อุปกรณ์ชงชา

Teaware
อุปกรณ์ชงชา

ชา คือเครื่องดื่มจากธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณจวบจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมการดื่มชาถูกหล่อหลอมมาอย่างช้านานจนกลายเป็นวิถีชีวิตและขนมธรรมเนียมของคนหลากหลายเชื้อชาติ ทำให้แม้แต่กระทั่งขั้นตอนของการชงชาก็ถูกจัดให้เป็นศิลปะทางวัฒนธรรมแขนงหนึ่งด้วยเช่นกัน
สำหรับวัฒนธรรมการดื่มชาในแถบเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้คนนิยมดื่มชากันอย่างแพร่หลาย สิ่งสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้นอกจากใบชาแล้ว นั่นก็คือ อุปกรณ์ชงชา ซึ่งประทเศษจีนก็มีอุปกรณ์ชงชาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นของตนที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยทีเดียว

|| อุปกรณ์ชงชา แห่งแดนมังกร ||

อุปกรณ์ชงชา

Cr. chazhidao

การดื่มชานั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาหลายพันปีโดยเฉพาะในดินแดนมังกรอย่างประเทศจีน สำหรับพิธีการชงชาในแบบจีนนั้นจะมีสองแบบ คือ ก้ายหว่าน และ กงฝู
ก้ายหว่าน (盅; Gaiwan / Zhong) มีลักษณะเป็นถ้วยชาสามชิ้นอันประกอบด้วย ถ้วยชา ฝาปิด และ จานรอง สำหรับการชงชาแบบรวดเร็ว จะนำใส่ใบชาลงไปเติมน้ำร้อน รอสักพักก็สามารถยกดื่มได้เลย แต่เนื่องจากตัวถ้วยก้ายหวานเป็นถ้วยเกลี้ยงไม่มีหูจับ ดังนั้นจึงต้องมีจานรองเพื่อประคองดื่ม และเนื่องจากประเทศจีนในฤดูหนาวมีอาหาศหนาวเย็นจึงต้องมีฝาปิดเพื่อกักเก็บความร้อนเอาไว้ในถ้วยชานั่นเอง
กงฝู หรือ กงฝูฉา (工夫茶; Gong Fu Cha) เป็นวัฒนธรรมการชงชาในอีกรูปแบบที่ใช้อุปกรณ์ในการชงชาจำนวนหลายชิ้น และมีหลายขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่า ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีความละเอียดอ่อนและความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก เมื่อรวมขั้นตอนทั้งหมดเข้าด้วยกันจึงออกมาเป็นวิธีชงชาแบบต้นตำหรับของชาวจีน ที่นิยมใช้กันในหมู่ชนชั้นสูง การชงชากงฝูและการสนทนากันอย่างไม่รีบร้อน มีสมาธิ ได้มีเวลาคิดไตร่ตรองในเรื่องที่จะคุย จนเป็นที่มาของการ ‘จิบชากันตั้งแต่เช้าจนคล้อยบ่าย’ อย่างที่ในหนังสือนวนิยายจีนชอบเอ่ยถึง
เมื่อรู้ที่มาของกงฝูแล้ว คราวนี้เรามาดูอุปกรณ์ชงชาแบบกงฝูกันบ้างค่ะ

ใบชา

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดของการดื่มชาก็คือ ใบชา ซึ่งใบชาของจีนจะจำแนกออกเป็นตามสีของชาเมื่อชงเสร็จแล้ว ประกอบด้วย ชาเขียว, ชาเหลือง, ชาขาว, ชาอู่หลง, ชาดำ และชาผู่เอ๋อร์
*** ชาเขียวของจีนไม่เหมือนชาเขียวของญี่ปุ่นที่ตัวชาจะเป็นสีเขียว แต่จะเป็นสีเหลืองเข้มออกสีเขียวเล็กน้อย ในขณะที่ชาเหลืองจะเป็นสีเหลืองทอง และชาขาวจะมีสีเหลืองจางๆ
ใบชา อุปกรณ์ชงชา

Cr. realitywings

ที่พักใบชา

ลักษณะเป็นแผ่นไม้ไผ่เป็นปล้องผ่าครึ่ง เมื่อวางบนโต๊ะจะโค้งสูงขึ้นมาเป็นครึ่งวงกลม เดิมทีสมัยโบราณเคยใช้เป็นที่พักแขน เท้าแขน และใช้สำหรับวางแขนเพื่อเขียนหนังสือ จะได้ไม่ต้องออกแรงยกแขนและไหล่ แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นอุปกรณ์สำหรับตักชา หรือที่พักใบชา ใช้คู่กับช้อนไม้ไผ่ปลายแหลม วัสดุส่วนมากนิยมทำจากไม้ไผ่และโลหะ เช่น ทองเหลือง ทองแดง เงิน หรือ แก้ว
อุปกรณ์ชงชา ที่พักใบชา

Cr. helloteacup

ปั้นชา

เป็นกาน้ำชาขนาดเล็ก ขนาดประมาณเท่ากัลกำปั้น ด้วยขนาดของปั้นชาทำให้สามารถชงชาออกมาได้ครั้งละไม่มาก ทำให้ผู้ชงสามารถควบคุมรสชาติและกลิ่นของใบชาได้เป็นอย่างดี ปั้นชาของจีนนั้นมีหลายรูปร่างและรูปทรง ทำให้เป็นอีกหนึ่งในของสะสมที่มีคุณค่าของนักดื่มชา
สำหรับปั้นชาที่นิยมสะสมกันมากที่สุดคือ “ปั้นอี๋ซิง” ซึ่งผลิตขึ้นที่เมืองอี๋ซิง มณฑลเจียงซู อยู่ทางภาคตะวันออกของจีน จัดเป็นปั้นชาที่คนมักหามาเก็บสะสม เพราะด้วยคุณสมบัติของเนื้อดินที่หลังจากเผาแล้วจะเกิดการหดตัวน้อยมากทำให้เก็บกักความร้อนได้ดี และบวกกับความชำนาญของช่างปั้น ทำให้การปั้นลิ้นของฝากับปากปั้นมีขนาดที่ใกล้เคียงกันทำให้อากาศเข้าถึงปั้นชาได้น้อย จึงทำให้น้ำชายังคงเก็บกลิ่นและรสชาติไว้ได้ดี
อุปกรณ์ชงชา ปั้นชา

Cr. senchateabar

จอกชา

สาเหตุที่คนสมัยก่อนชอบคาราวะผู้อื่นด้วยชา หรือสุราหนึ่งจอก นั่นเป็นเพราะจอกชาส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาโดยสามารถถือไว้ได้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ทั้งยังใส่น้ำไว้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เพราะมีขนาดเล็กจึงทำให้สามารถดื่มได้รวดเดียวหมดจอก
จอกชาหนึ่งชุดจะมีประมาณ 5-6 ใบ สอดคล้องไปกับขนาดของปั้นชา โดยชาหนึ่งปั้นสามารถเทชาลงจอกได้ 5-6 จอก และว่ากันว่าสาเหตุที่จอกชามักมีสีขาวก็เพราะนักดื่มชามักจะไม่เหลือชาทิ้งไว้ให้เย็นชืดคาจอก ดังนั้นการที่ภายในจอกชามีสีขาวจึงช่วยให้ผู้ดื่มมองเห็นชาที่หลงเหลืออยู่ภายในได้อย่างง่ายดาย
อุปกรณ์ชงชา จอกชา

Cr. urbanfamily

เหยือกพักชา

การแช่ใบชาทิ้งไว้ในน้ำในนานๆ จะก่อให้เกิดสารแทนนิน หรือสารที่มีรสฝาดขมออกมาจากใบชาจำนวนมาก ซึ่งหากดื่มสารตัวนี้มากจนเกินไปจะทำให้เกิดอาการท้องผูก ดังนั้นเวลาชงชาเสร็จจึงควรรินน้ำชาพักไว้ที่เหยือกพักชาในกรณีที่ยังไม่รินชาเพื่อดื่มทันที
อุปกรณ์ชงชา เหยือกพักชา

Cr. sgstore

ถาดชา

สำหรับการชงชาแบบกงฝู หนึ่งในอุปกรณ์ที่ขาดไปไม่ได้ก็คือ ถาดชา เอาไว้สำหรับวางจอกและปั้นชา นิยมทำเป็นลวดลายจีนสวยงามเพื่อซ้อนช่องระบายน้ำเอาไว้สำหรับเทน้ำล้างใบชา หรือชาที่เหลือค้างปั้นทิ้ง น้ำที่ถูกเทจะลงไปอยู่ที่ช่องว่างด้านล่างและสามารถเปิดออกมาแบบลิ้นชักเพื่อเทน้ำทิ้งและทำความสะอาดหลังใช้เสร็จได้
วัสดุที่ใช้ทำถาดชามีหลากหลายชนิด มีทั้งถาดไม้ ถาดดินเผา และถาดที่ทำมาจากโลหะอย่างอลูมิเนียม โดยจะมีขนาดตั้งแต่เล็กๆ วางจอกชา 5-6 ใบ ไปจนถึงถาดยาวราวกับเคาน์เตอร์สำหรับใช้ในร้านขายชาเมื่อชงชาให้ลูกค้าลองดื่ม
อุปกรณ์ชงชา ถาดชา

Cr. e.anvas

|| เคล็ดลับการเลือกกาน้ำชา ||

หลายคนเลือกกาน้ำชาเพียงเพราะจากความสวยงาม ดีไซน์ หรืออาจจะใช้งานแล้วจับถนัดมือ แต่ความจริงแล้วเราควรคำนึงถึงว่ากาน้ำชานั้นๆ ใช้สำหรับชงชาอะไร หรืออาจใช้เพียงแค่ใส่น้ำร้อนเพื่อเทลงใส่ถ้วยชาแค่นั้นรึไม่ นอกจากวัตถุประสงค์ในการใช้แล้ว จะเห็นว่ากาน้ำชาล้วนทำมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน มีทั้ง หิน ดินเผา แก้ว เหล็กหล่อ เงิน และ สแตนเลส ซึ่งวัสดุแต่ละประเภทล้วนมีผลต่อรสชาติของชา

กาน้ำชาเครื่องกระเบื้อง

กาน้ำชาเครื่องกระเบื้อง ทำมาจากเครื่องปั้นดินเผาที่ผ่านการเผาที่อุณหภูมิสูง กาน้ำชาเครื่องกระเบื้องจึงสามารถใช้ได้ดีกับชารสอ่อนแบบต่างๆ เช่น ชาเขียว ชาอู่หลง
แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวัง เนื่องจากตัวกาน้ำชานั้นมีเนื้อกระเบื้องเป็นสีขาว บางครั้งการแช่ชาเอาไว้นานๆ อาจทำให้สีชาซึมลงเนื้อกระเบื้องได้
อุปกรณ์ชงชา ชาน้ำชากระเบื้อง

Cr. metmuseum

กาน้ำชาเหล็กหล่อ

กาน้ำชาประเภทนี้เหมาะสำหรับวางต้มน้ำบนกองไฟ เพราะเหล็กจะนำความร้อนได้ดี สามารถเก็บกักรักษาความร้อนไว้ได้นาน เหมาะสำหรับการชงชาในปริมาณมาก
สำหรับกาน้ำชาประเภทนี้ไม่ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน แต่ควรปล่อยให้แห้งสนิทไปเองเพื่อป้องกันสนิมขึ้นภายใน นอกจากนี้ในสมัยโบราณการเช็ดทำความสะอาดกาเหล็กหล่อยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมขัดเกลาจิตใจในวัดจีนอีกด้วย
อุปกรณ์ชงชา กาน้ำชาเหล็ก

Cr. metmuseum

กาน้ำชาแก้ว

ป็นกาน้ำชายุคโมเดิร์น ที่เก็บกักความร้อนได้น้อย สกปรกง่าย และบอบบาง ทว่าเหมาะสำหรับการชงชาที่มีความสวยงามโดยเฉพาะชาดอกไม้ ที่เวลาเทน้ำร้อนลงไปแล้วชาดอกไม้จะบานออก เพราะจะทำให้เราได้เห็นใบชาที่กำลังคลี่ออกอย่างงดงาม และยังสามารถเช็คได้ว่าน้ำชาของคุณเข้มข้นพอตามที่ต้องการเมื่อใด กาน้ำชาแก้วจะใช้งานพร้อมกับเตาอุ่นที่ใส่เทียนเข้าไปด้านล่างเพื่อรักษาให้ชาอุ่นอยู่ตลอดเวลา
อุปกรณ์ชงชา กาน้ำชาแก้ว

Cr. teaposy

กาน้ำชาดินเผา

กาน้ำชาดินเผา สามารถเก็บรักษาความร้อนได้ดีกว่ากาน้ำชาประเภทอื่น ซึ่งจริงๆแล้วเครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบที่ทำจากดินเหนียวจะมีรูพรุน ช่วยให้กาน้ำชาดูดซึมกลิ่นและรสชาติของชาในกาได้เป็นอย่างดี เป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการปั้น ‘ปั้นชา’
กาน้ำชาประเภทนี้ห้ามใช้น้ำยาล้างจานทำความสะอาดโดยเด็ดขาด เพราะเนื้อดินเหนียวจะดูดซับเอาน้ำยาล้างจานเข้าไปเก็บไว้ภายในเนื้อของกาน้ำ และต้องล้างใบชาและเศษชาออกให้หมดก่อนนำกาน้ำไปตากให้แห้ง
อุปกรณ์ชงชา กาน้ำชาดินเผา
อุปกรณ์การชงชา เราอาจจำแนกได้ตามประเภทของชา วัฒนธรรม หรือพิธีกรรม แต่ทุกขั้นตอนรายละเอียดที่กว่าจะออกมาเป็นอุปกรณ์ชงชาต่างๆมากมาย ล้วนก็ถูกพัฒนาขึ้นมาตามลำดับขั้นตอนของกาลเวลาและผู้คน จนกระทั่งวันนี้ที่ วิถีแห่งชา ได้ถูกจัดให้เป็นศิลปะชั้นสูงที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ อนุรักษ์ และเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จะสืบทอดส่งต่อไปสู่คนรุ่นถัดไป
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO