Music Box เรื่องราวของกล่องดนตรี

ดนตรีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ในอดีต และเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้อารมณ์ของมนุษย์นั้นผ่อนคลาย ช่วยจรรโลงใจและยังทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นสิ่งขับเคลื่อนให้มนุษย์เริ่มประดิษฐ์ตัวช่วย ที่จะทำให้ดนตรีนั้นใกล้ชิดกับมนุษย์ได้ง่ายขึ้น

Music Box กล่องดนตรี

เมื่อประมาณปี 1770 กล่องดนตรีเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อช่างนาฬิกาชาวสวิส Antoine Favre-Saloman (อองตวน เฟวร์-ซาโลมอน) นำแนวคิดเรื่อง carillon ที่เป็นเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ มักพบในหอระฆัง มีลักษณะเป็นระฆังหลายใบที่เป็นระบบแมนนวล ซึ่งเล่นตามลำดับเพื่อสร้างเมโลดี้หรือร่วมกันเล่นคอร์ด โดยอองตวนได้นำแนวคิดการประดิษฐ์ carillon มาต่อยอดดัดแปลงด้วยการใช้กลไกที่เหมือนกัน แต่ทำการย่อขนาดให้เล็กลงจนมีขนาดเท่านาฬิกาพก
Bareo Interior Design Music Box History
Credit : collinsdictionary
กลไลของ carillon ถูกนำมาใช้ด้วยการที่อองตวนได้ลองแทนที่กองระฆังด้วยแท่งโลหะที่รูปร่างเหมือนซี่หวีและใช้ลูกตุ้มไปติดแทน โดยซี่ของหวีโลหะนี้จะมีความสั้นยาวไม่เท่ากันจนเกิดเป็นเสียงที่แตกต่างกันออกไป หรือ ที่เรียกกันว่า “โน้ต” (Note) นอกจากนี้มีการใช้โลหะทรงกระบอกมาตรึงหมุด นำมาติดตั้งถัดมาจากซี่หวี และบังคับหมุนด้วยอัตราเร็วคงที่ ด้านบนของกระบอกโลหะที่มีหมุดตรึงอยู่นั้น จะทำหน้าที่ดีดซี่หวีเหล็กในตำแหน่งต่างๆ จนเกิดเป็นโน้ตที่หลากหลายขึ้น ซึ่งหลักการนี้ถือเป็นต้นกำเนิดแรกๆ ของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เลยก็ว่าได้ และยังมีการปรับแต่งโน้ตไว้ล่วงหน้าซึ่งให้เสียงที่หลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นนาฬิกาพกที่มีกลไกดนตรีฝังอยู่ ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับว่าเป็นกล่องดนตรีชิ้นแรก
Credit : wikiwand / geocaching
ในเวลาต่อมาอองตวนค่อยๆ สร้างกล่องดนตรีในขนาดที่ใหญ่ขึ้นและบรรจุไว้ในกล่องไม้สี่เหลี่ยม (กล่องยานัตถุ์) จนกลายเป็นต้นแบบของกล่องดนตรีตั้งแต่ตอนนั้น และกรุงเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตกล่องดนตรีและเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางเลยทีเดียว แต่กล่องดนตรีในยุคนั้นก็ยังมีข้อเสียคือกล่องดนตรีหนึ่งกล่องสามารถฟังเพลงได้เพียงหนึ่งเพลงเท่านั้น
Credit : artlistings / renaissanceantiques
ภายหลังก็ได้มีการคิดค้นวิธีทำให้เพิ่มเพลงเข้าไปในกล่องดนตรีได้ ด้วยวิธีการทำให้โลหะทรงกระบอกนั้นเปลี่ยนเป็นกระบอกสูบที่ขับเคลื่อนด้วยสปริง และสามารถถอดเปลี่ยนได้ ลักษณะจะเหมือนกับการเปลี่ยนแผ่นซีดีเพลงในยุคปัจจุบัน จากประวัติกล่าวไว้ว่ากล่องดนตรีสามารถเล่นเพลงได้มากสุดถึง 12 เพลง นอกจากนี้กล่องดนตรียังพัฒนาออกมาหลากหลายขนาดตั้งแต่เล็กแบบพกพา จนไปถึงขนาดใหญ่เท่าเฟอร์นิเจอร์เลยทีเดียว และความนิยมยังแพร่กระจายมายังเอเชียโดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆที่เริ่มคิดค้นการประดิษฐ์กล่องดนตรีด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าสิ่งประดิษฐ์มักจะถูกพัฒนาอยู่เสมอ หลังจากกลไกของกล่องดนตรีได้เกิดขึ้นนั้นก็ยังมีสิ่งประดิษฐ์อื่นๆที่มีกลไกในลักษณะที่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นตามมา อย่างตัวกล่องดนตรีเองก็ยังได้มีการดัดแปลงจากทรงกระบอกมาเป็นแบบจาน ซึ่งในลักษณะนี้เองจึงนำไปสู่การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆอย่าง Gramophone ในปี 1910 จนทำให้กล่องดนตรีค่อยๆถูกลดความนิยมและเลือนหายไป

Gramophone เครื่องเล่นแผ่นเสียง

Bareo Interior Design Gramophone History
Credit : edisontinfoil
Gramophone คือเครื่องแผ่นเสียงที่ถูกคิดค้นโดย Emile Berliner นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน Gramophone เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้สำหรับอัดเสียง แต่ได้ถูกคิดค้นหลังจากเครื่องอัดเสียงของ Thomas Alva Edison ที่ใช้ได้ทั้งเล่นและบันทึกเสียงได้ เขาเรียกเครื่องอัดเสียงนี้ว่า Phonograph ในอดีต การบันทึกเพลงไม่ใช่เรื่องง่าย Thomas Alva Edison พยายามออกแบบเครื่องบันทึกเสียง และเล่นเพลงเป็นครั้งแรกในปี 1877 ซึ่งทำงานโดยการบันทึกเสียงบนกระบอกทรงกลม ในช่วงนั้นเรียกได้ว่ามีข้อเสียในเรื่องของคุณภาพการผลิตเสียงที่แย่มาก และการบันทึกแต่ละรายการก็สามารถเล่นได้เพียงครั้งเดียว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนามาเป็น Gramophone ของ Emile Berliner นั่นเอง
Bareo Interior Design Gramophone History
Phonograph by Thomas Alva Edison
Credit : fineartamerica
ในช่วงต่อมาไม่นาน Gramophone ก็ได้ถูกคิดค้นขึ้น โดยมีหลักการทำงานที่เหมือนกันแต่พัฒนาจากทรงกระบอกมาเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่ขึ้นคือการทำเป็นแผ่นแบนๆทรงกลมแทน โดยทำมาจากแผ่นสังกะสีที่นำมาตัดเป็นวงกลม ที่เรียกว่าแผ่นดิสก์ (disc) อย่างที่เป็นที่รู้จักกัน และในยุคปัจจุบันเครื่องอัดเสียงเหล่านี้ก็ไม่ได้มีจำหน่ายกันโดยทั่วไป แต่จะมีให้ได้ศึกษา และรับชมตามพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง

Organ ออร์แกน

แม้ว่าเครื่องดนตรีประเภทเครื่องกลจะเป็นที่รู้จักมาก่อนการกำเนิดกล่องดนตรี แต่การเกิดขึ้นของ Music box ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษย์ในยุคนั้น และในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนมาถึงต้นศตวรรษที่ 20 กล่องดนตรีค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยเครื่องดนตรีอย่างเช่นเปียโน หรือออร์แกน ออร์แกนเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีที่ใช้กลไกจากกระบอกสูบ เพื่อใช้ในการสร้างโทนเสียงต่างๆ โดยผู้เล่นแต่ละคนจะมีแป้นกด หรือเรียกว่าเครื่องดนตรีคีย์บอร์ดประเภทใช้ลม โดยออร์แกนมีความซับซ้อนในการประดิษฐ์ จึงเกิดเป็นความโดดเด่นจนได้รับฉายาราชาแห่งเครื่องดนตรีตะวันตก และถือเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีที่ใหญ่และโดดเด่นที่สุดในโลก
Bareo Interior Design Organ History
Credit : thetabernaclechoir
ออร์แกนมีประวัติในการประดิษฐ์ที่ยาวนานมาตั้งแต่สมัยโรมัน Ctesibius of Alexandria เป็นผู้คิดค้นเครื่องดนตรีเป่าแบบเครื่องกลที่มีแรงดันลมซึ่งควบคุมโดยแรงดันน้ำ มันถูกเรียกว่า Hydraulis และถูกสร้างขึ้นด้วยท่อที่วางอยู่เหนือช่องอากาศ แรงดันน้ำบังคับให้อากาศไหลผ่านท่อซึ่งทำให้เกิดเสียง Hydraulis เป็นรูปแบบแรกของไปป์ออร์แกน
Bareo Interior Design Organ History
Credit : thehistoryblog
ต่อมาแรงดันน้ำถูกแทนที่ด้วยลมที่ใช้โดยเครื่องเป่าลมเพื่อสร้างเสียงเดียวกัน เมื่อลมเป่าผ่านท่อทำให้เกิดเสียง โดยมีท่อละหนึ่งเสียง ซึ่งตัวออร์แกนจะมีแผงคีย์ที่ใช้นิ้วมือในการกด และยังมีแผงคีย์ทีใช้เท้าเหยียบ ออร์แกนขนาดใหญ่นั้นจะใช้ท่อเปลี่ยนเสียง (Pipes) เป็นจำนวนมาก ท่อเหล่านี้จะทำหน้าที่ให้เสียงเกิดที่แตกต่างกันไป จึงกลายเป็นความโดดเด่นของเครื่องดนตรีประเภทนี้เพราะสามารถบรรเลงได้ด้วยตัวคนเดียว แต่มีสีสันแห่งเสียงที่หลากหลาย ราวกับว่ามีวงออร์เคสตราขนาดใหญ่กำลังบรรเลงอยู่เลยทีเดียว และปัจจุบันออร์แกนสมัยใหม่นิยมใช้ไฟฟ้าแทนแรงดันลม โดยนิยมใช้บรรเลงให้กับคณะประสานเสียง และการแสดงละครเวที

พิพิธภัณฑ์สำหรับกล่องดนตรี

Kawaguchiko Music Forest

Credit : blog.udn .com
เป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีในบรรยากาศสไตล์ยุโรป ภายในมีการจัดแสดงกล่องดนตรีและออร์แกนจากต่างประเทศเอาไว้ให้ได้ชม พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่จังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น โดยที่แห่งนี้จะมีห้องโถงที่ใช้จัดแสดงกล่องดนตรีมากมายที่ส่วนมากมาจากทวีปยุโรป
นอกจากนี้ยังมี Organ Hall ที่ใช้จัดแสดงออร์แกนที่สูง 13 เมตรและกว้าง 5 เมตร จัดแสดงอยู่พร้อมๆกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่คล้ายกัน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศต่างๆ รวมถึงฝรั่งเศสและเยอรมนี ภายในบริเวณที่จัดแสดงจะมีการเล่าถึงประวัติเกี่ยวกับเครื่องดนตรีเหล่านี้ด้วย แต่ทั้งหมดในการแสดงรวมถึงสตอรี่จะเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด โดยที่แห่งนี้จะมีค่าเข้าชมอยู่ที่ 1,500 เยน

Phono Museum

Credit : thevinylfactory
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีอุปกรณ์สร้างเสียงที่ดีที่สุดในช่วง 140 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เครื่องบันทึกเสียงของ Thomas Edison ที่บุกเบิกไปจนถึงแผ่นเสียงที่ทำด้วยมืออย่างประณีต เครื่องบันทึกเทปแบบม้วนต่อม้วน ตู้เพลงโบราณ เครื่องเล่นเพลงแบบพกพา และแม้แต่ตุ๊กตาพูดได้ เรียกได้ว่าถ้าใครที่มีความคลั่งไคล้ในสิ่งประดิษฐ์สุดคลาสสิคแบบนี้ก็ต้องลองได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สักครั้ง
พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีสแห่งนี้รวบรวมประวัติการบันทึกมายาวนานกว่า 140 ปี มีการจัดแสดงแผ่นเสียง หีบเพลง และเครื่องเล่นแผ่นเสียงมากกว่าสองร้อยห้าสิบรายการอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำหนดอุตสาหกรรมการบันทึกเสียง เป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑ์แผ่นเสียงคือการทำให้ผู้รักในเสียงดนตรีได้ใกล้ชิดและเป็นส่วนตัวด้วยอุปกรณ์ทำดนตรีที่โดดเด่นในยุคก่อน
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้ก้าวเข้ามาทดแทนทำให้หลายๆสิ่งประดิษฐ์ที่เคยเป็นที่นิยมระดับโลก ก็ค่อยๆเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่เสียงดนตรีกลับเป็นสิ่งหนึ่งที่ยังคงเชื่อมแต่ละยุคสมัยเข้าไว้ด้วยกันได้ ทำให้ Music Box เหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
collinsdictionary .com
thevinylfactory .com
thehistoryblog .com
sawadee .wik
wikiwand .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO