กลิ่นหอมบำบัดจากดอกไม้

     นอกจากความสวยงามน่าชมแล้ว กลิ่นหอมหวานเฉพาะตัวยังเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของดอกไม้ที่ใคร ๆ ก็ต่างถูกใจ กลิ่นเหล่านี้ได้มาจากการสังเคราะห์โมเลกุลและสารของพืชให้กลายเป็นน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil หรือ Volatile Oil) โดยจะอยู่ตรงต่อมเล็ก ๆ บริเวณเกสรเพศผู้ เกสรเพศเมีย ฐานรองดอกไม้ และกลีบดอก ซึ่งในดอกไม้แต่ละชนิดก็จะมีปริมาณของน้ำมันหอมระเหยไม่เท่ากัน ทำให้ดอกไม้มีกลิ่นที่ต่างกันนั่นเอง จากนั้นเราจึงสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้มาทำเป็นน้ำหอมและสารที่ให้ความหอมต่าง ๆ ที่นอกจากจะให้ความผ่อนคลายหอมสดชื่นแล้ว น้ำมันหอมระเหยจากพืชบางชนิดยังช่วยในการบรรเทาความเครียดและลดอาการเจ็บป่วยได้อีกด้วย

     การรักษาร่างกายด้วยน้ำมันหอมระเหยทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันมานวดตามบริเวณที่ปวด การผสมน้ำอาบหรือสูดดม ซึ่งจะมีวิธีการใช้ง่าย ๆ ที่แตกต่างกันดังนี้ค่ะ

  • สูดดม การหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนผ้าเช็ดหน้าหรือหยดผสมน้ำแล้ววางบนภาชนะอุ่น ๆ เช่น เตาอโรม่า หรือตะเกียงอโรม่า จะช่วยให้กลิ่นหอมกระจายตัวได้ดี เพราะเมื่อถูกความร้อนต่อมน้ำมันจะยิ่งระเหยทำให้กลิ่นมีความรุนแรงมากขึ้น แต่น้ำจะช่วยเจือจางให้ไม่ฉุนมากจนเกินไป ยกเว้นผู้เป็นโรคหอบหืดที่ต้องระวังและไม่ควรสูดดม

  • อาบ เราสามารถหยดน้ำมันหอมระเหยลงในอ่างน้ำอุ่น แล้วนอนแช่สูดหายใจประมาณสิบห้านาที จะช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

  • แช่มือหรือเท้า ใช้หยดน้ำมันหอมระเหยหยดลงในอ่างใบเล็กใส่น้ำอุ่น ๆ แล้วนำมาแช่มือหรือเท้าประมาณสิบถึงสิบห้านาที จากนั้นใช้ผ้าขนหนูแห้งห่อมือหรือเท้าไว้อีกสิบห้านาที นอกจากจะหอมสดชื่นแล้วยังคลายความปวดเมื่อยได้

  • ใช้นวด บริเวณต้นคอหรือไหล่ โดยผสมน้ำมันหอมระเหยกับกับน้ำมันนวดจากพืชต่าง ๆ อย่างน้ำมันมะพร้าว น้ำมันโจโจบาหรือน้ำมันมะกอกเข้าด้วยกัน แล้วนวดหนัก ๆ เป็นวงประมาณสามนาที หากนวดบริเวณที่เท้าและขา ให้นวดจากล่างขึ้นมาหาเข่าจะช่วยทำให้เลือดไหลเวียน

     น้ำมันหอมระเหยมีโมเลกุลต่ำทำให้สามารถดูดซึมไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้ดี จึงมีประโยชน์ต่อการบำบัดโรคที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เช่น อาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง แต่การนำมาใช้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ปริมาณของน้ำมันหอมระเหยจึงต้องมีการผสมให้เจือจาง ห้ามให้น้ำมันหอมระเหยสัมผัสผิวหนังโดยตรง และห้ามเด็ดขาดไม่ให้ใช้ในผู้ป่วยบางโรค เช่น โรคลมชัก โรคหืดหอบ และสตรีมีครรภ์

     ส่วนดอกไม้ที่นิยมนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยนั้นจะมีชนิดใดและมีสรรพคุณต่างกันอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักกันค่ะ

ลาเวนเดอร์

ลาเวนเดอร์เป็นดอกไม้ที่นิยมมากที่สุดในการนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยก็คือดอกลาเวนเดอร์ สามารถนำไปทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น น้ำหอมปรับอากาศ แชมพู ครีมนวดผม หรือครีมบำรุงผิว

     การสูดดมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากดอกลาเวนเดอร์ มีผลในการช่วยฟื้นฟูและปรับสภาพความสมดุลของร่างกายและจิตใจ ขณะที่ร่างกายกำลังเข้าสู่สภาวะเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย เพียงหยดน้ำมันหอมระเหยผสมกับน้ำ แล้วชโลมที่ข้างขมับหรือหน้าผาก ก็จะช่วยคลายความตึงเครียด สร้างความรู้สึกที่สดชื่น ต่อต้านอาการซึมเศร้า บรรเทาอาการปวดไมเกรนอ่อน ๆ และแก้อาการหน้ามืดได้

     นอกจากนี้หากใช้น้ำมันหอมระเหยทาในบริเวณที่เป็นแผลจากการถูกไฟลวกเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะยิ่งทำให้รอยขีดข่วนหรือรอยถลอกจางลง สมานแผลและทำให้แผลที่ผิวหนังหายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถรักษาพิษจากแมลงกัด และลดอาการบวมได้อีกด้วย

คาโมมายล์

     ในดอกคาโมมายล์พบสารเคมีในพืชที่เป็นประโยชน์อยู่หลายชนิด เช่น สารกลุ่มฟลาโวนอยด์และเทอร์พีนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ และสารอะพิจีนินที่พบมากสุดจะช่วยทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ทำให้เกิดการผ่อนคลาย สงบ คลายความกังวล ช่วยให้หลับสนิท

     ด้วยฤทธิ์ที่ช่วยลดอาการอักเสบทำให้คาโมมายล์มีประโยชน์ในการใช้รักษาสิว แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดเลือนริ้วรอยและนิยมนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า หรือใช้เป็นแชมพูให้ผมมีความเงางาม นอกจากนี้หากเกิดการเคล็ดขัดยอก ยังสามารถใช้ผสมกับน้ำมันพื้นฐาน เป็นน้ำมันนวดเพื่อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้

โรสแมรี่

     เมื่อนำส่วนยอดของดอกโรสแมรี่มาสกัด จะได้น้ำมันหอมระเหยที่มีลักษณะใส กลิ่นคล้ายกับความหอมของการบูร มีคุณสมบัติช่วยในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ทำให้รู้สึกสดชื่นและมีสมาธิ เสริมสร้างความจำและช่วยคลายความรู้สึกซึมเศร้า อ่อนล้า

     เนื่องจากในดอกโรสแมรี่มีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงนิยมนำสารสกัดไปใช้ในด้วยความงาม โรสแมรี่จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์หลายชนิด โดยจะช่วยฟื้นฟู ชะลอความหย่อนของผิว และบรรเทาอาการผื่น นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ช่วยขจัดรังแคและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมให้แข็งแรงขึ้น

กุหลาบ

     เพียงแค่ได้ยินชื่อกุหลาบ ก็เหมือนกำลังสูดดมกลิ่นหอมติดจมูกอยู่เสมอ น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากดอกกุหลาบเริ่มต้นผลิตกันมายาวนานตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษ 10 จนกระทั่งปัจจุบัน ด้วยขึ้นชื่อที่สุดในเรื่องของกลิ่นและความหอมรัญจวน ซึ่งกุหลาบแต่ละชนิดก็จะให้กลิ่นที่แตกต่างกัน เช่น พันธุ์ Damascene และ Centrifolia ที่มีเอกลักษณ์ด้วยกลิ่นหอมของกุหลาบสด หรือ Moschata และ Rugosa ที่ให้กลิ่นของเครื่องเทศ แต่พันธุ์ที่นิยมเอาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย มีเพียง Damascene, Centrifolia และ Gallica เท่านั้น

     ความหอมของน้ำมันหอมระเหยกุหลาบ เหมาะกับการนำไปทำเครื่องสำอาง น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับดูแลผิว และมีประโยชน์ในการฆ่าเชื้อ ต้านการเจริญของแบคทีเรียและต้านการอักเสบในแผลเล็ก ๆ ตลอดจนโรคผื่นคัน นอกจากนี้ยังช่วยให้ความชุ่มชื้นกับผิว น้ำมันหอมระเหยกุหลาบจึงถูกใช้ในการบำบัดสภาพผิวแห้ง ส่วนความหอมนั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของยาดับกลิ่นและส่วนผสมในโลชั่น แป้งทาตัว ส่วนในเรื่องการบำบัดสุขภาพนั้น น้ำมันหอมระเหยกุหลาบจะช่วยควบคุมการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการต้านอาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ประสาทผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยลดความเครียดทุกชนิดได้เป็นอย่างดี

กระดังงา

     หากกุหลาบเป็นดอกไม้ที่นิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยอย่างแพร่หลาย ดอกกระดังงาเองก็เรียกได้ว่าหอมติดอันดับไปทั่วไม่แพ้กัน นานมาแล้วที่คนไทยนิยมใช้กระดังงาเป็นส่วนผสมในน้ำอบ น้ำปรุง ไปจนถึงนำมาช่วยแต่งกลิ่นขนมไทยให้ยิ่งหอมน่ารับประทาน ด้วยกลิ่นหอมที่ผสมผสานกันระหว่างมะลิ ดอกส้ม เครื่องเทศสมุนไพรอันเป็นเอกลักษณ์ ชาวต่างชาติยังนำกลิ่นกระดังงาไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำหอมชั้นนำหลายกลิ่น

     ดอกกระดังงา มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการระคายเคืองบนผิวหนัง และช่วยปรับสมดุลของต่อมน้ำมันบนผิวหนัง จึงเหมาะจะใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ลดความมัน ทั้งยังสามารถกำจัดแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของสิว และสกัดมาทำเป็นแชมพูหรือครีมนวดผมก็จะลดอาการผมร่วงได้อย่างดี

     นอกจากปรับสมดุลของต่อมน้ำมันแล้ว กลิ่นของกระดังงายังช่วยปรับสมดุลทางอารมณ์ บำบัดอาการซึมเศร้าหดหู่ คลายความตึงเครียดหรือวิตกกังวล อาการโมโหหงุดหงิดง่าย ความแปรปรวนทางอารมณ์ หากหยดน้ำมันสกัดจากกระดังงาลงในอ่างอาบน้ำ หรือใช้นวดตามร่างกายจะช่วยให้นอนหลับสบาย แต่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยควรจะใช้ในปริมาณน้อย เพราะกลิ่นที่แรงเกินไปอาจทำให้เวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ได้

     ดอกไม้ไทยชนิดอื่น ๆ เช่น ดอกมะลิ, จำปา, ลีลาวดี, สายน้ำผึ้ง และซ่อนกลิ่น ที่มีกลิ่นคล้าย ๆ กัน ก็เป็นที่นิยมทั่วไปในท้องตลาดเช่นกัน ด้วยสรรพคุณที่โดดเด่นมากมาย ต่างทำให้ผู้ที่ต้องการความผ่อนคลายในการพักผ่อนอยู่กับบ้าน อดไม่ได้เลยที่จะต้องซื้อน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ติดบ้านไว้สักสองสามขวด เพราะไม่ว่าจะวางอยู่ตรงจุดไหน กลิ่นหอมของดอกไม้นั้นก็ช่วยสร้างบรรยากาศดี ๆ ให้กับบ้านได้อย่างยอดเยี่ยมและเป็นธรรมชาติ

     ส่วนภาชนะที่เลือกใช้ก็มีให้เลือกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเตาอโรม่าแบบไฟฟ้า น้ำมันหอมระเหยแบบก้านเสียบ หรือเครื่องพ่นไอน้ำที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งจะทำให้กลิ่นหอมอยู่ติดห้องได้อย่างยาวนานเลย นอกจากนี้หากตู้เย็น ตู้เสื้อผ้า หรือตู้เก็บชองมีกลิ่นอับ ยังสามารถหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนสำลีแบบก้อน และนำไปวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ที่มีกลิ่นอับ หรือนำฟองน้ำมาชุบแล้วเช็ดภายในตู้เย็นให้กลิ่นอับหายไปได้อีกด้วย

     ทั้งช่วยบรรเทาความเครียดแถมยังเติมความหอมให้กับบ้านได้แบบไม่รู้เบื่อขนาดนี้ น้ำมันหอมระเหยนี่สารพัดประโยชน์จริง ๆ ค่ะ 😀