ประวัติศาสตร์ของขนมไทยมีมาอย่างยาวนาน กว่าจะมาเป็น “ ขนมไทย ” ที่คนทั้งโลกรู้จักกันทุกวันนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่าต้นกำเนิดของ “ ขนมไทย ” นั้น ไม่ได้มาจากคนไทยแท้ แต่เริ่มมาจาก “มาเรีย กายโอมาร์ ดี ปีญา (Maria Guyomar de Pinha)” หรือออกเสียงสำเนียงไทยๆ ว่า “มาลีกีมา” (ท้าวทองกีบม้า) หญิงสาวชาวโปรตุเกส ภริยาของคอนสแตนติน ชายชาวต่างชาติที่ทำงานในพระราชวัง และเป็นคนโปรดของพระนารายณ์ แต่เมื่อเหตุการณ์พลิกผันมาถึงยุคสมัยที่ต้องเปลี่ยนผู้นำปกครอง คอนสแตนติน ถูกกล่าวโทษและโดนประหารชีวิต ส่วนนางมาเรีย กายโอมาร์ ถูกจองจำคุก แต่ด้วยความที่นางมาเรียมีความโดดเด่นในเรื่องของการทำขนม ทำให้พระนารายณ์ มอบหมายงานครัวให้กับนาง ด้วยเหตุนี้มาเรียจึงมีโอกาสได้สอนการทำขนมให้กับหญิงสาวชาววังกว่า 2,000 คนได้เรียนรู้การทำขนม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขนมที่เธอสอนมักเป็นสูตรที่ผสมไข่แดงและน้ำตาลเป็นหลัก นับเป็นต้นกำเนิดของขนมไทยชื่อดังมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เป็นต้น ถ้าหากใครเคยชม “ บุพเพสันนิวาส” ละครโทรทัศน์ชื่อดังทางไทยทีวีสีช่อง 3 จะได้รู้ความเป็นมาของขนมไทยนี้ได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายเลย แต่ถ้าใครยังไม่เคยดูสามารถหาชมย้อนหลังได้ค่ะ
ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่าก่อนที่มาเรียจะมีอิทธิพลเรื่อง ” ขนมไทย ” ย้อนกลับไปเมื่อ 671 ปีก่อน ในยุคสมัยสุโขทัยได้มีการกล่าวถึงขนมต้ม ซึ่งเป็นขนมที่เชื่อกันว่ามีความมงคลยิ่งนัก ชาวบ้านมักนำไปบวงสรวงเทวดา และใช้ในงานแต่งงาน ทั้งนี้เพราะขนมต้มเป็นที่รู้จักและเข้ามาพร้อมกันศาสนาพราหมณ์และความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้านั่นเอง
ต่อมาในสมัยอยุธยามีหลักฐานว่าเริ่มมีการทำเตาขนมครกขาย ชาวบ้านที่ทำเกษตรกรเป็นหลัก ได้นำน้ำกะทิมะพร้าวที่ผสมกับแป้ง มาหยอดลงบนหลุมเตาร้อนๆ กลายเป็นขนมครกที่มีมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ขนมลูกชุบเชื่อกันว่าเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคที่ขนมไทยเริ่มได้รับอิทธิพลจากต่างชาติมากขึ้น ทำให้เกิดการคิดค้นขนมใหม่ๆ ที่มีสีสัน รูปลักษณ์ทันสมัย และรสชาติที่อร่อยตรึงใจ ทางง่ายขึ้น นั่นก็คือ “ลูกชุบ” นั่นเอง
โดยขนมเหล่านี้เคยปรากฎอยู่ในวรรณคดีไทย เช่น ไตรภูมิพระร่วงด้วย ก่อนที่คนทั่วไปจะรู้จักขนมไทยมากขึ้นเนื่องจากอิทธิพลและฝีมือการทำขนมของมาเรีย
จุดเด่นของขนมไทย คือ มีความละเมียดละไม เต็มไปด้วยความปราณีต อ่อนช้อย พร้อมรสชาติที่หอมหวาน สัมผัสกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ รูปลักษณ์ที่สวยงาม สีสันสดใส แสดงถึงความเป็นไทยที่อ่อนโยนและห่วงใยธรรมชาติ ซึ่งแต่เดิมขนมไทยแท้ ขนมจะใช้ส่วนผสมเพียง 3 อย่างเท่านั้น ได้แก่ แป้ง น้ำตาล และมะพร้าว เป็นต้น แม้จะมีความเรียบง่ายในส่วนผสม แต่เทคนิคและทักษะที่จำเป็นในการสร้างรูปร่างที่สวยงามและรสชาติที่ทรงพลังของขนมไทยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว
ทำไมขนมไทยต้องรสชาติหวานนำ?
ถ้าว่ากันตามคนสมัยโบราณเล่ามา การที่ขนมไทยมีรสหวานนั้น เพราะในสมัยก่อนการรับประทานขนมไทย ไม่ได้ทำกันบ่อยๆ และหาซื้อได้ทั่วไปเหมือนทุกวันนี้ แต่จะกินกันเฉพาะเมื่อมีงานมงคล ประเพณี หรือเทศกาลต่างๆ เป็นต้น และราคาน้ำตาลในสมัยก่อนค่อนข้างสูง จึงไม่สามารถทำทานบ่อยๆ ได้ ที่สำคัญการทานหวานๆ นานครั้งนั้น จะช่วยให้ร่างกายสูบฉีด รู้สึกสนุกสนาน และมีพละกำลังมากขึ้นนั่นเอง เวลาเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมา คนโบราณจึงชื่นชอบการกินขนมที่มีรสชาติหวานเป็นพิเศษ
ปัจจุบันขนมไทยยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้คนรุ่นใหม่ซึ่งสนใจในการดูแลรูปร่างมากขึ้น จึงไม่นิยมทานรสชาติหวานๆ มากนัก ขนมไทยซึ่งดั้งเดิมมีรสชาติหวานนำจึงต้องปรับตัวไปตามเทรนด์ความนิยม โดยการลดความหวานลง พร้อมปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัย หรูหรา ดูมีความเป็นสากล รวมไปถึงการนำขนมไทยไปจับคู่กับเมนูอื่นๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น เช่น นำฝอยทองไปตกแต่งหน้าเค้ก เสิร์ฟคู่กับชาร้อนๆ อิ่มอร่อย หรือ ทองหยอดกับไอศกรีม ความหวานจับคู่กับความเย็นก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้ดีเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีเมนูขนมไทยอื่นๆ ที่ถูกนำมาปรับรูปลักษณ์ให้ดู Modern มากขึ้น พร้อมสร้างมูลค่า และเสิร์ฟบนภัตตาคารดัง คาเฟ่ขนมต่างๆ เป็นต้น เหมาะสำหรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี