GREEN & SUSTAINABLE

     ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม คือ การพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกัน แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ต่างคนก็ต่างมีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งแตกต่างจากทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่ในจำนวนจำกัด มนุษย์บางคนที่ขาดจิตสำนึกจึงไปเบียดเบียนธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เป็นเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งสร้างอากาศเสีย มลพิษ หรือน้ำเสีย

     ไม่เพียงแต่เราจะหาความสุขจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องสร้างต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ และนำมาสู่แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม ให้คนสามารถอยู่ได้โดยใช้พลังงานจากธรรมชาติให้น้อยที่สุด หลักการออกแบบนี้คือ สถาปัตยกรรมสีเขียว (Green Architecture) และสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน (Sustainable Architecture) เพื่อความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

Green Architecture คืออะไร ?

     สถาปัตยกรรมสีเขียว หรือGreen Architecture คือ “การก่อสร้างอาคารที่มีจุดประสงค์เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผ่านการเลือกใช้วัสดุและวิธีการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นผลจากการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน หรือ “Sustainable Architecture”  โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มุ่งเน้นการวางผังเมือง ผังชุมชน การออกแบบและก่อสร้างอาคารที่มีความกลมกลืน มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สามารถช่วยให้ผู้อยู่อาศัยรวมถึงธรรมชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี รวมถึงช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน

     แนวคิดของหลักของ Green Architect  เกิดขึ้นภายใต้กรอบความคิด “Human being should live in a harmony with nature” ซึ่งเป้าหมายสำคัญ นอกจากจะส่งเสริมให้เกิดความสมดุลของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสม ประกอบการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการใช้พลังงาน โดยมีองค์ประกอบหลักๆ 3 ส่วน คือ

  1. การออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ

    มีการคำนึงถึงการจัดวางพื้นที่ใช้สอยอาคาร ตามทิศทางแดด ลม และฝนของธรรมชาติ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างตกแต่งให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อลดการใช้พลังงานที่มากเกินความจำเป็นและทำให้เกิดความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

  1. อยู่สบาย

    หลักการอยู่สบายของมนุษย์ต้องคำนึงถึงอุณหภูมิ โดยการปรุงแต่งสภาพแวดล้อมโดยรอบอาคารเพื่อให้ภายในอาคารมีสภาวะอุณหภูมิที่พอเหมาะ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแก่อาคาร ลดความร้อนที่เกิดขึ้นแก่ตัวอาคารจากแสงอาทิตย์ การใช้พุ่มไม้เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีความเย็น เมื่อลมพัดผ่านเกิดการระเหยของน้ำ คำนึงถึงแสงสว่างอย่างเพียงพอ และที่สำคัญคือคุณภาพทางอาคาร  อีกตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับตัวอาคารเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการใช้พลังงานในอาคารเป็นอย่างมากนั้นก็คือ การดูทิศทางของแสงและทิศทางลม เพื่อให้เกิดอากาศที่ถ่ายเทได้สะดวก รวมถึงการออกแบบแต่ละห้องควรมีความลึกที่น้อยเพื่อให้แสงจากธรรมชาติเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ครับ

  2. ใช้พลังงานธรรมชาติ

    เป็นพลังงานที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ (Renewable Energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell )พลังงานจากน้ำ พลังงานจากดิน พลังงานลม พลังงานจากพืชพันธุ์ และพลังงานสัตว์จากมูลสัตว์ เป็นต้น

Sustainable Architecture คืออะไร ?

     Sustainable Architecture หรือ สถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน คือ การออกแบบอาคารเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในระหว่างการผลิตวัสดุอาคาร ในระหว่างกระบวนการก่อสร้าง รวมถึงในระหว่างช่วงอายุการใช้งานของอาคาร (เช่น การใช้ความร้อน ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการทำความสะอาด เป็นต้น) การออกแบบที่เน้นประสิทธิภาพในเรื่องของการทำความร้อนและระบบทำความเย็น การเลือกใช้แหล่งพลังงานทางเลือก เช่น ระบบทำน้ำร้อนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้พลังงานจากลม พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้น้ำฝนมารดน้ำต้นไม้ ฯลฯ

     มีการพัฒนาเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อตอบสนองสิ่งจำเป็นของมนุษย์ ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคต โดยการนำประโยชน์จากเทคโนโลยี วิธีการสร้างสรรค์ ตลอดจนการวางแผนหากลวิธี ที่จะนำสิ่งของกลับคืนรูปมาใช้ในแบบต่าง ๆ โดยที่จะยังช่วยอนุรักษ์แหล่งพลังงานที่ไม่สามารถกลับคืนมาได้ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครับ

Sustainable Architecture สามารถจำแนกหลักการที่สำคัญของวิธีการออกมาได้ 2 วิธี คือ

     Nature เป็นวิธีการพึ่งพาธรรมชาติ โดยการนำแหล่งธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ลดการใช้เทคโนโลยีเครื่องกลในอาคาร เน้นการพึ่งพาสภาวะแวดล้อมธรรมชาติให้มากที่สุด

     อีกวิธีคือ Technology เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยการดัดแปลงเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เหมาะสมเพื่อการประหยัดพลังงาน  การคัดเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมต้องเอื้อประโยชน์แก่อาคาร ทั้งในด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ  รวมถึงใช้วัสดุอุปกรณ์อื่นที่ไม่ต้องพึ่งพาวัสดุธรรมชาติ เช่น วัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณภาพ เป็นต้น

 

Cr : zenarchitects.com

ตัวอย่างสถาปัตยกรรมสีเขียว

– Mapungubwe Interpretation Centre

สถาปัตยกรรมแอฟริกันร่วมสมัยชิ้นนี้ โดดเด่นทั้งทางด้านรูปทรงซึ่งประยุกต์มาจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาวพื้นเมือง และการใช้วัสดุท้องถิ่นอย่างเช่น อิฐและหิน มาสร้างเป็นอาคารสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ผสานวิถีชีวิตและความต้องการสมัยใหม่ กับภูมิปัญญาการก่อสร้างแบบพื้นถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน อาคารรูปทรงโดดเด่นหลังนี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่า Mapungubwe National Park ทางตอนเหนือของประเทศแอฟริกาใต้ ได้รับการออกแบบโดย Peter Rich Architects นำโดย ปีเตอร์ ริช (Peter Rich) สถาปนิกชาวแอฟริกาใต้ โดยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในแทบทุกกระบวนการตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการก่อสร้างจริง

– A Forest for a Moon Dazzler 

บ้านหลังเล็กที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติหลังนี้ ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของประเทศคอสตาริก้า ได้รับการออกแบบโดย เบนจามิน การ์เซีย เซค (Benjamin Garcia Saxe) สถาปนิกชาวคอสตาริก้า

บ้านหลังนี้เองถือเป็นจุดซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่และภูมิปัญญาท้องถิ่นได้โคจรมาพบกันอย่างถูกที่ถูกเวลา  ด้วยการผสมผสานวัสดุสมัยใหม่อย่างเหล็กเข้ากับวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่และไม้ รวมทั้งผสานเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบสมัยใหม่ กับภูมิปัญญาของบ้านในแถบร้อนชื้นได้อย่างแยบยล ผนังที่โปร่งทำให้สามารถรับลมธรรมชาติ ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี ผสานกับการมีหลังคาสองชั้น ช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดด ทำให้เกิดความน่าสบายโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ  ถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่เรียบง่าย ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

– A House for All Seasons

บ้านพักอาศัยต้นแบบหลังนี้ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านฉีเจีย ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ได้รับการออกแบบโดย Rural Urban Framework (RUF) โดยมีความตั้งใจจะให้บ้านหลังนี้ เป็นต้นแบบของบ้านในชนบทที่สามารถพึ่งตนเองได้ ในการออกแบบมีการผสมผสานวิถีชีวิตแบบเกษตรกรดั้งเดิมของชนบทจีน ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ ผังของบ้านประยุกต์มาจากบ้านพื้นเมืองตามชนบทของประเทศจีน วัสดุที่ใช้ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่หาได้ในละแวกชุมชน ผสมกับวัสดุสมัยใหม่ราคาถูก โดยคำนึงถึงความทนทานในระยะยาว และเป็นวัสดุที่ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก

– Bosco Verticale

คอนโดนี้มีชื่อว่า Bosco Verticale ซึ่งแปลว่า Verticle Forest หรือ ป่าแนวตั้ง ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Boeri Studio การออกแบบคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก โดยการปลูกต้นไม้บนอาคารนี้ประหนึ่งปลูกป่าทดแทนไปในตัว แถมยังทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขและใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้นด้วย

โดยอาคารนี้ได้ออกแบบให้มีระเบียง (หรือจะเรียกว่าเป็นกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่ดีนะ) ยื่นออกมา มีความหนาพอสมควร เพื่อที่จะใส่ดินให้ปลูกต้นไม้บนชั้นต่างๆ ของอาคารได้ เหมือนกับยกบ้านเดี่ยวที่มีสวนไปซ้อนๆ กันในแนวตั้ง ต้นไม้บนอากาศจะช่วยดูดซับความร้อนจากแสงแดด ลดฝุ่น ควัน ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เปลี่ยนเป็นออกซิเจนที่ร่างกายมนุษย์ต้องการแทนครับ

     การสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมานั้น ก็เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมมนุษย์ก็ได้พบว่า การสร้างสถาปัตยกรรมโดยคำนึงถึงเพียงแค่ความต้องการของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว โดยละเลยทางด้านอื่นๆ นั้น ได้สร้างให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย  ทั้งปัญหาต่อสังคมมนุษย์เองและปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ดังนั้นเราจึงมีความพยายามค้นหาแนวทางใหม่ในการสร้างสถาปัตยกรรมที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา และได้มาซึ่งความสุขอย่างยั่งยืนในอนาคตครับ ☺

ขอบคุณข้อมูลจาก

dsignsomething.com

bloggang.com

malangphoo.com

2e-building.com

orns82.wordpress.com

pinterest.com