เคยคิดกันมั๊ยคะ…ว่าหลอดไฟ นอกจากจะให้ความสว่างและส่องแสงให้เราได้มองเห็นแล้ว มันมีประโยชน์อะไรอีกบ้าง ?

      คนทั่วไปอาจจะมองแค่ด้านเดียว แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กล้าพลิกมุม เปลี่ยนหลอดไฟให้กลายเป็นศิลปะระดับโลก หรือที่เรียกกันว่า Light Art ดั่งเช่นพวกเขาเหล่านี้ ที่มีผลงานการสร้างศิลปะจากหลอดไฟ จนโด่งดัง และกลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก แต่กว่าที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ ค่ะ ซึ่งวันนี้ Karuntee ได้หยิบยกศิลปินแนว Light Art มาเป็นตัวอย่าง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจเล็กๆ น้อยๆ เผื่อให้แฟนๆ บาริโอได้นำไปประยุกต์ใช้กับการตกแต่งบ้านกันค่ะ

คริส เลวีน (Chris Levine)

(Credit : www.guardian.co.uk)

      คริส เลวีน (Chris Levine) เป็นศิลปินและนักออกแบบผู้บุกเบิกการจัดแสดงงานศิลปะด้วยแสง โดยเขาได้เลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างเป็นภาพและแทนความรู้สึกที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงภายใน จุดเด่นของผลงานของคริส คือ การทำงานข้ามศาสตร์ ซึ่งหมายความถึงการผสมผสานชิ้นงานผ่านสื่อหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น โฮโลแกรม ภาพถ่าย และเลเซอร์ ในหลายแพลทฟอร์ม เช่น คอนเสิร์ต งานอินสตอลเลชั่น แฟชั่น หรืองานออกแบบ ซึ่งสะท้อนถึงสภาวะที่อยู่ภายในจิตวิญญาณออกเขาออกมาได้อย่างชัดเจน

      คริสเคยมาจัดนิทรรศการเดี่ยวภาพถ่ายครั้งแรกในประเทศไทย ที่โนวา คอนเทมโพรารี (NOVA CONTEMPORARY) ถนนราชดำริ เรื่องการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน และช่วยผลิตชิ้นงานศิลปะให้เกิดความน่าประทับใจ  เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2559

 

(Credit : https://www.design-milk.com)

 

      ผลงานชิ้นเด่นของคริส เลวีน คงจะหนีไม่พ้นภาพ Lightness of Being หรือพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวโรกาสเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีที่ผ่านมา ด้วยพระอิริยาบถขณะทรงหลับพระเนตร ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก เพราะเป็นภาพถ่ายที่สามารถสื่อถึงพระอิริยาบถที่สงบ ลุ่มลึกและผ่อนคลาย ทั้งยังสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์ท่านกับโลกยุคสมัยใหม่ ผ่านมุมมองความคิดรูปแบบใหม่ที่ไม่จำกัดอยู่ภายใต้พระบรมสาทิสลักษณ์ที่เขียนด้วยสีน้ำมันหรือพระบรมฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบถปกติหรือเป็นทางการเช่นเดิม

 

(Credit : https://www.Dezeen.com)

 

      She’s Light อีกหนึ่งชิ้นงานที่โด่งดังของคริส เลวีน ได้แก่ภาพถ่ายของสุดยอดนางแบบ เคท มอส ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่ภาพนางแบบระดับโลกผ่านมุมมองและแนวคิดใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร โดยผ่านเทคนิคและการจัดแสงอันเป็นเอกลักษณ์และสร้างสรรค์ เพื่อสะท้อนภาพความสงบนิ่ง (Stillness) ของผู้หญิงทั่วไป มากกว่าการนำเสนอภาพของสุดยอดนางแบบระดับโลก

 

คลิปประกอบ :

เรฟิก อนาดอล (Refik Anadol)

(Credit : https://www.refikanadol.com)

      เรฟิก อนาดอล (Refik Anadol) เป็นศิลปิน รวมทั้งสื่อและผู้กำกับภาพยนตร์จากอิสตันบูล จุดเด่นของผลงานเรฟิก คือ การสร้างสรรค์ผลงานจากธรรมชาติของพื้นที่ โดยเขามักจะเปลี่ยนข้อจำกัดต่างๆ ให้กลายเป็นจุดเด่นและสร้างลูกเล่นให้กับแต่ละสถานที่ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เรฟิกเป็นศิลปินที่ชื่นชอบการทำงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ เขาได้เลือกใช้การแปลงข้อมูลพาราเมติกหรือการออกแบบด้วยชุดคำสั่ง มากำหนดเป็นโครงสร้างและรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ ให้ผลลัพธ์เป็นประติมากรรมและเพอร์ฟอร์มานซ์ภาพที่น่าสนใจ แนวความคิดหลักในการทำงานของเรฟิก ได้แก่ การพร่าเลือนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นดิจิทัลและกายภาพจริง ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและสื่อศิลปะได้อย่างลงตัว

      ผลงานล่าสุดของเรฟิกซึ่งโด่งดังไม่แพ้ชิ้นงานไหน ๆ ได้จัดแสดงที่งานเทศกาลดนตรี  SXSW (South by Southwest งานประชุมสัมมนาและงานเทศกาลประจำปีของวงการเพลง ภาพยนตร์ และการสื่อสาร (Interactive) ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี) ที่เมืองออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผลงานของเรฟิกมีชื่อว่า ‘Infinity’ โดดเด่นด้วยการออกแบบแสงในห้องกระจก และติดตั้งโปรเจ็กเตอร์เพื่อให้แสงสามารถสะท้อนไปมาจนเกิดเป็นแพทเทิร์นบนผนังทั้ง 4 ด้าน ให้ความรู้สึกคล้ายกับกล้องคาไลโดสโคปที่เป็นภาพสะท้อนกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเขาได้กล่าวถึงแนวคิดคอนเซปต์นี้ว่า “แสงคือองค์ประกอบหลักของการทดลอง เป็นความพร่าเลือนที่เชื่อมต่อขอบเขตระหว่างความจริงและพื้นที่เสมือน”

 

(Credit : https://www.dezeen.com/)

 

คลิปประกอบ :

โซว ฟูจิโมโตะ (Sou Fujimoto)

(Credit : https://www.sou-fujimoto.net/ )

     หลายคนอาจจะคุ้นชื่อโซว ฟูจิโมโตะ (Sou Fujimoto) ในนามของสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่เปลี่ยนสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมรูปแบบการดีไซน์ที่แปลกและเหนือความคาดหมาย

      ไม่เพียงแค่งานด้านสถาปัตยกรรมหรือตกแต่งภายในเท่านั้นที่ฟูจิโมโต้เชี่ยวชาญ แต่เขายังมีความชื่นชอบและสร้างสรรค์งานผ่านสื่อใหม่อย่างแสงไฟมาให้เห็นเสมอ ซึ่งชิ้นงานที่โดดเด่นจนเป็นที่กล่าวขาน ถูกจัดแสดงที่เทศกาลออกแบบเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ในปี 2016 โดยเป็นผลงานการออกแบบที่เขาเลือกใช้สปอต์ไลท์ กระจก และเสียง มาสร้างเป็น “ป่าแห่งแสง (Forest of The Light)” ฟูจิโมโตะใช้สปอต์ไลท์ในการสร้างพื้นที่ให้เกิดแสงกับเงา โดยลำแสงจะตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของผู้เข้าชมที่เกิดขึ้นภายในห้อง Cinema Arti โรงภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1930 โดยสถาปนิกระดับตำนานอย่างมาริโอ เชรกินี (Mario Cereghini)

 

(Credit : https://www.dezeen.com/)

 

คลิปประกอบ :

แพทริค โรชอน (Patrick Rochon)

(Credit : https://www.patrickthelightpainter.com)

     แพทริค โรชอน (Patrick Rochon) ศิลปิน Light Painting ระดับโลกชาวแคนาดา ผู้ใช้แสงไฟวาดลวดลายออกมาเป็นภาพถ่ายอันโดดเด่น แปลกตา แต่ทว่ามีพลังส่งมาถึงคนดูได้อย่างลึกล้ำ กินใจ ราวกับร่ายเวทมนตร์ แต่เดิมแพทริคเป็นช่างภาพที่เน้นการถ่ายภาพทั่วๆ ไป จนเมื่อปี 1992 เขาได้เริ่มถ่ายภาพแนว Light Painting และได้ใช้เวลาฝึกฝนและเรียนรู้ในการถ่ายภาพแนวนี้นานถึง 5 ปี จึงได้ค้นพบว่าสไตล์นี้แหละคือตัวตนที่แท้จริงของเขา จากนั้นจึงผันตัวเองมาศึกษาด้าน Light Painting อย่างจริงจัง แต่ก็ยังประยุกต์ความรู้ทางศาสตร์และศิลป์ของการถ่ายภาพทั่วไปเข้าไว้ด้วยกัน

      แพทริคทราบดีว่าในท่ามกลางความมืด หากมีแสงส่องกระทบกับวัตถุนั้น แสงจะสะท้อนทำให้เกิดการมองเห็น และเมื่อถูกบันทึกภาพกล้องที่ปรับอย่างลงตัว เขาจะสามารถบันทึกเส้นสายลายแสงตามจังหวะการเคลื่อนไหวได้ สามารถสร้างสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงให้มีตัวตนขึ้นมา ทำให้เกิดเป็นมิติใหม่สู่จินตนาการให้แก่ผู้ชม ถือว่าลวดลายของแสงไฟเป็นจุดเด่นในผลงานของแพทริค ทั้งรูปแบบของภาพถ่าย และในรูปแบบของ Live Performance ทุกชิ้นงานล้วนสร้างความงาม ตรึงตา ตรึงใจแก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี

       แพทริคเป็นช่างภาพที่สั่งสมประสบการณ์การถ่ายภาพมานานกว่า 20 ปี และผลงานของเขาถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ มากมาย เช่น นิตยสารแฟชั่น และดนตรีร็อค โปสเตอร์ ปกอัลบั้มของศิลปิน ทั้งยังได้รับรางวัลถ่ายภาพมากมายเช่นกัน

 

(Credit : https://www.ufunk.net , https://www.diyphotography.net)

 

คลิปประกอบ :

Loop.pH Studio

      Loop.pH Studio เป็นสตูดิโอที่เน้นการออกแบบงานดีไซน์ศิลปะจากแสงไฟแห่งหนึ่งในลอนดอน ประเทศอังกฤษ และที่ Karuntee หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง เพราะที่นี่มีผลงานที่โดดเด่น ไม่แพ้ตัวศิลปินระดับโลกเลยค่ะ ซึ่งผลงานที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเลยก็ คือ ‘Tree Lungs’ หรือ ปอดต้นไม้ คือ งานศิลปะแนว Conceptual Art Installation หนึ่งในโครงการ ‘EnergyFutures’  ที่ถูกสร้างสรรค์และจัดแสดงอยู่อย่างต่อเนื่องในงานศิลปะประจำปี Fantastic 2012 ตั้งแต่ตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงต้นปี 2013 ที่เมือง Lille ประเทศฝรั่งเศส

      Tree Lungs เป็น Art Installation แบบต่อเนื่อง จัดขึ้นในสวนสาธารณะท้องถิ่น โดยถูกผสมผสานความเป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว จุดเด่นของชิ้นงานคือการถูกนำไฟไปประดับบนยอดต้นไม้ โดยแสงไฟที่ใช้นั้นเกิดจากการเก็บสะสมพลังงานจากแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน และแปรรูปพลังงานมาใช้เป็นแสงสว่างแทนไฟฟ้าในตอนกลางคืน ลักษณะเด่นอีกหนึ่งอย่างคือการออกแบบรูปทรงสไตล์ Organic หรือรูปทรงนามธรรมคล้ายๆ กับเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เพื่อต้องการสื่อสารให้เกิดแรงบันดาลใจและจินตนาการกับผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นถึงสวนสาธารณะในอนาคต ที่สามารถแปลงพลังงานชีวิตทั้งจากแสงอาทิตย์และต้นไม้ในแต่ละพื้นที่มาหมุนเวียนใช้เป็นพลังงานทดแทนการใช้ไฟฟ้าได้

 

(Credit : https://www.dezeen.com , https://www.arch2o.com)

 

คลิปประกอบ :

Anila Quayyum Agha
13.anila

(Credit : https://www.anilaagha.com)

      Anila Quayyum Agha  ศิลปินสาวชาวปากีสถาน เป็นผู้ชนะรางวัล Artprize ประจำปี 2014 ซึ่งได้รับเสียงโหวตอย่างท่วมท้นจากทั้งผู้ชมและคณะกรรมการ ได้จัดงานสถาปัตยกรรม “Intersections” ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Grand Rapids มลรัฐมิชิแกน ผลงานที่วิจิตรบรรจงด้วยอุปกรณ์เรียบง่ายเพียงไม่กี่ชิ้น ได้แก่ หลอดไฟ 1 หลอด และกล่องไม้ขนาด 6.5 ฟุต ที่ฉลุลายอิสลาม ถือเป็นผลงานชิ้นเด่นที่อาศัยลูกเล่นระหว่างเงากับแสงไฟซึ่งประกอบไปด้วยลูกบาศก์ไม้ตัดด้วยเลเซอร์และแกะสลักลวดลายอย่างประณีตพร้อมกับส่องไฟออกมาจากข้างในและปรากฏภาพเรขาคณิตคล้ายลายลูกไม้สยายกิ่งก้านแผ่ลงบนฝาผนัง เพดานและพื้นห้อง โดยใช้หลอดไฟเพียงหลอดเดียว

      Quayyum  กล่าวว่า “ผลงาน Intersections คือลวดลายเรขาคณิตที่ปรากฏอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม และเป็นผลงานของกลุ่มศิลปินที่เติบโตในปากีสถาน ลายสลักไม้ดังกล่าวเลียนแบบมาจากพระราชวังอาลัมบรา ซึ่งเป็นศูนย์รวมของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและศิลปะ และยังเป็นสถานที่ที่ชาวมุสลิมและชาวตะวันตกมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รวมถึงสื่อถึงความแตกต่างที่ต้องมาอยู่ร่วมกันด้วย” ซึ่งแรงบันดาลใจหลักที่ทำให้ Quayyum ออกแบบชิ้นงานนี้มาจาก

      “ความรู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้เมื่อได้ไปเยือนพระราชวังอาลัมบรา บวกกับความทรงจำในช่วงเวลาต่าง ๆ และสถานที่สำคัญที่ผ่านมาในชีวิตของฉันจึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาค่ะ” Quayyum กล่าว

 

(Credit : https://www.designboom.com)

 

คลิปประกอบ :

      เรียกได้ว่าแต่ละผลงานนั้นโดดเด่นและไอเดียเจ๋งจริงๆ เลยค่ะ ถ้าลองนำมาประยุกต์ใช้กับการเลือกไฟตกแต่งภายในบ้าน ก็คงจะได้บ้านที่สวยแปลกตาและสร้างสรรค์ไปอีกแบบ สิ่งเหล่านี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่าศิลปะมันไม่ได้แค่ด้านเดียวหรือไม่ได้มีแค่ภาพวาดและภาพถ่ายเท่านั้น แต่ศิลปะมันมีอยู่ในทุกๆ ที่ จนบางครั้งเราเองก็คาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว