จากช่วงเวลาปัจจุบันย้อนกลับไปไม่ถึงร้อยปี สถาปัตยกรรมหลายแห่งในกรุงเทพมหานครของเรานั้นเปลี่ยนไปมาก บางแห่งถูกทุบทิ้งแล้วแทนด้วยสิ่งใหม่ บางแห่งพัฒนาไปจนจำแทบไม่ได้ ทำให้เห็นว่าสิ่งก่อสร้างเองก็มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามเวลาของมัน อย่างไรก็ตาม ภายถ่ายที่เป็นเสมือนบันทึกเหนือกาลเวลา ก็ยังสามารถเก็บรวบรวมความทรงจำที่หายไปเหล่านั้นไว้ได้

      มาลองรื้อฟื้นอดีตกันโดยให้ภาพถ่ายเก่าๆ ของสิ่งก่อสร้างและอาคารต่างๆ เล่าเรื่องกรุงเทพมหานครและบรรยากาศของเมืองหลวงในความทรงจำที่ใครหลายคนอาจจะเคยคุ้น เปรียบเทียบกับปัจจุบันดูสิ่ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแค่ไหนกัน

 

      1. วังบูรพาภิรมย์

 

(ที่มารูปภาพ : http://jarunlakboon.blogspot.com)

 

      วังบูรพาภิรมย์ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช” พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อ พ.ศ. 2424 แต่หลังจากที่ท่านเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. 2471 ทายาทของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ จึงปล่อยให้เช่าวัง เป็นที่ตั้งโรงเรียนสตรีภานุทัต และอาคารเรียนของโรงเรียนพณิชยการพระนคร ก่อนที่จะขายที่ดินต่อให้กับนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งใน พ.ศ. 2475 วังบูรพาถึงถูกรื้อออก เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าวังบูรพา และโรงภาพยนตร์สามแห่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2497 คือ โรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ที่อยู่ทางด้านหลังของโรงภาพยนตร์คิงส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์ซึ่งอยู่อีกมุมตึกหนึ่ง ทำให้ย่านนี้กลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญในยุคนั้น

 

โรงภาพยนตร์คิงส์และโรงภาพยนตร์แกรนด์

(ที่มารูปภาพ : http://wachalife.com , http://oknation.nationtv.tv)

 

      ส่วนบริเวณไม่ไกลจากศูนย์การค้า ยังมีตลาดมิ่งเมือง ซึ่งปัจจุบัน คือ ศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า และโรงภาพยนตร์ในละแวกเดียวกันอีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นก่อน คือ ศาลาเฉลิมกรุง ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2473 ซึ่งปัจจุบันได้ถูกยกระดับให้เป็นโรงมหรสพแห่งชาติ และยังคงเปิดดำเนินการในชื่อ “เฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์”

ศาลาเฉลิมกรุงในอดีตและปัจจุบัน

(ที่มารูปภาพ : https://digitallib.stou.ac.th , https://packageasia.com)

 

      ย่านวังบูรพาได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของหนุ่มสาวในยุคนั้น เพราะเรียกได้ว่าเป็นย่านการค้าที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด จึงมีพวกวัยรุ่นที่ในตอนนั้นถูกเรียกว่า “จิ๊กโก๋” มารวมตัวกันอยู่ที่ร้านกาแฟข้างๆ ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งอยู่ด้านหลังของวังบูรพาออกไป เลยกลายเป็นคำเรียกติดปากกันว่า “โก๋หลังวัง”

      แม้ทุกวันนี้ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์เหล่านี้ต่างก็เลิกกิจการไป และสับเปลี่ยนเจ้าของกิจการใหม่ๆ เข้ามาแทนที่อยู่ตลอด แต่ย่านดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันในชื่อวังบูรพาเหมือนอดีต

      ปัจจุบัน โรงภาพยนตร์คิงส์และโรงภาพยนตร์แกรนด์ถูกสร้างให้เชื่อมทะลุถึงกัน และเปลี่ยนมาเป็นห้างสรรพสินค้าเมอรี่คิงส์ ซึ่งได้กลายเป็นห้างเมกะพลาซ่าจนถึงทุกวันนี้

 

ศูนย์การค้าเมอรี่คิงส์และศูนย์การค้าเมกะพลาซ่า

(ที่มารูปภาพ : http://www.thaimtb.com , https://soccersuck.com)

 

 

     2. ถนนราชดำเนิน

ถนนราชดำเนิน(ใน)ในอดีตและปัจจุบัน

(ที่มารูปภาพ : http://oknation.nationtv.tv , http://www.skyscrapercity.com)

 

      ถนนราชดำเนิน เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2442 เพื่อเป็นที่เสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต โดยมีแบบอย่างมาจากถนนช็องเซลีเซ  (Avenue des Champs-Élysées) ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส

      เพื่อความสง่างามของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด และให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งวังและสถานที่ราชการ เพื่อแสดงให้ชาติตะวันตกเห็นถึงความเจริญของประเทศสยาม ถนนราชดำเนินจึงกลายเป็นถนนสายที่ใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดของกรุงเทพมหานคร

      ถนนที่เริ่มแต่พระบรมมหาราชวังเลียบสนามหลวงมาทางเหนือนั้นเรียกว่า “ราชดำเนินใน” ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา ข้ามคูเมืองพระนครชั้นในมาเป็น “ถนนราชดำเนินกลาง” ที่แบ่งเป็น 5 ช่องทาง  ช่องกลางที่กว้างที่สุดใช้เป็นทางสำหรับรถม้าและรถยนต์ ทางเล็กๆ ที่ขนาบสองข้างลาดซีเมนต์ใช้เป็นทางคนเดิน ถัดไปเป็นทางเส้นนอกขนาดย่อมๆสำหรับรถลาก ริมถนนปลูกต้นไม้ร่มรื่นสวยงาม

      เมื่อสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นกลางถนนในพ.ศ. 2482 เพื่อเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย วงเวียนที่เป็นสี่แยกของถนน ผ่านไปข้ามคลองบางลำพูใกล้กับป้อมมหากาฬ กลายเป็น “ถนนราชดำเนินนอก” จนถึงคลองผดุงกรุงเกษม อันเป็นคูเมืองพระนครในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ไปยังพระบรมรูปทรงม้า และพระที่นั่งอนันตสมาคม

ลานพระบรมรูปทรงม้า และพระที่นั่งอนันตสมาคม

(ที่มารูปภาพ : http://www.zliekr.com , Tharm Thai)

 

3. วังวินด์เซอร์

ที่ตั้งของวังวินด์เซอร์ในปัจจุบัน คือ กรีฑาสถานแห่งชาติ หรือ สนามศุภชลาสัย

(ที่มารูปภาพ : http://www.siamhistories.wordpress.com , http://www.sportclassic.in.th)

 

      วังวินด์เซอร์ หรือที่รู้จักในชื่อ วังกลางทุ่ง และ วังใหม่ เป็นวังที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2424 เพื่อพระราชทานเป็นสถานที่ประทับของ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” สยามบรมราชกุมารองค์แรกแห่งสยามประเทศ ที่บริเวณทุ่งประทุมวัน กลางกรุงเทพมหานคร และเนื่องจากตัววังนั้นคล้ายกับพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ จึงถูกเรียกว่า “วังวินด์เซอร์”

      วังวินด์เซอร์ได้รับการออกแบบจากสถาปนิกชาวอังกฤษ โดยนำแบบของพระราชวังวินด์เซอร์ของจริงมาย่อส่วน แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่ได้เสด็จมาประทับแต่อย่างใด เนื่องจากเสด็จทิวงคตเสียก่อน เมื่อมีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในพ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานพระราชวังนี้รวมทั้งพื้นที่โดยรอบ ให้เป็นสมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่ในช่วง พ.ศ. 2478 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้น จะต้องการสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น จึงได้ทำการขอเช่าที่ดินและรื้อถอนพระตำหนักหลังนี้ รวมถึงอาคารหอพักนิสิตโดยรอบ มาสร้างเป็นกรีฑาสถานแห่งชาติ หรือก็คือ สนามศุภชลาสัยในปัจจุบัน

 

      4. พระราชวังปทุมวัน

บริเวณพระราชวังปทุมวันและวันปทุมวนารามในอดีตและปัจจุบัน

(ที่มารูปภาพ : http://www.arjanram.com)

 

      พระราชวังปทุมวัน สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2400 บริเวณริมคลองแสนแสบ ใกล้กับวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร แต่เดิมพื้นที่นี้เป็นนาหลวงเรียกว่า “ทุ่งบางกะปิ” ซึ่งมีบัวหลวงขึ้นอยู่มากมาย เมื่อสร้างพระราชวังเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานนามให้ว่า “พระราชวังปทุมวัน”

      วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นที่เสด็จประพาสและให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน โดยโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระใหญ่ 2 สระติดต่อกัน สระด้านทิศเหนือเป็นที่เสด็จประพาส ส่วนริมสระด้านตะวันตกให้สร้างวัดประจำพระราชวัง ชื่อว่า “วัดปทุมวนาราม” สระด้านใต้อนุญาตให้ประชาชนไปเล่นเรือได้ ดินที่ขุดจากสระให้ทำเป็นเกาะใหญ่น้อยหลายเกาะ แล้วขุดคลองจากคลองแสนแสบมาเชื่อมสระ

      ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพื้นที่นี้ให้เป็นโรงทหารและราชการอื่นๆ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็กลายเป็นที่ดินของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย โดยใช้ชื่อเรียกว่า “วังเพ็ชรบูรณ์” เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ สิ้นพระชนม์ นักธุรกิจญี่ปุ่นได้ขอซื้อที่ดินบริเวณวัง มาสร้างเป็นห้างไทยไดมารูเมื่อพ.ศ. 2507 ในโครงการศูนย์การค้าราชประสงค์ แต่พอหมดสัญญาเช่าในพ.ศ. 2515 ห้างไดมารูก็ย้ายไปตั้งที่ราชดำริอาเขต และเสรีเซ็นเตอร์ในย่านศรีนครินทร์ ซึ่งปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นศูนย์การค้าพาราไดซ์ปาร์ค

      ส่วนพื้นที่เดิมของศูนย์การค้าราชประสงค์และวัดปทุมวนาราม บริษัทเอกชนหลายแห่งได้รวมตัวกันซื้อมาทำกิจการ เป็นศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในพ.ศ. 2525 ก่อนที่จะขยับขยายจนกลายเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน

 

      4. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

(ที่มารูปภาพ : http://www.naarn.com , playpark.com)

 

      อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2484 เพื่อเทิดทูนวีรกรรมอันกล้าหาญของผู้เสียสละจากกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องพื้นที่ระหว่างพรมแดนไทยกับอินโดจีน-ฝรั่งเศสในพ.ศ. 2483 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวน 59 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน

      สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ที่สร้างยอดอนุสาวรีย์เป็นทรงดาบปลายปืนห้าเล่มประกบกัน ตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน คมดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ที่ฐานของดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดงของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ยืนเด่นเป็นสง่า ในห้องด้านล่างเป็นโถงใหญ่ ไว้ใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่และบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในสงครามอินโดจีน ซึ่งด้านนอกของผนังห้องโถงนั้น จะมีแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิตจากสงครามต่างๆ

      นอกจากเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญและเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิต อนุสาวรีย์ชัยยังเป็นต้นทางของถนนพหลโยธิน รวมไปถึงศูนย์กลางการคมนาคมที่มีรถโดยสารให้บริการในหลายเส้นทางเป็นจำนวนมาก ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้าและรถตู้ จึงทำให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

      แต่ในสมัยก่อนนั้น พื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังเป็นเพียงทุ่งโล่งๆ ที่มีบ้านไม้หลังไม่ใหญ่นักปลูกอยู่ ต่างจากปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอาคารสูงและเต็มไปด้วยผู้คนที่สัญจรไปมาตลอด 24 ชั่วโมง

 

  (ที่มารูปภาพ : http://teakdoor.com)

 

      6. โรงศิริราชพยาบาล

(ที่มารูปภาพ : หนังสือ เล่าเรื่องบางกอกฉบับสมบูรณ์ โดย ส.พลายน้อย , http://www.skyscrapercity.com)

 

      โรงศิริราชพยาบาล หรือ โรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน สมัยก่อนถูกเรียกว่าโรงพยาบาลวังหลัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ในพ.ศ. 2429 และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 16,000 บาท เพื่อก่อสร้างโรงเรือนขึ้นในบริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ได้เสด็จทิวงคตด้วยโรคบิด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงเป็นพิเศษ โดยให้ออกแบบเป็นโรงเรือนสำหรับที่จะใช้ในโรงพยาบาลได้ เมื่อเสร็จการพระเมรุก็รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ มาก่อสร้างเป็นโรงพยาบาล และพระราชทานนามให้ว่า “โรงพยาบาลศิริราช” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระราชโอรส และประกาศเปิดให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ พ.ศ.2431 เป็นต้นมา

      ภายในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ปัจจุบันมีการก่อสร้างตึกใหม่ทดแทนตึกเดิม เพื่อให้รองรับความต้องการของผู้ป่วยที่มีจำนวนมากมาย ทำให้อาคารดั้งเดิมส่วนใหญ่ถูกรื้อถอนเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ยังคงมีอาคารบางหลังที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี เช่น ศาลาท่าน้ำ อาคารเก่าอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงพยาบาลศิริราช ที่ออกแบบโดยหลวงวิศาลศิลปกรรม โดยมีลักษณะเด่นคือ เป็นศาลาโล่ง หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องว่าวแบบคลาสสิค และมีโป๊ะคอนกรีตที่ต่อมาได้สร้างใหม่ให้แข็งแรงขึ้นเป็นโป๊ะเหล็กกับสะพานเหล็ก กับหอประชุมราชแพทยาลัย ที่ใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์ตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ถึงโรงเรียนราชแพทยาลัย

      ปัจจุบัน อาคารนี้ยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และเป็นหนึ่งในอาคารอนุรักษ์ของโรงพยาบาลศิริราช

 

ศาลาริมน้ำโรงพยาบาลศิริราชในอดีตและปัจจุบัน

(ที่มารูปภาพ : http://teakdoor.com , http://asaconservationaward.com)

 

 

หอประชุมราชแพทยาลัย ที่สร้างขึ้นในพ.ศ. 2495

(ที่มารูปภาพ : http://asaconservationaward.com)

 

     7. กรมโฆษณาการ

 

(ที่มารูปภาพ : http://oknation.nationtv.tv)

 

     บริเวณพื้นที่กรมโฆษณาการ เดิมเป็นที่ตั้งของห้างแบดแมน แอนด์ กัมปะนี (Harry A. Badman and Go) ที่เริ่มกิจการเมื่อพ.ศ. 2422 โดยนำของจากต่างประเทศที่ล้วนแต่เป็นของฝรั่งทันสมัยมาขายให้กับชาวสยามในตอนนั้น

      ต่อมาเมื่อห้างเลิกกิจการแล้ว จึงได้ใช้เป็นตึกกรมโฆษณาการ ซึ่งในสมัยยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎร์ ได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสื่อกระจายเสียงทางวิทยุ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและนายพลเรือโทพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกิดความคิดในการก่อตั้งกองการโฆษณาขึ้นมา ในพ.ศ. 2476 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ เพื่อโฆษณาประเทศให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต่อมากองการโฆษณาได้พัฒนาเป็นสำนักงานโฆษณาการ กรมโฆษณาการ และกรมประชาสัมพันธ์ตามลำดับ

      ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว และสร้างอาคารใหม่ขึ้นในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่อาคารใหม่นั้นก็ได้เกิดไฟไหม้ไปเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พื้นที่นี้จึงได้กลายเป็นลานจอดรถกองสลากไปในปัจจุบัน

 

      8. อาคารไปรษณีย์กลาง

 

(ที่มารูปภาพ : หนังสือ เล่าเรื่องบางกอกฉบับสมบูรณ์ โดย ส.พลายน้อย)

 

      การไปรษณีย์ครั้งแรกของประเทศไทยนั้น ถูกตั้งขึ้นโดยกงสุลอังกฤษ ณ อาคารสถานกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ตำบลบางรัก จังหวัดพระนคร กระทั่งพ.ศ.2524 รัฐบาลไทยเห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องเข้าควบคุม จึงได้เปิดที่ทำการไปรษณีย์ของรัฐบาลไทยขึ้นเป็นแห่งแรกในพ.ศ. 2426 บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ ซึ่งต่อมาได้ถูกรื้อและสร้างเป็นสะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ คือ บริเวณสะพานพระปกเกล้า ฝั่งพระนครในปัจจุบัน

      ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร โดยดัดแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมมาจากตึกแนวยุโรปซึ่งเคยเป็นบ้านของพระปรีชากลการ (สำอางค์ อมาตยกุล) มีชื่อเรียกว่า “ไปรสนียาคาร”

      เมื่อการดำเนินงานขยายตัวอย่างกว้างขวางและเจริญเติบโตพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว พื้นที่ของไปรสนียาคารไม่เพียงพอที่จะรองรับการใช้งาน จึงย้ายที่ทำการไปใช้ที่สถานฑูตอังกฤษเดิม แต่ในเวลาต่อมารัฐบาลเล็งเห็นว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากไม่ได้สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ทำการโดยเฉพาะ จึงได้สร้างตึกที่ทำการใหม่ขึ้นบริเวณเขตบางรัก เมื่อปี พ.ศ.2478 โดยมีพระสาโรชรัตนนิมมานก์เป็นสถาปนิก เป็นอาคารแบบสากลสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น (Modern Architecture) เน้นการออกแบบที่มีความเรียบง่าย และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 และใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์กลางมาจนถึงปัจจุบัน

 

ที่ทำการไปรษณีย์ เขตบางรัก

(ที่มารูปภาพ : http://culture360.asef.org)

 

      เป็นเรื่องโชคดีจริงๆ ที่ช่างภาพในอดีตต่างบันทึกภาพถ่ายเก่าๆ เหล่านี้เก็บไว้ คนรุ่นปัจจุบันถึงได้มีโอกาสชื่นชมความสวยงามแปลกตาและบรรยากาศของเมืองหลวงในยุคก่อน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้ใครหลายคนนึกเสียดายอยู่ไม่น้อย ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากจะย้อนอดีตกลับไปเพื่อดูของจริงให้เห็นเสียกับตาตัวเอง

      อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราทำได้คงเป็นเพียงเก็บความทรงจำดีๆ กับภาพเก่าหายากนี้ไว้ เพราะมันจะกลายเป็นสมบัติล้ำค่าของคนในยุคถัดไปเช่นกัน