FIRST IMPRESSION IN STORE

     First impression หรือความประทับใจแรกพบที่ดีต่อสินค้าหรือบริการแก่ลูกค้า สิ่งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่หลาย ๆ แบรนด์ชั้นนำทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจากความรู้สึกประทับใจแล้ว ยังทำให้แบรนด์นั้น ๆ ซื้อใจลูกค้าได้มากเกินกว่าครึ่ง   แต่ในยุคปัจจุบันที่ลูกค้ามีความเป็น Loyalty ต่อแบรนด์น้อยลงเพราะผู้บริโภคเปรียบเทียบราคาได้ง่ายและสะดวกในการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต   ทำให้หลาย ๆ แบรนด์ชั้นนำต้องสร้างงานสถาปัตยกรรม เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเดินเข้าร้านค้ามากยิ่งขึ้น

     Façade

     การออกแบบสถาปัตยกรรม นอกจากภายในที่ออกแบบให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดีแล้ว “Façade” หรือ “ฟาซาด” เมื่อแปลตามรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศสหมายถึง โฉมหน้า พอนำมาใช้เป็นคำศัพท์งานสถาปัตยกรรม ก็ให้ความหมายที่กระชับคือ ด้านหน้าอาคารที่มองเห็นได้ชัดเจน ก็มีส่วนสร้างความประทับใจแรกพบระหว่างคนกับสถาปัตยกรรม และมีส่วนสะท้อนภาพลักษณ์ออกมาได้เช่นกัน  ซึ่งสถาปัตยกรรมที่ตอบคำถามนี้ได้ดีประเภทหนึ่งคงจะเป็น “Flagship Store” หรือ ร้านค้าโดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม ที่ส่วนใหญ่จะสร้างความพิเศษให้กับหน้าตา โดยออกแบบ Façade ที่เน้นการใช้วัสดุที่จะช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีของร้านออกไปสู่สายตาผู้คน ที่สร้างความพิเศษให้กับอาคารได้อย่างน่าสนใจ และนำเสนอเอกลักษณ์ของแบรนด์ผ่านการออกแบบ

     Flagship Store เป็นร้านค้าที่เน้นสื่อสารและสร้างประสบการณ์ของแบรนด์กับลูกค้าว่า ที่นี่มีสินค้าครบทุกแบบ ทุกสี ทุกขนาด บริการทุกประเภท พนักงานก็ต้องคัดและฝึกกันเป็นพิเศษ ร้าน Flagship จึงเป็นเสมือนความหวังและตัววัดความสำเร็จของแบรนด์ ดังนั้นการเปิดร้าน Flagship แต่ละสาขาจะใช้เงินลงทุนสูงมาก เราจึงมักจะเห็นแบรนด์ไปเปิดร้าน Flagship กันในเมืองใหญ่เท่านั้น เพราะกำลังซื้อเยอะโอกาสการขายมีมากกว่า

     Flagship Store ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีความสวยงามและโดดเด่นไม่เหมือนกัน อยู่ที่แต่ละแบรนด์จะสื่อสารผ่านรูปลักษณ์อาคารนี้ออกมาอย่างไร อาจจะอิงประวัติศาสตร์แถวบริเวณที่ร้านค้าตั้งอยู่ หรือจะออกแบบให้ฉีกไปจากวัฒนธรรมรอบข้าง ก็ล้วนแล้วแต่สร้างสีสันและความพิเศษให้กับตัวอาคารได้อย่างน่าสนใจ และนำเสนอเอกลักษณ์ของแบรนด์ผ่านการออกแบบครับ

      MIU MIU store in Aoyama, Japan

      อาคาร 720 ตารางเมตร ของนักออกแบบชาวอิตาเลียน Miuccia Prada เป็นผู้มอบหมายให้ Herzog & de Meuron สถาปนิกชาวสวิสเป็นผู้ออกแบบอาคาร สถาปนิกกล่าวว่าคอนเซ็ปต์ที่วางไว้  จะเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน  ที่มีความสูงและรูปร่างต่างกันกับตึกอื่น ๆ ในบริเวณนั้นโดยไม่ยึดติดกับประเพณี ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น

      ตัวอาคารมีโครงสร้างทึบแสงสองชั้น  ประกอบด้วยซุ้มเหล็กยื่นห่างจากกระจกที่ด้านหน้าอาคารเพียงเล็กน้อย โดยส่วนที่ยื่นออกมานี้ทำหน้าที่เป็นกันสาดโลหะยักษ์  โดยด้านหลังเป็นผนังทองแดง ที่มีความแปลกตาและดูโดดเด่น เมื่อเข้ามาอยู่ในร้านตัวผนังทองแดงก็จะเป็น Background สี Rose Gold เพิ่มความทันสมัย เฟอร์นิเจอร์เลือกใช้เป็นสีเขียวอ่อนให้ความรู้สึกสนุกสนานเวลาเข้าไปเลือกเสื้อผ้าภายในร้าน การตกแต่งด้านในผู้ออกแบบตั้งใจให้รู้สึกเหมือนบ้านมากกว่าห้างสรรพสินค้าครับ

     Louis Vuitton Island Maison, Singapore

     เป็นร้านสาขาของ Louis Vuitton ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว ด้านในตกแต่งแนวพิพิธภัณฑ์ผสมผสานไปกับร้านขายกระเป๋า สถาปัตยกรรมที่สวยงามราวแก้วคริสตัลแห่งนี้คือ Louis Vuitton Island Maison อีกหนึ่งสถานที่ ที่ตอกย้ำความเจริญในแบบของโลกแห่งอนาคตใน Marina Bay Sands ที่ได้รวบรวมคลังแฟชั่นของ Louis Vuitton เอาไว้อย่างครบครัน ภายใต้การออกแบบของสถาปนิกที่มีชื่อเสียงอย่าง Peter Marino โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวความลึกลับอันแฝงความโรแมนติกของท้องทะเล และประสบการณ์ของนักสำรวจจากมหาสมุทรอันกว้างไกล  ด้านในอาคารตกแต่งให้เหมือนห้องโดยสารของเรือ และใช้แผ่นผ้าใบสีขาวมาตกแต่งไว้บนเพดาน เพื่อลดความร้อนจากภายนอกอาคารเนื่องจากใช้เป็นกระจกโดยรอบ  พื้นที่ขายสินค้าถูกออกแบบให้มีความอิสระ ไม่ถูกปิดกั้นด้วยผนังใด ๆ

     ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือถ้าเข้าไป Louis Vuitton Island Maison ซึ่งเป็นทางอุโมงค์ที่จะได้ชมนิทรรศการที่บอกประวัติความเป็นมาของกระเป๋า Louis Vuitton เป็นการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบแบรนด์นี้ได้มากทีเดียว

     Crystal House CHANEL Flagship Store, Amsterdam, Netherlands

 

     Crystal Houses CHANEL Flagship Store ตั้งอยู่ที่เมือง Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ย่านที่เต็มไปด้วยร้านค้าแบรนด์เนมภายใต้สถาปัตยกรรมอนุรักษ์ สถาปนิกชื่อดังอย่าง MVRDV (มีที่มาจากการรวมตัวของ Winy Maas, Jacob van Rijs และ Nathalie de Vries)  ได้เลือกบล็อกแก้วมาผสมผสานกับวัสดุเดิมอย่างอิฐ โดยไล่แสงและเงาระหว่างวัสดุ จากบล็อกแก้วใสขึ้นไปยังวัสดุอิฐทึบ ที่จะช่วยสร้างความโดดเด่นสะดุดตาให้กับอาคาร ในขณะที่ยังคงอนุรักษ์รูปแบบอาคารเดิมไว้อย่างลงตัว  ซึ่งบล็อกแก้วนั้น เป็นการใช้วัสดุรีไซเคิล ที่ต้องใช้เทคนิคในการผลิตสูงอีกด้วย นอกจากจะมีความสวยงาม โปร่งแสงแล้ว การยึดติดโดยกาวแบบพิเศษในแต่ละก้อนนั้นยังทำให้โครงสร้างมีความแข็งแรงกว่าอิฐธรรมดาเสียอีก ทำให้ Flagship Store แห่งนี้ดูสวยงามและดึงดูดขาชอปได้มากเลยทีเดียวครับ

     Christian Dior Flagship Store in seoul, Korea

     Christian de Portzamparc สถาปนิกชาวฝรั่งเศสชื่อดัง เป็นผู้ออกแบบ Christian Dior Flagship Store ในประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจาก Christian Diors ถือเป็นร้านแบรนด์เนมสุดหรูที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ในการออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เขาจึงต้องการให้อาคารแห่งนี้มีพื้นผิวที่ลื่นไหลเหมือนดั่งผ้าฝ้ายทักทอนุ่ม ๆ ของสินค้าภายในแบรนด์ หรือถ้ามองอีกนัยนึงจะให้ลักษณะเป็นเหมือนเปลือกหอย  โดยในกรุงโซลอาคารส่วนใหญ่จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำให้ Christian Dior Flagship Store โดดเด่นเหมือนดั่งประติมากรรมรูปปั้นแกะสลักขนาดใหญ่ ที่ดึงดูดทุกคนก้าวเข้าสู่ด้านใน  ด้านหลังเป็นกล่องโลหะอัญมณีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเงิน  ด้านในมีความพิเศษเป็นบันไดที่มีลักษณะเป็นริบบิ้น ที่เป็นเอกลักษณ์และถูกใช้ในทุกคอลเลคชั่นของ Christian Dior   และอีกหนึ่งไฮไลต์คือ ชั้นบนสุดจะเป็น  Café Dior โดย Pierre Hermé คาเฟ่ที่ให้บริการอาหารฝรั่งเศสเพิ่มอรรถรสให้กับการเลือกชมใน Christian Dior Flagship Store แห่งนี้ครับ

     FENDI Flagship Store in Ginza, Japan

     ร้านค้าชั้นนำของ FENDI ในสถานที่ค้าปลีกระดับโลกอย่าง Ginza Six เสนอภาพสะท้อนแสงจากกรุงโรม ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมของเมืองกับแสงไฟโตเกียวไว้ด้วยกัน  สถาปนิก Gwenael Nicolas เป็นผู้ออกแบบ โดยได้แรงบันดาลใจจาก “Colosseo Quadrato” ของโรมัน  โดยมีแสงสีขาวเป็นภาพกราฟิกที่โดดเด่นของ Palazzo della Civiltà Italiana ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมยุคทศวรรษที่ 1930 นำมาตกแต่งให้เป็นเอกลักษณ์ในแบบของ FENDI เมื่อเข้าสู่ภายในแล้วเราจะได้พบกับพื้นที่จัดวางสินค้าสไตล์บูติค ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและเต็มไปด้วยความหรูหราแบบใหม่ล่าสุด

     Sulwhasoo Flagship Store in Seoul, Korea

     ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาธุรกิจเครื่องสำอางของเกาหลีใต้ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แบรนด์เครื่องสำอางนานาชาติรวมถึงแบรนด์ของเกาหลีเอง ได้ใช้สถาปัตยกรรมภายในการสร้างแบรนด์ให้มีความโดดเด่น เพื่อดึงดูดลูกค้าและรู้จักกับร้านค้าให้มากยิ่งขึ้น โดยแบรนด์ความงามของเกาหลี ‘Sulwhasoo’ โดยนักออกแบบนาม Neri & Hu กล่าวว่า แนวคิดในการออกแบบได้รับอิทธิพลมาจากโคมไฟเอเชีย ซึ่งมีลักษณะเป็นตะเกียงโคมสี่เหลี่ยม กรอบทั้ง 4 ด้านทำจากไม้ กรุด้วยกระดาษไข และบรรจุเทียนไขไว้ข้างใน นำโครงสร้างของโคมไฟนี้มาใช้ในการออกแบบ โดยลดทอนรายละเอียดลงเหลือเพียงลวดทองเหลืองเส้นบาง ๆ ขัดเงา ถักทอกันเป็นโครงสร้างตารางสี่เหลี่ยม ให้ความรู้สึกคล้ายกรอบโครงของตะเกียง และสีทองเหลืองเองก็เปรียบเสมือนแสงจากโคมที่ส่องสว่างในยามค่ำคืน

     TOM FORD Flagship Store in Miami, United States

     เส้นสายบน Tom ford Flagship Store ที่เมือง Miami สหรัฐอเมริกาแห่งนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปแบบ Art Deco ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและด้านแฟชั่น ซึ่งการใช้วัสดุคอนกรีตเสริมใยแก้วรูปทรงเรขาคณิต (GFRC) สร้างสรรค์รูปแบบภายนอกของอาคารให้มีลักษณะเป็นเส้นหยักนั้น จะช่วยสร้างมิติของอาคารให้ดูทันสมัย และสร้างความรู้สึกที่แตกต่างจากทางเข้าที่ดูนุ่มนวล อีกทั้งการออกแบบแสงบนอาคารที่ส่องสว่างเน้นให้ลวดลายบน Façade ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ Tom ford Flagship Store แห่งนี้ดูมีเอกลักษณ์และโดดเด่นมาเลยทีเดียวครับ

      BVLGARI Flagship store, Malaysia

     ถูกสร้างโดยอาศัยให้มีความเป็นโรมัน  สไตล์เดียวกันกับร้าน Via Condotti store ในกรุง Rome   โดยมีพื้นที่ประมาณ 103 ตารางเมตร ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็น Italian Brand ได้เป็นอย่างดี

     ในครั้งนี้ Bulgari ได้ดีไซเนอร์จาก MVRDV มาเสริมทัพอีกด้วย ซึ่งมีไอเดียในการใช้คอนกรีตเสริมใยแก้ว  แล้วเติมด้วยเรซิ่นพร้อมส่องสว่างด้วยไฟ LED สีเหลือง เพื่อให้อารมณ์ของสถาปัตยกรรม Italian ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บวกกับการใช้แสงสีทองมาเป็นองค์ประกอบร่วมทำให้ร้านดูแตกต่างและโดดเด่น

     Dolce & Gabbana, Tokyo

     Dolce & Gabbana งานอลังการที่ได้ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส Gwenael Nicolas มาออกแบบ เขาตีความคำว่า “หรูหรา” อย่างชาญฉลาด ด้วยการเล่นกับความย้อนแย้งกันระหว่างความมืดกับความสว่าง แสงและเงา ผื้นผิวสีอ่อนกับสีเข้ม

     ภายในตกแต่งโดยใช้แสงสว่างเฉพาะบางจุดที่ต้องการขับเน้น ด้วยไฟสปอร์ตไลต์ที่ซ่อนไว้ตามมุมต่าง ๆ ของเพดานและผนังโดยรอบ ทำให้ของที่วางอยู่โดดเด่นขึ้นมา และอีกหนึ่งไฮไลต์ที่เรียกความสนใจได้เป็นอย่างดี คือแสงบริเวณบันได เหมือนเเดดอ่อน ๆ ยามเย็น พาเราไปสู่ห้องสีทองของแผนกเครื่องประดับ ซึ่งตัดกันกับความมืดของสีดำภายนอก

     ภายนอกตัวตึกใช้หินอ่อน Carnico marble สีชาโคล โดยให้ช่อง Window Display ที่สูงจรดตัวตึกสว่างไสวด้วยหินอ่อนสีขาวอลาเบสกาโต้ (Arabescato marble) ช่วยขับเน้นให้สินค้าดูสวยงาม และดึงดูดสายตาผู้ที่เดินผ่านไปมาครับ

     การสร้างรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามของ Flagship Store ด้วยการออกแบบอาคารที่พิเศษ และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนได้นั้น นอกจากจะสร้างความประทับใจแรกต่อสถาปัตยกรรมและแบรนด์แล้ว ยังสร้างความน่าเชื่อถือได้อีกด้วย   ดังนั้น Flagship Store ก็เปรียบได้กับหน้าตาของแบรนด์  ถ้ายิ่งออกแบบอย่างสวยงามก็จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดสายตาให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสการขายให้กับแบรนด์นั้น ๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วยครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก

globalblue.com

litawards.com

designboom.com

designboom.com

archdaily.com

pinterest.com

dezeen.com

urdesignmag.com

arch2o.com

fendi.com

tomford.com