วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ก้าวย่างเข้าสู่ปฎิทินในหน้าของเดือนธันวาคม เดือนแห่งการเฉลิมฉลอง ซึ่งประชาชนทั่วทุกจังหวัดทั้งภาครัฐและเอกชนจะพร้อมใจกันออกมาจัดงานพิธีอันยิ่งใหญ่เพื่อแสดงความจงรักภักดีและถวายพระพรต่อองค์ "พ่อหลวง" โดยพร้อมเพรียง
และเป็นประจำทุกปีในขณะที่ประชาชนกำลังร่วมแรงร่วมใจตระเตรียมงานสำคัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชหรือพ่อหลวงของลูกๆ ก็ ทรงพระเมตตาสละเวลา หลังจากการทรงงาน ประดิษฐ์ "ส.ค.ส." เพื่อพระราชทานให้กับลูกๆทุกคน ซึ่งข้อความต่างๆใน ส.ค.ส.แต่ละปีจะมีคำอวยพรอันเป็นมงคลยิ่ง ผสานข้อคิดเตือนสติเตือนใจให้ลูกๆรู้จักดำรงชีวิตกันอย่าง ถูกทิศถูกทาง โดยพ่อหลวงของเราจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง และมีพระราชดำรัสพระราชทานพรเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ทุกๆ วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2555 ยกเว้นในปี 2548 ซึ่งเกิดเหตุธรณีพิบัติ คลื่นยักษ์สึนามิซัดเข้ามายังชายฝั่งทะเลอันดามันด้วยเกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พ่อหลวงท่านทรงมีพระราชปฏิสันถาร กับ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าปีใหม่ปีนี้มิได้พระราชทาน ส.ค.ส. เนื่องจากทรงงานหนัก โดยพระองค์ต้องใช้เวลาไปกับการให้ความช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความทุกข์ยาก เดือดร้อนจากเหตุการณ์ สึนามิ และนายขวัญแก้ว วัชโรทัย ได้นำรับสั่งจากพระองค์ท่านซึ่งมีความว่าไว้ดังนี้
" ทรงปลื้มใจที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน เวลาเดือดร้อนก็ช่วยเหลือกันเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เสมือนเป็นหลัก ประกันว่าเมื่อใดที่ทรงเดือดร้อนก็จะมีคนช่วยเหลือพระองค์แน่นอน การให้การช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนผลบุญก็ จะสนองต่อผู้ปฏิบัติด้วย รับสั่งว่าทรงปลื้มใจคนไทยที่ให้ความช่วย เหลือทุกคนมิได้แบ่งแยกว่าเป็นคนชาติใด "
|
ประวัติและที่มาของบัตรส่งความสุขหรือ ส.ค.ส. ในประเทศไทยนั้น นายเอนก นาวิกมูล นักค้นคว้าประวัติศาสตร์เขียนบันทึกเรื่องราวธรรมเนียมการส่ง ส.ค.ส. ว่าเป็นเรื่องที่คนไทยเราได้รับแบบอย่างมาจากชาวตะวันตก พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีที่ส่ง ส.ค.ส. เป็นพระองค์แรกในประเทศไทยคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4จากหลักฐานอันเก่าแก่ หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ ฉบับวันที่ 13 ม.ค. ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ค.ศ.1866 ตรงกับปี พ.ศ.2409 ของประเทศไทย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ข้าราชสำนักได้เขียนคำถวายพระพรถวายต่อองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ในรูปแบบของ ส.ค.ส. เป็นยุคสมัยแห่งการใช้คำว่า "ส.ค.ส." หรือ ส่งความสุข
|
การส่ง ส.ค.ส. ในสมัยก่อนไทยเราจะส่งกันในช่วงเดือนเมษายนเพราะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในยุคสมัยนั้นบัตรอวยพรที่ข้าราชการส่งมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 - รัชกาลที่ 7 เป็นคำอวยพรในรูปแบบร้อยแก้วหรือบทร้อยกรอง มีการใช้คำที่แปลกออกไปจากปัจจุบันอยู่บ้างเช่นใช้คำว่า "ศุข" แทน สุข ใช้คำว่า "รฤก" แทนระลึก ใช้คำว่า "ถ.ค.ส." หมายถึง ถวายความสุขแด่องค์พระมหากษัตริย์ ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 8 ทางราชการประกาศให้ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่เพื่อให้มีความเป็นสากลเหมือน อย่างประเทศอื่นๆและเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี บัตรอวยพรเนื่องในโอกาสวันปีใหม่ 1 มกราคม จึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา
รูปแบบการจัดทำ ส.ค.ส. ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพรปีใหม่ของแต่ละปีนั้นจะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่คนไทยทุกคนต้องประสบในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จากนั้นหนังสือพิมพ์รายวันจะนำ ส.ค.ส. ลงตีพิมพ์ในฉบับของเช้าวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมกันอย่างทั่วถึงข้อความใน ส.ค.ส. จะเป็นข้อความที่พ่อหลวงทรงให้กำลังใจและให้ข้อคิดในยามที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหา
|
วิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นโดยรวม ดังนั้น "ส.ค.ส. พระราชทาน" จึงถือเป็นสิ่งมงคลอันมีคุณค่าเป็นสิ่งเชื่อมถึงกันระหว่างพระมหากษัตริย์ส่งมาให้ประชาชน เสมือนความรักความห่วงใยและความปรารถนาดีที่พ่อมีต่อลูก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ประชาชนได้รับจากพ่อหลวง ทรงเป็นกำลังใจให้ประชาชนรู้จักต่อสู้กับปัญหาต่างๆได้โดยไม่เกิดความย่อท้อ นำพาความสุขใจ เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ก้าวไปสู่ปีแห่งความสุขตลอดทั้งปีโดยถ้วนหน้ากัน
ปีนี้คงเป็นอีกปีหนึ่งที่คนไทยทุกคนจะรอคอย "ส.ค.ส.พระราชทาน" เพื่อความเป็นศิริมงคลตั้งแต่ต้นปีจะได้มีแรงกายและแรงใจ ในการทำกิจการงานอาชีพโดยสุจริต เพื่อความก้าวหน้าแก่ตนเอง และประเทศชาติอีกต่อไปค่ะ
...May... |