ถ้ำ

Stalactite Inspire
แรงบันดาลใจจาก
หินงอก–หินย้อย

แรงบันดาลใจจากธรรมชาติมักถูกนำมาต่อยอดเป็นผลงานศิลปะที่มีความงาน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความงามของหินงอก – หินย้อยเองก็เช่นกัน แม้จะอยู่ในถ้ำที่ลับตา ก็ยังถูกดึงมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานต่าง ๆ ได้อย่างสวยงาม สมบูรณ์แบบ
หินงอก – หินย้อย นับเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เกิดขึ้นในถ้ำหินปูน ซึ่งมีความชื้น แร่ ตะกอน และน้ำเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดลักษณะของหินที่ยื่นหรือหยดเข้าหากัน คล้ายกับเป็นของเหลว หินส่วนที่ยื่นออกมา เรียกว่า หินงอก และหินที่หยดลง เรียกว่า หินย้อยนั่นเอง
ด้วยรูปแบบที่เฉพาะตัวของหินงอก – หินย้อย ดีไซน์เนอร์จึงนำความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้นำมาสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมาย มาดูกันว่าความงามของหินงอก – หินย้อย เมื่อถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานจะสวยและน่าสนใจขนาดไหนกัน

[ Shah Mosque, Isfahan ]

หินงอก หินย้อย Shah Mosque, Isfahan

Cr. Reddit

มัสยิดชาห์ (Shah Mosque) หรือรู้จักกันในชื่อ มัสยิดอับบาซีแห่งใหม่ หรือ มัสยิดหลวง เป็นมัสยิดที่ตั้งอยู่ที่เมือง อิสฟาฮาน (Isfahan) ในประเทศอิหร่าน ก่อสร้างขึ้นในช่วงต้นของศตวรรษที่ 17 และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในอาคารสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศอิหร่าน เพราะการตกแต่งที่สวยงามด้วยกระเบื้องบุผนังเจ็ดสี ทำให้เกิดลวดลายโมเสคที่สวยงามและการประดิษฐ์ตัวอักษร
หินงอก หินย้อย Shah Mosque, Isfahan

Cr.Youtube : Vafa Adib

มัสยิดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้บูชาบรรพบุรุษของ Shah Tahmasb พระมหากษัตริย์แห่งเปอร์เซีย และเพื่อใช้เป็นสถานที่สักการะบูชาสวรรค์ ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นมัสยิดที่เน้นรูปแบบประเพณี หรือใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ
หินงอก หินย้อย Shah Mosque, Isfahan

Cr. Tappersia

สถาปัตยกรรมมัสยิดชาห์แห่งนี้ มีความงามที่น่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งมาจากพื้นผิวที่สะท้อนแสงเป็นสีสดใสและโดดเด่น บนพื้นผิวของกระเบื้องที่วาวก็กลายเป็นภาพที่สวยงาม ตัวอาคารใช้รูปแบบของรูปทรงเรขาคณิตเป็นองค์ประกอบ มีการดีไซน์พื้นที่ใต้โดมแบบไล่ระดับซ้อนกันหลายชั้น ให้ความรู้สึกเหมือนหินย้อยลงมาจากถ้ำ ดูลึกลับ น่าค้นหาแต่คงไปด้วยความสวยงาม ผสมผสานกับสีสันที่สดใสของตัวอาคารได้อย่างลงตัว

[ Water Cathedral, Chile ]

หินงอก หินย้อย Water Cathedral Chile

Cr. arch2o

ผลงานต่อมาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการนำหินงอก – หินย้อยมาสร้างสรรค์ผลงาน คือ Water Cathedral หรือ วิหารกลางน้ำ เป็นผลงานของบริษัทสถาปนิก GUN ซึ่งการออกแบบงานชิ้นนี้ ยังมีความโดดเด่นจนคว้ารางวัล MoMA young architects program international ในประเทศชิลีอีกด้วย
หินงอก หินย้อย Water Cathedral Chile

Cr. conversations.aaschool

จุดประสงค์ของการสร้างผลงานนี้ขึ้นมาก็เพื่อสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะแบบกลางแจ้ง ในฤดูร้อน ของชิลี โดยทางสถาปนิกได้ออกแบบโบสถ์ขนาดใหญ่ 700 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยรูปทรงปริซึมที่ทำมาจากผ้าสีขาวที่แขวนห้อยลงมาจากโครงเหล็ก และวางคอนกรีตบนพื้นเป็นม้านั่ง ซึ่งเหมือนหินงอก – หินย้อยในถ้ำ เรียงกันเป็นกลุ่มก้อนมีความหนาแน่นและความสูงที่แตกต่างกันไป
หินงอก หินย้อย Water Cathedral Chile

Cr. formakers

ปริซึมผ้าแบบกรวยคว่ำถูกแขวนจากตะแกรงลวดเพื่อดักจับน้ำฝน โดยหยดน้ำจะมีจังหวะและความเร็วที่แตกต่างกัน และหยดน้ำหยดลงมาสร้างความสดชื่นเพื่อสร้างบรรยากาศที่เย็นสบายสำหรับผู้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ นอกจากนี้เรื่องของเงาที่เกิดขึ้นยังมีความสวยงาม และแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในปริซึมอีกด้วย

[ Paper Chandelier, Cristina Parreño Architecture ]

หินงอก หินย้อย Paper Chandelier, Cristina Parreño Architecture

Cr. arch2o

โคมไฟระย้าที่เต็มพื้นที่ของเพดานห้องแห่งนี้ ใครจะเชื่อว่ามันทำมาจากกระดาษที่แสนเปราะบาง แต่กลับดูแข็งแกร่งเมื่ออยู่รวมกัน ผลงานสุดน่าอัศจรรย์ใจนี้เกิดจากฝีมือของ Cristina Parreño Architecture โดยได้รับความร่วมมือกับทีมงานจาก MIT (Massachusetts Institute of Technology ) ที่จัดแสดงโชว์ในงาน ARCOMadrid
หินงอก หินย้อย Paper Chandelier, Cristina Parreño Architecture

Cr. arch2o

ผลงาน “Paper Chandelier” โคมไฟระย้าถูกออกแบบเป็นรูปทรงเรขาคณิต และถูกจัดเรียงต่อกันอย่างพิถีพิถัน โดยถูกแขวนจากโครงสร้างลวดตาข่ายและสายเคเบิล เพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงานที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวและได้ระดับความลึก – ความตื้นที่แตกต่างกัน ชวนให้นึกถึงหินย้อยที่อ่อนตัวลง นอกจากนี้ยังเพิ่มแสงไฟให้ส่องตามช่องระหว่างโคมไฟมาจากด้านบน เกิดเป็นมิติของแสงและเงาที่น่าหลงใหลจนยากจะละสายตา

Muqarna Mutation, Mori Art Museum

หินงอก หินย้อย

Cr. michael-hansmeyer

ผลงาน Muqarna Mutation ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ ประเทศญี่ปุ่น เป็นการผสมผสานกันของสถาปัตยกรรมทางคณิตศาสตร์และศิลปะ เพื่อสร้างโครงสร้างหินย้อยที่ลึกลับและซับซ้อน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปแบบ Muqarna ของสถาปัตยกรรมในศาสนาอิสลาม

Cr. michael-hansmeyer

Muqarna Mutation คือโคมระย้าขนาดใหญ่ ได้รับการออกแบบและผลิตตามอัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์ ด้วยเครื่องจักรทั้งหมด โดยมีจุดประสงค์เพื่อติดตั้งในห้องโถงนิทรรศการกลางในพิพิธภัณฑ์ Mori Art โดยผลงานชิ้นนี้ได้ครับความช่วยเหลือในการคำนวณ และการผลิตจาก Michael hansmeyer (มิเชล แฮนส์เมเยอร์) และทีมวิศวกรที่เป็นพันธมิตรของเขา ROSO COOP ซึ่งได้มีการใช้อัลกอริทึมบางประเภทที่ช่วยให้สามารถพัฒนาระบบที่เชื่อมต่อผ่านเสาขนาดใหญ่ศูนย์กลางของห้องโถงนิทรรศการถึงเพดาน ใช้กับท่ออลูมิเนียมอัดขึ้นรูปทั้งหมด 15,000 ท่อและกระเบื้อง 300,000 แผ่น ในสิบหกระดับที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้สร้างการเปลี่ยนจากเสาเป็นเพดาน
ยังมีผลงานศิลปะอีกมากมายนะคะ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากธรรมชาติของหินงอก หินย้อย ไว้โอกาสหน้า Karuntee จะนำมาฝากแฟนๆ บาริโออีกนะคะ
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอบคุณข้อมูลจาก
michael-hansmeyer
dezeen
designboom

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO