพื่อนั่งติวนั่งทำงาน และกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องเดินทางหรือไม่ได้ประจำอยู่ที่ออฟฟิศนั่นเอง

     พอจะนึกภาพออกกันบ้างรึเปล่าคะ? ถ้ายังนึกภาพไม่ออกจะขอแนะนำตัวอย่าง Co-working Space ที่สวยแปลกตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากทั่วโลกมาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกันค่ะ

1.Patchwork, Paris

(PHOTO CREDIT: http://www.arlydesign.com)

     ‘Patchwork’ คืองานฝีมือที่นำผ้ามาปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นชิ้นงานดังนั้น Co-working Space เลยนำไอเดียนี้มาใช้เพราะสถานที่แห่งนี้เหมือนเป็นสถานที่ที่นำคนหลายรูปแบบมารวมกันไว้ในสถานที่เดียวแต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเองที่แตกต่างกันแต่กลับมาทำงานอยู่ร่วมกันเป็นปัจจัยสำคัญของสถานที่แห่งนี้เหมือนกับงานPatchwork ที่ผ้าชิ้นเล็กๆทุกชิ้นต่างลวดลายแต่สุดท้ายมารวมกันกลายเป็นงานชิ้นใหญ่

     ตัว Space เลือกใช้สีต่างๆมาตกแต่งร้านให้ดูมีสีสันและชีวิตชีวาแต่ก็ยังอยู่ในโทนที่เหมาะสมสำหรับการนั่งทำงาน มีพื้นที่ทั้งสำหรับนั่งทำงานคนเดียวและนั่งทำงานเป็นกลุ่ม โดยกลุ่มลูกค้าของ Space แห่งนี้คือนักธุรกิจ Startups, นักลงทุน, บล็อกเกอร์, ดีไซน์เนอร์, ช่างภาพและอาชีพอิสระอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องนั่งทำงานในออฟฟิศตลอดเวลานั่นเอง

2.Urban Station, Buenos Aires, Argentina

(PHOTO CREDIT :http://lebanana.com)

     ในเมืองเล็กๆอย่างอาร์เจนติน่าเองก็มี Co-working Space กึ่งคาเฟ่ให้ได้นั่งชิลและนั่งทำงานไปพร้อมกัน โดยตัวสเปซตกแต่งด้วยสีเหลืองเป็นหลักเพื่อให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ดูโมเดิร์น ทำให้บรรยากาศดูปลอดโปร่งสามารถนั่งทำงานได้ตลอดทั้งวันโดยไม่อึดอัด

     แต่นอกจากพื้นที่เปิดโล่งแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังมีห้องปิดสำหรับนัดประชุมส่วนตัวอยู่ด้วย เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทุกการใช้งานที่ต้องมีที่นั่งทำงานหรือพบปะกัน และต้องมีสถานที่คุยงาน อีกทั้งถ้าวันไหนเกิดเบื่อขึ้นมาจะเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งที่อื่นแล้วสลับวันมานั่งสเปซสีเหลืองน่ารักแบบนี้ก็ย่อมได้

3.GoGarden, Ukraine

(PHOTO CREDIT: https://www.coworker.com)

     สำหรับประเทศแห่งเกษตรกรรมอย่างยูเครนแล้ว คงจะพลาดคอนเซ็ปต์ใกล้ชิดกับธรรมชาติไปไม่ได้ ทำให้เกิดเป็น Co-working Space แห่งนี้ที่ได้นั่งทำงานอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่มองไปทางไหนก็เขียวชอุ่มไปซะหมด การนั่งทำงานกับต้นไม้แบบนี้อาจทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกสดชื่นเนื่องจากต้นไม้จะปล่อยออกซิเจนออกมาในพื้นที่ ซึ่งออกซิเจนนี่ล่ะค่ะเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องการทำงานของสมอง ถ้าหากออกซิเจนน้อยสมองก็จะไม่แล่น แต่ถ้าสมองได้รับออกซิเจนที่เพียงพอแล้วล่ะก็…สมองเราก็จะแล่นปรื๊ด เกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ เหมาะสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงที่ต้องการความกระตือรือร้นตลอดเวลา

4.UTOPIC_US, Spain

(https://www.coworkbooking.com)

     ใครบอกว่าเราจะทำงานในสนามเด็กเล่นไม่ได้กันนะ? พื้นที่ Co-working Space ในสเปนแห่งนี้ทำให้ความใฝ่ฝันในวัยเด็กของใครหลายๆคนเป็นจริงแล้วล่ะค่ะ สำหรับใครที่อยากจะทำงานในบรรยากาศชิลๆ จะได้ไม่เครียดแล้วล่ะก็ UTOPIC_US ถือว่าตอบโจทย์นั้นแล้วล่ะค่ะเพราะไม่ว่าจะนั่งทำงานในเปล นั่งทำงานบนบอลเด้งดึ๋งหรือว่าอยากจะผ่อนคลายโดยการปีนขึ้นไปนอนเล่นพักผ่อนปล่อยสมองบนตาข่ายที่ขึงอยู่ด้านนอกแล้ว ที่นี่ก็สามารถทำทุกกิจกรรมได้ทั้งหมด ทำให้สเปซแห่งนี้เป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหลุดออกจากบรรยากาศการทำงานแบบเดิมๆ แล้วได้ทำงานในพื้นที่ที่เป็นตัวของตัวเองเพื่อผลิตงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้นมานั่นเอง

5.Workshop17, Cape Town, South Africa

(PHOTO CREDIThttp://www.wolffarchitects.co.za)

     และสุดท้ายสำหรับวันนี้…Workshop17 เป็นการรีโนเวทโกดังเก่าให้กลายมาเป็นร้านค้ากึ่งสถานที่ทำงานแบบ Co-working Space

     โดยตัวสเปซของ Workshop17 นั้นจะมีขนาดใหญ่ จุคนได้มากเนื่องจากเป็นโกดังมาก่อน ซึ่งการที่มีคนมากนี้เองก็ทำให้เกิดการพบเจอและคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใหม่ๆ ร่วมกันระหว่างคนที่เราไม่รู้จัก

     การใช้พื้นที่ภายในแบบ Double Volume ทำให้แม้จะเป็นพื้นที่ปิดแต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดและเนื่องจากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ทำให้ที่นี่มีการแบ่งโซนทำงานกับโซนนั่งพักผ่อนออกจากกัน มีทั้งพื้นที่ทำงานแบบเปิดและอยู่ในห้องปิด อีกทั้งยังมี Step บันไดไว้นั่งพักผ่อนหรือฟังบรรยายได้อีกด้วย

(PHOTO CREDIT : http://www.wolffarchitects.co.za)

     ตัวร้านค้าด้านล่างเองก็มีทั้งสินค้าจากข้างนอกและสินค้าที่ผู้ใช้งาน Co-working Space สร้างสรรค์ขึ้นมาจากนั้นก็นำมาขาย เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่เป็นทั้งต้นกำเนิดของไอเดียใหม่ๆ และเป็นพื้นที่ขายเพื่อสร้างโอกาสให้กับเหล่านักธุรกิจ Startups อย่างแท้จริง

     และนี่ก็คือตัวอย่าง Co-working Space ที่เราเลือกมานำเสนอให้ทุกท่านได้รู้จักกันในวันนี้นะคะ แต่ละสถานที่ก็มีเอกลักษณ์ที่ต่างกันไปแต่สุดท้ายแล้วจุดมุ่งหมายของพื้นที่ Co-working Space ก็คือการให้คนมาอยู่รวมกัน เกิดการพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดไอเดียใหม่ๆ และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆออกมา เป็นการ Share ทั้งไอเดียและ Share ทั้งพื้นที่ร่วมกันระหว่างผู้ใช้งานที่เป็นคนที่มี Passion ไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง

     ถ้าหากใครสนใจอยากเห็นดีเทลของ Co-working Space เพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่ New Project ของเดือนนี้ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานที่ใช้ไอเดียของ Sharing Space มาเป็นธีมในการออกแบบค่ะ

     เรื่องราวของ Co-working Space อื่นๆ ที่น่าสนใจ เราอาจจะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกันใหม่ในโอกาสหน้านะคะ สวัสดีค่ะ:)

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

http://www.arlydesign.com/blog/2015/08/11/patchwork-le-nouvel-espace-de-coworking-design-by-lago-paris/

https://www.coworker.com/hong-kong/hong-kong/the-work-project-hong-kong-causeway-bay

http://lebanana.com/nota/a-cool-coworking-space/56

http://www.wolffarchitects.co.za/projects/all/watershed/

https://www.coworkbooking.com/europe/spain/madrid/utopic-us