“ จุด ” สิ่งเล็กๆที่สามารถสร้างสรรค์เป็นผลงาน ศิลปะได้อย่างคาดไม่ถึง และหนึ่งในรูปแบบงานศิลปะอย่าง Pointillism ก็ได้ทำให้เกิดเป็นผลงาน Master Piece ของศิลปินระดับโลกหลากหลายคนเลยทีเดียว และเทคนิคการเพ้นท์ที่ใช้จุดประกอบกันออกมากลายเป็นภาพหนึ่งภาพนี้เอง ได้กลายเป็นเสน่ห์สุดประทับใจสำหรับใครหลายๆ คน

ศิลปะที่สร้างจากจุด

Credit : finearttutorials .com
Pointillism หรือศิลปะที่สร้างจากจุด ในการสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดแบบฉบับ Pointillism จะไม่ใช้วิธีเพ้นท์ลากพู่กัน สร้างพื้นสีของภาพแบบทั่วไป แต่จะเป็นการใช้การพู่กันมาจุดสีทีละจุดแทนการวาด จุดสีหลายๆ จุด เมื่อมาอยู่ใกล้ๆ กันเป็นกลุ่มก็จะทำให้เกิดเป็นงานศิลป์ที่งดงามออกมา สิ่งที่น่าแปลกยิ่งกว่าหากมองงานศิลป์ออกมาจากระยะไกล สายตาจะคอยทำหน้าที่ในการมองจุดสีเหล่านี้ผสมผสานกันออกมาเป็นภาพหนึ่งภาพ ซึ่ง Pointillism นั้นใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลักการณ์ในการเพ้นท์ การสร้างสีจากจุดเล็กๆ จำนวนมาก ที่วางอยู่ใกล้กันจนเบลอเป็นภาพที่ตาเห็น โดยวิธีการนี้เป็นวิธีเดียวกับการทำงานของหน้าจอคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนั่นเอง

ที่มาของ Pointillism

Georges Seurat (จอร์จ เซอรา)
Credit : metmuseum
Pointillism เป็นที่นิยมจนถึงจุดที่ศิลปินมากมายพยายามสร้างภาพวาดทั้งหมดจากจุดสีเล็กๆ เหล่านี้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับตนเอง แต่กระนั้นสิ่งที่ดูเหมือนง่ายก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่วาดฝันเอาไว้ การใช้จุดสีมาสร้างภาพ ทั้งตำแหน่งของการจุด ขนาด และสีที่เลือกใช้ว่าจะให้กลมกลืนหรือโดดเด่นกลับยากกว่าการสร้างงานศิลปะแบบทั่วไปมาก
ยิ่งศิลปะแบบ Pointilism นี้เกิดขึ้นในยุคของศิลปะแบบ Impressionism ที่เน้นให้ภาพดูเบลอ คลุมเครือและโรแมนติกเป็นสไตล์ของงานศิลปะที่กำลังเป็นที่นิยม รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่ศิลปินมากมายพยายามสร้างสไตล์งานศิลปะแบบใหม่กันขึ้นมา ดังนั้น Pointilism ที่ยากต่อการสร้างสรรค์ผลงานจึงไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไรนัก
สามารถดูงานศิลปะแบบ Impressionism ได้ที่บทความ Claude Monet ศิลปะยุค Impressionism
Credit : artincontext .org
แม้จะเกิดในยุค Impressionism แต่ Pointillism ก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Post-Impressionist เนื่องจากเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นระหว่างทศวรรษที่ 1880 ถึง 1890 ซึ่งเป็นปีหลังจาก Impressionist สิ้นสุดลงแล้ว โดยลัทธิ Pointillism มีศิลปินที่มีชื่อเสียงในช่วงเวลานั้นหลากลายคน นอกจาก Georges Seurat แล้วยังมี Paul Signac และศิลปินชาวฝรั่งเศส เบลเยียม และอิตาลีที่มีชื่อเสียงอีกหลายคนเป็นสมาชิกชั้นนำของกลุ่ม Pointillist รวมถึงยังมีศิลปินคนอื่น ๆที่ได้ทดลองใช้สไตล์ Pointillist ในช่วงเวลาสั้น ๆ ในอาชีพของพวกเขาเช่น Vincent van Gogh และ Pablo Picasso ซึ่งหลังจากปี 1890 เมื่อ Pointillism ถึงจุดสูงสุด มันก็ได้สิ้นสุดและนำไปสู่การพัฒนาขบวนการศิลปะ Fauvist art ในเวลาต่อมา

ศิลปินที่มีชื่อเสียงด้วยผลงานแบบ Pointillism

Georges Seurat- A Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte

Credit : wikipedia
A Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte เป็นภาพวาดโดย Georges Seurat มีขนาด 2×3 เมตร เปิดตัวที่นิทรรศการ Impressionist ในปี 1886 เป็นภาพวาดชาวปารีสในยามว่างบนเกาะในแม่น้ำ Seine (สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก) ศิลปินใช้เม็ดสีที่ตัดกันและใช้การจุดที่เล็กและถี่ราวกับผ้าที่ถูกถักทอ ภาพวาดนี้ได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวางว่าเป็นผลงานสำคัญของศิลปะแบบ Pointillism ศิลปินใช้เวลาสองปีในการทำงานชิ้นนี้ ซึ่งเป็นภาพที่แสดงให้เห็นชีวิตประจำวันของผู้คนที่เพลิดเพลินกับบ่ายวันอาทิตย์ในสวนสาธารณะริมฝั่งแม่น้ำ Seine
ด้วยความประทับใจในรูปแบบใหม่ของภาพวาดนี้ ทำให้ศิลปินชาวเบลเยียมอย่าง Henry van de Velde, William Alfred Finch และคนอื่นๆ ได้หลุดพ้นจากลัทธิ Impressionist ในชั่วข้ามคืน พวกเขาเริ่มลดลวดลายในการสร้างงานของเขาลง และปรับเป็นรูปทรงนามธรรมมากขึ้น มีการจัดองค์ประกอบง่ายขึ้นเช่นเป็นโครงสร้างทางเรขาคณิต เรียกได้ว่าภาพวาด A Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte นี้มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงเวลานั้น

Paul Signac – Venice, The Pink Cloud

Credit : wikimedia
ภาพวาดนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี 1909 โดย Paul Signac ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ Georges Seurat แม้จะใช้เทคนิคการวาดภาพแบบเดียวกัน แต่เขาก็มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน ในขณะที่ Georges Seurat สร้างภาพวาดที่มีพื้นผิวภาพที่เป็นเนื้อเดียวกันโดยใช้สีที่สัมพันธ์กันและเน้นที่จังหวะของจุดและเส้น แต่ Paul Signac จะพยายามทำให้ภาพมีการผสมผสานระหว่างสีที่ตัดกัน อย่างสีที่สดใสและสีที่เข้มขรึม นอกจากนี้ Paul Signac ยังสร้างภาพวาดด้วยการแบ่งเป็นรูปทรงเรขาคณิต ก่อนจะใช้การจุดเป็นลวดลายที่แสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ จนทำให้ภาพของเขาได้รับคำขนานนามว่าเป็นรูปภาพที่มีความกลมกลืนและลงตัวของโทนสี
Antibes. Petit Port de Bacon (1917)
Credit : wikidata
ภาพวาด Antibes. Petit Port de Bacon ในปี1917 วาดโดย Paul Signac เป็นอีกหนึ่งภาพที่ตอกย้ำในชื่อเสียงด้านการใช้โทนสีที่ Paul Signac ใช้ในการสร้างผลงานของเขา

Vincent Van Gogh – The Sower (Sower with Setting Sun)

Credit : wikimedia
The Sower (Sower with Setting Sun) เป็นภาพวาดที่วาดโดย Vincent Van Gogh เป็นจิตรกรแนว Post-Impressionist ชาวดัตช์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก Van Gogh นั้นถือได้ว่าเป็นสาวกของ Pointillism ในช่วงแรกเขาได้ทดลองวาดภาพด้วยการนำแนวคิดของ Georges Seurat มาใช้ด้วยความกระตือรือร้น แต่ก็ได้พบกับปัญหามากมายในการสร้างงาน จนในที่สุดเขาก็ได้พบแนวทางของตัวเองด้วยการนำรูปแบบการแสดงออกที่เป็นอิสระ ซึ่งเรียกได้ว่าเข้ากับธรรมชาติของเขามากขึ้น โดยรูปแบบของเส้นสายที่อิสระนี้ยังคงทำงานร่วมกับจุดและองค์ประกอบที่คล้ายกัน จึงเกิดเป็นภาพ The Sower (Sower with Setting Sun) ที่จะเห็นได้ว่าศิลปินไม่ได้ใช้เพียงแค่จุดในการสร้างงานเท่านั้น แต่ยังใช้รูปแบบที่อิสระเข้ามาผสมผสานไปด้วยกัน

Henri-Edmond Cross – The Iles d’Or

Credit : wikiart
Henri-Edmond Cross – The Iles d’Or สร้างสรรค์ขึ้นโดย Henri-Edmond Cross จิตรกรและช่างพิมพ์ชาวฝรั่งเศสมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา Neo-Impressionism เขาเป็นที่รู้จักดีที่สุดจากวิธีการใช้สีและองค์ประกอบที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของเขา ในปี 1884 เขาได้พบกับ Georges Seurat ซึ่งแนะนำให้เขารู้จักกับสไตล์การวาดภาพแบบ pointillist จึงทำให้เขาเริ่มนำจุดเข้ามาใช้กับงานของตนเอง
Henri-Edmond Cross เป็นศิลปินที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดในการวาดภาพแบบ Divisionist style หรือการวาดแบบแบ่งแยก อย่างในภาพวาด The Iles d’Or ภาพนี้ก็เป็นภาพที่มีสไตล์การวาดแบบแบ่งแยกเช่นกัน โดยสามารถมองเห็นองค์ปประกอบได้อย่างชัดเจนเป็นสัดส่วน นอกจากนี้ผลงานของ Henri-Edmond Cross ยังโดดเด่นด้วยสีที่เปล่งประกาย ฝีแปรงที่จัดจ้าน และการใช้ศิลปะแบบจุด เขามักจะนำเสนอภาพทิวทัศน์ หุ่นนิ่ง และฉากชีวิตในชนบท

ปรีชา ปั้นกล่ำ – ราตรี ศรีมหานคร

Credit : MOCA Museum of Contemporary Art
ภาพวาดสีน้ำอะคริลิกบนผ้าใบนี้มีชื่อว่า ราตรี ศรีมหานคร เป็นภาพที่สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวไทยคือคุณปรีชา ปั้นกล่ำ ภาพวาดนี้มีขนาด 200 x 300 ซม. และถูกวาดขึ้นในปี 2009 ซึ่งแรงบันดาลใจในการวาดนั้นได้มาจากรถที่วิ่งไปมาบนท้องถนนยามค่ำคืน ซึ่งในภาพคือบริเวณถนนราชดำเนิน ศิลปินใช้เทคนิคการลวงตาด้วยสีเช่นเดียวกับงานรูปแบบ pointillist โดยใช้เป็นลักษณะฝีแปรงขีดสั้นๆแทนการจุด ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคุณปรีชา ปั้นกล่ำ
ภาพวาดนี้สะท้อนถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองหลวง ที่ยามค่ำคืนก็ยังคงไม่หลับไหล ซึ่งศิลปินก็ได้เลือกใช้โทนสีที่ตัดกันเพื่อสร้างในส่วนของแสงและเงา และยังใช้มุมมองแบบ Perspective เข้ามาทำให้ภาพดูเคลื่อนไหวได้จริงอีกด้วย
ไม่น่าเชื่อว่าหลักการทางวิทยาศาสตร์ จะสามารถมาร่วมใช้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลงานศิลปะได้ และสวยงามมากเลยทีเดียว การใช้จุดเล็กๆที่มีสีสันต่างกันสามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นภาพวาดที่แลดูมีชีวิตและมีมิติไม่น้อยไปกว่าการเพ้นท์แบบทั่วไป ถือเป็นความอัศจรรย์ของ Pointillist อย่างแท้จริง
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
artincontext .org
sothebys .com
arthistorynewsreport .blogspot.com
finearttutorials .com
fineartprintsondemand .com
Wikipedia
Wikimedia
Wikidata
Wikiart

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO