Neo Classical on the Stamp

งานศิลปะโลดแล่นโบยบินไปอยู่ในทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งสิ่งของเล็กๆน้อยๆที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันอย่าง “แสตมป์” ที่มักจะแปะอยู่ตามซองจดหมายหรือไปรษณีย์ต่างๆ โดยแสตมป์ส่วนมากมักจะถูกผลิตพิมพ์ออกมาเป็นรูปภาพสวยงามมากมาย โดยเฉพาะภาพสถานที่สำคัญของเมืองหรือของประเทศนั้นๆ ซึ่งทำให้แสตมป์กลายเป็นคอลเล็คชั่นของสะสม และงานอดิเรกของใครหลายคนไปแล้วค่ะ
หากพูดถึงแสตมป์รุ่นเก่าทางฝั่งยุโรปที่ตอนนี้แสตมป์หลายชิ้นได้กลายเป็นของสะสมหายาก โดยภาพส่วนมากที่ถูกเลือกนำมาพิมพ์ลงไปบนแสตมป์มักจะเป็นภาพงานสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์บ้านเมือง และโดยเฉพาะรูปของสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอคลาสสิค ( Neo Classic ) ที่เมื่อนำรูปภาพเหล่านั้นมาผลิตเป็นแสตมป์ ส่วนใหญ่ให้ความรู้สึกที่คลาสสิคและยังเป็นผลงานศิลปะที่สวยมีเสน่ห์แตกต่างกันออกไป โดยเราจะขอนำแสตมป์บางส่วนที่เป็นรูปของสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอคลาสสิคที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ยุโรปมาแนะนำกันค่ะ

Eduskuntatalo, Finland

Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : commons.wikimedia
โดยแสตมป์ชิ้นแรกที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นแสตมป์รูปอาคารรัฐสภาในฟินแลนด์ เรียกว่า Eduskuntatalo ตั้งอยู่ที่เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1926 แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1931 เป็นอาคารที่หลายคนประทับใจในความมีเอกลักษณ์งดงาม เพราะด้วยขนาดที่ใหญ่โตและสง่างามแลดูน่าเกรงขาม โดยเป็นผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกสไตล์นอร์ดิกคลาสสิก ออกแบบโดยสถาปนิกนามว่า เจเอส ไซเรน ( Johan Sigfrid Sirén )
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : visitfinland
ไซเรน ได้ออกแบบอาคารรัฐสภาในรูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิกแบบแยกส่วน ซึ่งมีการผสมผสานผลงานสไตล์นีโอคลาสสิคเพื่อเพิ่มความทันสมัยเข้าไปในช่วงตอนต้นศตวรรษที่ 20 โดยสามารถดูได้จากเสาที่แลดูคล้ายลูกกรง บวกกับการนำรูปแบบเรขาคณิตเชิงระนาบแบบง่ายเข้ามาใช้ในการออกแบบ วัสดุภายนอกตัวอาคารใช้เป็นหินแกรนิต Kalvola สีแดง เอกลักษณ์ของอาคารรัฐสภาแห่งนี้ที่หลายคนจำได้ก็คือ ด้านหน้าอาคารที่ถูกเรียงรายไปด้วยเสาขนาดใหญ่จำนวน 14 ต้น
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
The Plenary Chamber
Credit : Vesaloikas .com
สำหรับตัวอาคารนั้นมีทั้งหมด 5 ชั้น แต่ละชั้นก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งทุกชั้นถูกเชื่อมต่อกันด้วยบันไดหินอ่อนสีขาวและลิฟต์ สำหรับบริเวณที่สำคัญที่สุดในตัวอาคารที่ผู้มาเยี่ยมชมส่วนมากปราบปลื้มเป็นที่สุด ก็คือบริเวณล็อบบี้หลัก ห้องโถงใหญ่ ( Session Hall ) และห้องโถงต้อนรับขนาดใหญ่ ( State Hall )
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
The Hall of State
Credit : vesaloikas .com

Rathaus Thorn, Germany

Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : pinterest
อีกหนึ่งแสตมป์ที่น่าสนใจก็คือ แสตมป์ที่เป็นรูปของอาคาร Rotes Rathaus หรือผู้คนที่นั่นเรียกว่า “ ตึกแดง ” ซึ่งเป็นศาลากลางของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี และยังเป็นที่ทำการของนายกเทศมนตรีและรัฐบาล ( วุฒิสภาแห่งเบอร์ลิน ) ของรัฐเบอร์ลิน ซึ่งชื่อของอาคารก็ได้เรียกตรงตัวมาจากการออกแบบและใช้วัสดุที่ผลิตมาจากอิฐและปูนที่มีสีแดง
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : commons.wikimedia
อาคาร Rotes Rathaus ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1861 ถึงปี ค.ศ. 1869 ได้รับอิทธิพลและกลิ่นไอมาจากสถาปัตยกรรมจากบริเวณภาคเหนือของอิตาลีซึ่งตอนนั้นเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ( High Renaissance ) และยังผสมผสานสไตล์นีโอคลาสสิคเข้าไปด้วย ออกแบบโดยสถาปนิกนามว่า Hermann Friedrich Waesemann อาคารหลังนี้ถูกจำลองมาจากศาลากลางเก่าแก่แห่งเมือง Thorn ( ปัจจุบันคือเมืองทอรูน Toruń เมื่องเก่าแก่โบราณ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศโปแลนด์ )
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Tower and Clock of Rotes Rathaus
Credit : en.wikipedia.org
ในขณะที่สถาปัตยกรรมของหอคอยอาคารนั้นช่างแลดูละม้ายคล้ายคลึงกับหอคอยของ “ อาสนวิหารล็อง ” ( Notre- Dame de Laon ) ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอิทธิพลของการออกแบบงานสถาปัตยกรรมแนวนี้เริ่มเข้ามาแทนที่อาคารแบบเก่า ตั้งแต่สมัยยุคกลางและหลังจากนั้นก็ได้ขยายอิทธิพลแผ่ครอบคลุมพื้นที่ไปแล้วทั่วทั้งเมืองจนถึงปัจจุบันนี้
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Entrance hall of the Rathaus
Credit : en.wikipedia
ที่ผ่านมาตัวอาคารหลังนี้เคยได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีสภาพพังยับเยิน ดังนั้นจึงถูกสร้างและบูรณะขึ้นมาใหม่ตามรูปแบบเดิม ระหว่างปี ค.ศ. 1951 จนถึง ค.ศ. 1956 ว่ากันตามความรู้สึกของชาวเยอรมันแล้ว อาคารแห่งนี้มีประวัติศ่าสตร์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและผ่านช่วงเวลายากลำบากมาพร้อมกับชีวิตและความชอกช้ำของชาวเยอรมัน และถูกเปลี่ยนมือเป็นที่ตั้งทำการมาแล้วหลายยุคสมัยจากหลายฝ่ายทั้งทหารและการเมือง รวมถึงเคยถูกใช้เป็นที่ทำการของโซเวียตมาแล้วอีกด้วย

Saint Isaac’s Cathedral, Russia

Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : Alamy
ผลงานชิ้นนี้เป็นแสตมป์จากประเทศรัสเซีย นั่นก็คือ แสตมป์รูปมหาวิหารเซนต์ไอแซค ( Saint Isaac’s Cathedral ) ซึ่งเดิมทีสถานที่แห่งนี้เป็นโบสถ์หลักที่สำคัญประจำของเมือง และยังเป็นมหาวิหารที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซียอีกด้วย ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1818 จนถึง ค.ศ. 1858 โดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส Auguste Montferrand จุดประสงค์เพื่อต้องการสร้างสถานที่แห่งนี้ให้เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่น่าประทับใจที่สุดของเมืองหลวงในจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อ 180 ปีที่ผ่านมา ตัวโดมถูกปิดทองทั้งหมดและเมื่อใดที่เงยหน้ามองขึ้นไป เรายังคงได้เห็นส่วนโค้งสีทองอร่ามของโดมตัดกับขอบฟ้าของเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่กลายเป็นภาพจำเวลาที่เราไปเยือนเมืองนี้ไปแล้ว
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : vviator
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : saint-petersburg.com
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : saint-petersburg.com
บริเวณด้านหน้าของอาสนวิหารถูกตกแต่งด้วยไปด้วยงานประติมากรรมและเสาหินแกรนิตขนาดใหญ่ (เสาทุกต้นทำจากหินแกรนิตสีแดงทั้งก่อนเพียงชิ้นเดียว) ในขณะที่ภายในตกแต่งด้วยไอคอนโมเสก ภาพวาดสุดประณีต และเสาที่ทำมาจากหินมาลาฮีทและหินไพฑูรย์ หน้าต่างมีบานกระจกสีขนาดใหญ่ที่ตกแต่งสีสันสดใสเจิดจรัส เพื่อสื่อความหมายถึง “พระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์” บริเวณภายในแท่นบูชาหลัก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความนับถือและมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก
โบสถ์แห่งนี้ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับผู้มาสักการะมากถึง 14,000 คน เคยถูกปิดมาแล้วในช่วงต้นทศวรรษ 1930 และกลับมาเปิดใหม่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์จนถึงทุกวันนี้ สำหรับพิธีในโบสถ์จะถูกจัดขึ้นที่นี่เฉพาะในโอกาสสำคัญพิเศษๆของสงฆ์เพียงเท่านั้น

Colonial building St. John’s nl, Canada

Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : eBay
แสตมป์ชิ้นสุดท้ายที่เรานำมาฝากก็คือ แสตมป์รูป “อาคารโคโลเนียล” เป็นอาคารรัฐบาลเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ ประเทศแคนาดา สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1847 เป็นสภานิติบัญญัติของนิวฟาวด์แลนด์ ถือเป็นอัญมณีชิ้นงามแห่งสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก ด้วยเพราะความยิ่งใหญ่ของตัวอาคารนี้ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงมุมมองด้านบวกที่มองยาวไกลไปสู่อนาคตของที่มีต่อเมืองนิวฟาวด์แลนด์
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : Wikipedia
สถาปนิกผู้ออกแบบหลักเป็นชาวไอริช มีชื่อว่า James Purcell และ Patrick Keough เป็นผู้ร่วมออกแบบโครงการและผู้ตรวจสอบการควบคุมดูแลการก่อสร้างตัวอาคารโคโลเนียล โดยรูปแบบอาคารทั้งหมดถูกรังสรรค์ออกมาในสไตล์นีโอคลาสสิก มีการนำวัสดุหินปูนสีขาวที่สั่งนำเข้าพิเศษมาจากเกาะลิตเติ้ลไอแลนด์ ที่เมืองคอร์ก ประเทศไอร์แลนด์ เข้ามาเป็นวัสดุหลักในการสร้างอาคาร
บริเวณด้านหน้าอาคารมีเฉลียงขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยมุขหรือระเบียงพร้อมเสาตระหง่านขนาดใหญ่จำนวน 6 ต้น รองรับหน้าจั่วสามเหลี่ยมด้านบน ซึ่งบริเวณหน้าจั่วถูกแกะสลักออกมาเป็นรูปตราแผ่นดิน
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Credit : Wikipedia
สำหรับห้องโถงภายใน มีเสาไอออนิกที่ถกนำมารองรับน้ำหนักโดมทรงสี่เหลี่ยม ถูกใช้เป็นห้องสภานิติบัญญัติ จำนวน 2 ห้อง โดยแต่ละห้องมีจะมีเพดานสูงถึง 28 ฟุต ทั้งหมดถูกตกแต่งด้วยเสาโคริน และเทียนไขทองดูคลาสสิคงดงาม
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
Colonial Building chamber ceiling
Credit : en.wikipedia
อาคารแห่งนี้มาการวางศิลาฤกษ์ไว้ตรงหัวมุม ถูกวางในวันเกิดของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เมื่อวัน 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1847 มีประชาชนมารวมตัวกันเพื่อเข้าชมพิธีวางศิลาฤกษ์เป็นจำนวนมาก มีการฝังเงิน หนังสือพิมพ์ เมล็ดข้าวสาลีที่ปลูกในท้องถิ่น มีการทำบันทึกครั้งนี้ลงบนแผ่นหนังจารึกซึ่งจัดทำเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น
Bareo Interior Design Neo Classical Knowledge
House of Assembly in Session c.
Credit : heritage.nf .ca
ด้านประวัติศาสตร์อาคารโคโลเนียลเคยผ่านการใช้งานและเป็นที่ตั้งทำการของหน่วยงานรัฐบาลนิวฟันด์แลนด์มาแล้วจากหลายยุคหลายสมัย และเวลาประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องหรือก่อจลาจลก็จะพากันมารวมตัวที่นี่ ดังนั้นอาคารแห่งนี้จึงถือเป็นสถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของชาวเมืองที่ทุกคนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
หลายคนอาจคิดว่า ” แสตมป์ ” ก็แค่กระดาษใบเล็กๆที่นำมาติดเอาไว้บนไปรษณีย์หรือโปสการ์ด แต่จริงๆรู้หรือไม่ว่าการคัดเลือกรูปเพียงแค่รูปเดียวเพื่อนำมาผลิตเป็นแสตมป์สำหรับออกจำหน่ายนั้น ล้วนผ่านการคิดและคัดเลือกมาแล้วอย่างถี่ถ้วน เพราะรูปทุกใบบนแสตมป์นั้น สามารถบอกเล่าถึงเรื่องราวความรุ่งโรจน์ ยุคทอง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ไปจนถึงวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆได้แบบรวดเร็วและลึกซึ้ง ครบจบในแสตมป์ใบเล็กๆนั่นแหล่ะค่ะ สำหรับใครที่อยากสะสมผลงานศิลปะ ก็ลองหันมาเริ่มจากการสะสมเจ้าแสตมป์ใบเล็กๆเหล่านี้ก่อนก็ได้นะคะ อย่างเช่นเริ่มเก็บสะสมแสตมป์คอลเลคชั่นสไตล์นีโอคลาสสิคที่เพิ่งแนะนำกันไปก็ได้ หวังว่าเรื่องราวของแสตมป์ที่นำมาฝากในครั้งนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆคนอยากมีคอลเลคชั่นแสตมป์เป็นของตัวเองต่อไปค่ะ
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ข้อมูลจาก
en.wikipedia .org
heritage.nf .ca
saint-petersburg .com
viator .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO