Gravity & Architecture

สถาปัตยกรรม กับ แรงโน้มถ่วง

การออกแบบผลงานสถาปัตยกรรมส่วนมากที่ถูกดีไซน์ขึ้นมามักมีกฎเกณฑ์ง่ายๆ อยู่ว่า ตัวโครงสร้างจะตั้งตรงขึ้นมาจากพื้นดินตามกฎ ” แรงโน้มถ่วง ” ของนิวตัน ทว่ากฎเกณฑ์ขอนี้อาจเป็นการตีกรอบความสุนทรีย์ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมแต่งความคิดสร้างสรรค์ให้กับการออกแบบสำหรับดีไซน์เนอร์และความรู้สึกของผู้ที่ได้พบเห็นงานสถาปัตกรรมนั้นๆ แน่นอนว่าสำหรับนักออกแบบแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาขัดขวางความคิดสร้างสรรค์แบบไร้กรอบเหล่านี้ได้ จึงเป็นที่มาของผลงานสถาปัตยกรรมสุดท้าทายแรงโน้มถ่วงที่โด่งดังไปทั่วโลกมากมายดังต่อไปนี้

Museum of Tomorrow, Rio de Janeiro, Brazil

Credit : Wallpaper Flare
หนึ่งในผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมท้าทาย แรงโน้มถ่วง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกชิ้นแรกที่เราจะขอพูดถึง คือ พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต ( Museum of Tomorrow ) ที่ออกแบบโดย สถาปนิก วิศวกร และศิลปินชาวสเปน นามว่า ซานเตียโก กาลาตราบา ( Santiago Calatrava ) ได้ถูกสร้างขึ้นที่เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล สถานที่แห่งนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่ริมน้ำโดยใช้รูปทรงออร์แกนิกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกโบรมีเลียดส์หรือสัปปะรดสี ในสวนพฤกษศาสตร์ของเมือง
แนวคิดการออกแบบคือ ต้องการให้อาคารมีความเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มองดูเผินๆเหมือนเกือบจะลอยอยู่เหนือทะเล แลดูคล้ายกับเรือ นก หรือต้นไม้ นั่นเอง
ซานเตียโก กาลาตรา ( Santiago Calatrava ) ผู้ออกแบบ
Credit : GoHighBrow
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาขื้นใหม่ของท่าเรือที่มีความสำคัญต่อเมืองริโอเดจาเนโร และตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างก็ได้สร้างแรงบันดาลใจในการสะท้อนความหวังให้กับชาวเมืองสำหรับเมืองที่กำลังจะบูรณาการขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพราะจะมีพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนที่กว้างขึ้นกว่าเก่า สถานที่แห่งนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นสถานที่สำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบรรจบกับศิลปะและวัฒนธรรม จนกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต
Credit : LS:N Global
ตัวอาคารมีขนาด 15,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 34,600 ตารางเมตร พร้อมสระว่ายน้ำสะท้อนแสง พื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ คุณลักษณะที่ยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ การใช้แผงโซลาร์เซลล์ซึ่งให้พลังงานแสงอาทิตย์ การรวบรวมน้ำฝนที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ ระบบปรับอากาศที่ใช้ระบบจัดการน้ำจากอ่าว Guanabara จากนั้นน้ำจะถูกกรอง ทำความสะอาด และกลับคืนสู่อ่าว ผ่านน้ำตกเล็กๆ
การอนุรักษ์น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของคุณลักษณะที่ยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์ น้ำทั้งหมดในอ่างล้างมือ อ่างล้างหน้า และฝักบัวของพิพิธภัณฑ์จะถูกบำบัดและรีไซเคิล ควบคู่ไปกับน้ำที่ใช้ในการควบคุมระดับความชื้นในอากาศ ซึ่งระบบนี้สามารถบำบัดน้ำเพื่อใช้งานได้มากที่สุดถึง 4,000 ลิตรต่อวัน ความพยายามเหล่านี้ช่วยประหยัดน้ำได้ประมาณ 9.6 ล้านลิตรต่อปี และไฟฟ้า 2,400 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ในแต่ละปี ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานของบ้านอยู่อาศัยกว่า 1,200 หลัง พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตยังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในบราซิลที่ได้รับการรับรองจาก LEED Gold ( Leadership in Energy and Environmental Design คือ เกณฑ์มาตรฐานรับรองอาคารสีเขียว ที่ได้ยอมรับระดับโลกจากสภาอาคารสีเขียว ประเทศสหรัฐอเมริกา )
Credit : ArchDaily
สำหรับโครงสร้างอาคารให้ความรู้สึกที่โปร่งโล่งสบาย มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวและถาวรมากกว่า 5,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังมีหอประชุม ร้านค้า คาเฟ่ และร้านอาหารขนาด 400 ที่นั่ง
นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังได้ความร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์ ที่โดดเด่นที่สุดหลายแห่งในประเทศบราซิลและประเทศอื่นๆ รวมถึงสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNESCO ) และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ อาคารนี้มีจุดประสงค์สร้างขึ้นเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตและเป็นหน่วยการศึกษาแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการฟื้นฟูให้ย่านท่าเรือของริโอ ปอร์โต มาราวิลฮา เป็นจุดที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองอีกด้วย
Credit : calatrava .com
ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตจากการออกแบบของ Santiago Calatrava แห่งนี้ ยังได้รับรางวัล ” อาคารสีเขียวที่เป็นนวัตกรรมยอดเยี่ยม ” จากรางวัล MIPIM ซึ่งเป็นการแข่งขันที่มีชื่อเสียงระดับโลกซึ่งจัดโดย MIPIM ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดแสดงสินค้าอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติที่จัดขึ้นที่เมืองคานส์ทุกปี

RAGNAROCK Museum, Denmark

Credit : MVRDV
แรคนาร็อค ( Ragnarock ) เป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมป๊อป ร็อค และศูนย์เยาวชน มีรูปแบบสุดล้ำ โฉบเฉี่ยวและเท่แบบสุดๆ ที่ได้รับการออกแบบโดยสตูดิโอ MVRDV อาคารหลังนี้เป็นศูนย์รวมสถาปัตยกรรมของดนตรีร็อคและดนตรีแนวต่างๆ ที่หวังจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรี ศิลปินทางด้านความคิดสร้างสรรค์
Credit : MVRDV
ตัวอาคารมีขนาด 3,100 ตาราเมตร พร้อมคานขนาดมหึมา เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์หลัก ภายในมีหอประชุม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และตัวอาคารภายนอกมีหมุดสีทองเป็นจุดเด่นสะดุดตา โดยการออกแบบพิพิธภัณฑ์ Ragnarock มีเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ที่เข้ามาได้สัมผัสถึงบรรยากาศความตื่นตัว แอ็คทีฟ และกระตือรือร้น และแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินทุกคนล้วนโหยหา
Credit : MVRDV
โครงสร้างใหม่นี้เสียบเข้ากับตัวอาคาร ค้ำยันอยู่บนสี่เสา ซึ่งเป็นทางเข้าที่จะพาผู้เยี่ยมชมขึ้นไปที่พิพิธภัณฑ์และหอประชุมด้านบน การแบ่งแยกโซนต่างๆ ที่ชัดเจนจะถูกระบุด้วยการแยกวัสดุ แยกแยะของเก่าและของใหม่ ผิวคอนกรีตที่ดูดิบเถื่อนถูกตัดกับหมุดสีแดงสด การผสมผสานของวัสดุทำให้เกิดบรรยากาศเหมือนพื้นผิวของหิน สำหรับวัสดุอะลูมิเนียมชุบอะโนไดซ์สีทองนั้น ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเคารพต่อนักร้องนำทั้งหลายแหล่ของประวัติศาสตร์วงการดนตรีร็อค ไปจนถึงการตกแต่งภายในสีแดงสดที่ชวนให้นึกถึงกำมะหยี่เนื้อนุ่มที่บุอยู่ด้านในของกล่องกีตาร์
Credit : MVRDV
พิพิธภัณฑ์ Ragnarock คือการแปลเพลงและดนตรีแนวต่างๆให้ออกมาเป็นผลงานสถาปัตยกรรม พลังงาน การต่อต้าน ถ้อยแถลง และเสียงดังที่ถูกปลดปล่อย! ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างห้องโถงและการออกแบบพื้นที่ด้านใน เชื่อว่าจะสามารถช่วยสร้างร็อคสตาร์รุ่นใหม่ขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาอย่างดีที่สุดต่อศิลปิน
การเดินปล่อยอารมณ์ไปยังอาคารสีทองบนพรมแดง ผู้ออกแบบเชื่อว่าอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มาเยี่ยมชมแต่ละคนกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์สักวัน ความตั้งใจที่มีต่อสังคมของผลงานออกแบบครั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรี โดยการจัดหาสภาพแวดล้อมที่เป็นหนึ่งเดียวกับการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษา การพักผ่อน และการแสดงต่างๆ ทั้งนี้ตัวอาคารยังคงมีพื้นที่อื่นๆอีก อย่างเช่น พลาซ่ากลางแจ้ง เพื่อสร้างความคิดสร้างสรรค์ผ่านแพลตฟอร์มทางสังคมแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
Credit : MVRDV
พิพิธภัณฑ์ Ragnarock มีความโดดเด่นในการสร้างสภาวะสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวเร่งแรงบันดาลใจสำหรับการพัฒนาศิลปินในอนาคต พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล RENOVER Prize 2018 และ ได้รับรางวัล German Design Award 2018 ในหมวดงานสถาปัตยกรรมการออกแบบการสื่อสารที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย

Torre Mare Nostrum, Barcelona

Credit : mirallestagliabue .com
อาคารแห่งนี้เป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัท Gas Natural In. เป็นหอคอย 22 ชั้น สูง 86 เมตร และโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่แปลกตา เนื่องจากรูปทรงอาคารที่ดูโฉบเฉี่ยวลึกล้ำ ออกแนวอวกาศแตกต่างไปจากตึกทั่วๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ด้านบนอาคารมีจุดชมวิวหลายจุด และประกอบไปด้วยอาคารกระจก 3 หลังที่เชื่อมถึงกัน
Credit : Structurae
โครงการนี้ถูกเรียกร้องให้มีการออกแบบอาคารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถเติมแต่งเส้นขอบฟ้าของเมืองได้ และยังคำนึงถึงมิติเล็กๆของอาคารอื่นๆที่ประกอบอยู่รวมกันในย่านบาร์เซโลเนตา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีบ้านเรือนของกลุ่มชาวประมงอาศัยอยู่ร่วมกับผู้คนและอพาร์ตเมนต์ในบริเวณนั้น
Credit : Utopicus
Mare Nostrum Tower เป็นผลงานการออกแบบหลังการมรณกรรมของสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ Enric Miralles ซึ่งออกแบบร่วมกับ Benedetta Tagliabue งานก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ไม่นานหลังจากที่ Enric Miralles เสียชีวิตลงในปี 2005
เหนือสิ่งอื่นใดงานออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นนี้มีจุดเด่นคือ จุดชมวิวที่โดดเด่นและสร้างสรรค์ โดยจุดชมวิวต่างๆ จะเห็นวิวทิวทัศน์ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับมุมและระดับความสูงของตัวอาคารต่างๆ นั่นเอง
Credit : arquitecturaviva .com
ห้องทำงานต่างๆ กระจายอยู่ในอาคารกระจกที่เชื่อมถึงกัน 3 หลัง โดยไฮไลท์ของตัวอาคารคือส่วนที่เรียกว่า “เรือบรรทุกเครื่องบิน” ซึ่งจะเป็นอาคารแนวนอน มีขนาดใหญ่มาก เมื่อเข้าไปอยู่ในส่วนนั้นจะทำให้สามารถมองออกมาเห็นทัศนียภาพกว้างไกลไปทั่วทั้งเมือง จุดเด่นหลักของตัวอาคารคือการหุ้มกระจกซึ่งทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดแสงสะท้อนบิดเบี้ยวเล็กน้อย และสร้างภาพลวงตาที่เปลี่ยนไปนั่นเอง

One Central Park, Sydney

Credit : archdaily
หอคอยอันโดดเด่น 2 แห่งที่ออกแบบโดยสถาปนิก ฌ็อง นูแวล ( Jean Nouvel ) สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงระดับโลก เจ้าของรางวัลพริตซ์เกอร์ทางสถาปัตยกรรม ปี ค.ศ. 2008 สำหรับโครงการ Frasers Broadway ที่ต้องการเปลี่ยนมุมมองแนวเส้นขอบฟ้าของเมืองซิดนีย์ โครงการนี้ประกอบไปด้วยอพาร์ตเมนต์สำหรับพักอาศัย 34 ชั้น และอาคารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 12 ชั้น อาคารสูง 130 เมตรเป็นจุดเด่นของโครงการ Frasers Broadway ที่มีอาคารอยู่หลายหลัง ซึ่งตั้งอยู่บนอดีตโรงเบียร์ใกล้ๆ ตัวเมือง
ฌ็อง นูแวล ( Jean Nouvel ) สถาปนิกผู้ออกแบบ และ แพทริก บลังค์ ( Patrick Blanc ) นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส
Credit : arquitecturaviva. com / commercialinteriordesign .com
ภูมิทัศน์แนวตั้งของอาคารนั้น ได้การออกแบบร่วมกับนักพฤกษศาสตร์และศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศส แพทริก บลังค์ ( Patrick Blanc ) ครอบคลุมพื้นที่ด้านหน้าอาคารประมาณ 50% มีการขยายพื้นที่ภูมิทัศน์ปลูกพรรณไม้ของสวนสาธารณะในเมืองที่อยู่ติดกันในแนวตั้งเชื่อมไปยังตัวอาคาร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่โดดเด่นสำหรับผู้พักอาศัยในอาคารและเพิ่มสัญลักษณ์สีเขียวอันทรงพลังบนเส้นขอบฟ้าของเมืองซิดนีย์
Credit : jeannouvel
สำหรับการตกแต่งผนังรอบนอกอาคาร มีการปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์ การทำสวนแนวนอน และเชื่อมสายเคเบิลรองรับที่รวมเข้ากับส่วนหน้าของตัวอาคารทำไว้สำหรับรองรับพรรณไม้และรอขยายพันธุ์พืชอื่นๆต่อไป การที่เลือกใช้พรรณไม้เหล่านี้ก็เพื่อทำหน้าที่เป็นม่านควบคุมแสงแดดตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ปกป้องตัวอาคารจากแสงแดดโดยตรงในช่วงฤดูร้อน และเก็บความอบอุ่นของแสงแดดในฤดูหนาว การผสมผสานระหว่างกลยุทธ์การออกแบบที่ยั่งยืนทำให้ อาคารแห่งนี้เป็นอาคารที่อยู่อาศัยแห่งแรกในซิดนีย์ที่ได้รับคะแนน Green Star 6 ( Green Star เป็นระบบการจัดอันดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับอาคารในประเทศออสเตรเลีย )
โซนอพาร์ตเมนต์และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์มีชานระเบียงในร่มและกลางแจ้งที่ขยายพื้นที่ใช้สอยด้านนอกออกไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากสภาพอากาศที่อบอุ่นของซิดนีย์ ส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ระเบียงยื่นออกมาจากด้านหน้าอาคารเพื่อปกป้องผู้อยู่อาศัยจากเสียง ลม และแสงแดด ทางทิศใต้และทิศตะวันตกยื่นออกมาจากด้านหน้าอาคารเพื่อให้เห็นวิวสวนสาธารณะมากที่สุด
อาคารที่อยู่อาศัยมีเสาเข็มขนาดมหึมาใกล้กับยอดหอคอย คานที่ยื่นออกมาข้างนอกทั้งสองข้างมีห้องนั่งเล่นส่วนกลางและระเบียงแบบพาโนรามาสำหรับอพาร์ตเมนต์ที่อยู่อาศัย
Credit : jeannouvel
เฮลิโอสแตท ( กระจกหมุนได้ที่ใช้ในการแปลงพลังงานจากดวงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานอื่นๆ ) แบบใช้มอเตอร์จะคอยจับจ้องไปที่คานรับแสงเพื่อจับแสงแดดและสะท้อนลงมายังพื้นที่ของสวนสาธารณะที่ถูกบังด้วยหอคอย อีกทั้งเฮลิโอสแตทจะส่องสว่างในเวลากลางคืนซึ่งถูกออกแบบโดย Yann Kersalé ศิลปินแสงสีชาวฝรั่งเศส
Credit : jeannouvel
โปรเจ็กต์นี้เป็นการผลักดันและการผสมผสานระหว่างภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมแบบอาคารให้ยกระดับขึ้น และนำเสนอเมืองซิดนีย์ให้เป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอนาคตที่ยั่งยืนของเมืองต่อไป

Hoki Museum, Chiba-Shi, Japan

Credit : archdaily
อาคารแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวที่จัดแสดงและอนุรักษ์ภาพวาดของคุณโฮกิ ผลงานหลักเขาคือภาพเขียนสีน้ำมันที่เหมือนจริงซึ่งวาดไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์และเต็มไปด้วยรายละเอียดเทคนิคที่ยอดเยี่ยม ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงเหมาะที่จะทำเป็น “แกลเลอรี” โดยปกแล้วแกลเลอรีแทบไม่มีรูปแบบตายตัวในงานสถาปัตยกรรม และมักจะได้รับการออกแบบมาให้เหมือนเป็นพื้นที่ขนาดย่อมโดยสถาปนิก ดังนั้นบริษัทสถาปนิกชื่อดัง Nikken Sekkei ผู้ออกแบบอาคาร จึงได้พยายามออกแบบสร้างองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมขึ้นมาใหม่ทั้งหมดสำหรับสถานนี้ โดยมีเป้าหมายคือ พิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชันผลงาน
Credit : archdaily
ภายในแกลเลอรี่ ผู้คนไม่เพียงแค่เข้าถึงภาพวาดแต่ละภาพในตำแหน่งการจัดลำดับผลงานแบบเดิมๆแต่ยังสามารถเข้าถึงผลงานได้โดยการเดินสุ่ม เนื่องจากแกลเลอรีมีทางเดินที่มีความโค้งเล็กน้อย และทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและจดจำตำแหน่งของภาพเขียนทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว
Credit : archdaily
อาคารแกลเลอรียื่นยาวออกไปในอากาศอย่างกล้าหาญ เสมือนกล่องที่ล่องลอย มีความยาวสูงสุด 100 เมตร ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับภาพวาดที่เหมือนจริงในแกลเลอรีที่ทางเดินและผนังไร้รอยต่อ ปราศจากการรบกวนของแสงในส่วนท้ายของแกลเลอรี ผู้เยี่ยมชมสามารถเพลิดเพลินไปกับแสงธรรมชาติและชมทิวทัศน์ภายนอก
Credit : ArchDaily
แกลเลอรี่ทั้งหมดมีสไตล์เหมือนกัน แต่สัดส่วน ขนาด และปริมาณแสงธรรมชาติจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ด้วยการควบคุมการออกแบบที่ละเอียดอ่อนสำหรับการพยายามสร้างลำดับของช่องว่าง ส่วนภายนอกก็พยายามสร้างการเชื่อมต่อโดยทับซ้อนตัวแกลเลอรีทางด้านตะวันตก ซึ่งผู้เข้าชมส่วนใหญ่จะเข้ามาตรงบริเวณนี้ แกลเลอรีทั้งหมดจะซ้อนกันไปมาอย่างหนาแน่นเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างตัวอาคารต่างๆ รอบทิศทาง
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดแสดงของสะสมในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ในขณะเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดคือ งานสถาปัตยกรรมจะต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชันผลงานของศิลปินด้วย

G Tower, Thailand

Credit : Flickr
สำหรับประเทศไทยเราก็มีอีกหนึ่งผลงานการออกแบบอาคารท้าทายแรงโน้มถ่วงอันแสนยอดเยี่ยม นั่นก็คือ G Tower ซึ่งถือเป็นตัวอาคารที่มีโครงสร้างอันสง่างาม ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ บริเวณสี่แยกถนนรัชดาภิเษก การออกแบบใช้สัญลักษณ์จากอักษร G ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของชื่อเจ้าของเดิมของอาคารนั่นคือ G Land ( ปัจจุบันอาคารถูกเปลี่ยนมือไป โดยบริษัทเซ็นทรัลพัฒนากลายเป็นเจ้าของอาคารในปัจจุบัน )
Credit : ptaimpeerte
อาคารหลังนี้ถูกออกแบบโดยบริษัท Urban Architects และบริษัท KSC & Associates จัดให้เป็นอาคารสำนักงานที่ขึ้นชื่อด้านสถาปัตยกรรมแบบคานยื่นที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งสร้างด้วยวัสดุเหล็กที่มีความแข็งแรงสูงส่วนอาคารทิศใต้ออกแบบให้เอียงได้ 8 องศา รอบตัวอาคารใช้วัสดุกระจกสีดำทึบป้องกันแสง และเพื่อทำให้ตัวอาคารดูทันสมัย
Credit : skyscrapercity
สำหรับอาคาร G TOWER เป็นอาคารที่มีดีไซน์ที่ได้รับการยอมรับในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก และยังเป็นอาคารที่ได้รับการยอมรับโดยนิตยสาร Architecture นิตยสารออกแบบชั้นนำระดับโลกนำภาพอาคารไปลงปกหนังสือและเผยแพร่ พร้อมทั้งยังยกให้เป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมรูปทรงล้ำสมัย “The Next Generation of Architecture in Asia, New Building Technologies”
Credit : Office, Hello
หลังจากก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว ก็ได้รับการรับรองว่าเป็นอาคารที่มีพื้นที่สีเขียว LEED certified ในระดับ LEED Gold และระบบต่างๆ ภายในอาคารก็ยังมีความพร้อมในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบความปลอดภัย พร้อมทั้งการออกแบบตกแต่งภายในที่ทันสมัย ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบมาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้อาศัยโดยแท้จริง
สำหรับตัวอย่างผลงานสถาปัตยกรรมที่เพิ่งนำเสนอไป กล่าวได้ว่า “แรงโน้มถ่วง” ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสถาปัตยกรรม สิ่งต่างๆ มักจะล้มลง หากไม่ได้รับการป้องกันโดยแรงบางอย่าง แรงโน้มถ่วงมีบทบาทที่ไม่ใช่แค่บริบททางสถาปัตยกรรมเท่านั้น สถาปนิกหลายคนได้ออกแบบอาคารทางสถาปัตยกรรมที่ไม่เพียงแต่ดูจะขัดกับตรรกะที่เคยมีมา แต่ทว่ายังสามารถทำออกมาได้สวยงามน่าทึ่งอีกด้วย การออกแบบผลงานสถาปัตยกรรมไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นตัวเลขได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องนำสิ่งสำคัญด้านอื่นๆ ที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์อย่างเรื่องของ จิตวิทยา วัฒนธรรม ปรัชญา และความสุนทรีย์ ก็ต้องถูกนำมาใช้ใส่เข้าไปในการออกแบบ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมสุดสร้างสร้างอย่างแท้จริง
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
architecturaldigest .com
calatrava .com
mvrdv .nl
catalunya .com
archdaily .com
jeannouvel .com
timeout .com
ddproperty .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO