Art in Outer Space
ศิลปะบนอวกาศ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดเรื่องอัศจรรย์หลายๆ อย่างจนคาดไม่ถึง เช่นการที่มนุษย์ได้มีโอกาสเดินทางออกไปนอกโลก รวมไปถึงการที่ศิลปินได้ไปสร้างสรรค์ศิลปะในอวกาศ ก็นับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์สำหรับวงการการออกแบบด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองได้แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันของสรรพสิ่งในระดับจักรวาลเลยก็ว่าได้
วันนี้เราจะพาทุกท่านไปชมผลงานศิลปะที่ได้นำผลงานไปไว้ในอวกาศกัน

Fallen Astronaut, 1971

Credit : solarsystem.nasa .gov
ศิลปะบนอวกาศ ชิ้นแรกที่เราจะพูดถึงกันนั้น เป็นผลงานศิลปะขนาดจิ๋วที่อยู่บนดวงจันทร์อย่าง Fallen Astronaut เป็นรูปปั้นอลูมิเนียมเล็กๆ ที่มีขนาด 8.9 เซนติเมตร ผลงานชิ้นนี้ถูกออกแบบโดย Paul Van Hoeydonck ศิลปินชาวเบลเยียม และถูกฝากไว้บนดวงจันทร์ในปี 1971 โดยเดวิด สก็อตต์ หนึ่งในลูกเรือของ Apollo 15 โดยทาง สก็อตต์ ได้รับอนุญาตจากทาง NASA ให้นำผลงานศิลปะชิ้นนี้ขึ้นไปได้โดยจะไม่ประกาศภารกิจนี้อย่างเป็นทางการจนกว่าจะปฏิบัติภารกิจสำเร็จ แต่นอกจากรูปปั้นคนจิ๋วนี้แล้ว สก็อตต์ ยังได้แอบนำแผ่นรายชื่อของนักบินอวกาศอเมริกัน 8 คนและโซเวียต 6 คน รวมทั้งหมด 14 คน ที่เสียชีวิตระหว่างภารกิจสำรวจอวกาศช่วงปี 1964 – 1971 ขึ้นไปด้วยโดยแผ่นรายชื่อนี้ เขาไม่ได้แจ้งแก่ NASA ว่าจะนำแผ่นป้ายชื่อนี้ขึ้นไป
หลังจากที่ภารกิจสำเร็จลุล่วงแล้ว (แม้ว่าจะมีส่วนที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนเพิ่มเข้ามา) Fallen Astronaut ก็ได้กลายเป็นงานศิลปะบนดวงจันทร์ชิ้นแรก (เนื่องจาก Moon Museum ผลงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้นำขึ้นไปบนอวกาศจริงหรือไม่) และพบว่า Paul Van Hoeydonck เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้ จึงได้มีการสัมภาษณ์เขาเรื่องแนวความคิดในการออกแบบ แต่ Paul Van Hoeydonck กลับบอกว่าจริงๆ แล้วแนวคิดการออกแบบของเขาไม่ใช่เพื่อรำลึกถึงนักบินอวกาศที่เสียชีวิตไป แต่ต้องการให้รูปปั้นนี้เป็นตัวแทนของมวลมนุษยชาติทั้งหมดว่าได้ขึ้นไปถึงบนดวงจันทร์แล้ว ดังนั้นเพื่อสื่อถึงมนุษย์ทั้งหมด รูปปั้นจึงดูไม่ออกว่าเป็นชายหรือหญิง และไม่สามารถระบุเชื้อชาติได้ ซึ่งเขาก็ศึกษาวัสดุต่างๆ ที่ทนทานต่อสภาพอากาศบนดวงจันทร์ รวมทั้งยังใช้เวลาออกแบบผลงานชิ้นนี้อยู่นานทีเดียว ทว่ารูปปั้นของเขาที่ควรจะยืนเด่นอยู่อย่างภาคภูมิเป็นตัวแทนของมนุษยชาติ กลับนอนอยู่และกลายเป็นอนุสรณ์รำลึกไปเสียได้ แถมชื่อของผลงานเขาก็ไม่ได้เป็นคนคิด
Credit : whitfordfineart .com
ดังนั้นต่อมาในปี 1972 เขาจึงตัดสินใจทำรูปปั้นจิ๋วชิ้นนี้อีก 950 ชิ้น ทั้งยังลงโฆษณาในนิตยสารเรียบร้อยว่าจะขายในราคาตัวละ 750 ดอลลาร์สหรัฐในยุคนั้น พร้อมลายเซ็นของเขาที่เป็นเจ้าของผลงาน ทว่าเมื่อ สก็อตต์ ทราบก็เกรงว่าจะไปทำลายความหมายของอนุสรณ์รำลึกบนดวงจันทร์ สก็อตต์ จึงไปโน้มน้าว Paul Van Hoeydonck ทั้งยังบอกว่าจะเป็นการละเมิดนโยบายที่เคร่งครัดเกี่ยวกับอวกาศของสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาไม่สามารถทำธุรกิจนี้ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์ยานบินและอวกาศแห่งชาติ ก็ได้ขอให้เขาทำแบบจำลองเพื่อมาเก็บไว้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แทน
มาพูดถึงตัวผลงาน Fallen Astronaut กันดีกว่า… ผลงานชิ้นนี้เป็นรูปปั้นอลูมิเนียมที่วางอยู่คู่กับแผ่นป้ายโลหะที่ระลึกซึ่งมีชื่อของนักบินอวกาศซึ่งล่วงลับไปแล้ว (ที่ สก็อตต์ วางแผนทำขึ้นมาเองและแอบเอาขึ้นไปบนดวงจันทร์) ผลงานถูกวางเอาไว้ในที่ราบเชิงเขาแฮดลีย์บนดวงจันทร์ และคาดว่าจะผลิตจาก Metalphoto ซึ่งเป็นอลูมิเนียมที่ไวต่อแสงที่ใช้ทำแผงควบคุมที่มีความทนทานและมีความละเอียดสูง เนื่องจากป้ายส่วนใหญ่บนยานอวกาศของ NASA ทำจากวัสดุนี้เช่นกัน แผ่นโลหะที่จะใช้วางบนดวงจันทร์จะต้องได้รับการออกแบบให้ทนต่ออุณหภูมิในเวลากลางวันที่สูงถึง 120 องศาเซลเซียลและกลางคืนที่เย็นถึง -120 องศาเซลเซียล จนถึงทุกวันนี้ Metalphoto ก็ยังเป็นหนึ่งในวัสดุระบุตัวตนที่มีน้ำหนักเบาเพียงชนิดเดียวที่ทนทานเพียงพอต่ออุณหภูมิสุดขั้วและรังสี UV บนดวงจันทร์ได้

Cosmic dancer, 1993

Credit : sthespaceoption. com
ผลงานชิ้นนี้เป็นประติมากรรมที่มีชื่อว่า Cosmic dancer เป็น ศิลปะบนอวกาศ ที่เป็นประติมากรรมรูปทรงเรขาคณิตที่ทำจากท่ออลูมิเนียมเชื่อมขนาดประมาณ 35 x 35 x 40 เซนติเมตรและหนักหนึ่งกิโลกรัม และยังเป็นงานศิลปะสามมิติชิ้นแรกที่คิดค้นขึ้นเพื่อส่งออกสู่อวกาศโดยเฉพาะ สร้างสรรค์ผลงานโดยศิลปิน Arthur Woods หลังจากนั้นก็ได้ถูกส่งไปบนจรวด Progress ไปยังสถานีอวกาศ Mir ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 1993 จุดประสงค์ของการดำเนินการคือเพื่อสำรวจคุณสมบัติของประติมากรรมไร้น้ำหนักและเพื่อประเมินการรวมศิลปะเข้ากับโครงการอวกาศของมนุษย์
Cosmic Dancer เป็นรูปทรงเรขาคณิตหลายมิติที่สามารถมองจากมุมไหนก็ได้ ด้วยแนวคิดที่ว่าอวกาศไม่มีบนหรือล่าง ดังนั้นงานศิลปะบนอวกาศจึงควรจะสวยงามไม่ว่ามองจากตรงไหนก็ตาม งานศิลปะชิ้นนี้จะมีรูปร่างรูปทรงก็จะเปลี่ยนไปตามมุมที่มองของแต่ละคน เรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะที่มีทั้งความสร้างสรรค์ของศิลปิน และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้มองผลงานกันเลยทีเดียว
Credit : cosmicdancer .com
Arthur Woods บอกเอาไว้ในเว็บไซต์ของเขาว่าเขาผลิตผลงานชุด Cosmic Dancer ขึ้นมาถึง 99 ชิ้น โดยแต่ละชิ้นจะมีรูปทรง สี และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป โดยผลงานที่ถูกเลือกให้ขึ้นไปบนอวกาศก็คือชิ้นงานสีเขียวในภาพด้านบนนั่นเอง โดยแนวคิดการออกแบบของชิ้นที่ถูกเลือก คือ สาเหตุที่ได้เลือกใช้โทนสีเขียว ก็เพื่อสร้างจิตวิทยาเชิงบวกให้กับสภาพแวดล้อมของนักบินอวกาศ ที่ห้อมล้อมด้วยห้วงอวกาศที่สงบนิ่งและมืดครึ้ม การมีสีเขียวที่เป็นสีของต้นไม้จะช่วยให้จิตใจของนักบินอวกาศผ่อนคลายมากขึ้น
Cosmic Dancer ยังได้รับแรงบันดาลใจจากพระศิวะในศาสนาฮินดู ซึ่งมักเรียกกันว่า นักเต้นแห่งจักรวาล ด้วยแขนและขาที่หลากหลายที่มักเต้นรำจนเป็นระบำแห่งการสร้างสรรค์ นักออกแบบรู้สึกประทับใจการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงได้ผสมผสานข้อมูลเหล่านี้เข้ากับงานศิลปะของเขาด้วย
หลังจากที่ Cosmic Dancer เดินทางมาถึงสถานี Mir แล้ว การเคลื่อนไหวก็เริ่มเกิดขึ้นด้วยการหมุนอย่างช้าๆ ราวกับกำลังเต้นรำ ตามที่นักออกแบบได้ตั้งใจเอาไว้ Cosmic Dancer สามารถหมุนและลอยได้อย่างอิสระในสภาพไร้น้ำหนัก ปราศจากแรงโน้มถ่วงใดๆ และวนเวียนอยู่รอบตัวของเหล่านักอวกาศ ซึ่งผลงานชิ้นนี้ก็ได้ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนอวกาศเป็นเวลา 6 เดือนก่อนจะถูกส่งกลับมาที่โลก

Beagle 2, 2003

Credit : barnebys.com
Beagle 2 เป็นชื่อของยานอวกาศประเภทลงจอดขนาดเล็กชนิดไม่ต้องมีคนขับที่พัฒนาโดย European Space Agency และได้รับภารกิจให้มุ่งหน้าไปยังดาวอังคาร เพื่อยืนยันว่าดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หรือไม่ ทว่าในขณะปฏิบัติภารกิจ Beagle 2 ได้สูญเสียการสื่อสารกับ NASA ในวันที่ 25 ธันวาคม 2003 ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่ายานอวกาศอาจถูกทำลายเมื่อไปถึงดาวอังคาร ก่อนภายหลังในเดือนมกราคม ปี 2015 จะมีภาพถ่ายความละเอียดสูงจากยานลำอื่นที่มีภารกิจถ่ายภาพดาวอังคาร แสดงให้เห็นว่า Beagle 2 ได้จอดอยู่บนพื้นผิวของดาวอังคาร
แม้เราจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเนื่องจากไม่มีข้อมูลส่งกลับมายัง NASA ทว่าข่าวนี้กลับสร้างประวัติศาสตร์ศิลปะขึ้นมา เพราะยาน Beagle 2 ลำนี้ได้มีผลงานศิลปะบนชิ้นส่วนวิศวกรรมติดไปกับตัวยานด้วย ทำให้งานศิลปะชิ้นนี้กลายเป็นศิลปะชิ้นแรกบนดาวดวงอื่น และเป็นศิลปะร่วมสมัยชิ้นแรกในอวกาศโดยทันที
Damien Hirst เป็นศิลปิน วิศวกรและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวอังกฤษ ที่ได้สร้างสรรค์ผลงาน “ภาพวาดจุด” บนชิ้นส่วนของยาน Beagle 2 จุดสีที่เห็นในภาพนั้นศิลปินได้เลือกใช้สีสันที่คาดว่าจะเหมาะสมกับพื้นผิวดาวเคราะห์สีแดง และแต่ละสียังเป็นเม็ดสีที่ Hirst ใช้ได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษเพื่อให้ทนต่อสภาวะที่รุนแรงในอวกาศ ทั้งยังสามารถส่งค่าความถี่ที่ต่างกันกลับมาในกรณีที่ใช้เครื่องตรวจจับตรวจสอบ ทั้งนี้ก็เพื่อทดสอบว่าสีที่เห็นบนดาวอังคารจะเป็นสีเดียวกับที่เห็นบนโลกหรือไม่ น่าเสียดายที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีมนุษย์คนใดสามารถไปถึงดาวอังคารเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้

Space2, 2015

Credit : European Space Agency
ผลงาน Space2 เป็นงานโมเสกขนาดเล็กขนาด 15×10 ซม. ที่แสดงภาพเอเลี่ยนสีแดงตัวเล็ก ๆ จากเกม Space Invader เกมแปดบิตในยุค 70-80s โดยศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ใช้ชื่อว่า Invader ซึ่งเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งาน Street Art มากมายด้วยการประกอบโมเสคเล็กๆ ทีละชิ้นจนกลายเป็นผลงานชิ้นใหญ่หรืองานกราฟฟิตี้ โดยเขาฝากผลงานไปตามเมืองใหญ่มากมายกว่า 80 เมืองใหญ่ทั่วโลก อาทิ ปารีส, โรม, นิวยอร์ค, ฮ่องกง ฯลฯ และผลงานแทบทุกชิ้นของเขานั้นก็จะเป็นตัวเอเลี่ยนจากเกมยุคอาร์เคดเกือบทั้งหมด และในปี 2014 ผลงานของเขาก็ได้ขยายขอบเขตไปยังอวกาศ เป็นเอเลี่ยนนอกโลกสมใจ
Credit : usatoday .com
ในวันที่ 29 กรกฏาคม 2014 ผลงานชิ้นนี้ถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศ และได้ลอยตัวอยู่ในยานอวกาศหลายเดือน ในที่สุดผลงานชิ้นนี้ก็ได้เดินทางไปถึงสถานีอวกาศ ISS : ATV-5 และได้ ซาแมนธา คริสโตฟอเรตตี (Samantha Cristoforetti) นักบินอวกาศชาวอิตาลี นำไปติดอยู่บนผนังของสถานีอวกาศ เกิดมีงานศิลปะชิ้นใหม่ให้เหล่านักบินอวกาศได้ชมกัน
Credit : space-invaders .com
จริงๆ แล้วศิลปิน Invader ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Flash Invader ที่จะให้ทุกคนถ่ายรูปเจ้าเอเลี่ยนต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกที่แต่ละคนพบเจอด้วยแอป และโพสต์ลงแกลลอรี่เพื่อรับคะแนน แข่งกันกับผู้เล่นคนอื่นๆ เป็นหนึ่งใน Reality Game ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฝรั่งเศส และยิ่งตอนนี้เมื่อมีเอเลี่ยนตัวแม่ไปอยู่บนอวกาศแล้ว ศิลปิน Invader จึงเกิดไอเดียการนับคะแนนใหม่ คือ หากสถานีอวกาศนั้นบินผ่านหัวของเราไป เราสามารถถ่ายรูปท้องฟ้าตรงจุดที่มีสถานีอวกาศ และรับ 100 คะแนนจากการถ่ายเอเลี่ยนตัวแม่ได้ด้วย หรือถ้าสถานีอวกาศไม่ได้บินผ่านประเทศของเรา ก็สามารถติดตามผลงานเอเลี่ยนบุกโลกอย่างเป็นทางการได้ที่เว็บไซต์ https://www.space-invaders.com/world/ และร่วมสนุกกับแอปพลิเคชั่นได้ ข้อมูลปัจจุบันบอกว่ามีเจ้าเอเลี่ยนบุกโลกถึง 4000 กว่าตัวแล้ว และมีอยู่ที่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน

Exobotanica “In Bloom”

Credit : exobiotanica .com
ประเทศญี่ปุ่นมีศาสตร์การจัดดอกไม้อย่างหนึ่งที่เรียกว่า “อิเคบานะ (Ikebana)” ซึ่งเป็นการจัดดอกไม้ให้สวยงามและสะท้อนถึงตัวตนของผู้จัดดอกไม้ออกมาให้ผู้อื่นได้ชมกัน Azuma Makoto เป็นศิลปินนักจัดดอกไม้และดัดต้นบอนไซชาวญี่ปุ่น ที่สร้าง AMKK (Azuma Makoto Kaju Kenkyusho) ขึ้นมาเพื่อเป็นสถาบันวิจัยพฤกษชาติ และมีโปรเจค Exobotanica เกิดขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและสังเกตุการณ์รูปแบบการจัดดอกไม้ด้วยวิธีใหม่ๆ โดย Exobotanica จะเป็นโครงการที่นำดอกไม้ไปอยู่ในที่ที่มีสภาพอากาศ หรือสภาพแวดล้อมแบบ Extream และปล่อยให้เวลารวมทั้งสภาพอากาศเหล่านั้น จัดการจัดแต่งช่อดอกไม้ของโปรเจคด้วยสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะลอยช่อดอกไม้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ, ไปอยู่กลางทะเลทราย หรือแม้กระทั่งพาช่อดอกไม้ดำดิ่งไปใต้ทะเลลึก
Credit : exobiotanica .com
ในปี 2017 Azuma Makoto ได้ทำการเปิดตัวโปรเจค Exobotanica ด้วยการส่งช่อดอกไม้ที่มีการจัดดอกไม้หลากหลายชนิดลงไปมีน้ำหนักถึง 6 กิโลกรัมไปยังชั้นบรรยากาศเหนือระดับเมฆ โดยทำการติดตั้งไว้กับบอลลูนมีกรอบที่ออกแบบมาเป็นพิเศษล้อมรอบเอาไว้ พร้อมกับติดตั้งกล้องความละเอียดสูงเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มปล่อยขึ้นไปจนกระทั่งตกลงมาที่พื้นโลก ทั้งนี้ศิลปินยังเลือกใช้ดอกไม้ที่มีสีสันสดใสจากทั่วโลก เพื่อที่จะได้ภาพของดอกไม้ที่สีตัดกับความมืดมิดของอวกาศ
Credit : exobiotanica .com
In Bloom ถูกขับเคลื่อนสู่ชั้นสตราโตสเฟียร์เหนือทะเลทราย Lovelock ในเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่อดอกไม้ของเขาที่ค่อยๆ ลอยขึ้นไปนั้นถูกแรงลม ความร้อน แรงกดอากาศ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้มีดอกไม้บางส่วนหลุดลอยไปตามสายลม บางส่วนเหี่ยวเฉาลง บางส่วนหนาวเย็นจนเปราะแตกออก จนในที่สุดเจ้าช่อดอกไม้ก็ลอยไปแตะที่ระดับความสูงกว่า 30,000 เมตร กล้องได้เก็บภาพช่อดอกไม้ที่เริ่มต้นด้วยดอกไม้นานาพันธุ์กว่า 6 กิโล ที่ถูกโลกของเราจัดแต่งจนกลายเป็นช่อดอกไม้ที่สวยสมบูรณ์และสามารถคงอยู่ได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเหนือชั้นบรรยากาศ และท้ายสุดก็ได้เริ่มสลายหายไปในระหว่างการร่อนลงจอด แม้จะพบภาชนะอยู่บนพื้น แต่ดอกไม้นั้นหาไม่พบ
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยที่จะเกิดผลงาน Art in Outer Space ศิลปะบนอวกาศ แต่ละชิ้นขึ้นได้ และสิ่งเหล่านี้ก็ยังควรค่าแก่การจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เพราะต้องใช้ทั้งทักษะในส่วนของความคิดสร้างสรรค์ แถมยังต้องพึ่งความรู้จากทางวิทยาศาสตร์มาประกอบกันจนเกิดเป็นผลงงานขึ้นมา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เกิดมาพบกับเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
exobiotanica .com
thespaceoption .com
barnebys .com
hypebeast .com
thespaceoption .com
thisiscolossal .com
arthurwoods .ch
cosmicdancer .com
esa .int
beagle2 .com
en.wikipedia .org
spacelabslive .com
space-invaders .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO