Space Garden สวนบนอวกาศ

พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์อย่างหนึ่ง พืชพรรณที่กำเนิดขึ้นมาบนโลกนั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในบรรยากาศที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นบนดิน ใต้ท้องทะเลลึก หรือแม้กระทั่งพื้นที่แห้งแล้ง เหตุผลเหล่านี้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ใช้ความตั้งใจเป็นอย่างมากเพื่อทดลองปลูกพืชในอวกาศจนสำเร็จ

จุดประสงค์ในการปลูกพืชในอวกาศ

Matt Romeyn in Veggie Lab
Credit : nasa .gov/content/growing-plants-in-space
สิ่งมีชีวิตอย่างพืชมีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจทั้งบนโลกและบนอวกาศ พืชยังมีความสำคัญในการรักษานักบินอวกาศให้แข็งแรงในภารกิจระยะยาว เพราะมีการยืนยันมาแล้วว่าการเสริมวิตามินหลายชนิดเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้นักบินอวกาศมีสุขภาพแข็งแรงขณะสำรวจห้วงอวกาศ พวกเขาต้องการผลิตผลสดที่จะเข้ามาช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น
ในอีกแง่หนึ่งก็คือมนุษย์ต้องการทดลองการใช้ชีวิตบนอวกาศแบบภารกิจระยะยาวมากขึ้น การทำให้ลูกเรือแข็งแรงนั้นเป็นผลดีต่อการทดลองการใช้ชีวิตนอกโลกนั่นเอง

การปลูกพืชผักสวนครัวในอวกาศ

ในช่วงปี 2010 NASA ได้มองเห็นความสำคัญของสภาพจิตใจและสุขภาพของนักบินอวกาศ เพื่อให้ปฏิบัติภารกิจอวกาศในระยะยาวได้สำเร็จสมบูรณ์ ซึ่งก็พบว่าการที่นักบินอวกาศจะมีสภาพร่างกายและจิตใจดีได้นั้น ย่อมเกิดจากการที่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนจากการรับประทานผักและผลไม้สดที่ปลูกใหม่ แต่มีความท้าทายคือสภาพแวดล้อมบนอวกาศนั้นแตกต่างกับบนโลกโดยสิ้นเชิง เพราะต้องทำการปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่ปิด และไม่มีแสงแดดหรือแรงโน้มถ่วงของโลก

Veggie

ระบบการผลิตผักที่เรียกว่า Veggie เป็นสวนอวกาศที่เน้นปลูกพืชและผัก และผ่านการทดสอบที่ศูนย์อวกาศ Kennedy Space Center ของ NASA ในรัฐฟลอริดา จุดประสงค์ของ Veggie คือการช่วยให้ NASA ศึกษาการเจริญเติบโตของพืชในสภาวะไร้น้ำหนัก และเพื่อที่จะเพิ่มอาหารสดลงในอาหารของนักบินอวกาศให้มากขึ้น เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับนักอวกาศ
Credit : esa .int
ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดโครงการ Veggie ทาง NASA เองก็เคยได้มีความพยายามในช่วงต้นทดลองปลูกพืชบนอวกาศอยู่หลายครั้ง แต่ต้องประสบกับปัญหาในข้อจำกัดหลายอย่างเช่น แรงโน้มถ่วง หรือปัญหาสิ่งเร้าที่ไม่เพียงพอทำให้รากของพืชเน่าบ้าง เกิดราบ้าง โดยระบบการปลูกแบบ Veggie นั้นถือได้ว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างจะได้ผลที่สมบูรณ์และยั่งยืนเป็นระบบแรกๆ เลยก็ว่าได้

พืชสามารถโตได้อย่างไรในอวกาศ

ด้วยปัจจัยที่แตกต่างระหว่างอวกาศกับโลก จึงทำให้การปลูกพืชบนอวกาศนั้นไม่ง่ายเลย พร้อมทั้งยังต้องมีกระบวนการที่แตกต่างไปจากการปลูกพืชบนโลกอีกด้วย ในสภาวะที่ไม่มีแรงโน้มถ่วง พืชใช้ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น แสง เพื่อปรับทิศทางและชี้นำการเจริญเติบโต  โครงการปลูกผักบนอวกาศ Veggie เลือกใช้กระถางขนาดประมาณกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง และโดยทั่วไปจะบรรจุต้นไม้ได้ 6 ต้นพืช แต่ละต้นเติบโตใน “pillow” หรือเรียกว่าหมอนพืช ซึ่งหมอนพืชคือถุงปลูกที่คอยโอบอุ้มเมล็ดพืชชนิดต่างๆแยกเอาไว้ หนึ่งชนิดต่อ1ถุงปลูก ในหมอนพืชจะประกอบไปด้วยดิน น้ำ และแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับพืชแต่ละชนิดเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต หมอนพืชมีความสำคัญในการช่วยกระจายน้ำ สารอาหาร และอากาศอย่างสมดุลรอบๆ ราก มิฉะนั้น รากอาจจมน้ำตายหรือถูกอากาศดูดกลืนเพราะว่าของเหลวในอวกาศมีแนวโน้มที่จะก่อตัวเป็นฟองอากาศ
สวนผักบนอวกาศอาศัยแสงจากอุปกรณ์ให้แสง LED มีลักษณะเป็นกล่องที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะในการปลูกพืชบนอวกาศ โดยมันจะให้แสงมาจากด้านบนและสร้างสเปกตรัมของแสงที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากพืชสะท้อนแสงสีเขียวเป็นจำนวนมากและใช้ความยาวคลื่นสีแดงและสีน้ำเงินมากขึ้น ห้อง Veggie จึงมักจะเรืองแสงเป็นสีชมพูม่วงแดง

ลักษณะของพืชในอวกาศ

Credit : nasa .gov
จากการทดลองสรุปได้ว่าพืชสามารถอยู่ได้แม้ไม่มีแรงโน้มถ่วง แต่พืชจะงอกไปตามสิ่งเร้าอื่นๆแทนนั่นคือน้ำและแสง Veggie ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชหลากหลายชนิด เช่น ผักมิซูน่า ผักกาดหอมสามชนิด กะหล่ำปลีจีน คะน้ารัสเซียแดง และดอกบานชื่น พืชบางชนิดถูกเก็บเกี่ยวและกินโดยลูกเรือ โดยตัวอย่างที่เหลือจะกลับสู่โลกเพื่อทำการวิเคราะห์ เพราะขณะปลูกพืชเหล่านี้ก็ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายที่อาจเติบโตได้บนผลผลิต แต่จนถึปัจจุบันก็ยังไม่มีการตรวจพบการปนเปื้อนที่เป็นอันตราย และยืนยันได้ว่าอาหารเหล่านี้ปลอดภัย แถมยังมีหน้าตาที่น่ารับประทานอีกด้วย

The Martian

Credit : The Martian (2015)
The Martian เป็นภาพยนตร์ sci-fi ที่สร้างมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ โดยมี Andy Weir ผู้เขียนนวนิยายเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง “The Martian” เขาทำการวิจัยมากมายเพื่อให้แน่ใจว่านวนิยายเรื่องนี้มีความแม่นยำทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และได้ดัดแปลงหนังสือให้เป็นบทภาพยนตร์ เพื่อถ่ายทอดความแม่นยำของหลักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นสู่จอภาพยนตร์
สถานีดาวอังคารจาก The Martian และ สถานีดาวอังคารของ NASA
Credit : The Martian (2015), sputniknews .com
The Martian ได้ถ่ายทอดจากความเป็นให้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่นสถานีดาวอังคารในภาพยนตร์ก็อ้างอิงมาจาก สถานีดาวอังคารที่นาซ่ากำลังวิจัยและพัฒนาอยู่นั่นเอง ฉากนี้สืบเนื่องมาจากเนื้อเรื่องที่ตัวพระเอกของเรื่องต้องติดค้างอยู่บนดาวอังคารเพียงคนเดียว และเขาต้องพยายามเอาชีวิตรอดจึงได้คิดค้นผลิตอาหารเพื่อยังชีพ และสิ่งที่เขาคิดค้นได้สำเร็จคือการปลูกพืชบนดาวอังคาร
ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลจริงที่มีความเป็นไปได้ที่จะปลูกพืชบนดาวอังคาร ดินบนดาวอังคารไม่มีองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตอย่างพืช ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ไม่ได้อยู่ในดินบนดาวอังคาร แต่อยู่ที่สารอาหารและวัสดุชีวภาพที่พืชพึ่งพาในการเจริญเติบโต เช่นในเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ ตัวพระเอกได้เลือกใช้อุจจาระของตัวเองมาผสมลงไปในดิน แบคทีเรียได้กลายเป็นตัวช่วยแปลงสภาพให้พืชใช้ประโยชน์ขึ้นมาได้
Credit : The Martian (2015)
แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะเป็นนิยาย แต่ในบางแง่มุมก็ให้ความรู้สึกเหมือนไม่ใช่นิยาย เป็นวิทยาศาสตร์และเต็มไปด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดบนดาวอังคาร ซึ่งอ้างอิงความน่าจะเป็นและสร้างสรรค์รวบรวมไว้ในเนื้อเรื่องได้อย่างน่าสนใจ
Space Garden ถือ ป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่ามหัศจรรย์ของชาวโลกที่พยายามจะก้าวไปอีกขั้นในการออกไปสำรวจและวิจัยอวกาศ จึงเกิดเป็นสวนผักเหล่านี้ขึ้นมา ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นมนุษย์ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ดาวดวงอื่นเสมือนเป็นเรื่องปกติเลยก็เป็นได้
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
nasa .gov
esa .int
sputniknews .com
modernfarmer .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO