Opera Interior
งานดีไซน์ โรงโอเปร่า

ดนตรีกับงานศิลปะ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่มีความคล้ายกัน คือช่วยให้เกิดความผ่อนคลายและความสร้างสรรค์ ในหลายๆครั้งดนตรีเป็นสิ่งผลักดันให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่นการเกิดขึ้นของงานสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อการจัดแสดงโชว์ดนตรีอย่าง โรงโอเปร่า ต่างๆ

Sydney Opera House, Australia

Credit : worldstrides
ซิดนีย์โอเปร่าเฮ้าส์ตั้งอยู่ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นศูนย์แสดงศิลปะการแสดงเอนกประสงค์ที่มีสถานที่จัดงานที่ใหญ่ที่สุด คือสามารถจุผู้คนได้ถึง 2,679 ที่นั่ง เป็นโรงละครที่เกิดขึ้นจากความต้องการของรัฐบาลเมืองซิดนีย์ สถานที่แห่งนี้ถูกใช้การแสดงที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ทั้งใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตซิมโฟนี การแสดงของคณะนักร้องประสานเสียง การแสดงดนตรียอดนิยม การแสดงโอเปร่าและการเต้นรำ รวมทั้งบัลเล่ต์ก็เกิดขึ้นใน ซิดนีย์โอเปราเฮ้าส์ และด้วยงานออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ซิดนีย์โอเปราเฮ้าส์กลายเป็นแลนด์มาร์คของเมืองซิดนีย์ และยังเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ในปี 2500 ทางรัฐบาลออสเตรเลียได้มีการจัดประกวดการออกแบบสำหรับโครงการสถาปัตยกรรมของภาครัฐ โดยมีการส่งประกวดแบบจากสถาปนิกชื่อดังทั่วโลก เพื่อออกแบบ Sydney Opera House ที่จะใช้เป็นโรงโอเปร่าแห่งใหม่ ซึ่งผู้ชนะคือจอร์น อุตซอน (Jorn Utzon) สถาปนิกชาวเดนมาร์ก งานออกแบบของเขามีความแตกต่างและรูปแบบที่ล้ำสมัย จะเห็นได้อย่างเด่นชัดจากรูปทรงของหลังคาโรงโอเปร่า ที่ออกแบบให้มีลักษณะโค้งมนคล้ายเปลือกหอยที่ทับซ้อนกัน แต่ด้วยความล้ำสมัยนี้เองทำให้มีอุปสรรคในการก่อสร้างและยังทำให้งบประมาณบายปลาย โดย Sydney Opera House สร้างเสร็จในปี 2516 และมีควีนอลิซาเบธ ที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งยังได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกโลกอีกด้วย
Credit : theguardian
จอร์น อุตซอน มีหลักแนวคิดในการออกแบบมาจากธรรมชาติเป็นหลัก จึงทำให้หลายๆ องค์ประกอบของตัวอาคารได้รูปแบบมาจากสิ่งต่างๆในธรรมชาติ เช่นหลังคาโค้งมนสีขาวอันเป็นเอกลักษณ์ของซิดนีย์โอเปร่าเฮาส์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเปลือกหอยที่ทับซ้อนกัน และเมื่อมองจากมุมมองระยะไกลจะเห็นภาพคล้ายกับใบเรือบนเกลียวคลื่น การออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องราวทางทะเลเหล่านี้ทำให้เข้ากันได้ดีกับตำแหน่งของอาคารที่ตั้งอยู่ปากอ่าวซิดนีย์ เกิดเป็นทัศนียภาพที่สามารถมองเห็นคล้ายกับเรือใบที่ร่องลอยอยู่บนผิวน้ำ
Credit : architecturesideas
การออกแบบภายในเลือกใช้รูปแบบของการซ้อนทับอย่างวิจิตรบรรจงเป็นหลัก ห้องโถงที่ใช้จัดแสดงถูกล้อมรอบไปด้วยทางเดินและบันได ด้านนอกมีการตกแต่งด้วยระแนงที่ถูกตีเป็นเส้นตรง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากปีกของนกอินทรีย์ ที่นำมาลดทอนรายละเอียด ตลอดจนภายในห้องโถงการแสดงเองก็มีดีไซน์ที่ไปในทิศทางเดียวกัน และยังใส่ใจทุกรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์ ตั้งแต่เวที การจัดที่นั่ง และธีมของห้อง ซึ่งในแต่ละจุดจะถูกเชื่อมโยงด้วยเส้นตรงที่ให้ความรู้สึกสง่างาม น่าเกรงขาม และเนื่องด้วยดีไซน์ที่ล้ำสมัยจึงทำให้ยากต่อการก่อสร้าง หลังคาทรงใบเรือของซิดนีย์โอเปร่าเฮ้าส์นั้นประกอบด้วยชั้นของซี่โครงคอนกรีตและกระเบื้องเซรามิกรูปตัววีมากกว่าหนึ่งล้านแผ่น ผ่านการเจาะรูอย่างระมัดระวัง และภายในยังมีโครงสร้างโลหะที่ยึดไว้ ทั้งหมดเป็นการทำงานด้วยความแม่นยำเพื่อไม่ให้รบกวนความสมบูรณ์ของอาคาร และหากใครที่สนใจอยากจะเดินทางไปเยี่ยมชมก็สามารถชมบริเวณภายนอกได้ตลอดเวลา และยังมี The Sydney Opera House Tour สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเยี่ยมชมภายในแต่จะเปิดเฉพาะเวลา 09.00-17.00 น. เท่านั้น

Prague State Opera, the Czech Republic

Credit : charmboard
Prague State Opera โรงละครโอเปร่าแห่งรัฐปราก (Státní opera Praha) เป็นโรงโอเปร่าชั้นแนวหน้าของเมือง ซึ่งใช้จัดแสดงโอเปร่าและบัลเล่ต์เป็นหลัก Prague State Opera ตั้งอยู่ในกรุงปรากสาธารณรัฐเช็ก โดยมีที่นั่งทั้งหมดมากกว่า 1,000 ที่นั่ง ที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงละครแห่งชาติที่ก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐเช็ก เปิดตัวครั้งแรกในปี 1888 ในฐานะโรงละครเยอรมัน ในช่วงเวลานั้นสาธารณรัฐเช็กยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี  ในช่วงยุคคอมมิวนิสต์ โรงโอเปร่าถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Smetana Theatre และกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงละครแห่งชาติ จนเมื่อยุคคอมมิวนิสต์ล่มสลายจึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Prague State Opera และเปิดประตูสู่สื่อที่หลากหลายขึ้นเพื่อดึงดูดผู้มาเยี่ยมชมมากขึ้น
Credit : prague .eu
การตกแต่งภายนอกอาคารถูกตกแต่งในสไตล์ Neo-Renaissance ที่มีมนต์ขลัง เปรียบเสมือนการเดินทางเชิงวัฒนธรรมย้อนเวลากลับไปสู่อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี Prague State Opera เป็นหนึ่งในโรงโอเปร่าที่สวยที่สุดในยุโรป มาพร้อมกับการตกแต่งภายในอย่างหรูหราในรูปแบบของ Neo-Rococo และดีไซน์ทั้งหมดโดดเด่นด้วยสีขาวและสีทองพร้อมผ้ากำมะหยี่สีแดง
Credit : archiv.radio
การออกแบบสำหรับอาคารนี้วาดขึ้นโดยสตูดิโอสถาปัตยกรรม Fellner และ Hellmer ในกรุงเวียนนา ในขณะที่สถาปนิกชาวปราก Alfons Wertmüller ดูแลกระบวนการก่อสร้าง ห้องโถงหลักจะได้รับการบูรณะให้ใกล้เคียงกับความรุ่งโรจน์ในอดีตมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และการสร้างใหม่ก็เพื่อนำมาซึ่งการปรับปรุงทางเทคนิคมากมาย ผู้ชมจะสามารถใช้จอทัชสกรีนที่มีคำบรรยายในหลายภาษาและองค์ประกอบบนเวทีจะต้องทำงานอัตโนมัติ และเรียกใช้จากคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง โดยผู้ที่สนใจอยากมาเยี่ยมชมก็สามารถจองตั๋วรอบการแสดงต่างๆได้ล่วงหน้าทางอินเตอร์เน็ต โดยโชว์ที่จัดแสดงจะเน้นโอเปร่าและบัลเล่ต์

Opéra Royal, Versailles Court Theater, France

Credit : chateauversailles-spectacles
Opéra Royal, Versailles Court Theater เป็นโรงโอเปร่าของพระราชวังแวร์ซาย ที่ตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส กำเนิดขึ้นในปี 1768 ตามคำสั่งของพระเจ้าหลุยส์ที่15 ที่ได้มอบหมายให้หัวหน้าสถาปนิก Ange-Jacques Gabrie สร้างโรงละครซึ่งเป็นห้องโถงคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปขณะนั้น Gabrie พัฒนาโครงการและส่งสถาปนิกชาวฝรั่งเศสไปยังอิตาลีเพื่อตรวจสอบห้องโถงที่ดีที่สุดของประเทศ และมีจุดมุ่งหมายคือการนำข้อมูลทางเทคนิคทั้งหมดที่จำเป็นกลับมาเพื่อให้แวร์ซายสร้างโรงโอเปร่าที่สมบูรณ์แบบได้ โรงโอเปร่าแห่งนี้ถูกใช้ครั้งแรกเพื่อจัดงานเลี้ยงเป็นเกียรติแก่การแต่งงานของพระเจ้าหลุยส์ที่16 กับมารี-อองตัวแนตต์ ส่วนในเวลาปกติโรงโอเปร่าจะถูกใช้ในการให้ความบันเทิงทางดนตรี การจัดคอนเสิร์ต โอเปร่า และละครเป็นครั้งคราว โดยสามารถจุคนได้ถึง 750 ที่นั่ง
Credit : en.chateauversailles
ความสำเร็จด้านเทคนิคที่ยอดเยี่ยมและผลงานการตกแต่งที่น่าประทับใจ คือการออกแบบตัวอาคารเป็นรูปวงรี ไม่ใช่สี่เหลี่ยมเหมือนโรงละครฝรั่งเศสในสมัยก่อน ถือเป็นเทคนิคที่ล้ำสมัยในยุคนั้นเพราะการสร้างกำแพงที่มีลักษณะเป็นวงรีนั้นเป็นเรื่องยากในยุคนั้น นอกจากนี้การตกแต่งภายในวัสดุถูกสร้างมาจากไม้เกือบทั้งหมด และมีการใช้เทคนิคพิเศษเช่นการทาสีให้มีลักษณะคล้ายหินอ่อน และยังได้ศิลปินที่ชำนาญเชี่ยวชาญในศิลปะแต่ละแขนง มาช่วยออกแบบตกแต่งทั้งภาพวาดเพดาน และงานแกะสลัก ต่อมา Opéra Royal ก็ได้รับบูรณะหลังจากจบสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และเสร็จสิ้นทันเวลาสำหรับการเสด็จเยือนอย่างเป็นทางการของควีนอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษอีกด้วย ในส่วนของการเข้าชมผู้คนทั่วไปสามารถจองตั๋วรอบการแสดงได้ทางอินเตอร์เน็ต

Vienna State Opera, Vienna, Austria

Credit : oddviser
Vienna State Opera หนึ่งในโรงโอเปร่าที่ถูกจัดว่าสำคัญที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิก August Sicard von Sicardburg ร่วมกับการตกแต่งภายในจาก Eduard van der Nüll สถานที่แห่งนี้จะใช้ในการจัดแสดงทั้งละคร บัลเล่ต์ โอเปร่า รวมถึงการแสดงดนตรีชั้นนำระดับโลกประเภทวงออเคสตร้าที่เป็นการโชว์ระดับโลกตลอดปี และยังใช้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญอย่างงานเวียนนาโอเปร่าบอล ที่จะมีการปรับเปลี่ยนโรงละครให้กลายเป็นห้องโถงสำหรับเต้นรำ Vienna State Opera มีที่นั่ง 1,709 ที่นั่ง และสามารถรองรับแขกยืนได้ถึง 567 คน
Credit : azertag / depositphotos
ตัวอาคารตั้งแด่นเป็นสง่าในสไตล์ Neo-Renaissance และประดับตกแต่งด้วยรูปปั้นสีทองจำนวนมาก โดยมีองค์ประกอบแบบโกธิกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ภายในถูกปกคลุมไปด้วยทองอร่ามตา ทั้งเพดานและผนังมีการใช้ทองคำเปลวในการตกแต่งเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีภาพวาดจิตกรรมด้านบนเพดาน รวมไปถึงงานแกะสลักอย่างประณีตจากช่างเทคนิคขั้นสูงอีกด้วย และหากใครที่ต้องการเข้าไปเยี่ยมชม Vienna State Opera ด้วยตัวเองก็สามารถซื้อตั๋วออนไลน์หรือสถานที่จำหน่ายภายในกรุงเวียนนาได้เช่นกัน

Harbin Opera House, Harbin, China

Credit : arc-magazine
Harbin Opera House ตั้งอยู่ในมณฑลเฮยหลงเจียงประเทศจีน ตัวอาคารตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่กว้าง มีลักษณะที่ว่างเปล่า ห่างไกลจากตัวตึกอาคารที่หนาแน่น อาคารแห่งนี้มีความบริสุทธิ์และความโปร่งใสราวกับคริสตัล โดยการออกแบบตัวอาคารมีความต้องการให้ผสมผสานกับธรรมชาติและภูมิประเทศโดยรอบ โรงโอเปร่าที่นี่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเสริมแนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่ตัวอาคารเติบโตจากสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นและตอบสนองต่อพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นโปรเจ็คของ MAD Architects สถาปนิกชาวจีนผู้ที่ผนวกธรรมชาติและงานศิลปะล้ำสมัยเข้าไว้ด้วยกัน Harbin Opera House ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เอนกประสงค์ สามารถจัดคอนเสิร์ตระดับโลก โอเปร่า งานศิลปะ หรือแม้กระทั้งจัดงานแต่งงาน
Credit : archdaily
ภายในโรงโอเปร่าแห่งนี้สามารถจุคนได้ถึง 1,600 คน พร้อมกับเวทีการแสดงที่จุผู้แสดงได้ถึง 400 คน ตัวอาคารได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกลียวคลื่น มีความกลมกลืนกับภูมิทัศน์ในบริเวณนั้นที่เป็นแหล่งน้ำล้อมรอบ วัสดุที่เลือกใช้คืออะลูมิเนียมและกระจกเพื่อให้เกิดการสะท้อนกันแสงและตกกระทบกับน้ำยิ่งทำให้เกิดความโดดเด่น หรือในช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตก ก็จะกลมกลืนกับธรรมชาติในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี โดยโครงสร้างอาคารถูกออกแบบให้รู้สึกถึงสายน้ำที่กำลังไหลเข้ามาในอาคาร ด้วยทั้งรูปทรงของผนังคอนกรีตที่แลดูพริ้วไหว และยังคงคอนเซ็ปความเป็นธรรมชาติเอาไว้ด้วยโทนสีที่ใช้ อาคารแห่งนี้เปิดให้ผู้คนเข้ามาใช้งานได้ตลอดเวลา เป็นเสมือนแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมกันมากยิ่งขึ้น
โรงโอเปร่า ในแต่ละแห่งถูกวางแผนการออกแบบมาอย่างน่าประทับใจ โดยมีความตระการตรารวมถึงมีฟังก์ชันการใข้งานที่ลงตัว และยังคงใช้งานทางด้านให้ความบันเทิงมาจนปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่าดนตรีนั้นมีความสำคัญกับมนุษย์มาอย่างช้านาน
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
worldstrides .com/
theguardian .com/
charmboard .com
wiener-staatsoper .at/
en.chateauversailles .fr
archdaily .com/

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO