รสชาติกับความสมดุล

              ตอนนี้หลาย ๆ คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ เราจึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์การกินของชาวไทย ที่เรียกได้ว่ามีวัตถุดิบด้านอาหารอย่างหลากหลายมาให้เราได้รังสรรค์เมนูต่าง ๆ

              แต่รู้ไหมครับว่า สิ่งที่มาควบคู่กับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไทย คือเราติดการปรุงรสอาหารที่ค่อนข้างมาก หรือจัดเกินไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เช่นนี้บียอนจึงหยิบยกเรื่องของรสชาติอาหารมาให้อ่านกันว่า รสชาติหวาน เปรี้ยว เค็ม ขม พวกนี้ ถ้าทานเข้าไปมาก ๆ เข้า จะมีผลดีหรือเสียกับร่างกายของเราอย่างไร  และจะดีแค่ไหนถ้าเราเรียนรู้ที่จะสนุกกับการรู้รสชาติของอาหารให้เกิดความสมดุลกับร่างกายเราครับ

Cr : tabletopphotographer.com

              ทราบไหมครับว่าประโยชน์และโทษของอาหารแต่ละรสชาตินั้นมีทั้งดีและร้ายแตกต่างกันออกไป แถมยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราด้วย

              โดยกระบวนการรับรสของร่างกายจะเริ่มต้นที่ลิ้น ตรงบริเวณผิวหนังด้านบนของลิ้นจะมีปุ่มรับรสหรือ Taste bud กระจายอยู่ทั่วไป ภายในของปุ่มรับรสจะประกอบไปด้วยเซลล์รับรสจำนวนมาก เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป อาหารเหล่านั้นที่ถูกฟันเคี้ยวจนละเอียด ผสมกับน้ำบางส่วน ไปสัมผัสกับปุ่มรับรสตามตำแหน่งต่าง ๆ บนลิ้น จึงทำให้เราแยกแยะรสชาติได้ ซึ่งปุ่มรับรสบนลิ้นจะมีประสิทธิภาพมากในวัยผู้ใหญ่ และจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น

เรื่องน่ารู้ : ตามปกติลิ้นของคนเราจะสามารถรับรสได้เพียงสี่ชนิดเท่านั้น คือ รสหวาน เค็ม เปรี้ยว และขม ซึ่งในแต่ละบริเวณบนลิ้นจะมีความไวต่อการรับรสต่างชนิดกัน อาทิ ปลายลิ้นมีความไวต่อการรับรสหวาน โคนลิ้นมีความไวต่อการรับรสขม ข้างลิ้น มีความไวต่อการรับรสเปรี้ยว  ใกล้บริเวณปลายลิ้น มีความไวต่อการรับรสเค็ม

รสหวาน

ในบรรดารสชาติอาหาร รสหวานถือเป็นรสยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่มักหลงเพลิดเพลินกับความหวานนานารูปแบบ เมื่อพูดถึงที่มาของความหวาน สิ่งแรกที่เรานึกถึงเลยก็คือ น้ำตาล

น้ำตาลจัดอยู่ในอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานต่อร่างกายในทันทีที่กินเข้าไป ทำให้กระปรี้กระเปร่าอย่างรวดเร็ว  และสดชื่นทุกครั้งที่ได้ทานอะไรหวาน ๆ  นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม แถมรสหวานยังมีสรรพคุณทางยาช่วย รักษาอาการปวดเกร็งตามกล้ามเนื้อ

แต่หากชีวิตขาดขนมหวานไม่ได้จริง ๆ ละก็ ควรจะเลือกรับประทานขนมที่ลดการใส่น้ำตาลลง และรับความหวานตามธรรมชาติจากผลไม้ต่าง ๆ เช่น ฟักทองหรือฟรุ๊ตสลัด  ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปครับ

มากเกินไป  สำหรับการรับประทานรสหวานที่มากเกินความจำเป็น แน่นอนว่าอย่างแรกที่ส่งผลกระทบกับร่างกายอย่างเห็นได้ชัดเจนเลยคือ ทำให้อ้วน  อีกทั้งยังทำให้รู้สึกขี้เกียจ ง่วงนอน ร่วมถึงมีเสมหะในลำคอ และอาจเกิดโรคที่พบกันมาก คือ เบาหวาน เพราะเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปมาก ๆ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขาดความสมดุล ตับอ่อนจึงผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมามากกว่าปกติเพื่อกำจัดปริมาณน้ำตาลในเลือด ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่เพิ่มขึ้น ยิ่งคนเป็นเบาหวานกินหวานมากเท่าไร จะยิ่งให้ตับอ่อนทำงานหนักและเป็นอันตรายมากเท่านั้น อีกทั้งความหวานยังทำให้เกิดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคไต และฟันผุอีกด้วยครับ

รสเปรี้ยว

รสเปรี้ยวเป็นหนึ่งในรสชาติที่ชวนให้น้ำลายสอ อาหารบางอย่างถ้าขาดรสเปรี้ยวไปก็เหมือนขาดความอร่อย โดยเฉพาะอาหารไทยที่มีทั้งต้มยำ, ยำสารพัด, ส้มตำ หรือแม้แต่ผัดไทยเมนูขึ้นชื่อก็ยังต้องเสิร์ฟมาพร้อมกับมะนาว เพื่อให้บีบเพิ่มกลิ่นหอมและเพิ่มรสชาติเปรี้ยวเล็กน้อยทำให้กลมกล่อมในจานเดียว

โดยรสเปรี้ยวเราจะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่

– รสเปรี้ยวที่ได้จากธรรมชาติ อาทิ มะนาว มะกรูด มะขาม มะม่วงดิบ สับปะรด รสเปรี้ยวจากธรรมชาติเหล่านี้จะมีวิตามินซีอยู่มาก และมีคุณสมบัติสำคัญในการกระตุ้นตับและถุงน้ำดีให้ปล่อยน้ำย่อย ช่วยในการดูดซึมอาหารของร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการหวัด ขับเสมหะ แก้ไอ บ้างก็รับประทานผลไม้เปรี้ยว ๆ เพื่อช่วยแก้อาการคลื่นไส้ แถมยังช่วยสร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้ดี จะกินสดๆ หรือจะนำไปปรุงอาหารให้ออกรสเปรี้ยวโดยธรรมชาติก็ได้

– รสเปรี้ยวจากการสังเคราะห์ ที่เรารู้จักกันดี นั่นคือน้ำส้มสายชู น้ำมะนาวเทียม เป็นต้น ส่วนมากแล้วสารสังเคราะห์เหล่านี้จะมีส่วนประกอบสำคัญ คือ กรดซิตริก

มากเกินไป  แน่นอนว่าของธรรมชาติย่อมดีต่อร่างกายมากกว่าของที่สังเคราะห์ขึ้นมา หากกินอาหารที่ปรุงรสเปรี้ยวด้วยสารสังเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะเห็นผลเสียที่ร้ายแรงต่อร่างกายได้รวดเร็วขึ้น เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหาร    หรือหากชอบกินอาหารรสเปรี้ยวมาก ๆ ก็มักทำให้ท้องเสีย ร้อนใน และระบบน้ำเหลืองในร่างกายมีปัญหา จึงทำให้บาดแผลหายช้า กระดูกผุได้ครับ

รสเค็ม

รสเค็มในอาหาร ที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ได้มาจากเกลือที่เรียกว่า โซเดียมคลอไรด์ ซึ่งโซเดียมมีความสำคัญต่อร่างกายมาก เพราะทำหน้าที่ควบคุม และรักษาความสมดุลของน้ำ รักษาสภาพความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย และยังช่วยให้การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้เป็นไปตามปกติ

แม้ว่าร่างกายจะผลิตเกลือเพียงน้อยนิด แต่เราไม่เคยขาดเกลือ เพราะร่างกายมีระบบที่สามารถเก็บเกลือไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังปรับตัวต่อปริมาณเกลือที่ลดลงได้ การกินเค็มแต่พอดีจะช่วยขับร้อน แก้อาการเลือดออกตามไรฟัน บำบัดอาการท้องเฟ้อ ขับเสมหะ แก้ปวดฟัน ทำความสะอาดแผล ช่วยเรื่องการขัดเบาของร่างกาย

                มากเกินไป  การกินเค็มจัดจะทำให้ระบบการดูดซึมอาหารในร่างกายทำงานหนัก ร่างกายที่ได้รับโซเดียมสูงกว่าปกติต้องพยายามขับเกลือทิ้งออกทางเหงื่อ ปัสสาวะ จึงทำให้รู้สึกกระหายน้ำ ร้อนใน รู้สึกแสบคอ ยิ่งกินเค็มมาก ๆ อาจทำให้อาเจียน ท้องเดิน หรือเกิดอาการบวมน้ำเนื่องจากร่างกายต้องการน้ำมาปรับสมดุล ผู้ที่ต้องการลดความอ้อนจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป  นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเป็นความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจ เพราะรสเค็มทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานหนักกันยิ่งขึ้นครับ

รสขม

ในอดีตโบราณที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินสุภาษิต ว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา ซึ่งตามความเชื่อสมัยก่อนนั้นเชื่อว่าอาหารรสขม เป็นอาหารที่เป็นยา ช่วยบำรุงร่างกาย

หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ปัจจุบัน พบว่า สารในพืชที่มีหลักฐานแน่นอนแล้วว่าช่วยลดการเกิดของมะเร็งและโรคหลอดเลือดนั้น เป็นสารประกอบที่เรียกรวม ๆ ว่า phytonutrients หรือ อินทรียสารจากพืช ซึ่งเป็นสารอาหารธรรมชาติที่มีอยู่มากในผักและผลไม้ ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แม้ผักบางชนิดจะมีรสชาติขม แต่ประโยชน์จากการกินขมจะช่วยในการบำรุงเลือด บำรุงหัวใจ และบำรุงน้ำดี  เจริญอาหารดีอีกด้วย  ช่วยต้านมะเร็ง ช่วยลดอาการภูมิ เป็นยาระบาย แก้วิงเวียนศีรษะ

                มากเกินไป  การทานรสขมมากเกินไป ในปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลว่ามีผลกระทบอะไรกับร่างกายมากนัก อาจเป็นเพราะว่า รสขม เป็นรสที่ไม่โปรดปรานของคนทั่วไป ทำให้ไม่ค่อยมีคนที่กินขมมาก ๆ จนเป็นอันตราย

อย่างไรก็ตาม อาหารรสชาติจัด ๆ ก็คงหนีไปจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของชาวไทยไม่ได้ เพียงแต่เราต้องเลือกที่จะรักษาสมดุลของรสชาติให้เป็น ไม่มากไปหรือน้อยไป  เพียงเท่านี้ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการมีสุขภาพที่ดีของเราได้มากเลยทีเดียวครับ J

ขอบคุณข้อมูลจาก

goodlifeupdate.com

th.openrice.com

visitdrsant.blogspot.com

pinterest.com