ประวัติชา เฉินหนง ชาจีน

Chinese Tea Pairing
ของหวานและชาจีน

By รำเพย Febuary 2021  Living Young
ชาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมตั้งแต่สมัยอดีตกาล ต้นกำเนิดของชาอยู่ในประเทศจีน ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 -1644) ชาเริ่มนำเข้าไปในยุโรป โดยชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรก แต่ในช่วงเวลานั้น เครื่องดื่มชนิดนี้ยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวยุโรปมากนัก จนกระทั่งชาวดัชท์ได้นำชาจีนเข้าไปเผยแพร่ในสังคมชั้นสูงและชนชั้นปกครองอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระแส และเกิดความนิยมอย่างมากในเวลาต่อมา
อังกฤษกลายเป็นชาติที่นิยมดื่มชามากที่สุด โดยได้รับเอาความนิยมในเครื่องดื่มรสละมุนนี้ เข้าไปในวัฒนธรรมประจำชาติอย่างรวดเร็วและกลายเป็นเครื่องดื่มหลักประจำโต๊ะอาหาร ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่ชาวอังกฤษโปรดปรานตั้งแต่กษัตริย์ลงจนถึงชนชั้นสามัญ ความนิยมในชาจีนรสเลิศนี้ แทบจะทำให้ประเทศอังกฤษต้องล้มละลายด้วยการขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ จนกระทั่งอังกฤษได้นำเอาฝิ่นเข้าไปแลกเปลี่ยน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามฝิ่นที่โหดร้าย (Opium War หรือชาวอังกฤษเรียกอย่างหรูหราว่า Trade War)
ชาและขนม

Cr. tangkwas.blogspot

ชาที่ชาวอังกฤษนิยมนั้น เป็นชาประเภทชาดำ (Black Tea แต่คนจีนจะเรียกว่า หงฉา หรือ Red Tea) ซึ่งเป็นชาที่ผ่านการทำปฎิกิริยากับออกซิเจนมากที่สุดในบรรดาชาทุกชนิด ซึ่งทำให้ชาดำเป็นชาที่มีอายุการจัดเก็บนานที่สุดด้วยเช่นกัน (ไม่นับรวมชาผู่เอ๋อ Pu’er ที่สามารถจัดเก็บได้นานหลายปี) Black Tea จึงเหมาะสำหรับการขนส่งข้ามทวีปเพื่อนำเข้าไปในทวีปยุโรป
อย่างไรก็ดี ชา Black Tea นี้ไม่เป็นที่นิยมในประเทศต้นกำเนิดชาอย่างประเทศจีนเท่าใดนัก แต่ชาดำนี้กลับเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากในยุโรป โดยจะนำใบชาประเภทนี้ไปผสมกับเครื่องเทศ หรือดอกไม้แห้งเพื่อสร้างกลิ่นและรสชาติใหม่ๆ หรือ Blended Tea เช่น English Breakfast, Earl Grey เป็นต้น
ชาและขนม

Cr. thespruceeats

Blended Tea นี้ มักนิยมเติมนมกับน้ำตาลเพื่อปรุงรสชาติให้ถูกปากชาวยุโรปมากขึ้น ซึ่งชาประเภทนี้ ในปัจจุบัน จะมีการปลูกอยู่บริเวณรัฐอัสสัม ประเทศอินเดียเป็นหลัก ซึ่งใบชาจะมีลักษณะเป็นชาใบใหญ่ และมีรสชาติที่เข้มข้น และหยาบ กระด้างกว่าชาจีน
ในปัจจุบัน ชาจีนสายพันธ์ต่างๆ จะนิยมปลูกกันในแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และบางส่วนมาอยู่บริเวณประเทศพม่า และตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งจะมีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาแต่ละชนิด และยังแตกต่างกันจากแหล่งเพาะปลูก ตลอดจนกรรมวิธีในการปรุงชานั้นๆ ด้วย

Cr. sites.google

ชาจีนสามารถแบ่งแยกย่อยได้เป็น 7 ประเภท ได้แก่ ชาขาว, ชาเขียว, ชาเหลือง, ชาดำ (หรือชาแดง), ชาอู่หลง, ชาผู่เอ๋อ (หรือชาหมัก) และชาดอกไม้ ซึ่งชาแต่ละประเภทก็ยังสามารถจำแนกแยกย่อยออกไปตามพื้นที่เพาะปลูก หรือวิธีการปรุงใบชา ทำให้ชาจีนกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีความหลากหลายทางด้านรสชาติ
สำหรับชาวจีน การดื่มชา สามารถทำได้ทุกเวลา และบ่อยครั้งที่จะเลือกทานคู่กับขนมหรือผลไม้ (Tea Pairing) เพื่อเสริมรสชาติของชา โดยของที่นิยมทานคู่กับชาจีนในสมัยก่อน มักได้แก่ ถั่วชนิดต่าง, ขนมเปี๊ยะทั้งไส้หวานและไส้คาว, ผลไม้อบแห้งนานาชนิด รวมไปถึงผลไม้สดตามฤดูกาล
การเลือกของหวาน หรือขนมเพื่อนำมาทานคู่กับชานั้น ขึ้นกับความชอบและรสนิยมของแต่ละคน แต่หลักคร่าวๆ เราสามารถเลือกจากรสชาติที่เข้ากัน และการส่งเสริมกัน ทำให้ทั้งชา และเครื่องเคียงมีรสชาติหรือความอร่อยที่มากขึ้น โดยในบทความนี้ จะนำชาจีนที่มีชื่อเสียงบางชนิด มาจับคู่กับของว่างประเภทต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ชา Ten Li Oolong

ชาอู่หลงชั้นดีของไต้หวัน มีรสชาตินุ่มนวล และหอมบางแบบผู้ดีจีน แต่มี Aftertaste ที่ละมุน และหอมนาน ชา Ten Li นี้เป็นชาที่ปลูกบนเทือกเขาสูงในไต้หวัน และผลิตโดย Ten Ren Tea ซึ่งจัดว่าเป็นชาที่มีราคาแพงมากอีกชนิดหนึ่ง
Ten Li Oolong เหมาะสำหรับการชงแบบ Gong Fu โดยใช้ใบชาประมาณ 15-20 กรัม ในกาขนาด 200 – 250 cc ชงครั้งแรกให้ใช้เวลา 1 นาที จากนั้น กาที่สองให้ใช้เวลา 40 วินาที และเพิ่มอีก 10 วินาทีสำหรับกาต่อๆ ไป
เนื่องจากเป็นชารสอ่อน และมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ​์ ชา Ten Li จึงไม่เหมาะที่จะทานคู่กับขนมที่มีรสชาติหวานใดๆ แต่เหมาะสำหรับการทานคู่กับผลไม้รสหวานอ่อนๆ เช่น ลูกแพร์ (Pear) หรือลูกพลับ (Persimmon) เป็นต้น
ของว่างประเภทถั่วชนิดต่างๆ ก็เหมาะที่จะทานกับ Ten Li Oolong เช่นกัน
ในความเป็นจริง ชาจีนมีมากมายหลายชนิด หลายรสชาติ แม้ว่าจะเป็นชาชนิดเดียวกัน ปลูกในบริเวณเดียวกัน แต่ปรุงชาต่างกันแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้รสชาติแตกต่างกันออกไปได้ ดังนั้น เครื่องเคียงที่ทานคู่กับชาจีนนั้น จึงเลือกได้ค่อนข้างหลากหลาย และตามความชอบส่วนบุคคล
ความสุขของการดื่มชาที่แท้จริง คือความสงบที่ได้จากการชงชาในแต่ละกา การลิ้มรสของชาที่อาจแตกต่างกันจากการชงในแต่ละครั้ง รวมไปถึงการเลือกสรรของทานคู่ที่ทำให้เรามีความพอใจสูงสุดครับ

ชา Da Hong Pao

Da Hong Pao เป็นชาอู่หลงยอดนิยมในบรรดาผู้รักการดื่มชา ชา Da Hong Pao มักจะปลูกบริเวณ Wuyi Mountain ในมณฑล Fujian ประเทศจีน ด้วยรสชาติเข้มข้น หอมกลิ่นดอกกล้วยไม้อันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมด้วยรสชาติที่คงอยู่หลังการดื่ม ทำให้ชา Da Hong Pao เป็นหนึ่งในชาที่มีราคาแพงมากที่สุดชนิดหนึ่ง
โดยมาก ชา Da Hong Pao ที่ขายกันทั่วไปจะเป็นชาที่มาจากต้นที่ขยายพันธ์มาจากต้นแม่พันธ์ที่มีอายุนับพันปี ชา Da Hong Pao จึงมีราคาที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามคุณภาพ แต่ชาที่ได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติดี มักได้แก่ ชาของ Wuyi Star (ในบริษัท Wuyi Star เอง ก็มี Da Hong Pao หลายเกรดเช่นกัน แต่ที่นิยมในประเทศจะเป็นกล่องสีแดงยาว ภายในจะแยกบรรจุชาเป็นกล่องๆ คล้ายกล่องบุหรี่ มีปริมาณพอเหมาะสำหรับการชงดื่มในแต่ละครั้ง)
เนื่องจากชา Da Hong Pao จะมีรสชาติที่เข้มข้น และหอมกลิ่นคล้ายดอกกล้วยไม้ จึงเหมาะกับขนมและผลไม้หลากหลายชนิด และเหมาะสำหรับจัดเป็น Afternoon Tea ยามบ่าย
ของว่างที่เข้ากับชา Da Hong Pao ควรจะเป็นของว่างที่มีรสชาติเข้มข้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นของหวานที่มีไข่ และครีมเป็นส่วนผสม เช่น Cream Cake, Cheese Cake หรือแม้กระทั่ง Egg Tart ก็สามารถนำมาทานคู่กับชาชนิดนี้ได้อย่างลงตัวและกลมกลืน
Cookie หรือ Shortbread ก็เป็นของว่างที่เข้ากับชารสเข้มนี้ได้ดีเช่นกัน รสหวานในขนม ช่วยชูรสชาติและกลิ่นหอมของชา ได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกัน ของหวานประเภท Chocolate หรือ Biscuits แข็งๆ กลับไม่สามารถกลมกลืนเข้ากับชานี้ได้เลย
นอกจากนี้ ขนมประเภทพายชั้นประเภท Mille-feuille ที่มีครีมหนาๆ เช่น San-rival Cake ก็เป็นของว่างเย็นๆ ที่แกล้มกับชา Da Hong Pao ร้อนๆ ได้อร่อยมากเช่นกัน
ผลไม้ประเภทส้ม หรือเลมอน รวมไปถึงผลไม้ในตระกูลเดียวกัน ก็สามารถเติมรสชาติให้กับชา Da Hong Pao นี้ได้อย่างกลมกลืน การบีบเลมอนหรือมะนาวเพิ่มลงไปในชา Da Hong Pao เพียงเล็กน้อย ก็สามารถเพิ่มอรรถรสของชาให้อร่อยขึ้นได้อย่างง่ายๆ
ของทานคู่เหล่านี้ ก็ยังสามารถจับคู่กับชาอู่หลงที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน หรือมีรสชาติในแนวเดียวกัน เช่น ชาโร่วกุ้ย (Rou Gui), ตันฉง (Dan Cong) หรือแม้กระทั่ง เหมยจั้น (Mei Zhan) ก็ได้เช่นกัน

ชา Tai Ping Hou Kui

Tai Ping Hou Kui เป็นชาเขียวที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยใบชาแห้งจะมีลักษณะแบน และเรียวยาว ตั้งแต่ 5-15 ซม. มีสีเขียวสดใส คล้ายสีเขียวมรกต (Emerald Green) ตัวใบจะเป็นใบคู่ สวยงามมาก หากเก็บใบชาไว้นานๆ ใบชาจะมีสีหม่นลงบ้าง แต่เมื่อผ่านการชง สีของใบจะสดใสขึ้น โดยปกติแล้ว ชาเขียวมักจะมีอายุในการจัดเก็บประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
ชา Tai Ping Hou Kui จะเป็นชารสอ่อน มีกลิ่นหอมมัน (Nutty) เจืออยู่ในรสชาติ ในขณะที่ Body ของน้ำจะมีความหนืดปานกลาง เมื่อดื่มแล้ว จะมีทิ้งกลิ่นหอมมันจางๆ ในปาก (Aftertaste) เหมาะสำหรับการทานคู่กับของขบเขี้ยวประเภทถั่วรสชาติอ่อน เช่น เมล็ดสน เมล็ดทานตะวัน ถั่วแมคคาเดเมีย ถั่วพีแคน หรือวอลนัท เป็นต้น
ขนมที่เหมาะกับชา Tai Ping Hou Kui นี้ ควรจะมีส่วนผสมของถั่วเป็นหลักและมีรสชาติปานกลาง เช่น ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว หรือขนมโก๋อ่อน เป็นต้น นอกจากนี้ ก็สามารถทานคู่กับขนมฝรั่งบางชนิดที่เน้นความหอม มัน แต่หวานไม่มาก เช่น สโคน (Scone)
ชาเขียวที่มีรสชาติใกล้เคียงกัน เช่น Lui An Gua Pain, Lu Shan Yun Wu หรือ Long Jing ก็สามารถจับคู่กับขนมและผลไม้ในกลุ่มนี้ได้เช่นกัน

ชา Yunnan Golden Tips

Yunnan Golden Tips หรือ Jin Ya Dian Hong (จินหยาเตียนหง) เป็นชาดำประเภทหนึ่ง ที่มีใบขนาดเล็ก บิดเป็นเกลียว ตามใบจะมีขนเล็กๆ ปกคลุมและมีสีเหลืองอมน้ำตาลอ่อน จึงเป็นที่มาของชื่อ Yunnan Golden Tips เมื่อเก็บไประยะหนึ่ง สีอาจจะเข้มขึ้นอีกเล็กน้อย
Yunnan Golden Tips เป็นชาที่ชงง่าย เพียงใส่ใบชา 5 กรัม แล้วเติมน้ำร้อนหรือน้ำเดือดลงไปในกาน้ำชาขนาดไม่เกิน 200 cc. ทิ้งไว้ 40-50 วินาที ก็จะได้ชารสชาติกลมกล่อม มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มชงใหม่ๆ มี Aftertaste ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และชาชนิดนี้เหมาะสำหรับทานคู่กับผลไม้อบแห้ง ที่มีรสหวาน หรือของหวานจีน เช่น พุทราจีน ลูกพลับแห้ง หรือส้มอบแห้งเป็นมื้อสาย หรือจะทานช่วงบ่ายเป็น Afternoon Tea ก็ได้
ขนมที่เข้ากับ Yunnan Golden Tips น่าจะเป็นขนมประเภทพายกรอบ ที่มีรสหวานน้อย หรือครัวซองท์เนยสด ที่เน้นความหอมอร่อยก็ได้เช่นกัน
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO