ฮาโลว….ฮาโหล…โฮเล…โฮลี่ สวัสดีเดือนเมษายนที่แสนอบอุ่น (จนร้อนระอุ) ค่ะ อากาศแสนจะ Hot ขนาดนี้ หลายคนคงอยากโดนสาดน้ำกันแล้วใช่ม๊า….^^

      อ่ะ…อ่ะ แต่สำหรับ Karuntee นาทีนี้ “น้ำ” เยอะขนาดไหนก็เอาไม่อยู่ค่า ฉะนั้นจึงขอแหวกหยาดน้ำ อันเปียกโชก…พาชาวบาริโอย้อนรอยไปละเลงและสาดสีไกลถึงอินเดีย เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลสุดสนุก สุดฟิน ไม่แพ้สงกรานต์บ้านเราเลยค่ะ (แต่ต้องบอกก่อนว่าเทศกาลโฮลี่ ของอินเดียจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคมของทุกๆ ปีนะคะ)

      เทศกาลที่ว่านั้นก็คือ…

      โฮลี่….หรือเทศกาลสาดสีนั่นเองค่ะ ถือเป็นการละเล่นที่ใช่สีต่างๆ มาป้ายและเทสีใส่กันอย่างสนุกสนาน พร้อมโยกย้ายส่ายสะโพกไปตามจังหวะดนตรีและเสียงหัวเราะตลอดริมถนนที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย ทั้งนี้คนอินเดียเชื่อกันว่า “ยิ่งเลอะก็ยิ่งดี” โดยเฉพาะ “สี” ติดเสื้อได้ทนนานเท่าไหร่ หรือถ้าซักแล้วสีไม่ออก นั่นหมายความว่าจะช่วยเสริมความเข้มแข็งของมิตรภาพให้ตราตรึง ไม่จางหาย  ผู้คนจึงนิยมใส่เสื้อผ้าสีขาวออกมาเล่น และส่วนใหญ่จะไม่ซักเสื้อตัวนั้นด้วยค่ะ

      นอกจากนี้การสาดผงสีใส่กันยังเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป และชาวฮินดูส่วนใหญ่ยังถือว่าโฮลี่เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ (คล้ายๆ กับที่เราตั้งใจที่จะเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่นั่นเองค่ะ) พร้อมทั้งสลัดความทุกข์ ลืมเรื่องผิดใจกัน ให้อภัยและใช้เวลานี้ทำความเข้าใจกัน รวมถึงแสดงความรักความเมตตาต่อกัน…อย่างไรก็ตามช่วงหลังๆ มานี้เริ่มมีการสาดน้ำปพร้อมกับการสาดสีแล้วนะคะ เพิ่อเพิ่มความสนุกสนานให้มากขึ้นด้วยค่ะ

 

 

      เอ๋….แล้วสีที่ใช้เล่นกันทำมาจากอะไรน๊า…??

      ผงสีที่นำมาสาดมาป้ายกันเรียกว่า ‘กูเลา’ ทำมาจากธรรมชาติแท้ๆ เพื่อแสดงถึงนัยถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาวก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว โดยดึงมาจากดอกไม้และพืชพรรณต่างๆ เช่น ดอกทองกวาว  บีทรูท ขมิ้น หญ้าฝรั่น พืชตระกูลสะเดา และใบมะตูม ฯลฯ ซึ่งสกัดและผสมออกมาจนได้ผงสีที่มีความละเอียด ติดผิวพรรณ หน้า เส้นผม และเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ล้างออกยากด้วยค่ะ

      ส่วนทางด้านของผงสีชนิดเปียก จะนำพืชไปต้มแล้วแช่น้ำข้ามคืน อาจผสมกากเพชรหรือกระดาษสีชิ้นเล็กๆ ด้วย เพื่อเติมสีสันให้ดูแวววาวมากขึ้น และแต่ละสีล้วนมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป…

 

 

  • สีแดงแทนพลัง อำนาจ สะท้อนการกำเนิดเจ้าแม่และชีวิตเปรียบดั่งสายโลหิตอันสำคัญที่ขาดไม่ได้

  • สีน้ำเงินแทนความสุขสงบ

  • สีเขียวแทนความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณไม้นานาพันธุ์

  • สีเหลืองแทนความเบิกบานและอบอุ่น รวมถึงเชื้อชีวิตและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งแทนอสุจิหรือปัสสาวะ ของเทวดาฮินดู เจ้าแม่จึงมักทรงพัสตราภรณ์แดงหรือเขียว ในขณะที่เจ้าพ่อมักทรงเหลืองหรือขาว

  • สีส้มแทนความสร้างสรรค์

  • สีม่วงแทนความยิ่งใหญ่อลังการ

  • สีเทาแทนความสงบภูมิฐาน

      สีต่างๆ เหล่านี้แหละค่ะที่คละคลุ้งกระจายไปตามอากาศทั่วเมือง จนกลายเป็นสีสันที่ผสมผสานกันหลากหลายสี ซึ่งเต็มไปด้วยความงดงามและสะดุดตา ล้วนดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ให้ตรงดิ่งยังอินเดีย ดินแดนแห้งมนต์เสน่ห์ จน “โฮลี่” กลายเป็นเทศกาลสีสันระดับโลกเลยทีเดียว

 

 

      สำหรับใครที่อยากเล่นเทศกาลสาดสี ไม่ได้มีแค่อินเดียที่เดียวนะคะ ยังมีที่ประเทศเนปาล รวมถึงประเทศที่มีคนอินเดียย้ายถิ่นฐานไปอยู่ หรือประเทศที่มีการนับถือศาสนาพรามหณ์ ฮินดูก็จะมีการเล่นสาดสีกันเฉพาะกลุ่มค่ะ อย่างในประเทศไทยก็มีชาวพรามหณ์ ฮินดู จัดขึ้นที่วัดวิษณุ เขตยานนาวา กรุงเทพนั่นเอง ส่วนคนไทยคนไหนหรือใครที่อยากเล่นแบบชาวอินเดีย เมษายนนี้พบกับเทศกาลระดับโลกจากอเมริกาที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “โฮลี่” ในกิจกรรมเล่นสาดสี The Color Run: “ The Tropicolor World Tour 2017” ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองไทยปีนี้เป็นครั้งที่ 2 ค่ะ

 

 

 

รูปภาพจาก pinterest