ในการไหว้เจ้าทุกๆ ครั้ง หนึ่งสิ่งที่เราขาดไปไม้ได้คือการเตรียมถาดใส่ถ้วยน้ำชา 5 ถ้วย วางเพื่อไหว้สักการะศาลเจ้าที่ ตี่จู่เอี๊ยะ พร้อมกับผลไม้อย่างส้ม 5 ลูก วางซ้อนกันเป็นภูเขา โดยตั้งแต่เด็กผู้เขียนเองก็เคยตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องใส่น้ำชาถวาย ใส่น้ำผลไม้แทนได้หรือไม่ (แต่ตอนนั้นผู้เขียนกับน้องๆ ญาติๆ ก็ได้ให้คำตอบกับตนเองว่า ก็เพราะว่าเป็นถ้วยชาไง จึงต้องใส่น้ำชา) จนกระทั้งโตมาก็เปลี่ยนคำถามใหม่ว่าหากเราเป็นผู้ชงชา ต้องใช้ชาชนิดไหนถึงจะเหมาะสม?
ดังนั้นในวันนี้ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้กลับมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงขอย้อนกลับไปตั้งแต่ประการแรกเลยดีกว่า ว่าทำไมเราถึงต้องเตรียมน้ำชา…
แรกเริ่มเดิมที สาเหตุที่บรรพบุรุษของเรามักนำน้ำชามาไหว้เจ้าก็เพราะว่าคนสมัยก่อนนิยมดื่ม ชา ร้อนๆ เท่านั้นเอง เนื่องจากประเทศจีนมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น และในสมัยก่อนน้ำยังไม่สะอาดจึงต้องต้มน้ำฆ่าเชื้อโรคก่อนดื่ม แต่น้ำร้อนเปล่าๆ รสชาติก็ไม่ดีจึงนิยมใส่ใบชาลงไปเพื่อให้มีกลิ่นหอมต่างๆ ของใบชามากมายหลายชนิด สมกับที่ต้นกำเนิดชาเกิดขึ้นในประเทศจีนและมีประวัติศาลตร์ยาวนานกว่า 4,000 ปีแล้ว
ดังนั้นนอกจากจะชงให้ตนเองแล้ว ก็ชงถวายให้กับเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยจนเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมา จนเป็นความเชื่อว่าหากบ้านใดให้เกียรติเทพเจ้า ชงชาร้อนถวายให้ท่าน บ้านนั้นก็จะได้รับการอวยพรจากเทพเจ้าด้วยเช่นกัน (ไม่นิยมเท ชา ที่เย็นชืดแล้วถวาย เพราะเชื่อว่าไม่ให้เกียรติเทพเจ้า) ด้วยเหตุนี้ในสมัยก่อนชาที่วางหน้าศาลเจ้าที่ ตี่จู่เอี๊ยะ จึงแตกต่างกันไปในแต่ละบ้าน ขึ้นอยู่กับว่าบ้านไหนดื่มชาชนิดไหนก็จะชงชาชนิดนั้นถวาย ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องเป็นชาชนิดไหนถึงจะดี