Clock in Art

ศิลปะกับกาลเวลา

‘งานศิลปะ’ คือสิ่งที่สร้างสรรค์ออกมาจากจินตนาการของศิลปิน ที่ต้องการจะสื่อสารข้อความบางอย่างออกมา ไม่ว่าจะเป็นการอุปมาซ่อนความหมายโดยนัยย์ หรือจะเป็นการสื่ออารมณ์ ณ ขณะนั้นของศิลปินออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ ผ่านภาพทั้งภาพหรืออาจเป็นองค์ประกอบสำคัญเพียงอย่างเดียวในภาพ
หนึ่งในองค์ประกอบที่มักจะถูกหยิบมาใช้ในสื่อสารก็คือ ‘นาฬิกา’ หรือเครื่องมือบอกเวลาที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี และ ก็มีหลายผลงานที่สามารถสื่อความหมายออกมาได้ดีจนกลายเป็นผลงานชื่อดังที่ถูกกล่าวขาน ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปชมส่วนหนึ่งของผลงานเหล่านั้นกันค่ะ

The Persistence of Memories

Credit : MoMA

Artist : Salvador Dalí
Location : MoMA, New York, USA
ในปี 1931 ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ศิลปินชาวสเปนได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา โดยเรียกได้เป็นเป็นผลงานลำดับต้นๆ และผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขา โดยงานศิลปะชิ้นนี้ถูกวาดขึ้นในยุคศิลปะแบบ Surrealism ที่เน้นเอาความเป็นจริงมาผสมกับจินตนาการและแฝงไปด้วยความหมายที่เสียดสี
ว่ากันว่าแรกเริ่มเดิมทีแรงบันดาลใจของภาพนี้มาจากที่คุณดาลีไปเห็นเนยที่กำลังต้องแสงแดดจนค่อยๆ ละลาย จากนั้นจึงนำมาตีความต่อโดยนำมาผสมผสานเข้ากับ ‘เวลา’ โดยมีนาฬิกาเป็นสื่อตัวแทน ซึ่งเดิมทีเวลาเป็นสิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดหรือถอยหลังกลับ ตัวเรือนนาฬิกาในยุคนั้นมักทำจากเหล็กซึ่งจะแข็งแรงมาก แต่ดาลีกลับเอานาฬิกาเหล่านั้นมาทำให้อ่อนยวบ เพื่อแสดงแนวคิดที่แหวกจากความเป็นจริงของตน
ดาลีบอกว่าภาพวาดของเขาไม่มีความหมายลึกซึ้งอื่นนอกจากนี้ เป็นเพียงแค่เนยแข็ง Camembert ที่โดนแสงและค่อยๆ ละลายเมื่อเวลาผ่านไปก็ตาม แต่ภายหลังกลับมีนักวิเคราะห์มากมายนำผลงานของมาตีความซะอย่างนั้น แต่เนื่องจากความหมายที่ถูกตีความออกมาค่อนข้างน่าสนใจ และสามารถโยงเข้าเป็นความหมายของภาพได้

Credit : smi-i

การละลายของนาฬิกาเป็นการฉีกกฏแห่งความเป็นจริงตามแนวคิดฉบับ Surrealism ที่สะท้อนออกมาในผลงาน ราวกับเราที่อยู่ในห้วงฝันและรับรู้การไหลไปของเวลาได้ไม่ชัดเจน ต่อมาคือนาฬิกาบอกเวลามีทั้งหมด 3 เรือนล้วนชี้ไปยังเวลาที่ต่างกัน เป็นตัวแทนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ส่วนนาฬิกาที่คว่ำหน้าลงและถูกมดไต่ตอมนั้นราวกับเป็นตัวแทนของเวลาที่หมดลง (เวลาที่ตาย) จึงถูกแมลงเข้ามากัดกินซากนาฬิกา
ในภาพนี้นอกจากนาฬิกาแล้วยังมีอย่างอื่นที่เป็นตัวแทนของเวลาอีก คือ ทราย หรือตัวแทนขอนาฬิกาทราย และเงาของแมลงวันที่อยู่บนนาฬิกา เป็นการบอกเวลาตามตำแหน่งของพระอาทิตย์… ลึกซึ้งสุดๆ กันไปเลยใช่ไหมคะ? เชื่อแล้วว่าจินตนาการของคนช่างล้ำลึกจริงๆ ด้วย
…ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว จะพูดถึงก้อนทรงประหลาดที่อยู่กลางภาพด้วยแล้วกันค่ะ เห็นว่าเจ้าสิ่งที่อยู่กลางภาพนี้คือภาพเหมือนของดาลี ที่ถูกตัวศิลปินเองตีความออกมาใหม่แบบ Surrealism จนเกิดเป็นหน้าตาดั่งในงานศิลปะเช่นนี้ ดวงตาที่ปิดอยู่ราวกับจะสื่อว่าตอนนี้เขานั้นกำลังอยู่ในห้วงฝัน ส่วนขนตาที่ยาวออกมา ตีความออกมาว่าสื่อถึงความเปิดกว้างทางเพศ เพราะตัวดาลีเองเป็นผู้ชายแต่ในภาพดวงตามีขนตายาวราวกับผู้หญิง ซึ่งหมายความว่าในความฝัน ไม่ว่าจะเพศ เวลา หรือหน้าตาล้วนไม่มีผลใดๆ เลยนั่นเอง
ย้ำอีกครั้ง :
การตีความนี้เป็นการตีความจากนักวิเคราะห์ในภายหลังทั้งสิ้น เพราะตัวศิลปินเองกล่าวว่าอยากจะเอานาฬิกามารวมกับชีสที่ละลายเท่าเองค่ะ

The Alarm Clock

Credit : artandculture.google

Artist : Diego Rivera
Location : Museo Frida Kahlo, Mexico
ผลงานถัดมาที่เรายกมาพูดถึงกันในวันนี้ก็คือ The Alarm Clock ผลงานประเภท Still Life (ภาพนิ่ง) ที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาในสไตล์ Cubism ในปีค.ศ. 1914 โดยศิลปินได้วาดวัตถุต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเขาลงไปในงานศิลปะ ประกอบด้วย เครื่องดนตรี พัดจีบ ชุดไพ่ และนาฬิกาปลุกอยู่ตรงกลาง โดยจะวาดออกมากึ่ง abstract ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคสมัยนั้น
แม้ผลงานชิ้นนี้จะไม่ใช่ผลงานชิ้นที่โด่งดังของศิลปิน ดิเอโก ริเวร่า (Diego Rivera) ศิลปินชาวเม็กซิกัน แต่ว่าก็เป็นผลงานที่สะท้อนชีวิตของศิลปินในช่วงที่ยังแต่งงานและใช้อยู่กับ แองเจลิน่า บีลอฟ (Angelina Beloff) ศิลปินชาวรัสเซียและภรรยาคนแรกของเขาในปารีส โดยสังเกตุได้จากกล่องชุดไพ่ ที่รอบๆ จะเขียนด้วยภาษารัสเซียซึ่งเป็นภาษาบ้านเกิดของบีลอฟ รวมถึงพัดจีบสีแดงที่อยู่ด้านบนของภาพก็เชื่อว่าเป็นหนึ่งในข้าวของเครื่องใช้ของบีลอฟเช่นกัน และฉากของภาพนี้ก็อยู่ในห้องพักของพวกเขาในปารีส (สังเกตุได้จากประตูและบานพับ) เนื่องจากยุคนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถออกไปหาที่วาดรูปข้างนอกได้อย่างมีอิสระเท่าไหร่นัก

Credit : biography .com

แม้ว่าภายหลังริเวร่าและบีลอฟหย่าขาดจากกันในภายหลังเพราะริเวร่ากลับไปที่เม็กซิโกและไม่กลับไปที่ยุโรปอีกในปี 1921 แต่คาดว่าหนึ่งในผลงานที่ริเวร่าได้นำกลับเม็กซิโก บ้านเกิดของเขามาด้วยกัน ก็คือผลงานชิ้นนี้ เพราะปัจจุบัน The Alarm Clock เป็นหนึ่งในผลงานที่ได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Museo Frida Kahlo ซึ่งเป็นบ้านของภรรยาคนที่สามของริเวร่า ฟรีด้า คาร์โล (Frida Kahlo) ซึ่งภายหลังเป็นบ้านของพวกเขาทั้งสองคน และในปัจจุบันได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผลงานของคาร์โล ทั้งงานศิลปะ ปฏิมากรรม เสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งเธอถือเป็นไอค่อนชื่อดังคนหนึ่งของยุคในเม็กซิโก รวมทั้งเป็นภรรยาที่อยู่ร่วมกับริเวร่านานที่สุดในบรรดาภรรยาทุกคนของศิลปินผู้นี้
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากงานศิลปะชิ้นนี้ คือ เราจะสังเกตุได้ว่านาฬิกาปลุกที่ถูกวาดออกมานั้นมีรูปร่างแปลกประหลาดไม่ค่อยคุ้นตาพวกเราเท่าไหร่นัก นั่นเป็นเพราะในช่วงยุคนั้นยังไม่สามารถผลิตนาฬิกาที่สามารถตีกริ่งในตัวเองได้ (…นาฬิกาที่มีกริ่งติดสองข้างและมีค้อนตีอันจิ๋วอยู่ตรงกลาง คอยตีเสียงดังเมื่อถึงเวลาปลุกที่เราคุ้นเคยกันนั่นล่ะค่ะ) แต่สิ่งที่ในยุคนั้นสามารถทำได้ คือ นำนาฬิกามาต่อกลไกเพื่อให้กริ่ง (ที่หน้าตาคล้ายกริ่งโรงเรียน) ทำงานได้เมื่อถึงเวลาที่กำหนด

Grandfather Clock

Credit : thinkspaceprojects

Artist : Anthony Clarkson
Location : N/A
ผ่านผลงานศิลปะจากศิลปินยุคเก่าไปแล้วถึง 2 คน คราวนี้เรามาดูผลงานศิลปะจากศิลปินรุ่นใหม่อย่าง แอนโทนี่ คลาร์กสัน (Anthony Clarkson) กันบ้างดีกว่าค่ะ
ในปี 2010 คลาร์กสันได้ผลิตผลงานออกมาชิ้นหนึ่งชื่อว่า Grandfather Clock เป็นงานสีอะคริลิคบนแผ่นไม้ขนาด 12 x 16 นิ้ว และเข้ากรอบสวยงาม สไตล์งานศิลปะของภาพนี้จะวาดเลียนแบบยุค Surrealism เช่นเดียวกับผลงานของดาลีที่เราได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้
Grandfather Clock เป็นชื่อที่ใช้เรียกนาฬิกาตั้งพื้นทรงสูง (Long Case Clock) ที่เป็นนาฬิกาสมัยเก่า ซึ่งตัวศิลปินก็ได้นำมาวาดล้อเลียนโดยเอานาฬิกามาใส่แทนใบหน้าของมนุษย์ ซึ่งอาจหมายถึงคนคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่มาอย่างเนิ่นนาน (นาฬิกาตั้งพื้นทรงสูงมีมาตั้งแต่ราวๆ ค.ศ. 1800) และแต่งกายเลียนแบบสุภาพบุรุษในสมัยเก่า ที่จะแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตและเนคไท สวมทับด้วยชุดสูท พกผ้าเช็ดหน้า และสวมหมวกปีกแคบ แต่ในจุดที่ควรจะเป็นนาฬิกาพก เขากลับวาดเป็นแอปเปิ้ลสีเขียวผลหนึ่งซึ่งเชื่อมต่อด้วยสายโซ่แทน

Credit : instagram

ความหมายของแอปเปิ้ลในภาพนี้แปลได้สองอย่าง คือ อย่างแรกความหมายของแอปเปิ้ลสีเขียวที่หมายถึงความคิดและจิตใจ อาจหมายถึงภาพนี้ที่เป็นงานแบบ Surrealism ไม่ใช่ความจริงและเป็นเพียงจินตนาการของศิลปินเท่านั้น หรืออย่างที่สองเป็นตัวแทนของวลีที่ว่า An apple a day keeps the doctor away หรือการกินแอปเปิ้ลทุกวันช่วยให้มีชีวิตยืนยาว ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึงการที่มนุษย์นาฬิกาในภาพมีชีวิตยืนยาวก็เพราะกินแอปเปิ้ลก็เป็นได้
ส่วนฉากหลังสุดดาร์กที่ดูคล้ายอยู่ในยุคโลกาวินาศ หรือ Distopia อาจสื่อความหมายถึงอนาคตอันไกลที่ธรรมชาติหมดไปแล้ว เรียกได้ว่ามนุษย์นาฬิกาผู้นี้อาจจะมีชีวิตอยู่อีกยืนยาวไปถึงในอนาคต แต่ก็เป็นเพียงแค่การคาดเดาเท่านั้นเพราะยังมีความหมายของเข็มนาฬิกาทั้งหกอีกที่ยังไม่ทราบความหมายของตำแหน่งเข็มนาฬิกาแต่ละเข็ม หรือศิลปินอาจวาดขึ้นเพื่อให้องค์ประกอบดูลงตัวเฉยๆ ก็เป็นได้
ผลงานศิลปะชิ้นนี้ถูกจัดแสดงในงานนิทรรศการ A Time To Forget เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคมในปี 2011 และปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ได้ถูกขายออกไปแล้วโดยไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของภาพคนปัจจุบัน

The Grand Central Terminal, 42nd Street, Tiffany Clock

Photo by : Trevor Bobyk on Unsplash

Designer : Jules-Felix Coutan
Sculptor : John Donnelly Company of Minerva
Clock Maker : Louis Comfort Tiffany at Tiffany Studio
Location : New York, USA
นอกจาก Painting แล้ว งานประติมากรรม (Sculpture) เองก็เป็นงานศิลป์ที่ทรงคุณค่าและมีหลายสิ่งให้สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นสถานีรถไฟ The Grand Central ที่เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งหนึ่งในมหานครนิวยอร์คที่มีผู้เดินทางผ่านเข้าออกสถานีแห่งนี้เฉลี่ยวันละ 700,000 คนเลยทีเดียว
ฝั่งทางเข้าจากถนนหมายเลข 42 เป็นที่อยู่ของนาฬิกาทิฟฟานี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่เหนืออาคารสถานี โดยมีรูปปั้นเฮอร์คิวลิส (Hercules) อยู่เหนือนาฬิกาและมีรูปปั้นเมอร์คิวรี่ (Mercury) และมิเนอวา (Minerva) ล้อมรอบ โดยภาพรวมแล้วเป็นงานศิลปะแบบโบซาร์ (Beaux Arts) หรืองานสไตล์ฟื้นฟูสไตล์นีโอคลาสสิกและกรีก
สาเหตุที่งานประติมากรรมนี้ใช้สไตล์โบซาร์ เป็นเพราะผู้ออกแบบงานชิ้นนี้คือ Jules-Felix Coutan นักประติมากรชาวฝรั่งเศส แต่เพราะเขาปฏิเสธที่จะย้ายมาอเมริกาเพื่อดูงานในโปรเจคนี้ ดังนั้นเขาจึงทำสัญญาเพื่อเป็นผู้ออกแบบและมีหน้าที่ทำโมเดลปูนปลาสเตอร์จำลองที่มีขนาด 1/4 ของประติมากรรมจริงเพื่อส่งให้กับทีมประติมากรจาก John Donnelly Company of Minerva ทำงานต่อซึ่งใช้เวลาแกะสลักงานอีกเกือบ 7 ปี
มาถึงไฮไลท์สำคัญอย่างนาฬิกาทิฟฟานี่กันบ้าง ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า ‘ทิฟฟานี่’ ในที่นี้คือ ‘ทิฟฟานี่สตูดิโอ (Tiffany Studio)’ ไม่ใช่ ‘ทิฟฟานี่ (Tiffany & Co.)’ ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนะคะ ซึ่งทิฟฟานี่สตูดิโอจะเป็นบริษัทที่ผลิตกระจกสีและงานศิลปะจากกระจกสีมากมาย โดยมี Louis Comfort Tiffany ศิลปินชาวอเมริกันที่หลงใหลในงานศิลปะสไตล์ Art Nouveau และมีความสามารถในการสร้างสรรผลงานจากกระจกสี (Stained Glass Art) อีกทั้งยังเป็นผู้มอบนาฬิกาเรือนนี้ให้กับนิวยอร์คโดยไม่คิดเงิน เพื่อให้ “เวลาของทิฟฟานี่คงอยู่กับนิวยอร์คตลอดไป”

Credit : newyork.cbslocal

ดังนั้นตัวเรือนนาฬิกาจึงต้องถูกแยกชิ้นส่วน (ตัวเรือนตรงกลาง 4 ชิ้น, รอบนอกที่บอกเวลา 12 ชิ้น โดยประมาณ) ค่อยๆ ถือปีนขึ้นบันไดลิงเหล็กขึ้นไป 43 เมตร ผ่านช่องแคบๆ กว่าจะขึ้นไปถึงห้องขนาดเล็ก แต่กระนั้นการขนชิ้นส่วนแต่ละชิ้นขึ้นไปประกอบก็ยังยากลำบากมากทีเดียว เนื่องจากชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่และหนักมาก โดยชิ้นเล็กที่สุดมีขนาดใหญ่ประมาณลำตัวของชายฉกรรจ์ ส่วนชิ้นตัวเรือนตรงกลางถึงกับต้องใช้หลายคนช่วยกันค่อยๆ ปีนบันไดลิงถือขึ้นไปจนกระทั่งถึงที่หมาย
สำหรับนาฬิกาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตรนับว่าเป็นงานที่ท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นงานขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ทิฟฟานี่เคยทำมา นอกจากนี้ตัวงานยังไม่สามารถทำเสร็จจากสตูดิโอของเขาได้เนื่องจากงานประติมากรรมได้ถูกติดตั้งแล้ว การขนย้ายตัวเรือนนาฬิกาจากภายนอก นอกจากอาจเกิดความเสียหายต่อตัวเรือนนาฬิกากระจกแก้วแล้ว ยังอาจทำให้งานประติมากรรมเสียหายได้
งานกระจกสไตล์ทิฟฟานี่ ถูกผลิตขึ้นโดยใช้หนึ่งใน Tiffany Technique หรือเทคนิคพิเศษของทิฟฟานี่ ซึ่งทำให้ศิลปะกระจกสีมีรายละเอียดและความคมชัดมากกว่าศิลปะกระจกสีในยุคก่อนๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่) รวมทั้งยังมี Texture ที่ช่วยส่งเสริมให้งานออกแบบดูมีมิติมากขึ้นอีกด้วย

The Clyde Clock

Credit : wikimedia

Sculptor : George Wyllie
Clock Maker : William Potts & Sons
Location : Glasgow, Scotland
The Clyde Clock เป็นงานประติมากรรมที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1999 เพื่อฉลองครบรอบ 25 ปีของ Radio Clyde โดยว่าจ้าง George Wyllie ศิลปินชาว Glasgow วัย 78 ปี ผู้สร้างผลงาน “ประติ?มากรรม” มามากมายให้เป็นผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ขึ้นมาและมีกำหนดการตั้งงานชิ้นนี้ในเดือนธันวาคมปี 1999 เพื่อให้ทันได้ฉลองสหัสวรรษใหม่ (The New Millennium) ทว่าเนื่องจากสถานที่ตั้งประติมากรรมอย่างสถานีรถบัส Buchanan (หรือ Buchanan Bus Station) นั้นอยู่ใกล้โรงแรมแห่งหนึ่งที่มีผู้เข้าพักมากมายในช่วงปีใหม่ ดังนั้นกำหนดการจึงถูกเลื่อนออกไปและได้ตั้งผลงานขึ้นจริงช่วงหลังปีใหม่ปี 2000 เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนนักท่องเที่ยวของเมือง
George Wyllie เรียกตัวเขาเองว่า“ประติ?มากร” เพราะเขาเชื่อว่าตนเองเป็นนักตั้งคำถามและใช้งานศิลปะของเขาเพื่อสื่อสารความฉงนสงสัย คำตอบ หรือคำนิยามที่เขาตีความออกมาให้ผู้อื่นได้รู้ ยกตัวอย่างเช่นผลงานชิ้นนี้ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘The Running Time’ เพราะสถานที่ตั้งของผลงานนั้นเป็นสถานีรถบัสที่มีรถหลายสายวิ่งเข้าออกตลอดเวลา ผู้คนที่มาใช้บริการต่างต้องวิ่งมาเพื่อให้ทันเวลารถออก (Run To Catch The Time) และยังมีความหมายว่าเวลาที่เดินไปข้างหน้าตลอดเวลา แต่เมื่อถึงช่วงเร่งรีบ (Rush Hour) ที่ปกติจะเดินช้าๆ ดันไปเร็วเหมือนวิ่งขึ้นมาซะอย่างนั้น ดังนั้นผลงานที่ออกมาจึงเป็นตัวเรือนนาฬิกาที่มีขาสองข้างงอกออกมาและตั้งท่าราวกับกำลังวิ่งอยู่ นอกจากนี้ตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกายังใช้เป็นฟ้อนต์เอียง (Italic) เพื่อแสดงถึงความเร่งรีบอีกด้วย

Credit : heraldscotland

มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับ The Clyde Clock อยู่สองเรื่องที่เราอยากจพนำมาเล่าสู่กันฟังให้ทุกท่านได้ทราบกันในวันนี้ค่ะ
อย่างแรก… นาฬิกาเรือนนี้จะส่งเสียงร้องเตือนทุกๆ วัน เพียงวันละครั้งเวลา 2 ทุ่มเท่านั้น นั่นเป็นเพราะ George Wyllie มองว่าเวลา 2 ทุ่มเป็นช่วงที่เหมาะกับการนัดพบกันหลังเลิกงานมากที่สุด
และอย่างที่สอง… ในปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่ศิลปิน George Wyllie เสียชีวิต นาฬิกาเรือนนี้ที่ไม่เคยมีปัญหากลับหยุดเดินขึ้นมาซะอย่างนั้น ซึ่งตอนนั้นพบว่าเป็นเพราะระบบที่เชื่อมต่อกับแหล่งพลังงานเสื่อมสภาพทำให้พลังงานถูกตัดไป แต่เมื่อซ่อมแซมใหม่อีกครั้งนาฬิกาเรือนนี้กลับสามารถใช้งานได้แค่บางส่วนราวกับชีวิตที่ถูกยื้อไว้ จนกระทั่งในปีถัดมาห้องสมุด Mitchell ต้องการจัดงานนิทรรศการ “In Pursuit of the Question Mark” เพื่อแสดงผลงานระลึกถึง George Wyllie ดังนั้นนายทุนเจ้าของผลงานอย่าง Radio Clyde ร่วมกับ Drew Smith หนึ่งในสมาชิกสภาของ Scottland ก็ได้ร่วมมือกันเพื่อให้นาฬิกาเรือนนี้กลับมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง
และนี่ก็คือผลงานศิลปะที่น่าสนใจและมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘นาฬิกา’ ที่เรานำมาเสนอให้ทุกท่านในวันนี้ค่ะ ยังมีบทความสนุกๆ เกี่ยวกับนาฬิกาอีกมากมายในเดือนตุลาคมนี้ โดยสามารถหาอ่านได้ที่เว็บไซต์ Bareo, หน้า Back Issue หรือว่าค้นหา Keyword ที่น่าสนใจในช่องค้นหาได้เลยค่ะ รับรองมีเว็บไซต์ของเรามีบทความที่น่าสนใจมากมายหลากหลายให้ทุกท่านได้อ่านกันอย่างเพลิดเพลินแน่นอน
สามารถติดตามผลงานต่าง ๆ ของทาง Bareo ได้ที่ช่องทางเว็บไซต์ของ Bareo หรือทาง Facebook : Design by Bareo ที่จะคอยอัพเดทข่าวสาร งานดีไซน์ และผลงานการออกแบบตกแต่งภายในมากมาย ให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ และความสนุกตลอดทั้งปี
หรือหากสนใจจะออกแบบตกแต่งภายในกับทาง Bareo ทางเราก็มีบริการออกแบบภายในครบวงจร โดยสามารถอ่านรายละเอียดการให้บริการของเราได้ที่นี่ คลิ๊ก
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้า
สวัสดีค่ะ
ขอขอบคุณข้ามูลจาก
Moma .org
Wikiart .org
Dalipaintings .com
Museofridakahlo .org
Artsandculture.google .com
Curious .com
Britannica .com
Wikimedia .org
Wikipedia .ord
Thinkspaceprojects .com
Artsy .net
Untappedcities .com
Timeout .com
Gothamist .com
Artnet .com
inews .co.uk
Discoverglasgow .org
Citycentrecontemporaryarttrail .co.uk
Rampantscotland .com

CONTENT RELATED

NEW CONTENT

PORTFOLIO