Tea-winter

จิบชารับลมหนาว (ภาคชาจีน)

ชา (Tea) เป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นหอม อันเกิดจากการนำเอาน้ำร้อนราดลงบนใบชาตากแห้ง (ที่ผ่านกรรมวิธีการเตรียมใบ) และด้วยขั้นตอนการชงที่ง่ายแสนง่าย ไม่ซับซ้อนหรือยุ่งยาก จึงทำให้ชาเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่จัดว่าเป็นแหล่งกำเนิดของการดื่มชา ซึ่งสามารถนับย้อนหลังไปได้นานถึง 5,000 ปีทีเดียวค่ะ

 

กล่าวกันว่า เทพเสินหนง หรือเทพเจ้าแห่งการเกษตรของจีน เป็นคนแรกที่ค้นพบการดื่มชา โดยเล่ากันว่า วันหนึ่ง เสินหนงได้มานั่งพักผ่อนอยู่ใต้ต้นชาใหญ่ และต้มน้ำเพื่อดื่ม บังเอิญมีใบชาปลิวลงร่วงหล่นลงในน้ำที่ต้มนั้นพอดี เสินหนงได้ทดลองดื่มดู ก็รู้สึกว่ามีรสชาติดี ให้ความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า จึงนำเอาใบชามาแนะนำให้ชาวบ้านได้ดื่มกันจนเป็นที่แพร่หลายแต่นั้นเป็นต้นมา

 

และเมื่อหลายปีก่อน ทาง Website บาริโอของเราเคยมีบทความเกี่ยวกับการ จิบชาเพื่อสุขภาพ โดยในบทความนั้น มีการบรรยายเกี่ยวกับชาแต่ละชนิดไว้พอเป็นสังเขป ทำให้เราได้รู้จักกับชาประเภทต่างๆ อันได้แก่ ชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลงและชาดำ แต่ในความเป็นจริง ชาที่ดื่มกันทั่วโลกนั้น มีหลายร้อยชนิด และแต่ละชนิดก็ให้รสชาดและความหอมที่แตกต่างกันออกไปมากมายเชียวค่ะ

 

 

ในประเทศแถบตะวันตกจะนิยมดื่มชา ประเภทชาผสม หรือ Blend Tea ซึ่งเกิดจากชาดำ (Black Tea) หรือชาหมัก ซึ่งเป็นใบชาที่ผ่านกรรมวิธีการตากและการหมักเพื่อให้เกิดกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว จากรัฐอัสสัม (Assam)ในประเทศอินเดีย, Ceylon หรือ Darjeeling หรือจากประเทศเนปาล เป็นต้น แล้วนำใบชาเหล่านี้ไปผสมกันเอง หรือผสมกับเครื่องเทศต่างๆ เช่น  Bergamot, เปลือกของ Lemon หรือ เปลือกส้ม ทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติที่แปลกใหม่เช่น English Breakfast, Earl Grey หรือ Lady Grey โดยชาผสมเหล่านี้ จะนิยมเติมนม และน้ำตาล เพื่อให้มีรสชาติที่อร่อยมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

 

นอกจากนี้ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น บริษัทชาหลายแห่งจึงนิยมนำชาผสม (Blend Tea) เหล่านี้ มาแบ่งเป็นซองเล็กๆ ห่อในกระดาษ หรือผ้าขาวบาง เพื่อให้สะดวกต่อการชงดื่มเป็นถ้วยๆ อีกด้วยค่ะ

 

 

ในขณะที่ซีกโลกตะวันออกอย่างเช่น ประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น จะนิยมดื่มชาใบ (Loose Leaf Tea) หรือชาจีน (Chinese Tea) ซึ่งเมื่อนำมาชงกับน้ำร้อน ก็จะให้กลิ่นหอมที่เป็นธรรมชาติ และมีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีทั้ง มีกลิ่นหอมหวาน หอมแบบใบหญ้า หรือกลิ่นดอกไม้ แม้กระทั่งกลิ่นหอมนม!

 

และด้วยกลิ่นหอมที่แตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงคุณประโยชน์ต่างๆ รำเพยจึงอยากจะเชิญชวนผู้อ่านของบาริโอทุกท่านที่รักและหลงใหลในการออกแบบและตกแต่งภายใน ให้มาพักดื่มชาหอมๆ ด้วยกันในสวนสวย ในฤดูหนาวแบบนี้ค่ะ

 

ชาจีน ที่เป็นชาใบ จะมีถิ่นที่ปลูกอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เช่นแถบยูนนาน, เสฉวน หรือกุ้ยโจว เป็นต้น ด้วยภูมิประเทศและภูมิอากาศที่หลากหลายโดยธรรมชาติ ทำให้ได้ใบชาที่มีรสชาติหลากหลาย ซึ่งเจ้ารสชาติที่หลากหลาย ยังมีกรรมวิธีการชงชาที่แตกต่างกันออกไปสำหรับชาแต่ละชนิด เพื่อให้ได้กลิ่นและรสชาติที่ดีที่สุดอีกด้วยค่ะ ทั้งนี้ การชงชาที่นิยมกันในปัจจุบัน จะมี 3 วิธีใหญ่ๆ คือ แบบคลาสสิค (Classic), แบบกงฟู (Gong Fu Method) และแบบไก๋หว่าน (Gaiwan Method)

 

การชงชาแบบ Classic หรือบางทีจะเรียกว่า Grandpa Style จะเป็นการชงชาที่ง่ายที่สุด โดยมากมักจะใช้กาที่มีสองชั้น โดยชั้นด้านในจะมีลักษณะคล้ายกับที่กรองใบชา และให้น้ำไหลผ่านได้ การชงชาแบบนี้ จะเริ่มต้นด้วยการใส่ใบชาตามปริมาณที่ต้องการ จากนั้น ก็จะเติมน้ำร้อนลงไป น้ำจะผ่านที่กรองชาด้านในออกไปในกาใหญ่ เมื่อได้เวลาที่ต้องการ เราก็จะเอาที่กรองชาด้านในออก เพื่อไม่ให้ชามีรสชาติเข้ม หรือขมจนเกินไป บางครั้ง เราสามารถนำที่กรองใบชาใส่กลับเข้าไป เพื่อชงน้ำเพิ่มได้อีกครั้งหรือสองครั้งด้วยค่ะ

 

การชงชาแบบกงฟู (Gong Fu Method) เป็นการชงชาแบบที่ใช้กาใบเล็ก ซึ่งจะมีขนาดประมาณ 100 – 240 CC ทำด้วยโลหะ ดินเผา (Ceramic) หรือดิน Yixing ซึ่งกล่าวกันว่า กาที่ทำจากดิน Yixing นี้ จะดึงรสชาติของชาออกมาได้ดีที่สุดค่ะ

 

การชงชาแบบกงฟู จัดว่าเป็นวิธีการชงชาที่ละเอียดอ่อนที่สุด และจำเป็นที่จะต้องรู้จักใบชาเสียก่อน เนื่องจากใบชาแต่ละชนิด ก็จะเหมาะกับกาน้ำชาขนาดต่างๆ กัน เช่น ชาต้าหงผาว (Da hong pao) ก็มักจะเหมาะกับกาน้ำชาขนาด 150 CC ในขณะที่ ชาอู่หลงก็จะเหมาะกับกาน้ำชาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากใบจะคลายตัวออกมาใหญ่จนเต็มกา

 

การชงชาแบบกงฟูนั้น จะเริ่มต้นที่การเตรียมกาน้ำชาให้ร้อน โดยการเติมน้ำร้อนลงไปในกา และทิ้งไว้สัก 5-10 วินาที เพื่อเป็นการอุ่นกา แล้วเทน้ำทิ้ง จากนั้น จึงจะเริ่มใส่ใบชาในปริมาณที่เหมาะสม แล้วเติมน้ำร้อนลงไป และทิ้งไว้ 2-3 วินาที ซึ่งน้ำที่ได้นี้ จะไม่นำมาดื่ม แต่จะนำไปลวกถ้วยชา นับว่าเป็นการปลุกใบชาให้พร้อมสำหรับการชงดื่มต่อไปค่ะ

 

 

การเติมน้ำร้อนลงในชาครั้งต่อไป จะนับเป็นน้ำแรกของชา ซึ่งมักจะใช้เวลาตั้งแต่ 2 วินาที ไปจนถึง 30 วินาที ขึ้นอยู่กับชนิดของใบชา ซึ่งเมื่อครบเวลาแล้ว เราจะรินชาลงในถ้วยพักชา หรือ Pitcher ก่อนเพื่อให้ได้รสชาติและสีที่เท่ากัน เนื่องจากระยะเวลาที่รินชาจากกานั้น อาจกินเวลานานถึง 3-4 วินาที และมีผลทำให้สีของน้ำชาเปลี่ยนได้อย่างมาก หลังจากที่รินลงในถ้วยพักชาแล้ว เราจึงจะรินใส่ถ้วยดื่มอีกครั้ง

 

ในการชงชาในน้ำที่สองและสาม เราก็จะต้องเพิ่มเวลาเข้าไปอีกเล็กน้อย เพื่อให้ได้ชาที่มีรสชาติคงที่เหมือนน้ำแรก แต่โดยทั่วไป เรามักจะถือว่าน้ำที่สอง เป็นน้ำที่มีรสชาติดีที่สุด เนื่องจากใบชามีการคลายตัวอย่างเต็มที่แล้วนั่นเอง

 

ปกติการชงชาแบบกงฟูนี้ ชาบางชนิดสามารถชงน้ำได้ซ้ำมากถึง 6-8 ครั้ง โดยที่รสชาติจะใกล้เคียงกัน ดังนั้น การชงชาแบบกงฟูนี้ จึงเป็นที่นิยมสำหรับนักดื่มชาจริงๆ ค่ะ

 

การชงชาแบบ Gaiwan เป็นการชงชาแบบที่นิยมมากในประเทศจีน และไต้หวัน โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ที่ชาวบ้านสามารถหาซื้อใบชาได้อย่างแพร่หลาย (ก่อนหน้านั้น ใบชาชั้นดี จะถูกจำกัดและใช้ในราชสำนักและหมู่ขุนนางเท่านั้น) โดยการชงชาแบบ Gaiwan นี้ จะไม่ใช้กาน้ำชา แต่จะใช้เป็นถ้วยมีฝาปิด (ถ้วยแบบไม่มีหู) และมีจานรองถ้วย ถ้วยแบบ Gaiwan นี้ จะเหมาะสมสำหรับการชงชาดื่มเฉพาะบุคคล โดยจะมีขั้นตอนการลวกถ้วย เช่นเดียวกับการชงชาแบบ Gong Fu จากนั้นจึงใส่ใบชาลงในถ้วยและเติมน้ำร้อนลงไปในถ้วยโดยตรง เมื่อครบเวลา ก็สามารถแง้มฝาเล็กน้อยและยกขึ้นจิบได้เลย โดยฝาถ้วยจะทำหน้าที่กันใบชา ในขณะที่จานรองมีไว้เพื่อป้องกันความร้อนจากถ้วยไม่ให้ลวกมือค่ะ

 

การชงชาทั้งสามแบบนี้ ต่างก็มีข้อดีและข้อด้อย และเหมาะสมกับโอกาสที่แตกต่างกัน เช่น หากชงดื่มกันแบบง่ายๆ ใช้ใบชาทั่วๆ ไป รำเพยแนะนำให้ใช้การชงแบบ Classic แต่หากต้องการลิ้มรสที่แท้จริงของชา น่าจะใช้การชงแบบ Gong Fu เป็นวิธีที่ดีที่สุด ส่วนการชงแบบ Gaiwan เหมาะสำหรับการชงดื่มคนเดียว และไม่ต้องการวุ่นวายกับกรรมวิธีที่ยุ่งยากของ Gong Fu ค่ะ

 

สำหรับกรรมวิธีการชงชาทั้งสามแบบโดยละเอียด สามารถเลือกชมเพิ่มเติมได้ใน Youtube หรือตาม Website ที่ขายใบชาค่ะ

 

ชาที่รำเพยจะแนะนำในวันนี้ จะเป็นชาที่ดื่มง่าย มีรสชาติอร่อย แม้ว่าชาบางชนิดจะมีกรรมวิธีการชงที่ละเอียดอ่อนบ้าง แต่รับรองว่าคุ้มค่ากับการได้ลิ้มรสชาติแท้ๆ ของชา และบางที หากติดใจ อาจจะเป็นเหมือนรำเพย ที่ตื่นเช้ามา ต้องชงกาสักกา นั่งรับลมหนาวในสวนใต้ร่มไม้ จิบชาอุ่นๆ พร้อมไปกับฟังเพลงคริสต์มาสก็ได้ค่ะ

Da hong pao

 

 

ชาแรกที่รำเพยอยากจะแนะนำจริงๆ คือ ชา Da hong pao ค่ะ โดยชาต้าหงผาวนี้ จัดว่าเป็นยอดชาของประเทศจีนเลยทีเดียว ซึ่งกล่าวกันว่า ต้นชาแม่พันธ์ของต้าหงผาวนี้ อยู่ในภูเขาอู๋อี๋ มณฑลฝูเจี้ยน และมีอยู่ถึงหกต้นที่อายุยืนยาวถึง 800 ปี หรือตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ้องเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งต้นแม่พันธ์ต้าหงผาวนี้ ได้รับการทนุถนอมจากรัฐบาลท้องถิ่นเป็นอย่างดี และในเมื่อราวๆ ยี่สิบปีที่แล้ว (ค.ศ. 1998) ใบชาจากต้นแม่พันธ์นี้ เคยขายได้ราคาถึง 156,800 หยวนต่อใบชาหนักเพียง 20 กรัมเท่านั้นค่ะ ซึ่งถ้าเทียบเป็นเงินไทยแล้ว จะตกราวๆ 750,000 บาทต่อใบชา 20 กรัม หรือกิโลกรัมละ 37,500,000 บาทค่ะ!!!

 

ปัจจุบัน ต้นแม่พันธ์ของชาต้าหงผาวนี้ ได้รับการสงวนไว้ และไม่มีการเก็บใบเพื่อจำหน่าย แต่อาจจะใช้ในการเทียบกับใบชาจากต้นลูกหลานที่อยู่ในเทือกเขาเดียวกัน เพื่อให้ได้รสชาติที่แท้จริงของชาต้าหงผาวนี้ค่ะ

 

 

 

ชาต้าหงผาวนี้ แปลได้ว่า Big Red Robe หรือผ้าแดงผืนใหญ่ ซึ่งเล่ากันว่ามาจากจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์หมิง ที่พระราชทานผ้าแดงให้กับต้นชาต้าหงผาวนี้เพื่อเป็นการขอบคุณ เนื่องจากพระพันปีทรงโปรดที่จะเสวยน้ำชาจากต้นชานี้จนหายจากอาการประชวร

 

ชาต้าหงผาวนี้ จัดว่าเป็นชาประเภทอู่หลง (Oolong) และมีรสชาติเข้มข้นแต่กลมกล่อม ด้วยกลิ่นของไม้เมื่อแรกจิบ จากนั้น ก็จะตามด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้ที่อวลอยู่ภายใน ด้วยรสชาติที่ซับซ้อนนี้เอง ที่ทำให้ชาต้าหงผาวเป็นหนึ่งในสุดยอดใบชาของโลกโดยแท้จริง

 

การชงชาต้าหงผาว ด้วยวิธี Gong Fu

1.     ลวกกาขนาด 150 CC ด้วยน้ำร้อน
2.     ใส่ใบชาลงในกาประมาณ 8-10 กรัม (หากไม่มีเครื่องชั่ง ให้ใส่ใบชาลงไปประมาณ 2/3 ของกา)
3.     ลวกใบชาด้วยน้ำร้อน 98-100 องศาเซลเซียส จากนั้นให้เททิ้ง
4.     เติมน้ำร้อนลงไปในกาน้ำชาอีกครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 5 วินาที แล้วรินใส่กาพักชา ยกเสริฟ
5.     เติมน้ำร้อนครั้งที่สอง ทิ้งไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วรินใส่กาพักชา ยกเสริฟ
6.     เติมน้ำร้อนครั้งที่สาม ทิ้งไว้ 15 วินาที แล้วรินใส่กาพักชา ยกเสริฟ
7.     หลังจากนั้น ให้เพิ่มระยะเวลาเป็น 25-40 และ 1 นาที 10 วินาทีตามลำดับ

Yunnan Gold

 

 

ชา Yunnan Gold เป็นชาดำ (Black Tea) ประเภทหนึ่ง มาจากมณฑลยูนนาน ใบชาจะมีลักษณะเรียวยาวประมาณ 3-5 ซม. และมีสีน้ำตาลเข้มแซมด้วยสีเหลืองทอง อันเป็นที่มาของชื่อ Yunnan Gold และในบางร้านอาจจะเรียกรวมไปกับใบชา Dian hong เพราะเป็นสายพันธ์เดียวกัน แต่รสชาติจะแตกต่างกันเล็กน้อยค่ะ

 

ชา Yunnan Gold นี้จะมีสัมผัสของกลิ่นน้ำผึ้งที่หวานเข้มข้น ปนกับกลิ่นของไม้ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และมักจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่เริ่มดื่มชาใหม่ๆ นอกจากนี้ ชา Yunnan Gold นี้ยังเป็นชาที่ชงง่าย สามารถชงด้วยวิธี Classic ได้ โดยที่ยังคงกลิ่นและรสเช่นเดียวกับการชงด้วยวิธี Gong Fu และมีรสชาติคงที่จากการชงถึง 3 เที่ยวทีเดียวค่ะ

 

การชงชา Yunnan Gold ด้วยวิธี Classic

1.     ลวกกาน้ำชาใบใหญ่ เพื่ออุ่นกาให้ร้อน
2.     เติมใบชา Yunnan Gold ลงไปในที่กรองชาประมาณ 5 กรัม (1 ช้อนชา)
3.     เติมน้ำร้อน 100 องศาเซลเซียส ลงไปประมาณ 300-350 CC
4.     ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที และสามารถเทเสริฟได้
5.     น้ำที่สองและสาม ให้เพิ่มเวลาอีกประมาณครั้งละ 1 นาที

Tai Ping Hou Kui

 

 

ชา Tai Ping Hou Kui หรือชาพญาวานร เป็นชาที่มีใบสวยที่สุดในบรรดาใบชาทั้งหมด และมีความยาวมากที่สุด โดยใบชา Tai Ping Hou Kui ที่สวยๆ อาจมีความยาวถึง 15 ซม.เลยทีเดียว

 

นอกจากจะมีใบที่สวยแล้ว รสชาติก็ดีด้วยเช่นกันค่ะ โดยชาชนิดนี้ได้รับรางวัล King of Tea Award ในปี 2004 นอกจากนี้ ในปี 2007 ประธานาธิบดีของจีน ท่านหูจิ่นเถา ได้มอบชาชนิดนี้ให้เป็นของขวัญแด่ท่านวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ทำให้ชา Tai Ping Hou Kui กลายเป็นชาที่มีชื่อเสียง และนิยมมอบให้กันเป็นของขวัญด้วยค่ะ

 

ชาพญาวานรนี้ เป็นชาเขียวใบยาว สีเขียวมรกต จากมณฑลอันฮุย และจัดว่าเป็นชาตามฤดูกาล เนื่องจากจะทำการเก็บเกี่ยวช่วงเดียวกับชาหลงจิ่ง คือประมาณเดือนเมษายนของทุกปี แต่ไม่สามารถเก็บได้นานเหมือนชาอื่นๆ โดยหากเก็บนานเกิน 6 เดือน รสชาติของชาก็จะเริ่มเปลี่ยน

 

ชา Tai Ping Hou Kui ควรชงด้วยน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียส และจะให้กลิ่นหอมคล้ายดอกกล้วยไม้ มีรสชาติเบาบาง และหอมสดชื่น เหมาะสำหรับจิบในตอนเช้า พร้อมกับอ่านหนังสือในบรรยากาศสบายๆ แต่เนื่องจากชานี้ มีรสชาติที่เบาบาง จึงไม่เหมาะที่จะดื่มไปพร้อมกับของว่าง เนื่องจากกลิ่นและรสชาติของของว่างจะกลบกลิ่นของใบชาไปหมด

 

การชงชา Tai Ping Hou Kui ด้วยวิธี Classic (กาน้ำชาแบบใส)

1.     ลวกกาน้ำชาแบบใส ด้วยน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียสประมาณ 5 วินาทีแล้วเทออก
2.     ใส่ใบชา Tai Ping Hou Kui ประมาณ 5 กรัมลงในกาน้ำชา
3.     เติมน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียสลงไปประมาณ 300-350 CC
4.     ทิ้งไว้ประมาณ 2 นาที จากนั้นรินใส่ถ้วย และยกเสริฟ
5.     การชงชาครั้งที่สอง จะต้องทิ้งไว้ประมาณ 3-4 นาที เนื่องจากชามีรสอ่อน จึงชงได้เพียงสองครั้ง

Alishan Milk Oolong

 

 

ชา Jin Xuan หรือ Alishan Milk Oolong เป็นชาอู่หลงชนิดหนึ่ง ซึ่งได้มาจากภูเขา Alishan ในประเทศไต้หวัน ชา Milk Oolong นี้จะเป็นชาที่มีความโดดเด่นที่กลิ่นหอมแบบครีม คล้ายกับกลิ่นของนม อันเป็นที่มาของชื่อชาชนิดนี้ค่ะ

 

กระบวนการเตรียมใบชาเป็นขั้นตอนพิเศษที่ทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติของนม โดยเมื่อแรกจิบ จะได้กลิ่นหอมครีมที่เด่นชัด และในบางครั้ง อาจจะตามด้วยกลิ่นของดอกไม้ หรือความหอมหวานแบบน้ำผึ้งผสมผสานกัน ทำให้เกิดความประทับใจแบบไม่รู้ลืมจริงๆ ค่ะ

 

ชา Alishan Milk Oolong นี้เป็นชาที่มีลักษณะเป็นเม็ด และภายหลังจากชงแล้ว ใบชาจะคลี่ออกมาเป็นใบทรงป้อมใหญ่เช่นเดียวกับชาอู่หลงอื่นๆ และมีการชงที่ค่อนข้างง่าย ด้วยวิธี Classic

 

การชงชา Alishan Milk Oolong ด้วยวิธี Classic

1.     ลวกกาน้ำชา ด้วยน้ำร้อน 100 องศาเซลเซียสประมาณ 5 วินาทีแล้วเทออก
2.     ใส่ใบชา Alishan ประมาณ 10 กรัมลงในกาน้ำชา
3.     เติมน้ำร้อน 100 องศาเซลเซียสลงไปประมาณ 300-350 CC
4.     ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที จากนั้นรินใส่ถ้วย และยกเสริฟ
5.     การชงชาครั้งที่ 2, 3 และ 4 จะต้องใช้เวลาประมาณ 1.30, 2.0 และ 3.0 นาทีตามลำดับ

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ กับชาที่รำเพยยกมาเล่าให้ฟัง อันที่จริงแล้ว ยังมีชารสชาติดี และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอยู่อีกมากมาย เช่น ชาเขียวหลงจิ่ง, Tie Guan Yim, Rou Gui Oolong, Liu An Gua Pian, Huang shan Mao Feng เป็นต้น ซึ่งชาเหล่านี้ จัดว่าเป็นชาระดับสุดยอดของประเทศจีนเลยทีเดียว เสียดายที่รำเพยมีเวลาน้อยและพื้นที่น้อยไปหน่อย จึงเล่าให้ฟังได้เท่าที่จำกัด เอาไว้อากาศดีๆ ลมฟ้าอากาศเป็นใจ และมีเวลาว่างๆ สบายๆ รำเพยจะมาเล่าให้ฟังอีกนะคะ สำหรับเดือนนี้ รำเพยขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านนะคะ

 

ขอบคุณค่ะ